“กาแฟ ช่วยตอบโจทย์ชีวิตความเป็นอยู่ด้านอาชีพของคนในชุมชน”
คำพูดสั้นๆ จากพี่นุชจรีย์ เสตะพันธุ์ หรือผู้ช่วยลา ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านสะเน่พ่อง เทียบเท่าได้กับการสปอยล์ตอนจบของภาพยนตร์ไตรภาคเรื่องหนึ่งที่ผ่านวันเวลามาไกล
เพราะนับเนื่องจากวันที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรเริ่มต้นส่งเสริมงานส่งเสริมการปลูกกาแฟ ลดรายจ่าย สร้างรายได้ ผ่านโครงการชุมชนวิถีชีวิตเป็นมิตรกับผืนป่าตะวันตก เรื่อยมาถึงโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก และปิดฉากที่โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ก็เป็นเวลา 14 ปีเข้าแล้ว
จากต้นกล้ากาแฟที่เคยเพาะอยู่ในถุง ถูกปลูกลงดิน วันนี้ได้เติบใหญ่ให้ผลผลิต เป็นพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชน สร้างรายได้ให้กับหลายๆ ครอบครัว เพื่อลดการพึ่งพิงป่า และเป็นหนึ่งในรากฐานของการใช้ชีวิตร่วมกับป่าใหญ่
ในเดือนพฤษภาคมที่ฝนพรำฟ้าครึ้มจากเช้าจรดเย็น เราได้มาเยือนชุมชนสะเน่พ่อง ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรีอีกครั้ง พร้อมกับกล้ากาแฟอีก 2,300 ต้น และจิตอาสาอีก 40 ชีวิต เพื่อลงมือเพาะกล้าแจกจ่ายให้กับชุมชน ต่อยอดจำนวนต้นกาแฟที่มีอยู่ พร้อมหนุนเสริมวิถีชีวิตและอาชีพเป็นมิตรกับผืนป่ากันอีกครา
ผู้ช่วยลาเล่าย้อนความหลังให้แขกผู้มาเยือนฟังว่า เดิมทีที่นี่ปลูกกาแฟมานมนานแล้ว หลักฐานนั้นปรากฏอยู่บริเวณสวนผลไม้หลังวัดประจำหมู่บ้านที่มีลำห้วยโรคี่ไหลผ่าน ที่ตรงนั้นมีต้นกาแฟอายุ 40 ปี ยืนเด่นสง่าอยู่ท่ามกลางดงมะไฟที่กำลังออกผลเหลืองอร่ามพอดี หากแต่ที่ผ่านมาชุมชนยังขาดองค์ความรู้ด้านการแปรรูป เพิ่มมูลค่า ไม่สามารถเปลี่ยนผลผลิตที่ผลิดอกออกผลได้อย่างเต็มราคา ต้นกาแฟจึงเป็นเพียงสิ่งนอกสายตาของคนในชุมชน – และรวบรัดตัดตอนถึงความเปลี่ยนแปลงต่อไปว่า
“มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้เข้ามาคุยและชวนให้เราแปรรูปกาแฟที่มีอยู่ (เยอะมาก) พาเราไปศึกษาดูงานในพื้นที่ที่คล้ายๆ กับชุมชนของเรา คือ อยู่กับป่า และมีผลสำเร็จรูปธรรมที่จับต้องได้ชัดเจน เลยตัดสินใจศึกษาเรื่องการทำกาแฟอย่างจริงจัง”


แม้เมื่อพูดถึงมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ใครหลายคนอาจมองเห็นความเป็นองค์กรอนุรักษ์ที่ออกมาคัดค้านโครงการพัฒนาที่จะส่งผลกระทบต่อผืนป่า สัตว์ป่า และความหลากหลายของระบบนิเวศ แต่ในอีกภาคหนึ่งงานของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้มุ่งเน้นยังชุมชนจำนวนมากทั้งที่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์และรอบๆ พื้นที่อนุรักษ์
ยุทธนา เพชรนิล หัวหน้างานป่าอนุรักษ์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร อดีตผู้ขับเคลื่อนงานชุมชนวิถีชีวิตเป็นมิตรกับผืนป่าตะวันตก ขยายความต่อจากผู้ช่วยลาว่า เราทำงานกับชุมชนเป็นหลัก ทั้งที่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์และที่อยู่โดยรอบ ผ่านกิจกรรมเข้าไปหนุนเสริมความเข็มแข็งให้กับชุมชนในเรื่องปากท้อง ผ่านงานด้านอาชีพ เพื่อให้ชุมชนมีอาชีพที่เหมาะสมกับพื้นที่ทำมาหากินโดยไม่ส่งผลกระทบต่อผืนป่า
“โจทย์เรื่องปากท้องเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าวันนี้เราจะคุยเรื่องการอนุรักษ์กับชุมชนที่อยู่ในป่าหรือในพื้นที่อนุรักษ์ ต้องคิดก่อนว่าเราจะทำอย่างไรให้ชุมชนเขามีอยู่มีกินมีใช้ ซึ่งคำว่า ‘มีอยู่มีกินมีใช้’ ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเอากันจนเต็มที่ แต่มีกินมีใช้บนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียงและความเหมาะสม”
ก่อนวันเดินทางมาถึงบ้านสะเน่พ่อง มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ผลักดันงานเรื่องกาแฟรักษาป่ามาแล้วแห่งหนึ่ง ในชุมชนบ้านแม่กลองน้อย อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ซึ่งประสบความสำเร็จในการชักชวนชุมชนให้หันมาปลูกกาแฟสร้างรายได้แทนการทำเกษตรแบบเชิงเดี่ยว พร้อมๆ กับงานผลักดันองค์ความรู้ที่เกี่ยวเนื่องทั้งเรื่องการแปรรูป ช่องทางการตลาด ตลอดจนการพัฒนากลไกการทำงานในรูปแบบกลุ่มวิสาหกิจชุมชน

จากบทเรียนวันนั้นจึงได้ต่อยอดมาสู่ชุมชนสะเน่พ่องในรูปแบบสูตรกึ่งสำเร็จรูปในปีต่อๆ มา
ที่บอกว่ากึ่งสำเร็จรูป เพราะคงไม่มีโมเดลใดจะสมบูรณ์แบบสามารถปรับใช้ได้กับทุกพื้นที่ในทุกๆ บริบทได้ หลายสิ่งหลายอย่างจำต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้เหมาะสมกับพื้นที่ ตัวอย่างเช่น สายพันธุ์กาแฟที่บ้านแม่กลองน้อยเป็นอาราบิก้า แต่ที่สะเน่พ่องต้องปลูกโรบัสต้าจึงจะเหมาะสมกับความสูงของพื้นที่มากกว่า
แม้ระหว่างอาจพบเจออุปสรรค รายละเอียดปลีกย่อยให้ต้องแก้ แต่จากการทำงานนับตั้งแต่โครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตกเรื่อยมาจนถึงโครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ที่วันนี้โครงการทั้งหมดสิ้นสุดลงแล้ว ยุทธนาสรุปสั้นๆ ว่าโครงการที่ทำมาทั้งหมดได้ประสบความสำเร็จแล้ว
เพราะรูปธรรมวันนี้ กลุ่มผู้ปลูกกาแฟแต่ละรายสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดเป็นแบรนด์กาแฟของตัวเองได้เอง มีทั้งที่ทำบรรจุภัณฑ์หีบห่อขายในชื่อใหม่ สร้างช่องทางจำหน่ายได้ด้วยตนเอง เช่น ผ่านทางโซเชียลมีเดีย หรือบางรายสามารถพัฒนากาแฟของตัวเองไปประกวดชนะรางวัล จนมีร้านค้าจากต่างจังหวัดติดต่อขอรับซื้อไปจำหน่ายเป็นกาแฟเมนหลักของร้านมาแล้วก็มี
มากไปกว่านั้นการปลูกกาแฟของชุมชนสะเน่พ่อง ผู้ปลูกแต่ละรายยังทำภายใต้กติกาที่กำหนดไว้ร่วมกันที่เชื่อมโยงไปถึงการอนุรักษ์ผืนป่า เช่น ห้ามใช้สารเคมีในแปลงกาแฟ ห้ามปลูกแบบพืชเชิงเดี่ยว (ใช้วิถีปลูกแซมตามสวนหรือในพื้นที่ใช้ประโยชน์ชุมชน) จะไม่บุกรุกป่าเพื่อปลูกกาแฟ รวมถึงไม่ปลูกในแปลงไร่หมุนเวียนเพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหารของชุมชน
อย่างไรก็ตาม ในชีวิตที่ยังต้องดำเนินต่อไป เรื่องราวความสำเร็จในอดีตที่ผ่านมาอาจไม่สามารถการันตีถึงอนาคตได้ทั้งหมด ในพลวัตรที่กำลังขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรสดเร็ว ปัญหาเศรษฐกิจในภาพใหญ่ ตลอดจนสิ่งเร้าต่างๆ ก็อาจหันเหเปลี่ยนแปลงทิศไปทางอื่น
ขณะเดียวกัน ในปัจจุบันยังต้องคำนึงถึงเรื่องกฎหมาย เพราะที่ตั้งชุมชนสะเน่พ่องอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เช่น พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เรื่องมาตรา 121 ว่าด้วยเรื่องสำรวจการถือครองที่ดินของประชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่มีรายละเอียดปลีกย่อยต่อมาในหลายๆ เรื่องอย่างเงื่อนไขการอยู่อาศัยหรือทำกิน ก็ต้องดำเนินให้สอดคล้องกัน ซึ่งเป็นอีกงานที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรกำลังดำเนินงานผลักดันให้เกิดโมเดลวิถีชีวิตที่เหมาะสมสอดคล้องกับกฎหมาย ชุมชนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ และสัตว์ป่าอยู่ได้ด้วย เหล่านี้คืองานที่ต้องทำต่อไปในอนาคต – หัวหน้างานป่าอนุรักษ์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ขยายความ

แม้บางเรื่องอาจเป็นงานระยะยาว คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะเห็นผลสัมฤทธิ์ที่เรียกกันว่า ‘ความยั่งยืน’ แต่หากสิ่งใดสามารถลงมือทำได้ก่อน ใยจะต้องรีรอกันต่อไป
เมื่อ 10 – 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกับกลุ่มจิตอาสา ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดกิจกรรมเพาะกล้าต่อชีวิตต้นไม้ ขึ้นที่ชุมชนบ้านสะเน่พ่อง เพาะกล้ากาแฟ จำนวนทั้งหมด 2,300 ต้น เพื่อใช้สำหรับแจกจ่ายให้คนในชุมชนนำไปเพาะปลูกในฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง
กิจกรรมดังกล่าวเป็นงานที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกับกลุ่มจิตอาสา ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดร่วมกันมาเป็นเวลานับทศวรรษ ตระเวนเพาะกล้าหมุนเวียนตามชุมชนต่างๆ ทั่วผืนป่าตะวันตก แบ่งปันกล้าไม้ไปยังกลุ่มหรือชุมชนที่ต้องการ บ้างเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว หรืออย่างในครั้งนี้เป็นไปเพื่อเพิ่มฐานทรัพยากรให้ชุมชนใช้ต่อยอดด้านอาชีพ ปลูกกาแฟสร้างรายได้ และดูแลรักษาผืนป่าไปพร้อมๆ กัน
และในฤดูฝนที่กำลังเดินทางมาถึงอีกไม่นานเกินรอ กล้ากาแฟทั้งหมดจะถูกนำไปปลูกตามพื้นที่เรือกสวนของชุมชน รอวันเติบใหญ่ให้ประโยชน์แก่ผู้ปลูก ทั้งคนที่ปลูกอยู่เดิมหรือคนหน้าใหม่ที่อยากสร้างอาชีพบนฐานของความยั่งยืน ที่ในอนาคตอาจมีกิจกรรมผลักดันและหนุนเสริมวิถีชีวิตเป็นมิตรกับผืนป่ากันต่อ
และในท้ายที่สุด ผลที่ได้ก็ยังจะย้อนคืนมาสู่ผู้เพาะในรูปแบบของความสมดุลของป่าใหญ่ เป็นน้ำ เป็นอากาศ เป็นแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
และเป็นอีกหลายสิ่งมากมายเท่าที่ป่าใหญ่ผืนหนึ่งจะมอบให้ได้









ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม