แผนยุทธศาสตร์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร พ.ศ. 2563-2566

แผนยุทธศาสตร์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร พ.ศ. 2563-2566

หลักการ

ให้ความสำคัญกับการปกป้องป่าผืนใหญ่และแหล่งธรรมชาติ ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่า และความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอันดับแรก รองลงมาให้ความสำคัญกับสิ่งมีชีวิตที่เป็นชนิดพันธุ์ที่สำคัญและถูกคุกคาม ในการทำงานที่ต้องตัดสินใจให้อยู่บนพื้นฐานทางวิชาการที่รอบด้าน หรือหากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ต้องมีวิธีแก้ไขผลกระทบที่สามารถปฏิบัติได้จริงและเป็นที่ยอมรับ อย่างไรก็ตามสมควรคงระบบนิเวศตามธรรมชาติที่มีอยู่ทั้งกระบวนการและให้ดำเนินการบูรณะถิ่นที่อยู่อาศัยและความหลากหลายทางชีวภาพ เมื่อมีความจำเป็นและเป็นไปได้

ปรัชญา

ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานความร่วมมือกับทุกฝ่ายรวมถึงเพิ่มพูนความเข้าใจในการอนุรักษ์ ให้พวกเขาเหล่านั้นด้วย ขณะเดียวกันในการตัดสินใจต้องมีพื้นฐานของการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ขณะที่อีกด้านหนึ่งต้องเคารพสิทธิชุมชนที่จะดำเนินชีวิตตามวัฒนธรรม โดยสอดคล้องกับการสงวนความหลากหลายทางชีวภาพ และความสมดุล ยั่งยืน มูลนิธิต้องทำหน้าที่โดยไม่หวั่นเกรงต่อปัญหาใดๆ เพราะหน้าที่ดังกล่าวเป็นหน้าที่ทางศีลธรรมของมนุษย์ในการปกป้องคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและพิทักษ์สิทธิของสัตว์ป่าที่จะดำรงชีวิตตามวิถีธรรมชาติ

วิสัยทัศน์

เป็นองค์กรสาธารณะของไทยที่ขับเคลื่อนงานอนุรักษ์ผืนป่าและสัตว์ป่าที่สำคัญ โดยการจัดการฐานความรู้ ข้อมูลทางวิชาการ ประกอบการตัดสินใจ พร้อมเผยแพร่สู่สาธารณะด้วยงานสื่อสารที่ทันสมัย และสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อผลักดันเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย ในวิกฤตการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิต และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก รวมถึงการทำงานเพื่อยกระดับมาตรฐานผู้พิทักษ์ป่า และพัฒนาการจัดการผืนป่าตะวันตกสู่การเสนอเป็นมรดกโลก

พันธกิจ

1. Policy-Watchdog ทำหน้าที่เสนอเชิงแนะนโยบายการจัดการป่าไม้และสัตว์ป่าของประเทศไทย และเฝ้าระวังสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพของผืนป่าและระบบนิเวศที่สำคัญของประเทศไทย

2. Communication เป็นองค์กรสื่อสารงานอนุรักษ์ที่ทันสมัย ด้วยเครื่องมือที่ทรงพลัง สร้างสังคมที่ตระหนักต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม

3. 6th Extinction & Climate Change เป็นองค์กรอนุรักษ์ของประเทศไทย ที่ทำหน้าที่ร่วมขับเคลื่อนเรื่องการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

4. Network ประสานความร่วมมือกับองค์กรด้านการอนุรักษ์ภายในประเทศและต่างประเทศ

5. Ranger เป็นองค์กรที่สนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็ง และรักษาสิทธิอันพึงมีของผู้พิทักษ์ป่า

6. WeFCOM สร้างมาตรฐานการจัดการกลุ่มป่าตะวันตก และผลักดันให้เกิดการทำงานที่เป็นมาตรฐาน

7. Organization เป็นองค์กรอนุรักษ์ที่มั่นคง โดยการสนับสนุนจากสาธารณะ และมีบุคลากรที่ทำงานอนุรักษ์อย่างมืออาชีพ

ยุทธศาสตร์

ยุทธศาสตร์ที่ 1 Policy-Watchdog ระยะ 4 ปี ตามแผนยุทธศาสตร์นี้ มูลนิธิจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการผลักดันเชิงนโยบาย และการให้ข้อเสนอแนะทางด้านกฎหมาย และจัดทำกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้และสัตว์ป่า ฉบับต่าง ๆ เพื่อเป็นเครื่องมือที่สำคัญให้การขับเคลื่อนงานในระดับปฏิบัติที่ได้วางรากฐานไว้ในยุทธศาสตร์ที่ผ่านมามีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการยังคงบทบาทสำคัญในการเป็นองค์กรเฝ้าระวังและติดตามนโยบาย โครงการ กิจกรรม ที่จะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ และผืนป่าที่สำคัญของประเทศไทย โดยใช้องค์ความรู้ทางวิชาการ ประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ มาเป็นแนวทางพิจารณา และมีงานสื่อสารเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการทำงานในพื้นที่ มาเป็นแนวทางพิจารณา และมีงานสื่อสารเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการทำงานให้ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจได้รู้ และมีสาธารณชนเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจและมีส่วนร่วมผลักดัน

ยุทธศาสตร์ที่ 2 Communication มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จะมีช่องรายการของตนเอง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสร้าง รวมถึงช่องทางการสื่อสารอื่นๆ ที่ทันสมัย มีพลัง เพื่อรองรับและตอบสนองการสื่อสารสองทาง คือ มูลนิธิ และสาธารณชน ให้เกิดตระหนักต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งใช้กิจกรรมรำลึกคุณสืบของทุกปี และการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เปิดเป็นพื้นที่ให้ร่วมดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ โดยใช้สื่อสิ่งพิมพ์เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ข้อมูลอีกทางหนึ่ง

ยุทธศาสตร์ที่ 3 6th Extinction & Climate Change ท่ามกลางสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของโลก ที่กำลังเผชิญภัยพิบัติ และการคุกคามสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ ทั่วโลกจนค่อย ๆ ทยอยสูญพันธุ์ลง มูลนิธิซึ่งมีบทบาทการทำงานอนุรักษ์ผืนป่าและสัตว์ป่าในประเทศไทย กำลังทำงานท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว บทบาทสำคัญขององค์กร คือ การรักษาผืนป่าใหญ่ที่เป็นบ้านอันมั่นคงของสัตว์ป่า และระบบนิเวศสำคัญของประเทศไทยและของมนุษย์ในโลกใบนี้ รวมถึงฟื้นฟู ดูแลประชากรของสัตว์ป่าที่กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่มูลนิธิจะเป็นองค์กรอนุรักษ์ของประเทศไทยเข้ามาทำหน้าที่ร่วมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเรื่องการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยใช้จุดแข็งของมูลนิธิ คือ การสื่อสารสารธารณะให้ตระหนักถึงปัญหาและเข้ามามีส่วนร่วมหยุดยั้งปัญหาด้วยตนเอง รวมถึงผลักดันเชิงนโยบายที่เป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนการลดภัยพิบัติ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 Network การทำงานร่วมกับหน่วยงาน องค์กร กลุ่ม และบุคคล มีความสำคัญต่อการสร้างพลังการเปลี่ยนแปลง มูลนิธิจึงมีแผนงาน Network ขึ้นมารับผิดชอบประวานความร่วมมือกับองค์กรด้านการอนุรักษ์ภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงานในทุกระดับ โดยแบ่งออกเป็นเครือข่ายในเมือง เครือข่ายภูมิภาค และเครือข่ายเฉพาะ คือ ครู และนักศึกษา ที่จะขับเคลื่อนกิจกรรมร่วมกันโดยตรง คือ พัฒนางานสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษาและการทำงานกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ๆ

ยุทธศาสตร์ที่ 5 Ranger แผนยุทธศาสตร์ฉบับที่ผ่านมา งานของผู้พิทักษ์ป่า ได้รับการยอมรับ เป็นที่รู้จักกันในวงกว้างขึ้น รวมถึงมีหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมสนับสนุนการทำงานอย่างเข้มแข็งและจริงจัง รวมถึงหน่วยงานต้นสังกัดได้ริเริ่มการปรับปรุงระบบสวัสดิการ สวัสดิภาพ มีการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะความพร้อมในการทำงานของผู้พิทักษ์ป่า แผนยุทธศาสตร์ฉบับนี้ มูลนิธิจะเน้นการเป็นองค์กรที่สนับสนุนให้กลุ่มผู้ทำงานพิทักษ์ป่ามีความเข้มแข็ง เกิดเครือข่ายเพื่อยกระดับอาชีพพิทักษ์ป่า ให้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีความสามารถและสร้างสิทธิอันพึงมีของผู้พิทักษ์ป่าในารทำอาชีพนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 6 WeFCOM ผืนป่าตะวันตกถือเป็นพื้นที่เป้าหมายหลักสำคัญของการทำงาน ซึ่งปัจจุบันนี้ทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้ง มรดกทางธรรมชาติของโลก เป็นเสมือนต้นแบบของงานอนุรักษ์ที่ขยายไปสู่พื้นที่โดยรอบทั้งผืนป่าตะวันตก เมื่อระบบนิเวศมีความเชื่อมโยงกัน ระบบการจัดการพื้นที่จึงมีความจำเป็นต้องสร้างมาตรฐานการจัดการกลุ่มป่าตะวันตกทั้งผืน ทั้งในด้านการทำงานร่วมกับชุมชนในป่า งานป้องกัน การดูแลพื้นที่ และงานบริหารจัดการพื้นที่ และผลักดันให้เกิดการทำงานของพื้นที่ที่เป็นมารฐาน พร้อมพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมพื้นที่เรียนรู้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานสู่มาตรฐานกับบุคลากรในพื้นที่อนุรักษ์ด้วย โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การผลักดันผืนป่าตะวันตกให้เกิดมาตรฐานความเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติทั้งผืนต่อไป

ยุทธศาสตร์ที่ 7 Organization การบริหารจัดการองค์กรอนุรักษ์ที่มีความมั่นคงมีความสำคัญไม่ต่างจากยุทธศาสตร์อื่น ๆ เนื่องจากยุทธศาสตร์นี้เป็นหน่วยสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมในภารกิจต่าง ๆ ของมูลนิธิ ซึ่งแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 4 ฝ่าย ประกอบด้วย

1) ฝ่ายผลิตภัณฑ์ที่ระลึก เป็นฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ระลึกของมูลนิธิให้กับสาธารณชน ทำให้เกิดรายได้ของมูลนิธิสำหรับใช้ในการทำงาน และใช้เป็นการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์การทำงานของมูลนิธิผ่านตัวผลิตภัณฑ์นั้น ๆ การดำเนินงานจะมี 3 ด้าน คือ การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างมีคุณภาพ การพัฒนาช่องทางขาย และการตลาด

2) ฝ่ายระดมทุน เป็นการพัฒนาการสนับสนุนมูลนิธิรูปแบบต่าง ๆ ทั้งด้านการบริจาค และการสนับสนุนการทำงานมูลนิธิ โดยผ่านการประชาสัมพันธ์ และกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้สาธารณชนสนับสนุนงบประมาณและภารกิจการทำงาน

3) ฝ่ายกิจการเพื่อรักษาป่าตะวันตก เป็นฝ่ายที่เชื่อมผลิตภัณฑ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตกออกมาสู่ผู้สนใจภายนอก โดยการพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ชุมชนมาปรับให้สอดคล้องกับตลาด เพื่อสร้างรายได้กลับมาใช้ในการทำงานขององค์กรต่อไป ขณะเดียวกัน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนก็ได้รับการพัฒนาและเรียนรู้ให้สามารถดำเนินกิจกรรมเพื่อสนองต่อการอยู่ร่วมกับผืนป่าอย่างยั่งยืนได้ต่อไป

4) ฝ่ายบริหารองค์กร เป็นฝ่ายบริหารจัดการองค์กร และสนับสนุนการทำงาน ประกอบด้วยภารกิจใน 4 ด้านหลัก คือ บุคลากร งบประมาณ อุปกรณ์ เครื่องมือในการทำงาน และการจัดการภายใน