แผนงานโครงการติดตามกวางผา เจตนาที่สืบต่อ – สู่งานรำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร

แผนงานโครงการติดตามกวางผา เจตนาที่สืบต่อ – สู่งานรำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร

ความเป็นมา

พ.ศ. 2528 สืบ นาคะเสถียร ได้เดินทางไปยังดอยม่อนจอง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย เพื่อศึกษาวิจัยเรื่องกวางผา หรือม้าเทวดา สัตว์ป่าสงวนชนิดหนึ่งที่หายากของเมืองไทย ซึ่งมีถิ่นที่อาศัยอยู่เฉพาะภูเขาสูงที่มีหน้าผาชัน บริเวณภาคเหนือของประเทศไทย

ในเวลานั้นเรื่องราวของกวางผาถือเป็นสัตว์ปริศนาที่แทบไม่มีใครรู้จัก รวมถึงยังไม่มีการทำวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ชนิดนี้ในประเทศไทยมาก่อน ดังนั้นสืบ พร้อมคณะจึงออกติดตามและสำรวจกวางผาที่ดอยม่อนจอง พบว่า ณ ช่วงเวลานั้นมีกวางผาอยู่ประมาณ 20 ตัว ขณะที่ผืนป่าอื่นๆยังไม่รู้จำนวนว่ามีมากน้อยเพียงใด

ภายหลังเรื่องราวการศึกษากวางผาของสืบได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร ฟ้าเมืองทอง ฉบับที่ 150 กุมภาพันธ์-มีนาคม 2532

ในปี 2533 หลังการจากไปของ สืบ นาคะเสถียร ได้มีการจัดตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของสืบนาคะเสถียร และได้หยิบเอาผลงานเรื่องกวางผา มาใช้ประกอบเป็นส่วนหนึ่งของตราสัญลักษณ์องค์กร และในการดำเนินการอนุรักษ์ผืนป่าและสัตว์ป่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้จัดตั้งกองทุนสัตว์ป่าขึ้น เพื่อสนับสนุนคนทำงานวิจัย และโครงการศึกษาวิจัยนิเวศกวางผาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อมก๋อย คือหนึ่งในโครงการที่มูลนิธิสืบฯได้ดำเนินการสนับสนุนเมื่อแรกตั้งองค์กร

ปัจจุบันปรากฏการศึกษาสถานการณ์ของกวางผาทั้งด้านการติดตามประชากร การกระจาย และถิ่นอาศัยในพื้นที่อนุรักษ์ต่างๆ การเพาะเลี้ยงและปล่อยกวางผาคืนสู่ธรรมชาติ รวมทั้งศึกษาพืชอาหารของกวางผา และล่าสุดได้มีการปล่อยกวางผาคืนสู่ธรรมชาติได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในปี 2555 ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ลา-แม่แสะ จ.เชียงใหม่ เพื่ออนุรักษ์ประชากรของกวางผาให้คงอยู่กับประเทศไทย

จากการสำรวจกวางผาในพื้นที่อนุรักษ์ และป่าสงวนมีรายงานการปรากฏตัวของกวางผาทั้งหมด 11 พื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน และจังหวัดตาก สามารถแบ่งพื้นที่ที่พบการกระจายกวางผาออกเป็นพื้นที่อนุรักษ์จำนวน 10 พื้นที่ และพื้นที่ป่าสงวนที่กำลังดำเนินการจัดตั้งเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า 1 แห่ง พบกวางผาในธรรมชาติจำนวน 232 ตัว โดยการสำรวจใช้วิธีนับตัวโดยตรง และการใช้กล้องดักถ่ายภาพ ส่วนกวางผาที่ได้จากการเพาะพันธุ์ในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อยมีจำนวนทั้งสิ้น 71 ตัว

แต่ด้วยกวางผาเป็นสัตว์ป่าที่มีถิ่นที่อยู่อาศัยที่เฉพาะเจาะจงที่เป็นหน้าผาสูงชัน มีทุ่งหญ้าและป่าดิบเขา ซึ่งเป็นแหล่งหลบภัยสำหรับกวางผาในช่วงเวลากลางวัน ทำให้พื้นที่การกระจายจะมีเฉพาะพื้นที่ภูเขาที่มีหน้าผา ทำให้เขตการกระจายแต่ละพื้นที่ถูกตัดขาด เกิดภาวะที่เป็นลักษณะคล้ายเกาะ ประชากรกวางผาแต่ละพื้นที่ไม่สามารถเดินทางไปหากัน เกิดเป็นภาวะเลือดชิด (Inbreeding) ในกลุ่มประชากรกวางผาแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีผลต่อความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของประชากรกวางผาในแต่ละพื้นที่ในอนาคต

การศึกษาสถานภาพประชากร และการกระจายของกวางผาของประเทศไทยจึงมีความสำคัญ เพื่อที่จะได้ข้อมูลที่ถูกต้อง และเป็นปัจจุบัน สำหรับใช้ในการอนุรักษ์และจัดการประชากรต่อไป

วัตถุประสงค์ของโครงการ

1. เพื่อศึกษาพฤติกรรม กิจกรรมในรอบวัน ตลอดจนพื้นที่การใช้ประโยชน์ของกวางผา จากการติดตามสัญญาณจากระบบดาวเทียม
2. เพื่อให้พื้นที่ดอยหมื่อกาโด่และดอยพะติโด่ ใน ต.แม่ศึก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ อันเป็นพื้นที่อาศัยสำคัญของกวางผา ได้รับการคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพ
3. เพื่อนำเสนอเรื่องราวการอนุรักษ์กวางผา ในวาระครบรอบ 30 ปี สืบ นาคะเสถียร

แนวทางการดำเนินงาน

  1. ติดตามและเก็บข้อมูลกวางผา จากการใส่ปลอกคอวิทยุสัญญาณดาวเทียม
    1.1 สร้างกรงสำหรับฝึกกวางผา และให้กวางผาปรับตัวในพื้นที่ป่าธรรมชาติ ก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ (Soft Release)
    1.2 ใส่ปลอกคอวิทยุสัญญาณดาวเทียมกับกวางผาที่จะดำเนินการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ 4 ตัว และติดกับกวางผาในธรรมชาติ 4 ตัว
    1.3 ดำเนินการติดตามและเก็บข้อมูลการกระจาย การใช้พื้นที่ แลการปรับตัวของกวางผาเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและแม่นยำ สำหรับใช้ในการอนุรักษ์และการจัดการประชากรต่อไป
    2. สนับสนุนหน่วยงานในพื้นที่ในการดำเนินตามขั้นตอนการเสนอพื้นที่ดอยหมื่อกาโด่ และดอย พะติโด่ ให้ได้รับการคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
    3. จัดทำสารคดี สื่อรณรงค์ต่างๆ ย้อนรอยการศึกษาวิจัยกวางผาและงานฟื้นฟูดูแลประชากรกวางผา ในเมืองไทย 30 ปีที่ผ่านมา

ระยะเวลาดำเนินการ

เดือนมีนาคม 2562 – ธันวาคม 2563 (สู่งานรำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร ในเดือนกันยายน 2563)

งบประมาณดำเนินการ

กิจกรรมที่ 1 ติดตามและเก็บข้อมูลกวางผา จากการใส่ปลอกคอวิทยุสัญญาณดาวเทียม
ค่ากรงชั่วคราวสำหรับฝึกกวางผา 250,000 บาท ค่าปลอกคอสัญญาณดาวเทียม พร้อมค่าเช่าช่องสัญญาณ (200,000 x 8) 1,600,000 บาท

กิจกรรมที่ 2 เสนอพื้นที่ดอยหมื่อกาโด่ และดอยพะติโด่ ให้เป็นพื้นที่ที่ได้รับการคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพ
สนับสนุนกิจกรรมในพื้นที่ตามขั้นตอนการดำเนินงาน 50,000 บาท

กิจกรรมที่ 3 ถ่ายทำสารคดีกวางผา เพื่อนำเสนอในวาระครบรอบ 30 ปี สืบ นาคะเสถียร
ค่าลงพื้นที่ถ่ายทำสารคดี 150,000 บาท
ค่าตัดต่อและจัดทำสื่อ 50,000 บาท

แผนงานและกิจกรรม

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1.เกิดข้อมูลแผนการจัดการกวางผาในประเทศไทย
2.พื้นที่ดอยหมื่อกาโด่และดอยพะติโด่ ใน ต.แม่ศึก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ได้รับการบริหารจัดการอนุรักษ์ในพื้นที่
3.สามารถสื่อสารเรื่องราวการทำงานด้านงานอนุรักษ์สัตว์ป่าผ่านสารคดี ให้แก่สาธารณะชนได้รับรู้และเข้าใจถึงคุณค่า ความสำคัญ ของผืนป่า สัตว์ป่า และแหล่งธรรมชาติ ตลอดจนพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการปกป้อง

คณะทำงาน

1.มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
2.กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า
3.กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
4.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย
5.สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย
6.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว
7.สถานีวิจัยสัตว์ป่าเชียงดาว
8.หน่วยจัดการต้นน้ำห้วยทรายเหลือง

ผู้ประสานงานโครงการ

นางสาวเกศรินทร์ เจริญรักษ์ เจ้าหน้าที่กิจกรรมพิเศษ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
140 ถ.ติวานนท์ ต.บางกระสอ อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี 11000 โทรศัพท์ 097-248-9717 / 02-580-4381

 

ร่วมสนับสนุนการทำงานรักษาป่าผืนใหญ่กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร