อบรมการการจัดทำแผนที่และการบันทึกข้อมูลการลาดตระเวน สจป.4 สาขานครสวรรค์

อบรมการการจัดทำแผนที่และการบันทึกข้อมูลการลาดตระเวน สจป.4 สาขานครสวรรค์

วันที่ 1-2 สิงหาคม 2561 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้จัดเวทีโครงการฝึกอบรมทบทวนการใช้โปรแกรมจัดทำแผนที่ GIS และการบันทึกข้อมูลการลาดตระเวน ที่สำนักงานหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ อน.8 (บ้าน กม.53) ดำเนินการโครงการภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์ที่ 3 การจัดการป่าตะวันตก 20 ล้านไร่ ในกลยุทธ์การบริหารจัดการกลุ่มป่าสงวนแห่งชาติ ผืนป่าตะวันตก แผนงานโครงการสนับสนุนการควบคุมดูแลรักษาป่าสงวนโดยการลาดตระเวน สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 นครสวรรค์ ทั้ง 5 หน่วย

โดยเวทีครั้งนี้มีหัวหน้าและเจ้าหน้าที่จากหน่วยป้องกันรักษาป่าทั้ง 5 หน่วย ได้แก่ หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ นว.5 (ยอดห้วยแก้ว) , หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ นว.1 (แม่กะสี) , หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ อน.8 (บ้าน กม.53) , หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ อน.9 (หนองปรือ) และหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ อน.10 (ทองหลาง) สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สาขานครสวรรค์ และเจ้าหน้าที่ภาคสนามมูลนิธิสืบนาคะเสถียร 6 คน คอยเป็นพี่เลี้ยงในการอบรมครั้งนี้

“เราจัดอบรมการใช้โปรแกรมจัดทำแผนที่ GIS ให้กับสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 นครสวรรค์ ครั้งล่าสุดในปี 2559 โดยครั้งนั้นได้ทีมฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรเข้ามาช่วยอบรม” คุณตะวันฉาย หงษ์วิลัย ผู้จัดการโครงการส่วนงานพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ กล่าว

หลังการอบรมในอดีตพบว่ามีเจ้าหน้าที่บางคนใช้ได้บางคนใช้ไม่ได้ แต่ส่วนน้อยที่ใช้ได้ จึงนำมาสู่ “โครงการฝึกอบรมทบทวนการใช้โปรแกรมจัดทำแผนที่ GIS และการบันทึกข้อมูลการลาดตระเวน” เพื่อทบทวนการใช้งานโปรแกรมและการบันทึกข้อมูลการเดินลาดตระเวน เป็นการเพิ่มศักยภาพของเจ้าหน้าให้เกิดความเข้าใจ เชี่ยวชาญ และนำไปสู่การใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเพื่อดำเนินการปกป้องพื้นที่ป่าสงวนต่อไป

การอบรมโครงการดังกล่าวมีกิจกรรมดังต่อไปนี้ เริ่มตั้งแต่การทบทวนเรียนรู้เครื่องมือต่างๆ ของโปรแกรม การฝึกใช้เครื่องมือ การลงพื้นที่จับ GPS การทำแผนที่และใช้โปรแกรม GIS มีการทดสอบการบันทึกข้อมูลการลาดตระเวน และสรุปรายงานการเดินลาดตระเวน

 

 

ผู้จัดการโครงการส่วนงานพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ชี้แจงว่าการอบรมการใช้โปรแกรมครั้งนี้นั้นเน้นไปที่สิ่งที่เจ้าหน้าที่ใช้งานจริง ทั้งการทำแผนที่เพื่อนำเสนอหรืออื่นๆ โดยตนมองว่าได้รับผลตอบรับอันดี และเจ้าหน้าที่เข้าใจมากขึ้น

เจ้าหน้าที่จะสามารถนำไปบันทึกรายงานการลาดตระเวน ซึ่งโครงการนี้จะดำเนินควบคู่ไปกับการที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรสนับสนุนงานการเดินลาดตระเวน ซึ่งจากเดิมการเดินลาดตระเวนไม่มีการบันทึกเส้นแทรคในการเดินไปกลับ ส่วนใหญ่ที่มีการบันทึกจะเป็นการบันทึกพิกัดเพียงจุดๆ เดียว เช่นเมื่อพบร่องรอยการบุกรุกพื้นที่หรือการตัดไม้ก็จะบันทึกพิกัดจุดนั้นไว้ และนำมาเขียนรายงานซึ่งไม่มีการทำแผนที่อย่างจริงจัง จึงไม่มีการเก็บฐานข้อมูลที่นำมาตรวจสอบหรือนำมาประเมินการเดินลาดตระเวนได้

มูลนิธิสืบนาคะเสถียรจึงสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ปรับรูปแบบทั้งข้อมูลระยะทางและข้อมูลเส้นทาง คือการเปิดเครื่อง GPS ตั้งแต่จุดเริ่มต้นการเดินลาดตระเวนไปถึงจุดสิ้นสุดเส้นลาดตระเวน ระยะทางที่เดินลาดตระเวนในแต่ละวันว่าเดินกี่กิโลเมตร และพบเจอสิ่งใดระหว่างการเดินลาดตระเวน จากนั้นทำการจดบันทึกข้อมูล เช่น แหล่งน้ำแห่งใหม่ที่ไม่เคยเจอ เป็นต้น พอนำมาลงในโปรแกรม GIS เพื่อจัดทำแผนที่การเดินลาดตระเวน เส้นแทรคในโปรแกรมก็จะขึ้นมาว่าป่าสงวนนี้ในบริเวณที่เจ้าหน้าที่เดินไปมีพิกัดที่เท่าไร กลายเป็นแผนที่ออกมา ก็จะสามารถบอกได้ว่าเจ้าหน้าที่เดินจากไหนไปไหนเพื่อที่จะสามารถดูแลพื้นที่ป่าสงวนให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น วางแผนการเดินลาดตระเวนได้เป็นระบบระเบียบเข้มข้นและเข้มแข็งมากขึ้น

 

 

ในพื้นที่ป่าสงวนเจ้าหน้าที่มีเป้าหมายใหญ่ในเดินลาดตระเวนก็เพื่อลดการบุกรุก แต่เมื่อทำงานจริงๆ จะพบสถานการณ์ 2 ส่วน คือ (1) ภัยคุกคาม การตัดไม้และการบุกรุก (2) เฝ้าระวังการล่าสัตว์ป่า ซึ่งเป็นการทำงานครบทุกด้าน เพียงแต่ที่ผ่านมาข้อมูลเหล่านี้ยังไม่ถูกนำเสนอไปถึงระดับผู้บริหาร จึงปรับการทำงานบันทึกข้อมูลเพื่อให้เห็นรูปแบบการทำงานของเจ้าหน้าที่ และนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหาหรือวางแผนการทำงานในแต่ละพื้นที่ของกรมป่าไม้ ให้เกิดระบบการทำงานที่สามารถตรวจสอบและประเมินผลได้ คุณตะวันฉาย หงส์วิลัย ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญ

โดยสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 นครสวรรค์ดูแลพื้นที่ป่าสงวนในจังหวัดอุทัยธานีและนครสวรรค์ มีหน่วยป้องกันรักษาป่าคอยบันทึกข้อมูลระหว่างการเดินลาดตระเวนด้วยการเก็บข้อมูลตลอดการเดินทาง จดบันทึกข้อมูลรอบด้านมากขึ้น อาทิ การบันทึกเส้นสำรวจหรือเส้นแทรค (Track) ระยะทางการเดิน เส้นทางการเดิน ภัยคุกคาม ร่องรอยสัตว์ป่า เป็นต้น ซึ่งพื้นที่แห่งนี้พบภัยคุกคามส่วนใหญ่เป็นการลักลอบตัดไม้ การบุกรุกพื้นที่ ด้านร่องรอยสัตว์ป่าจะพบตามพื้นที่ติดต่อกับพื้นที่อนุรักษ์ใกล้เคียง เช่น ช้างป่า วัวแดง กวาง หมูป่า และลิง

นอกจากนี้เนื่องจากอุปกรณ์เครื่อง GPS เดิมนั้นใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ภายหลังการอบรมวันที่ 2 สิงหาคม มูลนิธิสืบนาคะเสถียรจึงถือโอกาสมอบอุปกรณ์สำหรับใช้ในการลาดตระเวน ได้แก่ กล้องถ่ายรูป และเครื่องมือ GPS ให้กับหน่วยป้องกันรักษาป่า จำนวน 5 หน่วย หน่วยละ 1 ชุด เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยป้องกันรักษาป่าให้สามารถดูแลรักษาป่าเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น

เวทีโครงการฝึกอบรมทบทวนการใช้โปรแกรมจัดทำแผนที่ GIS และการบันทึกข้อมูลการลาดตระเวน  ดำเนินการโครงการภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์ที่ 3 การจัดการป่าตะวันตก 20 ล้านไร่ ในกลยุทธ์การบริหารจัดการกลุ่มป่าสงวนแห่งชาติ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

 

 

ติดตามเรื่องราวงานดูแลพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติทั้งหมดได้ที่ โครงการพัฒนาการบริหารจัดการพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในผืนป่าตะวันตก

 

ร่วมสนับสนุนกิจกรรมรักษาป่าผืนใหญ่กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรผ่านช่องทาง TrueMoney Wallet

 


รายงาน ตะวันฉาย หงษ์วิลัย ผู้จัดการโครงการส่วนงานพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ
เรียบเรียง ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร