อนาคตของป่าชุมชน รอบๆ (ครอบครัว) ห้วยขาแข้ง งานเตรียมความพร้อมจัดทำแผนจัดการป่าชุมชนฉบับใหม่

อนาคตของป่าชุมชน รอบๆ (ครอบครัว) ห้วยขาแข้ง งานเตรียมความพร้อมจัดทำแผนจัดการป่าชุมชนฉบับใหม่

“ในอนาคตป่าชุมชนของเราจะดำเนินงานเรื่องคาร์บอนเครดิตเต็มพื้นที่ป่าชุมชน เราจะมีกองทุนส่วนกลางเพื่อพัฒนาระบบดูแลรักษาป่า รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับสาธารณชนได้เข้ามาศึกษาเรื่องราวทรัพยากรธรรมชาติ” 

ข้อความข้างต้นเป็น ‘ภาพฝัน’ ของตัวแทนคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านใหม่วงค์เขาทอง จังหวัดกำแพงเพชร หวังอยากให้เกิด 

จากเดิมที่ใช้เพียงเพื่อหาอยู่หากิน ก็ปรับเพิ่มมูลค่า เพื่อให้ผลมากกว่าที่เคยได้รับ ชุมชนได้ประโยชน์เพิ่มเติม สาธารณชนภายนอกได้เห็นคุณค่าของการดูแลรักษาป่าที่ส่งผลเหลือคณา

แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น สิ่งที่ต้องดำเนินการก่อนคงไม่พ้นการจัดทำแผนการจัดการป่าชุมชนฉบับใหม่ เพราะแผนฯ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันกำลังจะหมดอายุอยู่มะรอมมะร่อ 

แถมความเดิมในบันทึกฉบับเก่าเรื่องราวของกิจกรรมก็ไม่ได้สอดคล้องกับสิ่งที่อยากให้เป็นเลยแม้แต่น้อย 

นาทีนี้จึงเป็นช่วงเวลาของการคิดใหม่ทำใหม่ สร้างแนวทางและออกแบบรูปแบบกิจกรรมใหม่ เพื่อให้ภาพฝันที่วาดไว้ก็อาจไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินคว้ามากนัก

16 – 17 มิถุนายน มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกับ สำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้ และ RECOFTC จัดกิจกรรมอบรมการจัดแผนการจัดการป่าชุมชน ตามพระราชบัญญัติประชุม พ.ศ. 2562 

ในเวลาสองวัน (แบ่งเป็นจัดที่นครสวรรค์หนึ่งวัน และอีกวันที่จังหวัดอุทัยธานี) มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ชักชวนตัวแทนป่าชุมชนในพื้นที่นครสวรรค์ อุทัยธานี และกำแพงเพชรบางส่วน มาร่วมพูดคุย ให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายป่าชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการทำแผนงาน ถอดบทเรียนการดูแลรักษาป่าในอดีต พร้อมเสริมกระบวนความรู้ ระบบคิดเกี่ยวกับการจัดทำแผนป่าชุมชนว่ามีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

เวทีจัดทำแผนการจัดการป่าชุมชน นครสวรรค์
เวทีจัดทำแผนการจัดการป่าชุมชน อุทัยธานี

นริศ บ้านเนิน ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ท้าวความถึงที่มาการจัดกิจกรรมว่า เดิมมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเป็นองค์กรหนึ่งที่ร่วมผลักดันให้เกิดการ ‘จัดตั้งป่าชุมชน’ รอบพื้นที่ป่าตะวันตก ผ่านวันล้มลุกคลุกคลานทำงานร่วมกันมาจากอดีตถึงปัจจุบัน เสมือนหนึ่งเป็นครอบครัวเดียวกัน ทำให้ทราบว่าป่าชุมชนแต่ละแห่งมีศักยภาพอะไรที่ซ่อนอยู่นอกเหนือจากเรื่องการเก็บหาของป่าที่เป็นการใช้ประโยชน์โดยตรง กอปรกับแผนการจัดการป่าชุมชนกำลังใกล้จะหมดอายุ จึงอยากชวนคณะกรรมการป่าชุมชนที่เคยร่วมงานกันมา มาร่วมทบทวนแผนของแต่ละป่ากันสักครั้งก่อนจะต่ออายุใหม่

ผู้ช่วยเลขาธิการยอมรับว่าตัวเองไม่ได้มีความรู้มากนักเกี่ยวกับการจัดแผนป่าชุมชน เช่น สิ่งไหนทำได้และไม่ได้บ้าง และปฏิเสธมิได้ว่าด้วยกฎหมาย หรือ พระราชบัญญัติป่าชุมชน ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบจึงทำให้การจัดทำแผนป่าชุมชนในหนก่อนพลาดรายละเอียดปลีกย่อยไปพอสมควร

“เราเห็นว่าวันนี้ป่าชุมชนหลายแห่งมีคณะกรรมการที่เข้มแข็ง พื้นที่ป่าได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี มีศักยภาพสำหรับพัฒนารูปแบบการจัดการในมิติอื่นๆ ได้อีกหลายทาง จึงอยากชวนพี่น้องคณะกรรมการป่าชุมชนมาร่วมถอดบทเรียนและเรียนรู้กระบวนการจัดทำแผนป่าชุมชนฉบับใหม่ ที่ของเก่ากำลังจะหมดอายุแล้ว”

วรากร เกษมพันธ์กุล ผู้อำนวยการส่วนนโยบายและกฎหมายป่าชุมชน สำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้ หนึ่งในวิทยากรของกิจกรรม ได้อธิบายเรื่องแผนการจัดการป่าชุมชนไว้ว่า 

แผนจัดการป่าชุมชนเป็นกลไกหลักในการควบคุมการกระทำต่างๆ ภายในป่าชุมชน กำหนดโดยคณะกรรมป่าจัดการป่าชุมชนร่วมกับสมาชิกป่าชุมชน พร้อมย้ำว่า ต้องมีความสอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศและสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชน 

“แผนจัดการป่าชุมชน จะแสดงให้เห็นถึงแผนและวิธีดำเนินการอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา หรือควบคุมดูแลสภาวะแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในป่าชุมชนอย่างยั่งยืน”​ วรากร กล่าว

ซึ่งตามภาษากฎหมาย (พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562) มาตรา 33 (5) ระบุเอาไว้ว่า แผนจัดการป่าชุมชนซึ่งต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของป่าชุมชน มีการกำหนดบริเวณเพื่อการอนุรักษ์และบริเวณเพื่อการใช้ประโยชน์ หรือบริเวณเพื่อการอนุรักษ์เพียงอย่างเดียว ให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศและสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชน รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงแผนและวิธีดำเนินการอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา หรือควบคุมดูแลสภาวะแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในป่าชุมชนอย่างยั่งยืน โดยต้องไม่ทำใหเกิดการสูญเสียสภาพความเป็นป่าทั้งในบริเวณเพื่อการอนุรักษ์และบริเวณเพื่อการใช้ประโยชน์ 

วรากร เกษมพันธ์กุล ผู้อำนวยการส่วนนโยบายและกฎหมายป่าชุมชน
ระวี ถาวร จาก RECOFTC

แล้วเราจะไปถึงขั้นตอนนั้นได้อย่างไร

ในกิจกรรมอบรมการจัดแผนการจัดการป่าชุมชน ระวี ถาวร จาก RECOFTC เริ่มชวนคิดด้วยการให้องค์ความรู้เชิงปฏิบัติการ โดยให้คณะกรรมการป่าชุมชนเริ่มต้นวิเคราะห์ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของป่าชุมชนแต่ละแห่งว่าเราได้ทำอะไรและเกิดผลลัพธ์ใดจากป่าชุมชนบ้าง และผลแต่ละอย่างหากตีเป็นตัวเลขคะแนนควรตัดเกรดเป็นเท่าไหร่ดี เพื่อทบทวนเรื่องราวที่ผ่านวันกันมา โดยเน้นย้ำคำถามให้คิด

“แผนการจัดการป่าชุมชนเรายังสอดคล้องกับสถานการณ์และความต้องการของชุมชนในปัจจุบันไหม?”

จากนั้นจึงนำมาสู่การวิเคราะห์ตนเองต่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งมีอยู่ อะไรเป็นจุดแข็ง จุดอ่อน และมีเรื่องไหนมีโอกาสจะพัฒนาได้บ้าง ทั้งในมิติด้านสังคม การพึ่ง การเก็บหา การใช้ประโยชน์ มิติด้านสขภาพป่า ในป่าชุมชนเรามีพรรณพืชใดบ้าง ตลอดจนมิติด้านสัตว์ป่า ที่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ป่าชุมชนหลายแห่งโดยเฉพาะพื้นที่ใกล้ๆ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พบสัตว์ป่าเข้ามาใช้ประโยชน์เพิ่มมากขึ้น 

ก่อนจะนำมาสู่ขั้นตอนการจัดทำแผน ซึ่งนักวิชาการจาก RECOFTC จุดประกายให้นึกประเด็นใหม่ๆ ที่อยากให้บรรจุในแผน เช่น มิติด้านการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานทรัพยากร การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ศูนย์การเรียนรู้ เส้นทางศึกษาธรรมชาติ การพัฒนาโครงสรางพื้นฐานที่จำเป็น ไปจนถึงงานพัฒนาศักยภาพองค์กรแกนนำ งานกับคนรุ่นใหม่ รวมถึงประเด็นที่หลายๆ คนให้ความสนใจ อย่างเรื่องกองทุนจัดการป่าชุมชน (ส่วนหนึ่งของทรัพย์สินส่วนกลาง) ซึ่งที่ผ่านมาป่าชุมชนหลายแห่งอยากทำเรื่องนี้ แต่ไม่มีใครสามารถดำเนินการได้ เพราะไม่แน่ใจในเรื่องข้อกฎหมาย กระบวนการ วิธีการ รวมถึงไม่มีบรรจุอยู่ในแผนการจัดการป่าชุมชนเดิม 

ขณะที่กิจกรรมต่อมา ที่วิทยากรจาก RECOFTC ตั้งชื่อช่วงว่า “เป็นการวางเป้าหมายสู่ความสำเร็จ” โดยการให้คณะกรรมการป่าชุมชนแต่ละแห่งเขียนภาพฝัน หรือเป้าหมาย ผลที่อยากเห็นในอีก 5 ปีข้างหน้า ว่ามีเรื่องใดบ้าง ดำเนินงานผ่านกิจกรรมที่ควรจะมีทั้ง กิจกรรมด้านการอนุรักษ์ กิจกรรมด้านการฟื้นฟู กิจกรรมด้านการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน กิจกรรมด้านการควบคุมดูแล กิจกรรมด้านพัฒนา และด้านอื่นๆ 

ตัวอย่างเช่น กิจกรรมด้านการอนุรักษ์ จะมีกิจกรรมอะไรรักษาพื้นที่ที่มีความสำคัญ (ต้นน้ำ ถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า) จะมีกิจกรรมผสมผสานมิติวัฒธรรม เช่น บวชป่า หรือการกำหนดข้อห้ามตามจารีตประเพณี

หรือกิจกรรมด้านการใช้ประโยชน์ เช่น จะใช้ประโยชน์ เก็บหาอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ และมีข้อตกลงกติกา ในการเก็บหาอย่างไรให้ยั่งยืน เช่น การปิดเปิดป่า กำหนดเครื่องมือ หรือ วิธีการในการเก็บหา

หรือด้านการพัฒนา ที่หมายความถึงการยกระดับ ต่อยอดทางนวัตกรรม เช่น ทำเส้นทางท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติ ทำเส้นทางตรวจการ ทำศาลาการเรียนรู้ หอดูนก จุดเฝ้าระวังไฟป่า ประปาภูเขา การแปรรูปผลผลิตจากป่า วิสาหกิจป่าชุมชน การพัฒนากองทุนดูแลจัดการป่า ก็สามารถระบุรายละเอียดลงไปได้เลย 

