สรุปการทำงานเฝ้าระวังสถานการณ์ ในรอบครึ่งปีแรก ชู 4 ด้านหลัก เฝ้าระวัง-สร้างเครือข่าย-อนุรักษ์ และสื่อสาร

สรุปการทำงานเฝ้าระวังสถานการณ์ ในรอบครึ่งปีแรก ชู 4 ด้านหลัก เฝ้าระวัง-สร้างเครือข่าย-อนุรักษ์ และสื่อสาร

ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2568 (มกราคม-มิถุนายน) มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 4 ในการเฝ้าระวังสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย ปกป้องสัตว์ป่า และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีกิจกรรมและผลลัพธ์ที่สำคัญในหลายด้าน

ด้านการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์สิ่งแวดล้อม

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ติดตามและเฝ้าระวังโครงการและกิจกรรมที่มีผลกระทบต่อผืนป่าและสัตว์ป่าอย่างใกล้ชิด อย่างในกรณีอุโมงค์ผันน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ และได้ท้วงติงความไม่ชอบธรรมของกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ไม่เปิดกว้างและขาดการนำเสนอข้อมูลรอบด้าน

การติดตามสถานการณ์ นกปรอดหัวโขน เนื่องจากยังไม่มีมาตราการประชากรและการป้องกันที่ชัดเจน หากนกชนิดนี้ถูกปลดออกจากบัญชีสัตว์คุ้มครองอาจนำไปสู่การปนเปื้อนทางพันธุกรรมระหว่างนกในธรรมชาติและนกจากการเพาะเลี้ยง ส่วนมาตรา 69 (พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558) จัดงานร่วมกับเครือข่ายเพื่อนำเสนอข้อมูลต่อ ส.ส. และ ส.ว. ในการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.ก.ประมง ฉบับใหม่

ส่วนประเด็นการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้เข้าร่วมหารือและสังเกตการณ์การประชุมหลายครั้ง พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนดังนี้ 

1) กระบวนการรับฟังความเห็น (เพิ่มเติม) โดย สคทช. เป็นผู้ดำเนินการ จะต้องไม่ใช่การยกเลิกกระบวนการที่กรมอุทยานฯ ดำเนินการไปแล้วนั้น ซึ่งควรมีบุคคลที่สามที่เป็นที่ยอมรับทุกฝ่ายเข้ามาดำเนินการ

2) ควรยกเลิกมติ ค.ร.ม. 14 มีนาคม 2566 โดยเฉพาะเส้นแนวเขตสำรวจเมื่อปี 2543 และสร้างกระบวนการนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ดินตามบริบทของปัญหาการซ้อนทับที่มีความต่างกันในแต่ละจุด

3) ให้ความสำคัญกับข้อตกลงใน MOU มรดกโลกทางธรรมชาติ ซึ่งมีการพูดถึงการเพิกถอนพื้นที่บางส่วนจริง (พื้นที่ที่ชาวบ้านมีปัญหาต้องได้รับการแก้ไข แต่ไม่ใช่การเพิกถอนรวม 2.65 แสนไร่)

4) ควรศึกษาข้อมูลและผลกระทบทางนิเวศวิทยา เนื่องจากพื้นที่ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เกณฑ์การเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า พันธุ์พืชสำคัญ หายาก หรือตกอยู่ในภาวะอันตราย ซึ่งหากเพิกถอนพื้นที่อาจกระทบถึง OUV (Outstanding Universal Value) ข้อนี้หรือไม่อย่างไร

5) หากมีการจัดเวทีรับฟังความเห็นเพิ่มเติม การรับฟังฯ ควรให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อชาวบ้าน เช่น การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างจริงจัง

การติดตามโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ได้นำเสนอผลการตรวจสอบความเหมาะสมของพื้นที่ดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จังหวัดจันทบุรี เนื่องจากกรมชลประทานมีความมั่นใจว่าผลการศึกษาที่ได้รับมีความเหมาะสมทั้งด้านวิศวกรรม ด้านสังคม ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างรอบคอบแล้ว แต่ข้อเท็จจริงพบประเด็นความไม่เหมาะสมและไม่สอดคล้องกับข้อมูลในรายงาน EHIA

นอกจากนี้ ยังมีการลงพื้นที่สำรวจความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ขอประทานบัตรเหมืองโดโลไมต์บ้านหนองมะค่า และติดตามโครงการสร้าง 7 อ่างเก็บน้ำดงพญาเย็น-เขาใหญ่ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการมรดกโลกสั่งให้ชะลอการก่อสร้างจนกว่าจะจัดทำ SEA แล้วเสร็จ

ขณะที่โครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งอยู่ในขั้นตอนที่ทาง อทพ. จ้างออกแบบก่อสร้างโครงการฯ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรกังวลว่าอาจส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงสิ่งปลูกสร้างที่จะตามมาภายหลังเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว

ด้านการสร้างเครือข่ายและการรณรงค์

มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้หารือกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อเตรียมจัดตั้ง ‘คชก. เงา’ เพื่อตรวจสอบรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากพบว่ารายงานภาครัฐหลายฉบับบิดเบือนข้อเท็จจริง นอกจากนี้ ยังมีการติดตามข้อเสนอแนวทางป้องกันการทุจริตในกระบวนการจัดทำรายงาน EIA จาก ป.ป.ช.

มีการเสริมเครือข่ายและชุมชนในการเฝ้าระวังสถานการณ์ และร่วมเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อเสนอแนะจากพื้นที่ต่าง ๆ ที่ทำวิจัยไทบ้าน เพื่อเป็นเครื่องมือที่การต่อสู้โครงการพัฒนาพื้นที่และยกระดับบทบาทชุมชนจากผู้ได้รับผลกระทบเป็นเจ้าขององค์ความรู้

งานฟื้นฟูประชากรและถิ่นอาศัยของควายป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีการหารือร่วมกับเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทับเสลา-ห้วยระบำ เพื่อวางแผนความร่วมมือระยะยาว รวมถึงการสำรวจประชากรและพืชอาหารของควายป่าในฤดูฝนและฤดูหนาว

การดำเนินโครงการส่งเสริมการอนุรักษ์เสือปลา มีการติดตั้งกล้องสำรวจเพื่อติดตามประชากรเสือปลาและประเมินอัตราการอยู่รอด โดยปัจจุบันมีรายงานจำนวนประชากรเสือปลาเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 81 ตัว และมีการกระจายตัวตามทางลอดรางรถไฟ สะพานข้ามคลอง และแนวริมคลอง

รวมถึงการทำงานร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในท้องถิ่น เช่น จัดทำฉลากผลิตภัณฑ์สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ส่งเสริมอาชีพท้องถิ่นเพื่อป้องกันการเปลี่ยนสภาพของพื้นที่เดิมเป็นอุตสาหกรรม เนื่องจากอาจเป็นการรบกวนถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือปลา รวมถึงพัฒนาศูนย์ศึกษาธรรมชาติเกี่ยวกับเสือปลาในพื้นที่ชุมชนเกาะไผ่ เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้นอกจากนี้ ยังมีการอบรมมัคคุเทศก์น้อยและจัดค่ายเยาวชนร่วมกับชมรมอนุรักษ์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมการอนุรักษ์เสือปลา

ขณะที่โครงการปลาซิวสมพงษ์ ทีมสำรวจได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลการกระจายของปลาซิวสมพงษ์และปลาชนิดอื่น ๆ ในแหล่งสำรวจใหม่และยืนยันพื้นที่เดิมผลการสำรวจพบว่าสระวัดลำบัวลอยยังคงมีความเหมาะสมในการเป็นแหล่งอาศัยของปลาซิวสมพงษ์ในฤดูแล้ง และได้มีการจัดทำแผนที่โซนนิ่งเพื่อการอนุรักษ์ปลาซิวสมพงษ์ร่วมกับผู้นำชุมชน

ด้านการสื่อสารเพื่อการอนุรักษ์

ได้ดำเนินงานด้านการสื่อสารเพื่อการอนุรักษ์อย่างต่อเนื่องและหลากหลาย มีการเผยแพร่เกร็ดความรู้ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เช่น เรื่องของ “หนอนร่าน” ซึ่งช่วยสร้างความเข้าใจในความหลากหลายทางชีวภาพ

นอกจากนี้ ยังมีการสื่อสารในโอกาสวันสำคัญต่าง ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อกระตุ้นจิตสำนึกในการอนุรักษ์ และสรุปงานวิจัยในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพในอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ซึ่งเป็นการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่เข้าถึงง่าย

ผู้เขียน

+ posts

นักสื่อสารผู้หลงใหลในธรรมชาติ เชื่อว่าการเล่าเรื่องที่ดีสามารถเปลี่ยนมุมมองและปลุกพลังการอนุรักษ์ได้