ปลูกให้เป็นป่า

ปลูกให้เป็นป่า

จากประเด็นวิวาทะในโลกสังคมออนไลน์ที่ว่า ควรจะ “ปลูกป่า” หรือปล่อยให้ “ป่าฟื้นฟูด้วยตัวเอง”​ ที่กำลังเป็นที่สนใจของสังคมในเวลานี้ ฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จึงขอนำเสนอข้อมูลของทั้งสองหัวข้อเพื่อเป็นการความรู้เพิ่มเติมก่อนนำไปสู่การตัดสินใจและลงมือปฏิบัติ โดยข้อมูลที่นำมาเสนอต่อไปนี้ นำมาจากหนังสือ “ปลูกให้เป็นป่า” ซึ่งเป็นแนวคิดและแนวปฏิบัติสำหรับการฟื้นฟูป่าเขตร้อนที่หน่วยวิจัยฟื้นฟูป่า จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเพื่อมุ่งเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการฟื้นฟูระบบนิเวศของป่า และการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นหลัก

ก่อนจะไปถึงขั้นตอนการปลูกป่า มาลองทำความเข้าใจกันก่อนว่า ปลูกป่ากับฟื้นฟูป่าแตกต่างกันอย่างไร

สองคำนี้อาจดูคล้ายกัน แต่มีคำที่มีความหมายต่างกัน แนวคิด และวิธีการจึงต่างกันไปด้วย “การปลูกป่า” หมายถึง การสร้างพื้นที่สีเขียวโดยการปลูกต้นไม้ชนิดใดลงก็ได้ลงบนพื้นที่เคยถูกทำลาย การปลูกป่าจึงเป็นได้ตั้งแต่พื้นที่ปลูกป่าชุมชน การทำวนเกษตร รวมไปถึงการปลูกไม้เศรษฐกิจต่างๆ ด้วย

ส่วน “การพื้นฟูป่า” หมายถึง การสร้างพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายให้มีสภาพใกล้เคียงกับพื้นที่ป่าที่เคยมีอยู่เดิมให้มากที่สุด โดยมุ่งเน้นที่จะสนับสนุนกระบวนการพัฒนาตัวเองของระบบนิเวศ ดังนั้น การฟื้นฟูป่าจึงเป็นอะไรที่ซับซ้อนมากกว่าการปลูกป่าธรรมดา

 

กลไกการฟื้นตัวตามธรรมชาติของป่า

ในพื้นที่ป่าธรรมชาติจะมีกระบวนการฟื้นตัวเองตามธรรมชาติ อธิบายได้ดังนี้ เมื่อมีช่องว่างเกิดขึ้นจากต้นไม้ล้มจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแทนที่อย่างรวดเร็ว ต้นไม้ที่อยู่ใกล้เคียง (A) จะเป็นแหล่งผลิตเมล็ดที่สำคัญ (B) สัตว์ที่ทำหน้าที่กระจายเมล็ดยังมีที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่ารอบๆ (C) ต้นไม้ที่กิ่งฉีก (D) หรือหักโค่น (E) แตกยอดขึ้นมาใหม่ (F) และลูกไม้ (G) ซึ่งเคยอยู่ใต้ร่มเงาของไม้ใหญ่เจริญได้เร็วขึ้นเนื่องจากได้รับแสงเต็มที่ (H) เมล็ดที่ฝังตัวอยู่ในดินมีโอกาสที่จะงอกขึ้นมาได้ แตกต่างจากป่าที่ถูกทำลายเป็นบริเวณกว้างด้วยน้ำมือมนุษย์ ซึ่งกลไกการพื้นตัวตามธรรมชาติของป่ามันถูกทำลายไป ความสำเร็จของการฟื้นฟูป่าจึงขึ้นอยู่กับความเข้าใจกลไกฟื้นตัวของป่าโดยธรรมชาติ

กลไกการฟื้นตัวของป่า / หนังสือปลูกป่าให้เป็นป่า

 

ทำไมป่าบางแห่งจึงไม่สามารถฟื้นตัวเองได้ตามธรรมชาติ

จากกลไกการพื้นตัวตามธรรมชาติของป่าที่ได้กล่าวมาข้างต้น เป็นการฟื้นตัวโดยธรรมชาติในช่องว่างขนาดเล็กของป่าจึงเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในทางกลับกันในพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายขนาดใหญ่ และถ้ายิ่งถูกทำลายมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน กระบวนการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นช้า หรืออาจไม่เกิดขึ้นเลย เพราะ 1) ไม่มีเมล็ดพันธุ์ที่สามารางอกได้ในพื้นที่ที่ป่าถูกทำลายเป็นเวลายาวนาน 2) ขาดแหล่งเมล็ดพันธุ์ ที่จะกระจายเข้าไปในพื้นที่ป่าที่ถูกทำลาย 3) ขาดสัตว์ที่ทำหน้าที่กระจายเมล็ด 4) มีวัชพืชขึ้นปกคลุมแย่งใช้ทรัพยากรในดิน และบดบังแสง ทำให้ต้นกล้าไม่สามารถสร้างอาหารเองได้และจะตายไปในที่สุด และ 5) อาจเกิดไฟป่าทำให้ต้นกล้าตายก่อนจะได้โตเป็นต้นไม้ใหญ่ กล่าวคือ เราไม่เพียงแต่ทำลายป่า แต่ยังทำลายความสามารถในการฟื้นฟูตัวเองของป่าด้วย

 

การฟื้นฟูป่าจำเป็นต้องปลูกตันไม้หรือไม่

การตัดสินใจว่าควรจะมีการปลูกต้นไม้ในพื้นที่การฟื้นฟูป่าหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าสภาพป่าตรงนั้นโดยทำลายไปมากแค่ไหน มีศักยภาพในการฟื้นตัวเองมากข้อเพียงใด ถ้าในพื้นที่ตรงเหลือต้นไม้หรือต้นกล้าจำนวนหนึ่ง มีเมล็ดที่สามารถงอกได้ และมีสัตว์ผู้ช่วยในการกระจายเมล็ด แต่ในพื้นที่ที่เป็นป่าเสื่อมโทรม ถูกทำลายมานาน ปริมาณต้นไม้เดิม ต้นกล้า และเมล็ดพันธุ์ที่ฝังตัวอยู่ในดินมักมีปริมาณน้อยหรืออาจไม่เหลืออยู่เลย และยิ่งไปกว่านั้นถ้าไม่มีผืนป่าอยู่ใกล้ๆ ที่จะคอยเอื้อเมล็ดพันธุ์ให้ ไม่มีสัตว์ผู้ที่ช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์เข้าสู่พื้นที่ ความสามารถในการฟื้นตัวเองโดยธรรมชาติจะน้อยมาก ดังนั้นการฟื้นฟูให้ป่ากลับมามีสภาพเหมือนเดิมอาจต้องปลูกต้นไม้เสริม ซึ่งเป็นการปลูกต้นไม้เพื่อเร่งการฟื้นตัวโดยพรรณไม้ที่ปลูกควรจะเป็นพรรณไม้ที่ช่วยเร่งการฟื้นตัวเองของป่า การจะปลูกหรือไม่นั้นควรมีการศึกษาข้อมูลต่างๆ อย่างรอบด้านก่อน

 

กลยุทธ์ในการฟื้นฟูป่า

การประเมินสภาพเบื้องต้นของพื้นที่มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะข้อมูลดังกล่าวจะช่วยในการตัดสินใจว่าการเร่งการฟื้นตัวตามธรรมชาติอย่างเดียวเพียงพอสำหรับการทำให้ป่าฟื้นตัวได้ด้วยตัวเองหรือไม่ หรือจำเป็นต้องมีการปลูกต้นไม้เพิ่มเพื่อช่วยในการฟื้นฟู ซึ่งในกรณีที่จำเป็นต้องมีการปลูกเพิ่มเนื่องจากป่าไม่มีศักยภาพในการฟื้นตัวเองได้ ควรมีการพิจารณาเรื่องดังต่อไปนี้

1. ป่าแต่ละชนิดมีสภาพแวดล้อมแตกต่างกัน วิธีการจัดการเพื่อพื้นฟูป่าจึงต่างไปด้วย เช่น การเลือกชนิดพันธุ์ไม้ วิธีปลูก และวิธีดูแลรักษา

2. พรรณไม้ที่จะนำมาปลูกควรจะมีอัตราการรอดสูง เป็นพืชโตเร็ว ดึงดูดสัตว์เข้ามาในพื้นที่ได้เพื่อช่วยให้เป็นผู้กระจายเมล็ดต่อไปได้

3. หลังจากการปลูกแล้วก็ต้องมีการดูแลต้นไม้ที่ปลูกไป เช่นมีการกำจัดวัชพืช การทำแนวกันไฟ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากชุมชนบริเวณใกล้เคียง

 

ความร่วมมือของทุกฝ่ายคือหัวใจสำคัญของการฟื้นฟูป่า

การที่จะดูแลรักษาป่าที่กำลังฟื้นฟูได้นั้นต้องอาศัยการทำงานร่วมกับชุมชนในบริเวณนั้นช่วยดูแล โดยวิธีการที่ได้ผลที่สุดคือชุมชนต้องมีจิตสำนึกในการรักษาป่า เห็นค่าของป่า แต่การที่จะทำให้ทุกคนเห็นคุณค่าของป่านั้นอาจเป็นเรื่องที่ยาก จึงต้องมีต้องสร้างแรงจูงใจให้กับชุมชน นั่นคือการแสดงให้เห็นว่าถ้ามีการรักษาป่าแล้วจะได้รับประโยชน์อะไรจากป่า ซึ่งผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเป็นแรงจูงใจที่สำคัญ อาทิ การได้ผลิตภัณฑ์จากป่าแล้วนำไปขาย รายได้จากการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งเมื่อชาวบ้านได้รับประโยชน์จากป่าแล้ว ก็อยากจะรักษาป่าให้สมบูรณ์ไว้เพื่อที่จะรักษาประโยชน์เหล่านั้นไว้

ในท้ายบทความนี้ขอทิ้งความเห็นของ สืบ นาคะเสถียร ที่เคยกล่าวถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไว้เพื่อเตือนสติกันอีกครั้งและไม่ให้เราลืมความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกันไปอีก

“แต่อย่างใดก็ตามการอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างใดอย่างหนึ่ง มิได้หมายถึงการเก็บรักษาโดยไม่นำมาใช้ แต่เป็นการใช้อย่างถูกต้อง โดยวิธีที่จะใช้ทรัพยากรที่เหลืออยู่ดังกล่าวสามารถอำนวยประโยชน์ไม่เฉพาะทางด้านใดด้านหนึ่ง แต่สามารถอำนวยประโยชน์ในทุกๆ ด้าน และยังคงเหลือมากพอที่จะเป็นต้นทุนให้เกิดจากการอนุรักษ์ มิได้เป็นประโยชน์เฉพาะคนที่อยู่ในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังคงสามารถอำนวยประโยชน์ต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน”

.


เรียงเรียงโดย ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
อ้างอิง หนังสือ “ปลูกให้เป็นป่า” มหาวิทยาลัยเชียงใหม่