โดยแต่ละกิจกรรมนั้นจำเป็นต้องระบุด้วยว่า จะลงมือทำในปีใดในช่วง 5 ปี ที่แผนบังคับใช้ ใครเป็นคนดำเนินการ หรือจะหาใครมาช่วยสนับสนุนก็ควรใส่รายละเอียดให้เรียบร้อย และจากแผน 5 ปี ก็ค่อยๆ ลงรายละเอียดมาเป็นแผนรายปีเป็นหน่วยย่อยอีกขั้นเพื่อให้การทำงานมีแผนที่รัดกุม

ระวี ถาวร อธิบายว่า กระบวนการต่างๆ ที่ว่ามาเป็นขั้นตอนขั้นต้นที่ป่าชุมชนแต่ละแห่งควรคิดและทำ เพราะไม่มีใครเข้าใจพื้นที่ของตัวเองรวมถึงความต้องการได้ดีเท่ากับคณะกรรมการของป่าและคนในชุมชนเอง 

ซึ่งกระบวนการพัฒนาจัดการป่าชุมชน กรณีเสนอปรับปรุงแผนการจัดการเดิม จำเป็นต้องดำเนินเป็นขั้นเป็นตอนที่สรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้ 

1. ทำความเข้าใจความสำคัญของแผน ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

2. วิเคราะห์ข้อมูลป่า ความหลากหลายของพืช สัตว์ป่า และการพึ่งพิงใช้ประโยชน์ของชุมชน รวมทั้งปัญหาภัยคุกคาม

3. วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และข้อจำกัด

4. สร้างภาพฝัน หรือวิสัยทัศน์ 5 ปี อยากเห็นป่าชุมชนมีหน้าตาเป็นอย่างไร ?

5. กำหนดกิจกรรมที่จะทำให้เกิดภาพฝัน 5 ปี ตามวัตถุประสงค์ 5 ด้าน (การอนุรักษ์ การฟื้นฟู การใช้ประโยชน์ การควบคุมดูแล และการพัฒนา)

6. พัฒนาหรือจัดปรับโครงสร้างองค์กร หรือคณะกรรมการให้สอดคล้องกับแผนกิจกรรม

7. ทบทวน ปรับปรุงระเบียบการจัดการป่า รวมทั้งการจัดการกองทุนป่าชุมชน

8. นำร่างแผนการจัดการป่าไปจัดทำประชามติในชุมชน

9. นำแผนการจัดการป่าชุมชนยื่นต่อคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด ณ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้จังหวัด

นอกเหนือจากรายละเอียดกิจกรรมที่ผ่านพ้น นริศ บ้านเนิน เสริมในเวทีการอบรมว่า การดูแลรักษาป่าชุมชนในวันนี้ อยากให้ทุกชุมชนมองในมิติการทำงานอย่างมีส่วนร่วม เพราะการดูแลรักษาป่านั้นไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นงานที่ทุกฝ่ายต้องมาทำร่วมกัน ตัวอย่างเช่น การชัดชวนหน่วยงานท้องถิ่น องค์กรอนุรักษ์ หรือหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในมากขึ้น ส่วนจะเป็นไปในรูปแบบใดเป็นเรื่องที่ต้องปรึกษาหารือกันต่อไป

“สิ่งที่เกิดขึ้นในกิจกรรมนี้ นอกจากกระบวนการเสริมความรู้แล้ว แผนการจัดการที่ทุกคนคิดกันมา ก็เป็นเหมือนแนวทางที่จะนำกลับไปพัฒนาปรับต่อในการจัดทำแผนรอบต่อไป” นริศว่า 

เหล่านี้เป็นโจทย์ที่คณะกรรมการป่าชุมชนต้องนำไปคิดต่อ เพื่อให้ป่าชุมชนเป็นไปตามภาพฝัน และเพื่อความยั่งยืนของทุกชีวิต 

กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างความพร้อมต่อการรับมือสภาพภูมิอากาศในพื้นที่แนวกันชนของผืนป่าตะวันตก ภายใต้การสนันสนุนของ ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (HSBC)

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม