อนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร

อนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร

ในห้วงเวลาที่ คุณสืบ นาคะเสถียร เสียชีวิต ทุกคนต่างรู้สึกเศร้าโศก ขณะเดียวกันกระแสสังคมก็เรียกร้องให้มีการสร้างรูปปั้นหรืออนุสรณ์สำหรับรำลึกถึงคุณงามความดีของคุณสืบ ฝ่ายคณะกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเพื่อนพ้องน้องพี่หลายคนก็เห็นตรงกันดังนั้น จึงเกิดแนวคิดที่จะสร้างอนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร ขึ้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

อนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร ประกอบด้วยอาคารเอนกประสงค์ และรูปปั้นคุณสืบ จัดวางลำดับร้อยเรื่องราวต่อเนื่องกับตัวบ้านพักที่คุณสืบสละชีวิต

ผู้ออกแบบอาคารอนุสรณ์สถาน คือ บริษัทแปลน อาร์คิเทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่สถาปนิกร่วมกันก่อตั้ง มีคุณธีรพล นิยม เป็นหัวหน้ากลุ่ม บริษัทนี้เป็นที่รู้จักว่ายินดีรับทำงานให้แก่องค์กรเอกชนที่ทำงานเพื่อเด็ก ชุมชน สิ่งแวดล้อม โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และมีผลงานที่กลมกลืนกับประโยชน์ใช้สอยโดยไม่รบกวนธรรมชาติด้วย

ผู้ออกแบบอนุสรณ์สถาน คือ คุณครองศักดิ์ จุฬามรกต สถาปนิกหนึ่งในคณะผู้ก่อตั้ง บริษัท แปลน อาร์คิเทค จำกัด แนวคิดของคุณครองศักดิ์ซึ่งถกเถียงกับคณะกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรมีนัยยะสำคัญ คือ อาคารที่สร้างจะต้องใช้ประโยชน์ในการประชุมคนจำนวนมากได้ ทั้งกลางวันและกลางคืน จะต้องสะท้อนแนวนิยมของไทย ที่ประชุมคนจำนวนมากในศาลาโล่งๆ ลมพัดผ่านได้สะดวก ที่สำคัญ คือ จะต้องกลมกลืนกับธรรมชาติป่าและเขาหินแดง ไม่ข่มธรรมชาติของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

มีการสเก๊ตซ์แบบขึ้นหลายครั้ง จนท้ายที่สุดอนุสรณ์สถานก็แล้วเสร็จอย่างที่ได้เห็นในทุกวันนี้

ทิวทัศน์ของอนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร เมื่อมองจากระยะไกลจะเห็นเนินดินที่ปกคลุมด้วยหญ้าแฝก มีไม้สูงคือต้นยมหินขึ้นเป็นระยะเห็นแนวหลังคาที่แบนราบขนานกับเนินดิน ไม่บดบังทัศนียภาพเขาหินแดงเบื้องหลัง มองตรงจากทางเข้าจะเห็นรูปปั้นคุณสืบยืนอยู่ไกลๆ ส่วนเนินหญ้าขวามือของทางเข้ามีต้นไทรแผ่กิ่งก้านสาขาดูร่มเย็น เมื่อเดินบนทางเดินกลีบกุหลาบเข้าไปแล้วจะพบที่นั่งรูปครึ่งวงกลมอยู่ทางขวามือ มีท้องฟ้าเป็นเพดาน ขณะที่ทางซ้ายมือมีป้ายมรดกโลกและตราสัญลักษณ์มูลนิธิสืบนาคะเสถียรอยู่คนละด้าน หลังป้ายนี้จึงเป็นห้องประชุมที่เปิดโล่ง พร้อมกันนี้ได้จัดทำนิทรรศการผลงานและความคิดคุณสืบติดตั้งไว้ด้วย

หลังห้องประชุมใหญ่ ห่างไปประมาณ 6 เมตร มีห้องประชุมเล็ก ชื่อห้องลายสอง สร้างหลังจากการสร้างห้องประชุมใหญ่ในอีก 5 ปีต่อมา ตั้งอยู่ในแนวเดียวกับห้องประชุมใหญ่ ห้องลายสองนี้มีความมุ่งหมายจะใช้เป็นห้องสำหรับฉายภาพสไลด์ได้ในเวลากลางวัน จึงเป็นห้องที่มีประตูหน้าต่างพร้อมผ้าม่านปิดมิดชิด

จากอาคารอนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียรเมื่อเดินตรงต่อไป จะพบรูปปั้นคุณสืบที่มีต้นจันผายืนอยู่เป็นเพื่อน และขวามือของรูปปั้นมีบันไดทอดยาวไปยังบ้านที่คุณสืบเสียสละชีวิต บันไดนั้นลดระดับรวมแปดขั้น เท่ากับระยะเวลาแปดเดือนที่คุณสืบมาเป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

ตัวบ้านพักคุณสืบรักษาไว้เหมือนเดิม ห้องซ้ายมือเป็นห้องทำงานที่คุณสืบนั่งเขียนรายงานคุณค่าขอให้ทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก ห้องขวามือ คือ ห้องที่คุณสืบเสียสละชีวิต เตียงที่คุณสืบทอดกายลงเพื่อสืบสานชีวิตของผืนป่า สัตว์ป่า รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ยังคงตั้งอยู่ที่เดิม

สัญลักษณ์สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ระหว่างรูปปั้นคุณสืบกับบ้านพัก ซึ่งมีระยะห่างประมาณหนึ่งร้อยเมตร ในสนามด้านซ้ายมือ มีต้นไทรที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงปลูก เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร เมื่อ 24 เมษายน 2536

เรื่องรูปปั้นคุณสืบก็เช่นเดียวกับเรื่องอนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร กว่าจะลงตัวได้ ก็ต้องถกเถียงกันอยู่นาน เริ่มจากว่า ที่ตั้งควรตั้งอยู่ที่ใด ระหว่างที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อเป็นพลังใจแก่ชาววนศาสตร์ ทำนองว่ารุ่นพี่ได้เสียสละทุกอย่างเพื่อผืนป่าสัตว์ป่า หรือตั้งอยู่ริมถนนใหญ่ทางเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อให้ผู้ที่ผ่านไปมาจะได้มีสิ่งเตือนใจว่าเราต้องช่วยกันรักษาผืนป่า รักษาทั้งกาย วาจา ใจ เช่นเดียวกับคุณสืบ และอีกความเห็น คือ ตั้งอยู่ ณ บริเวณสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ลึกจากถนนใหญ่เข้าไป 14 กิโลเมตร ใกล้กับบ้านที่คุณสืบเสียสละชีวิต ตั้งอยู่ท่ามกลาง ห้วย ป่า เขา สัตว์ป่า ที่คุณสืบตั้งใจรักษาไว้ให้ได้

ท้ายที่สุดได้ข้อสรุปกันว่า รูปปั้นจะตั้งอยู่ท่ามกลางห้วย ป่า เขา บ้านของสัตว์ป่า

อีกเรื่องที่ถกเถียงกันคืออิริยาบถของรูปปั้นและการแต่งกายจะเป็นรูปก้าวย่างเดินนั่งยืนจะมีสัตว์ป่าประกอบอยู่ด้วยหรือไม่ถ้ามีจะเป็นสัตว์ป่าตัวไหนฯลฯ

ท้ายที่สุดเรื่องรูปปั้นก็ลงตัว เช่นที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน คือคุณสืบกำลังก้าวเดิน ใบหน้าและดวงตามองตรงเข้าไปยังผืนป่าตะวันตก ซึ่งถ้าลากเส้นตรงตามสายตาไปอีก 100 กิโลเมตร จะเป็นป่าและป่าและป่า บ้านหลังใหญ่ที่สุดของสัตว์ป่าในประเทศไทยและเอเชียอาคเนย์ คุณสืบแต่งตัวเช่นที่คุ้นตาของลูกน้อง คือ ชุดลุยป่า แบกเป้และเครื่องนอน ในกระเป๋ากางเกงข้างหนึ่งมีซองบุหรี่ มือหนึ่งถือสมุดบันทึก อีกมือหนึ่งถือปากกา (ของฝากจากคนรู้ใจ) มีกล้องดูนกคล้องคอ และสะพายกล้องถ่ายรูปพร้อมบันทึกข้อมูลต่างๆ ตามประสานักวิชาการ ส่วนเรื่องเครื่องแต่งกายเห็นตรงกันว่าให้แต่งกายตามแบบที่คุณสืบใช้ประจำวันและคุ้นตาของทุกคนจะเหมาะสมที่สุด

ผู้ออกแบบและปั้นคืออาจารย์เสวตเทศน์ธรรมอาจารย์คณะมัณฑนศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากรซึ่งนอกจากท่านจะคิดราคาที่ย่อมเยามากแล้วท่านยังบริจาคค่าแรงส่วนหนึ่งกลับมายังมูลนิธิสืบนาคะเสถียรด้วย

จำได้ว่าท่านปั้นเป็นรูปเล็กๆ สูงประมาณ 1 ฟุตก่อน จึงปั้นขยายหนึ่งเท่าครึ่งของตัวจริง เช่นที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน โรงปั้นอยู่ที่บ้านของอาจารย์เสวตเองที่ถนนปุณณวิถี มีทีมกรรมการมูลนิธิช่วยดูแลและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด คือ คุณนพรัตน์ นาคสถิตย์ คุณวีรวัธน์ ธีระประสาธน์ คุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ และคุณเบลินดา สจ๊วต-ค็อกซ์ ซึ่งทั้งสี่คนเป็นเพื่อนสนิทของคุณสืบ นาคะเสถียร

รูปปั้นคุณสืบแล้วเสร็จและนำไปติดตั้งในห้วยขาแข้งเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2536 มีพิธีบวงสรวงและพิธีทางศาสนา ณ อนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร เนื่องในโอกาสครบรอบปีที่สามของการจากไปของคุณสืบ นาคะเสถียร

 

 

คลิ๊กที่ภาพ เพื่ออ่าน คู่มือเยี่ยมชมอนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร
คลิ๊กที่ภาพ เพื่ออ่านเรื่อง การก่อสร้าง อนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร