หนึ่งชีวิตให้กับการแกะรอยกวางผา

หนึ่งชีวิตให้กับการแกะรอยกวางผา

ถึงแม้จะเป็นวันหนึ่งของเดือนเมษายน แต่อากาศในตอนเช้าบริเวณสันเขาซึ่งเป็นที่พักค้างแรมยังคงปกคลุมไปด้วยหมอก อุณหภูมิโดยประมาณ 17 องศา คณะของเราซึ่งประกอบด้วย ดร.ชุมพล งามผ่องใส จากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.แซนโดร โลวารี ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกวางผาฮามัวร์ของอิตาลี คุณกฤษณ์ เจริญทอง หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าม่อนจอง คุณคำนึง ณ สงขลา หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่ามูเซอร์ และลูกน้องที่ปฏิบัติงานปกป้องรักษาผืนป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ต่างก็เตรียมพร้อมสำหรับการสำรวจชีวิตความเป็นอยู่ของกวางผา หรือม้าเทวาดาสัตว์ป่าสงวนชนิดหนึ่งที่หายากของเมืองไทย ซึ่งมีถิ่นอาศัยอยู่เฉพาะตามภูเขาสูงที่มีหน้าผาชัน บริเวณภาคเหนือของประเทศแถบต้นแม่น้ำปิงเท่านั้น

การเดินทางมาสำรวจในครั้งนี้ ได้รับความสะดวกนานัปการจาก คุณปกรณ์ สูรณาคมน์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย (ในขณะนั้น) เราเดินทางมาด้วยกันจากจังหวัดเชียงใหม่สู่อำเภออมก๋อย ผ่านอำเภอฮอด เส้นทางจากอำเภอฮอดไปยังหน่วยปรับปรุงต้นน้ำสองพี่น้องเป็นทางลาดชันบนภูเขา ทำให้เห็นทัศนียภาพของป่าดงดิบ เขาที่มีไม้สนขึ้นอยู่ปะปนทั่วไป มองดูเหมือนคลื่นป่าไม้ไกลสุดสายตาในขณะที่พระอาทิตย์ใกล้จะตกดิน รถแลนด์โรเวอร์ของคุณอนุกิจ นรกิจบริหาร ลัดเลาะไปตามทางลูกรังจนกระทั่งไปถึงหน่วยปรับปรุงต้นน้ำ เราอาศัยค้างคืนที่นั่นอันเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินเท้า ไปตามทางเดินบนภูเขาเพื่อไปสู่ยอดดอยม่อนจอง ซึ่งจะใช้เวลาเดิน 6-7 ชั่วโมง

ที่หน่วยสองพี่น้องในคืนนั้น เราได้พบกับคณะสำรวจของคุณนริศ ภูมิภาคพันธ์ และคุณธีรภัทร ประยูรสิทธิ ซึ่งเดินทางมาสำรวจสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย ทั้งคู่เล่าให้ฟังว่า ได้ใช้เส้นทางการสำรวจทางตอนล่างของดอยม่อนจอง ซึ่งเป็นทุ่งโล่งเต็มไปด้วยหญ้าคา และต้นอ้อสูงท่วมหัว และได้ปีนหน้าผาดอยม่อนจองขึ้นมาที่บริเวณที่พักในป่าดงดิบเขาบนสันดอยด้านทิศใต้ ในขณะที่ขึ้นมาถึงสันดอยได้พบกวางผากำลังเล็มกินยอดหญ้าอ่อนอยู่บริเวณสันเขา ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณบ่ายสี่โมง กวางผาทั้งหมดรวมกลุ่มกันอยู่ 5 ตัว มีอยู่ตัวหนึ่งสีดำและมีขนาดใหญ่กว่าตัวอื่น เข้าใจว่าจะเป็นเลียงผา คุณนริศและคุณธีรภัทร พยายามหมอบคลานบังเหลี่ยมสันเขาเพื่อเข้าไปสังเกตพฤติกรรมในระยะใกล้ กวางผาตัวหนึ่งวิ่งลงไปตามลาดผาได้ประมาณ 30 เมตร ก็หยุดหันมามองที่คนทั้งสอง พร้อมกับยกเท้าหน้าเอากีบเท้าเคาะพื้นอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนที่จะวิ่งลับหายไปมันส่งเสียงร้องดังแค็กแค็กอยู่ในลำคอ

สภาพของดอยม่อนจองเป็นภูเขาที่วางตัวเกือบจะอยู่ในแนวเหนือใต้ ยอดสูงสุด 1,929 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางของแนวสันเขาซึ่งยาวประมาณ 3 กิโลเมตร ด้านทิศตะวันตกของลาดเขาเป็นหน้าผาชันที่ทอดตัวรับกันเป็นช่วงๆ ลึกลงไปประมาณ 300 – 400 เมตร ตีนหน้าผาเป็นลำห้วยที่ถูกปกคลุมไว้ด้วยป่าดงดิบ ถัดจากป่าออกไปทุ่งโล่งบางตอนของลาดผามีต้นไม้ขนาดเล็กขึ้นอยู่กระจัดกระจายเป็นหย่อมๆ ไม่ต่อเนื่องกัน พื้นลาดส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยกอหญ้าแห้งที่ยึดติดอยู่อย่างหลวมๆ ตามพื้นที่เป็นดินจะมีกรวดหินปูนก้อนเล็กๆ กระจายทั่วไป ทำให้การเดินตามลาดหน้าผาทำได้ยาก ส่วนลาดเขาด้านทิศตะวันออกถูกปกคลุมด้วยป่าดงดิบเขาตั้งแต่ตีนเขาจนถึงสันเขา บนสันเขามีทางเดินแคบๆ ขนานไปกับชายป่าดงดิบเขา บางตอนของทางเดินอยู่ห่างจากขอบหน้าผาไม่ถึงหนึ่งเมตร

หลังจากภารกิจในตอนเช้าสิ้นสุดลง เราพากันเดินตามสันเขาออกจากที่พักในป่าดงดิบเขา เพื่อจะขึ้นไปบนสันดอยม่อนจอง น้ำค้างยังคงเกาะอยู่เป็นฝ้าสีขาวบนยอดหญ้าที่เริ่มแตกใบใหม่หลังไฟไหม้ สายลมพัดปุยหมอกลอยข้ามสันเขาไปทางแนวป่า พระจันทร์ยังคงค้างฟ้าอยู่เหนือสันดอย มองเห็นเป็นดวงกลมจางๆ ในม่านหมอก พวกเราเดินช้าๆ ไปตามทางเดินบนสันเขา สายตาทอดมองไปตามหน้าผาที่อยู่ทางด้านขวามือ นกเล็กๆ บินโฉบแมลงตามยอดหญ้าพร้อมกับส่งเสียงร้อง

เราพบมูลเสือขนาดใหญ่บนทางเดิน เมื่อหักออกดูก็พบส่วนของขนและกระดูกของสัตว์ขนาดเล็กรวมกันเป็นก้อนอยู่ข้างใน บางตอนของทางเดินที่มีไฟไหม้ผ่านไปแล้วและยังคงมีเศษเถ้าถ่านของกอหญ้าหลงเหลืออยู่ ทำให้เห็นรอยเท้าของกวางป่าได้อย่างชัดเจน แต่ไม่พบร่องรอยของกวางผา เราหยุดพักและนั่งลงกับพื้นเพื่อสังเกตความเคลื่อนไหวของกวางผาตามจุดที่สามารถมองเห็นลาดหน้าผาได้เป็นระยะไกลๆ ตามปกติถ้ากวางผาตามจุดที่สามารถมองเห็นลาดหน้าผาได้เป็นระยะไกลๆ ตามปกติถ้ากวางผายืนนิ่งอยู่ตามหน้าผา จะสังเกตเห็นได้ยาก เนื่องจากสีขนตามตัวเป็นสีเทาอ่อน ลำตัวมีขนาดเล็กพอๆ กับเก้ง น้ำหนักโดยประมาณ 20 กิโลกรัม อาจจะเป็นเพราะหมอกที่เริ่มจางลงและแสงแดดยังไม่ส่องลงมาตามลาดหน้าผาทำให้การค้นหากวางผากระทำได้ยาก

เมื่อเดินต่อมาถึงยอดสูงสุดของดอยม่อนจอง เราเห็นสายน้ำแม่น้ำตื้นและหมู่บ้านลางๆ ในฝ้าหมอก เสียงช้างดังแปร๋นมาจากชายป่าด้านตรงข้ามของทุ่งโล่งตอนล่าง ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ 08.00 นาฬิกา โขลงช้างป่าจำนวน 14 เชือก กำลังม้วนงวงดึงหญ้าและยอดไม้เลื้อยอยู่ริมลำธารชายป่า มันพากันเคลื่อนที่ไปช้าๆ เสียงร้องที่ได้ยินเกิดจากช้างตัวเมียที่อยู่ในโขลง ทำให้ช้างจ่าโขลงหยุดกินอาหารพร้อมกับชูงวงขึ้นส่งเสียงร้องขับไล่ช้างโทนตัวหนึ่งที่พยายามจะเข้ามาหาช้างตัวเมียในโขลง ช้างทั้งหมดยังคงเดินหากินอยู่ตามชายป่า จนกระทั่งเวลา 10.00 นาฬิกา จึงเดินหายเข้าไปในป่า ซึ่งเป็นส่วนกั้นกลางระหว่างทุ่งโล่งตีนดอยม่อนจองและน้ำแม่ตื้น

ขณะนั้นเป็นเวลาที่พระอาทิตย์เริ่มสาดแสงลงมาตามลาดหน้าผา ทำให้เห็นบางส่วนได้อย่างชัดเจน แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ส่วนของซอกหินผาอยู่ในเงามืดจากยอดสูงสุดเรามุ่งหน้าต่อไปทางทิศเหนือ กวางผาตัวหนึ่งวิ่งลงไปตามลาดเขาและหายตัวไปในป่าที่ทอดตัวลงไปตามร่องห้วย อากาศเริ่มร้อนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาใกล้เที่ยงวัน หลังจากพักกินอาหารกลางวันแล้ว ผมกับคำนึงชวนกันเดินต่อไปยังยอดเนินสุดท้ายของสันดอย เผื่อว่าจะหาที่นั่งใต้ร่มไม้ตรงจุดที่สามารถมองเห็นลาดหน้าผาซึ่งอาจจะพบกวางผาได้ที่ใดที่หนึ่ง เราพากันมาหยุดตรงจุดที่เป็นส่วนที่ยื่นออกไปมากที่สุด ตรงจุดนั้นทำให้มองเห็นกลุ่มควันไฟสีขาวที่ลอยขึ้นมาเหนือยอดไม้ป่าข้างล่าง คำนึงพูดออกมาว่า “น่าจะเป็นพวกล่าสัตว์ที่ชอบจุดไฟ เพื่อให้สัตว์เข้าไปอาศัยร่มไม้ในฤดูร้อนวิ่งออกมาข้างนอก” ผมใช้กล้องส่องทางไกลส่องลงไปเห็นคนสามคนแยกย้ายกันออกมาจากที่ชายป่า ในมือถือปืนแก๊ปและย่ามคนละใบสะพายอยู่ที่ไหล่ ควันไฟสีขาวมีขนาดใหญ่ขึ้น เมื่อถูกลมพัดเข้ามาทางหน้าผา ระยะห่างจากที่เรานั่งอยู่ประมาณ 1 กิโลเมตร ลมแล้งทำให้ไฟไหม้ลุกลามมาที่ตีนหน้าผา ที่ยังมีหญ้าแห้งหลงเหลืออยู่เป็นหย่อมๆ เนื่องจากบางส่วนได้ถูกไฟไหม้ผ่านไปแล้ว ขณะที่ผมมองลงไปในแนวดิ่งตามลาดหน้าผา ได้เห็นกวางผาตัวหนึ่งโผล่ส่วนหลังและคอออกมาจากซอกหินมันหันหน้าไปทางไฟที่กำลังไหม้พร้อมกับมีเสียงปะทุของหญ้าแห้ง

กวางผาตัวนั้นยืนอยู่สักครู่หนึ่งแล้วจึงหมุนตัวกลับมาพร้อมกับกระโจนลงจากจุดที่ยืนอยู่ มันหายตัวไปใต้ชะง่อนหินที่เรานั่งอยู่ กวางผาอีกตัวเดินช้าๆ ไปตามชายหน้าผาตอนล่างแล้วหลบหายลงไปข้างล่าง ลมยังคงพัดให้ไฟไหม้ลุกลามขึ้นมาตามลาดหน้าผา แต่ระยะทางยังอยู่ห่างจากจุดที่เรานั่ง

เมื่อ ดร.ชุมพล ดร.แซนโดร และกฤษณ์เดินมาถึงที่ๆ เรานั่งอยู่ ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ 13.00 นาฬิกา ซึ่งอากาศกำลังร้อนจัด กวางผาต่างหลบเข้าหาร่มเงาตามซอกหิน เราตกลงกันว่าจะเดินกลับที่พักเพื่อกลับออกมาดูใหม่ในตอนเย็น

ในขณะที่กำลังเดินกลับ คำนึงบอกผมว่า บริเวณใกล้ๆ กับที่กวางผาที่เราเห็นมันหมุนตัวกลับแล้วหายไปนั้น มีถ้ำอยู่แห่งหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นที่ซ่อนตัวของกวางผาได้ เราจึงชวนกันเดินเฉียงลงไปตามลาดผาเพื่อสำรวจถ้ำดังกล่าว ดร.ชุมพลเห็นผมกับคำนึงเดินลงไปจึงย้อนกลับมาดู เรามาหยุดอยู่ห่างจากปากถ้ำประมาณ 6 เมตร ซึ่งไม่สามารถเดินต่อไปได้อีก เนื่องจากเป็นร่องหินลึก คำนึงอาสาที่จะลงไปต่ำกว่าส่วนที่เรายืนอยู่ เพื่อขึ้นมาตามร่องและเข้าไปสำรวจในถ้ำ จุดที่พวกเรายืนอยู่เป็นด้านหลังของหน้าผาหินที่ยื่นออกไปจากลาดผา จึงทำให้มองไม่เห็นไฟที่ไหม้อยู่ทางฝั่งตรงข้าม หลังการสำรวจถ้ำซึ่งไม่ปรากฏว่ามีกวางผาอยู่ในนั้น คำนึงไต่ลงไปเพื่อเก็บของที่วางกองไว้ ในขณะที่หันหลังจะกลับขึ้นมา เราเห็นควันไฟสีขาวผ่านมาทางตีนหน้าผา ทุกคนจึงต่างวิ่งเฉียงขึ้นมาที่สันดอย ผมและดร.ชุมพลวิ่งอยู่ในแนวเดียวกัน ส่วนคำนึงอยู่ต่ำลงไปประมาณ 5 เมตร เราไม่สามารถวิ่งขึ้นในแนวดิ่ง เพราะลาดเขาชันและลื่น ขณะที่วิ่งขึ้นมารู้สึกว่ามีไอความร้อนเคลื่อนผ่านหลังไปอย่างรวดเร็ว เมื่อมาถึงทางเดินบนสันเขาไฟได้มอดไปแล้ว ดร.ชุมพลแบมือให้ผมดู พร้อมกับบอกว่าแกล้มลงและเอามือทั้งสองทาบไปกับพื้นทำให้ฝ่ามือโป่งพองเหมือนถูกไฟลวก ส่วนที่แตกออกมีน้ำใสๆ ปะปนกับเลือดและเศษเถ้าถ่านที่ไหม้ไฟขนคิ้วและผมบางส่วนถูกไฟไหม้เกรียม

เราทั้งคู่ต่างมองหาคำนึง เมื่อไม่เห็นจึงตะโกนเรียก แต่ก็ไม่มีเสียงตอบ พวกที่เดินกลับไปก่อนย้อนมาดูพวกเรา และช่วยกันตามหาคำนึง ผมค่อยๆ เดินย้อนลงไปตามเส้นทางที่วิ่งออกมา ตรงจุดที่ห่างจากปากถ้ำออกมาประมาณ 20 เมตรผมพบหมวกที่คำนึงเคยสวมอยู่ถูกไฟไหม้เป็นเถ้าถ่าน แต่ยังคงรูปเป็นหมวกให้เห็นก่อนที่จะถูกลมกรรโชกให้แตกสลายไป ผมเดินต่อลงไปถึงปลายลาด ส่วนที่ต่อกับหน้าผาชัน ซึ่งไม่สามารถลงไปได้อีก พร้อมกับส่งเสียงเรียก ไม่มีวี่แววว่ามีคำนึงอยู่ในบริเวณนั้น พวกเราแยกย้ายกันออกไปค้นหา กฤษณ์พา ดร.ชุมพลกลับไปที่ที่พักเพื่อรักษาพยาบาลบาดแผลจากไฟไหม้และจะพาลูกน้องที่เหลือลงไปที่ตีนเขาตอนล่าง ถ้ายังไม่พบในวันนี้เขาจะเดินกลับไปที่หน่วยเพื่อไปนำคนมาช่วยค้นหาในวันรุ่งขึ้น

ประมาณบ่ายโมงครึ่งของวันรุ่งขึ้น ขณะที่ผมใช้กล้องส่องทางไกลส่องลงไปตามลาดผาตรงจุดที่คาดว่า เขาพลาดล้มและกลิ้งตกลงไป ผมได้พบร่างของคำนึงที่ไหม้เกรียมติดค้างอยู่ตรงลาดผาช่วงกลางไม่มีทางลงไปหรือขึ้นมาจากข้างล่างได้ เนื่องจากเป็นลาดหินที่อยู่ระหว่างหน้าผาชันทั้งส่วนบนและล่าง

คืนนั้นพวกเราทำพิธีเคารพศพคำนึง ด้วยสิ่งของเท่าที่จะหาได้ในเวลานั้น ขอให้ดวงวิญญาณของเขาผู้ซึ่งได้อุทิศตัวเพื่องานที่เขารับผิดชอบจงไปสู่ที่สุคติด้วยความอาลัยของเพื่อนร่วมงานทุกคน

การกู้ศพของคำนึงเป็นไปด้วยความยากลำบากอย่างยิ่ง เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเป็นช่องเขาที่มีลมพัดแรงและเปลี่ยนทิศทางตลอดเวลา การใช้เฮลิคอปเตอร์เพื่อหย่อนคนลงไปเก็บศพมิสามารถกระทำได้ แต่ด้วยความอุตสาหะของคณะเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ประจำจังหวัดเชียงใหม่ การกู้ศพในครั้งนั้นจึงสัมฤทธิ์ผลในเวลาอีก 1 เดือนต่อมา

ในเดือนมกราคมของปีถัดมา ผมและคณะสำรวจชุดเดิมได้ขึ้นไปที่ดอยม่อนจองอีกครั้งหนึ่ง เราพบว่ามีกวางผาอยู่ประมาณ 20 ตัว เท่านั้น ส่วนในที่อื่นๆ ที่ปรากฏว่ามีกวางผาอาศัยอยู่ ยังไม่รู้จำนวนว่ามีมากน้อยเพียงใด สัตว์ป่าชนิดนี้มีถิ่นฐานกระจายอยู่เฉพาะตามหน้าผาของภูเขาที่สูงชันบางแห่งของภาคเหนือบริเวณต้นน้ำแม่ปิงเท่านั้น

ดังนั้นโอกาสที่สัตว์ป่าสงวนที่หายากชนิดนี้จะสูญพันธุ์ไปจากถิ่นกำเนิดดั้งเดิมย่อมมีอยู่มาก หากไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครองให้ปราศจากการล่าจากมนุษย์และการทำลายหรือรบกวนถิ่นที่อยู่อาศัยที่มันสามารถปรับตัวให้อาศัยอยู่ได้แล้วนั้น สัตว์ป่าบางชนิดได้สูญพันธุ์ไปก่อนที่เราจะรู้คุณค่าของมัน เช่น สมัน หรือเนื้อสมัน ซึ่งเป็นกวางป่าชนิดหนึ่งที่มีกำเนิดอยู่เฉพาะบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในประเทศไทยแห่งเดียวในโลก แต่ก็ถูกล่า และถิ่นที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะถูกทำลายไป จนทำให้สมันสูญพันธุ์ไปจากโลกใบนี้

ทรัพยากรที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ย่อมไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้ใหม่ ทางเดียวเท่านั้นที่จะช่วยได้คืออาศัยบทเรียนจากการสูญเสียนั้นมาเป็นแนวทางในการปกป้องรักษา และกำหนดมาตรการในการใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องต่อไปในวันข้างหน้า

 


 

 

กวางผา

ชื่อสามัญ : Goral
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Nernorhaedus griseus

กวางผา มีขนาดเล็กกว่าเลียงผา ตัวสูงประมาณ 2 ฟุต มีลักษณะคล้ายแพะแต่ไม่มีเคราอย่างแพะ กวางผามีหางสั้น ขนตามตัวสั้นและมีสีน้ำตาลปนเทา ขนตามสันหลังมีสีเข้มเป็นแนวตลอด หางมีสีดำ เขาสั้นมีสีดำ และตรงปลายโค้งไปทางข้างหลัง มีลักษณะคล้ายขอ

กวางผา เป็นสัตว์ที่มีความว่องไวประเปรียวเช่นเดียวกับเลียงผา ชอบอยู่ตามที่สูงและมักอยู่รวมกันเป็นฝูงประมาณ 5-6 ตัว บางครั้งก็อยู่เป็นคู่หรือตัวเดียว ปกติจะอยู่บนยอดเขาหรือบริเวณไหล่เขา หรือตามหน้าผาที่มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมอยู่ชอบออกหากินในเวลาเช้าตรู่หรือในเวลาที่แดดไม่ร้อนจัดและตอนเย็น อาหารได้แก่ ใบไม้อ่อนๆ หรือหน่อพืชบางชนิด

ฤดูผสมพันธุ์ของกวางผายังไม่ทราบแน่ชัด เคยมีผู้พบกวางผาในราวเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน โดยออกลูกครั้งละ 1 ตัว ระยะเวลาตั้งท้องประมาณ 6 เดือนตามสถิติ มีผู้เคยเลี้ยงกวางผา ปรากฏว่ากวางผาสามารถมีอายุยืนอยู่ได้ถึง 11 ปี

กวางผา เป็นสัตว์ที่ค่อนข้างหายาก เคยมีผู้พบตามภูเขาทางภาคเหนือ บริเวณลุ่มแม่น้ำปิง ในปัจจุบันยังพบอยู่ไม่มากที่ดอยม่อนจอง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย

 


 

เรื่อง / ภาพ โดย สืบ นาคะเสถียร
พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร ฟ้าเมืองทอง ฉบับที่ 150 กุมภาพันธ์ – มีนาคม 2532