เมื่อการเมืองท้องถิ่นเขย่านโยบายโลก กรณีอังกฤษและบทเรียนด้าน Climate Emergency

เมื่อการเมืองท้องถิ่นเขย่านโยบายโลก กรณีอังกฤษและบทเรียนด้าน Climate Emergency

ในนาทีที่วิกฤตสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเรื่องเร่งด่วนของโลก การประกาศ ‘ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ’ (Climate Emergency) จากหลายประเทศและเมืองใหญ่ทั่วโลก เป็นสัญญาณชัดว่าเรากำลังยืนอยู่บนขอบเหวของหายนะที่ไม่อาจมองข้ามได้อีกต่อไป 

แต่เมื่อไม่นานมานี้ ข่าวจากประเทศอังกฤษกลับสะท้อนอีกด้านหนึ่งของเหรียญ เมื่อการเมืองท้องถิ่นเลือกย้อนรอยความก้าวหน้าด้านสิ่งแวดล้อม เพราะไร้ซึ่งการกำกับหรือสนับสนุนในระดับชาติและสากลที่มั่นคง

กรณีที่น่าจับตามองคือ การที่สภาท้องถิ่น 2 แห่งในอังกฤษ ได้แก่ Durham County Council และ West Northamptonshire Council ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของพรรคการเมืองขวาจัด Reform UK ได้ดำเนินล้มเลิกคำประกาศ Climate Emergency ที่ประเทศปฏิญาณไว้ในปี 2019 โดยให้เหตุผลว่า งบประมาณไม่เพียงพอ และไม่มีหลักฐานชัดเจนว่านโยบายของท้องถิ่นจะมีผลอย่างแท้จริงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลก 

แม้คำชี้แจงจะฟังดูมีเหตุผลในแง่ของการบริหารจัดการทรัพยากรสาธารณะ (ไม่นับที่บอกว่าโลกร้อนเป็นเรื่องหลอกลวง) แต่เหตุการณ์นี้กลับจุดประกายความกังวลอย่างหนักในกลุ่มนักสิ่งแวดล้อม และผู้กำกับนโยบายด้านพลังงานสะอาด เพราะคำประกาศ Climate Emergency ไม่ใช่เพียงถ้อยแถลงเชิงสัญลักษณ์ หากแต่นำไปสู่การจัดทำแผนลดคาร์บอน ส่งเสริมพลังงานสะอาด ขนส่งสาธารณะ และการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนในระดับท้องถิ่น

คำว่า ‘Climate Emergency’ แม้ไม่ได้มีผลผูกพันทางกฎหมายโดยตรง แต่เป็นจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เป็นเหมือนคำมั่นสัญญาว่าท้องถิ่นหรือประเทศนั้นๆ จะเร่งรัดมาตรการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและฟื้นฟูสมดุลของระบบนิเวศ 

การประกาศนี้มักตามมาด้วยการตั้งเป้าหมาย Net Zero (การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์) และการออกนโยบายใหม่ที่กระทบถึงภาคพลังงาน การคมนาคม เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม

ในกรณีของอังกฤษ การที่พรรค Reform UK ซึ่งมีแนวนโยบายคัดค้านมาตรการสีเขียว ได้เข้ามามีบทบาทในระดับท้องถิ่น และเลือกที่จะยกเลิก Climate Emergency ที่เคยประกาศไว้ ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าประเด็นสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นสนามต่อสู้ทางการเมือง และอาจถูกแปรเปลี่ยนไปตามอุดมการณ์หรือวาทกรรมของผู้มีอำนาจในช่วงเวลานั้นๆ

โดยผลกระทบของการยกเลิก Climate Emergency ในระดับท้องถิ่นนั้นอาจดูจำกัดในสายตาคนทั่วไป แต่หากพิจารณาในเชิงระบบ จะพบว่าท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาด การบริหารจัดการขยะ การส่งเสริมพฤติกรรมเดินทางอย่างยั่งยืน หรือแม้แต่การคุ้มครองพื้นที่สีเขียว การที่นโยบายเหล่านี้ถูกชะลอ หรือล้มเลิกเพียงเพราะผู้บริหารชุดใหม่มีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่าง จึงเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่ง

มากไปกว่านั้น ความเป็นไปได้ที่กรณีนี้อาจกลายเป็น ‘โดมิโนทางการเมือง’ ที่ทำให้สภาท้องถิ่นอื่นๆ ในอังกฤษ หรือแม้แต่ในประเทศอื่นๆ ที่กำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ หรือแรงกดดันจากประชาชน อาจตัดสินใจเดินรอยตามโดยให้เหตุผลคล้ายคลึงกัน ด้วยเหตุผลของความไม่คุ้มค่าระหว่างงบประมาณที่ใช้กับผลลัพธ์ที่จับต้องไม่ได้ทันที

เรื่องนี้ยังสะท้อนว่า การต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศไม่สามารถพึ่งพาความตั้งใจของผู้นำท้องถิ่นหรือการเปลี่ยนแปลงเชิงสมัครใจได้เพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องอาศัยโครงสร้างสนับสนุนจากระดับชาติ และระบบพันธะผูกพันในระดับสากล เช่น กฎหมาย Net Zero ระดับประเทศ หรือข้อตกลงระหว่างประเทศอย่าง Paris Agreement ที่บังคับให้รัฐบาลทุกระดับต้องเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน

ตัวอย่างเช่น ควรมีการเสริมสร้างกฎหมายและนโยบายระดับชาติที่มีพันธะผูกพัน ขณะเดียวกันกฎหมายที่กำหนดให้ท้องถิ่นต้องมีแผนปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง แม้มีการเปลี่ยนผู้นำหรือรัฐบาล หรือการกำหนดเป้าหมาย Net Zero ก็ควรเป็นข้อผูกพันในระดับประเทศ และมอบอำนาจให้ท้องถิ่นปฏิบัติภายใต้กรอบเดียวกัน

และที่ขาดไม่ได้เลย คือ การส่งเสริมให้ชุมชนและภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วม และเปิดพื้นที่ให้ประชาชนร่วมออกแบบนโยบาย ตรวจสอบ และประเมินผลด้านสิ่งแวดล้อม 

เพราะการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบและเสนอแนะนโยบายท้องถิ่นด้านสิ่งแวดล้อม ถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ การส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นจะช่วยให้การตัดสินใจทางนโยบายไม่ถูกจำกัดอยู่เพียงในมือของผู้มีอำนาจไม่กี่คน

การประกาศยกเลิก Climate Emergency ในอังกฤษ อาจเป็นเพียงปรากฏการณ์เฉพาะจุดในสายตาของบางคน แต่หากพิจารณาถึงภาพรวมของโลกที่อุณหภูมิเฉลี่ยกำลังพุ่งสูงขึ้น แต่ละปีที่ผ่านๆ มา ล้วนถูกระบุให้เป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ 

การตัดสินใจเช่นนี้ไม่ควรถูกมองข้ามหรือยอมรับได้ เพราะผลสะเทือนของมันอาจลึกและยาวไกลกว่าที่เราจะจินตนาการถึง

ในท้ายที่สุด การดำเนินนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจร่วมกันว่า เราทุกคนล้วนอยู่ในเรือลำเดียวกัน หากแม้เพียงเมืองเดียวตัดสินใจหยุดพาย ในขณะที่พายุใหญ่กำลังใกล้เข้ามา ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อเราทั้งหมดอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

และผลที่ตามมาอาจไม่ใช่แค่การล้มเหลวของนโยบายเท่านั้น แต่หมายถึงการสูญเสียโอกาสในการปกป้องโลกใบนี้ให้ลูกหลานในอนาคตอีกด้วย

อ้างอิง

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม