ณ จุดหนึ่งบนพื้นที่กว่าล้านไร่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นที่ตั้งของบ้านเรือนและที่ดินทำกินชุมชนของชาวบ้านหมู่ 14 บ้านเขาเขียว รวม 76 ไร่ ซ้อนทับอยู่ในป่าอนุรักษ์
ในทางกฎหมายชจุเล็กๆ 76 ไร่นั้น จัดเป็นพื้นที่ภายใต้ตามมาตรา 121 แห่ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่สังคมกำลังเฝ้าจับตาแนวทางบริหารจัดการจากภาครัฐว่าจะดำเนินการกับชุมชนไปอย่างไร จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ที่มีมาอย่างยาวนาน และยอมรับสิทธิของชุมชนในการบริหารจัดการร่วมกับรัฐตามเจตนารมย์ได้หรือไม่
ด้วยผลที่ตามมาเต็มไปด้วยความละเอียดอ่อนในหลายด้าน ทั้งประเด็นสิทธิมนุษยชน ตลอดจนความสมดุลทางระบบนิเวศ – คนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้หรือไม่ และอยู่ร่วมกันอย่างไร
เพื่อขจัดความสิ้นสงสัย – 16 พฤษภาคม 2568 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และราษฎรบ้านเขาเขียว ได้จัดการประชุมทำแผนการจัดการพื้นที่ชุมชนบ้านเขาเขียว ตามพื้นที่ภายใต้มาตรา 121 แห่ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
เพื่อสร้างรูปแบบการจัดการ “ให้คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ สัตว์ป่าอยู่ได้”

คนไม่ได้รุกป่า
“ยืนยันว่าจะไม่ย้ายออกจากพื้นที่ ไม่ว่าวันนี้หรือวันไหน อยากให้ทุกครอบครัวได้อาศัยและทำกินอยู่บนที่ดินเดิม” ละออ อ่อนศรี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 14 บ้านเขาเขียว เริ่มต้นวงประชุมด้วยน้ำเสียงหนักแน่น ยืนกรานปกป้องลูกบ้านที่อาศัยและทำกินซ้อนทับอยู่กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
เธอบอกต่อว่า ชุมชนไม่มีความคิดบุกรุกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม้แต่น้อย และยินดีให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ด้วยดีเสมอมา จึงอยากให้การประชุมเป็นไปในทิศทางที่คนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อกังวลนั้นมาจากการร่าง พ.ร.ฎ. โครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามมาตรา 121 แห่ง พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มีสาระสำคัญข้อหนึ่งระบุว่า กำหนดให้มีโครงการอนุรักษ์ และดูแลทรัพยากรธรรมชาติในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามีระยะเวลา 20 ปี ที่ภาคประชาชนหลายฝ่ายมองว่า “ไม่ได้บัญญัติว่าจะมีการอนุญาตต่อได้หรือไม่ด้วยเงื่อนไขอะไร”
ต่อข้อกังวลที่สะท้อนกลางเวที เพิ่มศักดิ์ กนิษฐชาต หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งได้กล่าวตอบรับและยืนยันว่าการประชุมในครั้งนี้ไม่มีแนวทางเอาคนออกจากป่าอย่างแน่นอน
สำหรับหมู่ 14 บ้านเขาเขียว เริ่มตั้งหมู่บ้านกันในปี พ.ศ. 2516 หรือหนึ่งปีให้หลังห้วยขาแข้งได้รับการประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มีราษฎรที่อพยพมาจากหลากหลายแห่ง ทั้งจากอำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี บ้างอพยพมาจากจังหวัดชัยนาทและนครสวรรค์ ด้วยเหตุที่อยู่เดิมขาดแคลนที่ดินทำกิน จึงบุกป่าฝ่าดงมาจับจองพื้นที่ทำไร่ทำสวนของตนเอง
ในช่วงตั้งชุมชนระหว่าง พ.ศ. 2516 – 2528 มีสมาชิกชุมชนเพียง 60 ครัวเรือน ราษฎรจำนวน 160 คน ก่อนขยับมาเป็น 137 ครัวเรือน กับราษฎร 435 คน ในปัจจุบัน
ป้านก อดีตผู้ใหญ่บ้านเป็นอีกคนที่ยืนยันว่าชุมชนไม่ได้บุกรุกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และพื้นที่ทำกินหรือที่ตั้งหมู่บ้านเขาเขียวเดิมก็ไม่พบสัตว์ป่าขนาดใหญ่ มีเพียงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก พวกสัตว์ฟันแทะอย่างกระรอกเท่านั้นที่เห็นอยู่เป็นประจำ
“ที่นี่ไม่มีใครล่าสัตว์เลย อาจมียิงนก ยิงกระรอกบ้าง แต่ก็ทำไปตามวิถีชีวิตหาอยู่หากินแบบคนสมัยก่อน ไม่ค่อยมีใครกล้าล่าสัตว์กันหรอกเพราะกลัวผิดกฎหมาย และวิถีชีวิตของเราคือการทำไร่” อดีตผู้ใหญ่บ้านสะท้อนภาพความหลังถึงชีวิตสัมพันธ์ของคนกับป่า
อย่างไรก็ดี ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าความผิดพลาดเกิดจากส่วนใด ภายหลังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งได้มีการผนวกพื้นที่เพิ่ม 2 ครั้ง จากเดิมมีเนื้อที่ 1,019,379 ไร่ ได้ผนวกเพิ่มเพิ่มพื้นที่เพิ่มเติม 2 ครั้ง คือในปี 2529 จำนวน 589,775 ไร่ และปี 2535 ผนวกพื้นที่ตอนเหนือและตะวันออกอีก 128,433 ไร่ รวมเป็น 1,737,587 ไร่
ในพื้นที่ผนวกใหม่ได้ซ้อนทับเข้ากับที่ตั้งบ้านเรือนที่และที่ทำกินของคนบ้านเขาเขียว 5 ครอบครัว เป็นจำนวน 76 ไร่ ทำให้สถานะที่ดินทำกินของหมู่ที่ 14 บ้านเขาเขียว ณ ปัจจุบัน ประกอบด้วย ที่ดิน ส.ป.ก. ที่ดิน คทช. ที่ดินสาธารณะ และพื้นที่ภายใต้มาตรา 121 พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า


อยากจ่ายค่าไฟ
ป้าจิต หนึ่งในผู้อาวุโสชุมชน และเติบโตกับมาพร้อมๆ กับการพัฒนาด้านต่างๆ ในหมู่บ้าน เล่าอย่างติดตลกว่า “อยากจ่ายค่าไฟบ้าง” เพราะเธอเป็นหนึ่งในครอบครัวที่มีที่ทำกินและบ้านตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
คำพูดทีเล่นทีจริงนั้นมาจากการได้เห็นครอบครัวอื่นๆ มีไฟฟ้าใช้ มีทีวี พัดลม ตู้เย็นเสียบปลั๊กได้เต็มเวลา แต่ครอบครัวของเธอและราษฎรอีก 20 คน ที่ดำรงชีวิตอยู่ภายใต้มาตรา 121 กลับไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงสิ่งที่คนอื่นๆ มี
ชีวิตที่ผ่านมา ป้าจิตอาศัยเพียงแสงจากระบบโซลาร์เซลล์เพิ่มความสว่างให้แต่ละราตรีไม่มืดสนิทจนเกินไป มีเครื่องใช้ไฟฟ้าติดบ้านไม่กี่ชิ้นให้พอดำรงชีวิตอย่างไม่ต้องย้อนกลับไปเหมือนอย่างยุคมนุษย์ถ้ำ
เธอบอกว่าความต้องการนั้นไม่ได้หมายถึงความสะดวกสบายชนิดพลิกฝ่ามือถึงขึ้นมีเครื่องปรับอากาศหรือเครื่องทำน้ำอุ่นใช้ (แกว่าก็อยู่มาได้จนป่านนี้แล้ว) ในความหมายนั้นต้องการระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่รวมถึงเรื่องน้ำกินน้ำใช้และถนนหนทางที่สัญจรได้อย่างสะดวก
ในความต้องการนั้นมีข้อคิดเห็นกันว่า หากระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานดี คุณภาพชีวิตก็จะดีขึ้น และเรื่องนี้ยังสัมพันธ์ไปกับเรื่องอื่นๆ เช่น การประกอบอาชีพ ที่หลายๆ ครั้งป้าจิตได้รับองค์ความรู้ใหม่ที่น่าสนใจ แต่นำมาปฏิบัติไม่ได้ เพราะสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่มีอยู่ไม่สอดรับกับเงื่อนไขที่ต้องใช้
“เราก็อยู่กันได้นะ ถึงจะเพาะปลูกได้ไม่เท่ากับคนอื่นๆ ในหมู่บ้าน บางคนก็มีอาชีพเสริม เช่น เป็นช่างไม้ ช่างไฟบ้าง พอมีกินมีใช้ แต่ถ้าให้ไปประกอบอาชีพแบบที่เคยมีคนมาส่งเสริม แล้วเขาไม่เข้าใจสภาพพื้นที่ก็คงทำตามอย่างเขาไม่ได้”
ชั่ววูบหนึ่งเธอบ่นว่าท้อ เรียนรู้มาแต่ทำอะไรไม่ได้ จึงไม่อยากเรียนรู้อะไรแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการปรับเปลี่ยนอาชีพสร้างรายได้ แต่สุดท้ายด้วยกำลังใจจากที่ประชุม ป้าจิตฮึดมีแรงขึ้นอีกหน และบอกว่าถ้ามีโอกาสก็ขอเรียนรู้อีกสักหน่อย

ป่ารุกคน
ในวงประชุม ประเด็นสัตว์ป่าออกมาหากินในที่ทำกินของชุมชนเป็นเรื่องที่ถูกกล่าวถึงอยู่ตลอด ไม่ว่าการหารือจะชวนคุยในเรื่องสุดท้าย สุดท้ายไม่พ้นต้องวกมาเจอเรื่องสัตว์ป่าเป็นอีกตัวแปรสำคัญ จนป้าจิตหลุดคำออกมาว่า “เดี๋ยวนี้คนไม่ได้รุกป่าหรอก แต่ป่ากำลังรุกคน” โดยนัยที่หมายถึง ‘สัตว์ป่า’
ตามประวัติหมู่บ้านเขาเขียวที่ทุกคนยืนยันตรงกันว่าในอดีตไม่มีใครพบเห็นสัตว์ป่าขนาดใหญ่ในชุมชนเลย สวนทางกลับปัจจุบันที่พบเห็นสัตว์ป่าออกมาหากินนอกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเพิ่มมากขึ้น ทั้งเก้ง กวาง ลิง วัวแดง หมูป่า และช้าง บ้างเข้ามาหากินทั้งในพื้นที่เพาะปลูกทั้งในแปลงปลูกข้าวโพดมันสำปะหลัง ถั่วเขียว รวมถึงในป่าชุมชน
ครั้งหนึ่งเคยพบร่องรอยเสือโคร่งในโร่ข้าวโพด ห่างจากแนวเขตของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งประมาณ 1 กิโลเมตร มีสุนัข 2 ถูกลากหายไป สร้างความตระหนกให้กับชุมชนอยู่ไม่น้อย ก่อนเหตุการณ์จะผ่านไปด้วยดี
ซึ่งลักษณะของหมู่ที่ 14 บ้านเขาเขียว เป็นหมู่บ้านในที่ราบมีภูเขาล้อมไว้ทุกด้านเกือบ 360 องศา และประชิดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งตลอดแนวยาวเหนือ-ตะวันตก จรดใต้ จึงมีโอกาสพบสัตว์ป่าออกมาหากินตามแนวเขต หรือเข้ามาตามชายหมู่บ้านได้ง่าย และระยะหลังพบเห็นเป็นประจำทุกฤดูกาล
โดยเฉพาะเรื่องช้างป่า คือปัญหาที่ชุมชนกังวลมากที่สุด เพราะมีความถี่ในการพบเจอบ่อยที่สุด (ในวงประชุมบอกว่าช้างมาทุกวัน) และในแต่ละครั้งนั่นหมายถึงผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย กระทบต่อรายได้ครัวเรือนเป็นจำนวนไม่น้อย
แม้ระยะหลังทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้ส่งชุดเคลื่อนที่เร็วเฝ้าระวังผลักดันช้างป่าและสัตว์ป่าที่ออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ แต่ก็ไม่สามารถเฝ้าประจำได้ทุกวัน ชุดเคลื่อนที่จำต้องขยับโยกย้ายไปดูแลชุมชนอื่นๆ ด้วย
และแม้การประชุมนี้จะเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มผู้อาศัยและทำกินภายในพื้นที่ภายใต้ตามมาตรา 121 แห่ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ก็ตาม แต่ตัวแทนชุมชนที่เข้าร่วมประชุมต่างขอเป็นเสียงเดียวกันว่า ในเรื่องสัตว์ป่า ขอให้เป็นกิจกรรมที่ทั้งชุมชนได้มีส่วนร่วมด้วย ไม่เฉพาะครอบครัวในพื้นที่มาตรา 121 เพราะผลกระทบมันกระจายไปทุกหย่อมหญ้า
“ที่ผ่านมานอกจากได้เจ้าหน้าที่ห้วยขาแข้งมาช่วยไล่แล้ว เราก็ต้องไล่กันเอง เคยทั้งจุดลูกบอลไล่นกบ้าง จุดธูปสวดมนต์ขอให้ช้างไปก็เคยมาแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหานี้อยู่” – หนึ่งเสียงสะท้อนจากตัวแทนชุมชน


ชุมชนมรดกโลก
“ชุมชนในพื้นที่มรดกโลกห้วยขาแข้ง ที่มีความปลอดภัย และมั่นคงในชีวิตอย่างยั่งยืน และมีความสุข”
ประโยคข้างต้นคัดมาจากวิสัยทัศน์ หรือที่พูดกันในภาษาชาวบ้านว่า ‘ภาพฝัน’ ของแผนการจัดการบ้านเขาเขียว ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และชาวบ้านหมู่ 14 บ้านเขาเขียว ร่วมกันคิด และถอดบทเรียนจุดแข็งจุดอ่อนร่วมกัน
จากการพูดคุยได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า พื้นที่ในมาตรา 121 บ้านเขาเขียวจะมีแผนการจัด 3 เรื่องใหญ่ๆ ก่อน ประกอบด้วย
1) แผนการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ประกอบด้วยเรื่อง ไฟฟ้า ถนน น้ำในการอุปโภค-บริโภค และที่อยู่อาศัยที่มั่นคง
2) แผนการประกอบอาชีพ ที่ลดผลกระทบจากสัตว์ป่า และสารเคมี ซึ่งจะประกอบด้วยแผนย่อยอย่าง แผนการจัดการที่ดินชุมชน การปรับเปลี่ยนอาชีพที่เหมาะกับพื้นที่ การพัฒนาองค์ความรู้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาด เรื่องการแปรรูปผลิตภัณฑ์และสร้างแบรนด์ การปรับปรุงดิน และการตั้งศูนย์เรียนรู้เรื่องอาชีพตามแนวทางด้านการอนุรักษ์
และสุดท้าย 3) แผนการอนุรักษ์ทรัพยากรและสัตว์ป่า ประกอบด้วยกิจกรรมที่สามารถดำเนินงานได้เลยอย่างการจัดอบรมให้ความรู้เรื่องช้างป่า การปฏิบัติตัวเพื่อความปลอดภัยเมื่อเผชิญหน้ากับช้าง แผนการเตือนภัย การติดตั้งสัญญาณเตือน การจัดซื้ออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับงานเฝ้าระวัง และการศึกษาดูงาน
ยุทธนา เพชรนิล หัวหน้างานป่าอนุรักษ์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เล่าว่า เวทีวันนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของแผนการจัดงานชุมชนเท่านั้น ยังมีขั้นตอนการขับเคลื่อนอีกยาวไกล หลังจากนี้จะนำร่างแผนที่ได้ไปคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และดูแลพื้นที่โดยตรง เพื่อสรุปรายละเอียดของแผนงานให้ชัดเจนต่อไป ในเรื่องวิธีการดำเนินงาน เนื้อหากิจกรรม งบประมาณ กรอบระยะเวลาดำเนินการ เรื่องไหนเป็นแผนระยะสั้นหรือระยะยาว ตลอดจนผู้รับผิดชอบ ที่ต้องไปชักชวนหน่วยงานอีกหลายภาคส่วนเข้ามาทำงานร่วมกันเพื่อให้แผนถูกนำไปใช้ได้จริง

และที่ไกลกว่านั้นยังมีเรื่องในระดับนโยบาย หรือข้อกฎหมายที่ระบุอยู่ในพระราชบัญญัติ ที่ตอนนี้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นประเมินผลสัมฤทธิ์พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 อยู่จะได้ข้อสรุปอย่างไร
ซึ่งไม่แน่ว่าในอนาคตแผนการจัดการพื้นที่ชุมชนบ้านเขาเขียว ตามพื้นที่ภายใต้มาตรา 121 อาจเป็นต้นแบบในการทำงานในพื้นที่อื่นๆ ได้ ส่วนจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนในอนาคต เป็นสิ่งที่คนทำงานต้องผลักดันและติดตามกันต่อไป
“นี่เป็นเพียงก้าวเล็กๆ ของการเริ่มต้นแก้ไขปัญหาชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ที่มีอยู่มากกว่า 4,000 แห่งทั่วประเทศ เป็นงานที่มีทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยาวยาว ในส่วนของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จะเน้นทำงานนี้ในพื้นที่ป่าตะวันตกเป็นหลัก” ยุทธนาเล่า และบอกว่า นอกจากพื้นที่บ้านเขาเขียวแล้ว ยังมีพื้นที่เป้าหมายที่ต้องลงไปทำงานกับชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ด้านตะวันตก และชุมชนในอุทยานแห่งชาติ ซึ่งจะตรงกับมาตรา 64 ของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ
แต่ไม่ว่าจะพระราชบัญญัติฉบับไหน เป้าหมายก็ยังคงเป็นเรื่อง “ให้คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ สัตว์ป่าอยู่ได้” และ “มีความมั่นคงในชีวิต มีความสุข และยั่งยืน”
และเรื่องราวนี้ก็เป็นอีกตอนของการทำงานเพื่อ ‘ครอบครัวห้วยขาแข้ง’
ที่นับจากนี้ ผืนป่า สัตว์ป่า ผู้คน ทุกๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะร่วมดูแลซึ่งกันและกัน เสมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน

อ้างอิง
- ข้อมูลเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในประเทศไทย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
- ชี้รอยเสือโคร่ง! เยือนบ้านเขาเขียว ประสาเสือรุ่นจึงคึกคะนองออกมาดูโลกกว้าง
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม