ภารกิจพิทักษ์ป่าสงวนแห่งชาติ กับการสร้างป่าตะวันตก 20 ล้านไร่

ภารกิจพิทักษ์ป่าสงวนแห่งชาติ กับการสร้างป่าตะวันตก 20 ล้านไร่

สถานการณ์ป่าไม้ประเทศไทยในปัจจุบันแม้ว่าในพื้นที่ประกาศเป็นป่าอนุรักษ์ทั้งในรูปแบบของอุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยการดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะสามารถดูแลรักษาไว้ได้ค่อนข้างดี แต่หากมองภาพรวมของการรักษาผืนป่าทั้งหมดแล้วในส่วนของผืนป่าสงวนแห่งชาติที่ดูแลโดยกรมป่าไม้นั้นยังทำได้ไม่ค่อยดีนัก หรือหากจะบอกว่ามีคะแนนติดลบก็อาจไม่ใช่คำกล่าวที่เกินเลยอะไร เพราะจำนวนพื้นที่ป่าที่ลดลงส่วนใหญ่นั้นเป็นการบุกรุกในพื้นที่ป่าสงวนแทบทั้งสิ้น

ต่อคำถามที่ว่าทำไมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมป่าไม้ถึงรักษาพื้นที่ป่าสงวนไว้ไม่ได้ ตะวันฉาย หงส์วิลัย ผู้จัดการโครงการส่วนงานพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผู้คลุกคลีกับกรมป่าไม้มาอย่างยาวนานสะท้อนภาพการทำงานของกรมป่าไม้ไว้ว่า ปัญหาสำคัญของกรมป่าไม้ในวันนี้ยังขาดข้อมูลในการบริหารจัดการพื้นที่ ซึ่งเป็นผลที่เกี่ยวเนื่องมาจากปัญหาอื่นๆ ทั้งขาดบุคคลากรและงบประมาณเพื่อใช้ในการทำงาน อีกทั้งยังมีหน่วยพิทักษ์น้อยและหน่วยพิทักษ์ป่าแต่ละแห่งก็ไม่ได้ตั้งอยู่ใกล้พื้นที่ป่าที่อยู่ในความรับผิดชอบ

 

เป็นเรื่องลำบากที่หน่วยดูแลรักษาป่าแห่งหนึ่งจะดูแลป่าสงวนได้หมด เพราะพื้นที่ถูกแบ่งออกเป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อย ทำให้ไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง ถ้าเติมกำลังคนหรืองบประมาณลงไปน่าจะช่วยแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้บ้าง

 

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผู้จัดการโครงการป่าสงวนแห่งชาติกังวลมากกว่า คือ เรื่องข้อมูล ซึ่งปัจจุบันเมื่อถามเจ้าหน้าที่ว่ามีป่าตรงไหนบ้างกับได้ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน ซึ่งตะวันฉายมองว่า หากขาดข้อมูลก็จะไม่สามารถวางแผนในการบริหารจัดการพื้นที่ได้ ดังนั้นแล้วการผลักดันให้เกิดข้อมูลพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จ้องผลักดันให้เกิดขึ้นเป็นอันดับแรก

จากสภาพปัญหาที่กล่าวมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จึงได้ผลักดันให้เกิดโครงการพัฒนาการบริหารจัดการพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการพื้นที่ในรูปแบบกลุ่มป่า โดยกระบวนการมีส่วนร่วมรับผิดชอบและรับผลได้จากการจัดการอย่างยั่งยืนของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ และสาธารณชนทั่วไป มีพื้นที่เป้าหมายหลัก คือ พื้นที่ป่าสงวนรอบผืนป่าตะวันตกจำนวนทั้งสิ้น 15 กลุ่มป่า

โดยโครงการพัฒนาการบริหารจัดการพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ได้มีการทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกรมป่าไม้กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรไปเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2559

ในระยะแรกของการดำเนินงาน ขณะนี้มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้เร่งจัดทำข้อมูลพื้นที่กลุ่มป่าสงวนในผืนป่าตะวันตกออกมาในรูปแบบของแผนที่เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลประกอบการวางแผนดำเนินงานในอนาคต

 

ฐานข้อมูลที่ทำออกมาจะแสดงให้เห็นว่าตอนนี้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเหลืออยู่เท่าไหร่ มีมากน้อยแค่ไหน ตรงไหนใครเป็นผู้ดูแล ตรงไหนเป็นพื้นที่ล่อแหลมสุ่มเสี่ยงต่อการถูกบุกรุก แล้วจะเข้าไปดูแลด้วยวิธีการไหน หรือจะจัดตั้งจุดสกัดเพื่อป้องกันการบุกรุกหรือไม่ ต้องมาหาทางจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งให้ออกมาจากฐานข้อมูลตรงนี้

 

ตะวันฉาย ยกตัวอย่างเพิ่มเติมว่า ถ้ามองจากสภาพปัญหาที่หน่วยป้องกันอยู่ห่างไกลจากพื้นที่ป่าที่ดูแล จำเป็นต้องย้ายหน่วยให้เข้าไปอยู่ในพื้นที่แทนเพื่อลดปัญหาเรื่องงบประมาณอย่างค่าน้ำมันซึ่งมีไม่มาก หรือประเด็นเครื่องมือในการทำงานที่ขาด ก็จะพยายามสนับสนุนให้ได้มากที่สุดไปจนถึงเรื่องของการอบรมความรู้ด้านต่างๆ ด้วยเช่นกัน และอีกเรื่องที่สำคัญ คือ การสร้างระบบการลาดตระเวน

 

รูปแบบการลาดตระเวนในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติของกรมป่าไม้อาจจะไม่จำเป็นต้องเหมือนกับของกรมอุทยานฯ ก็ได้ เพราะป่าสงวนมีอยู่กระจัดกระจายเป็นหย่อมๆ การจะลาดตะเวนให้ครบอาจทำได้ยาก แต่ก็ต้องทำ ต้องมีระบบเป็นแบบแผนที่ชัดเจน ต้องเกิดการดูแลรักษา ซึ่งมูลนิธิสืบนาคะเสถียรก็จะเข้าไปสนับสนุนงานในส่วนนี้ด้วย

 

นอกจากนี้ อีกงานที่สำคัญและจะเป็นนวัตกรรมในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ คือ การสนับสนุนให้เกิดคณะกรรมการที่ปรึกษาพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติให้ได้อย่างในส่วนของพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อเป็นกลไกหนึ่งในการดึงทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมพิจารณาแก้ไขปัญหาพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ณ พื้นที่นั้นๆ

สำหรับโครงการพัฒนาการบริหารจัดการพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ แม้ว่าจะภาพใหญ่จะดูเหมือนเป็นการทำงานระหว่างมูลนิธิสืบนาคะเสถียรกับกรมป่าไม้ แต่ในการที่จะดูแลรักษาป่าไว้ได้จริงๆ นั้น จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาคประชาชน

 

คนที่เป็นปัจจัยคุกคามรอบพื้นที่ป่า คนที่ใช้ประโยชน์จากป่ามากเกิน ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะให้เขาเข้ามาร่วมมือในการรักษาป่าตรงนี้

 

ในอดีตที่ผ่านมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ชักชวนชุมชนรอบผืนป่าตะวันตก มาร่วมจัดตั้งป่าชุมชน เพื่อเป็นพื้นที่หาอยู่หากิน เป็นป่าสร้างรายได้ และห้องเรียนในการปลูกจิตสำนึกให้ชุมชนให้คุณค่าและประโยชน์ของการมีป่า และค่อนข้างประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดีจากการมีป่าชุมชนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น 144 ป่าในพื้นที่ป่าสงวนรอบผืนป่าตะวันตก

ซึ่งในแผนงานของโครงการพัฒนาการบริหารจัดการพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาตินอกจากจะดูแลป่าชุมชนที่จัดตั้งไว้เดิมแล้ว ยังชวนให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับกรมป่าไม้มากขึ้น เช่น งานลาดตระเวนร่วมกันระหว่างคณะกรรมการป่าชุมชนกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ในพื้นที่ป่าชุมชนและป่าสงวน การเฝ้าระวังแนวเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจากการบุกรุก เป็นต้น พร้อมกันในส่วนของโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตกก็จะขยายขอบเขตงานมาสนับสนุนชุมชนรอบป่าตะวันตกให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มช่องทางสร้างรายได้แก่ชุมชนแทนที่จะไปเบียดเบียนเอาจากป่า

นอกจากการจัดทำฐานข้อมูล และผลักดันให้เกิดกิจกรรมการอนุรักษ์อย่างการลาดตระเวนแล้ว เป้าหมายในปีแรกของโครงการ ต้องเกิดพื้นที่ตัวอย่างการจัดการป่าสงวนต้นแบบขึ้น 1 แห่งในผืนป่าตะวันตก

 

ความหมายของพื้นที่ตัวอย่าง คือ ในพื้นที่กลุ่มป่าสงวนหนึ่งแห่ง หัวหน้าต้องมีฐานข้อมูลที่แน่ชัดว่ามีป่าเหลืออยู่เท่าไหร่ อยู่ตรงไหนบ้าง มีการบริหารจัดการโดยการใช้ข้อมูลอย่างมีระเบียบแบบแผน เช่น มีพื้นที่ที่ต้องดูแลอยู่ใกล้ชุมชน แต่พื้นที่มีสรรพกำลังไม่เพียงพอจะชักชวนชุมชนมาร่วมดูแลหรือไม่ หรือพื้นที่ไหนสุ่มเสี่ยงต่อการถูกบุกรุกจะสร้างจุดสกัดเพิ่มไหม หัวหน้าหน่วยป้องกันจะต้องบริหารจัดการและรักษาป่าที่ตัวเองดูแลไว้ให้ได้

 

ขณะที่ในระยะยาวนั้นเป้าหมายสำคัญ แน่นอนว่าอย่างแรก คือ สามารถลดภัยคุกคามในพื้นที่ลงให้ได้ และพื้นที่ป่าจะไม่ลดลงไปมากกว่านี้ ส่วนกระบวนการทำงานที่เกิดขึ้นจะต้องกลายเป็นโมเดลการทำงานอย่างมีส่วนร่วมที่สามารถไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ต่างๆ และที่สำคัญเพื่อสร้างฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการสนับสนุนให้ผืนป่าตะวันตกได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลกทั่วทั้งผืนป่า

สำหรับแผนการทำงาน 4 ปีต่อจากนี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรมีเป้าหมายว่าจะมีการจัดการป่าตะวันตก 20 ล้านไร่ คือ เป็นองค์กรที่สามารถให้ข้อมูลแผนการจัดการผืนป่าตะวันตกควบคู่ไปกับการทำงานเชิงปฏิบัติการ และการจัดทำข้อมูล โดยการพัฒนาระบบงานลาดตระเวน มีแผนการทำงานร่วมกับกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผลิตเอกสารวิชาการ ผลักดันให้เอกสารข้อมูลการจัดการผืนป่าตะวันตกเข้าไปอยู่ในโครงสร้าง หรือแผนงานของสำนักนวัตกรรม เพื่อให้นำข้อมูลไปใช้ในการจัดทำแผนของสำนัก รวมถึงเอกสารการจัดการผืนป่าตะวันตกสามารถเป็นเอกสารประกอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ ในการจัดทำแผนการจัดการกลุ่มป่ามรดกโลก เพื่อเสนอป่าตะวันตกเป็นมรดกโลกทั้งผืนป่าต่อไปในอนาคต’ และจากการทำงานกับกลุ่มป่าสงวนแห่งชาติในครั้งนี้ ก็หวังอย่างยิ่งว่าเราจะสามารถรักษาผืนป่าตะวันตกไว้ได้จากงานตรงนี้

หมายเหตุ รายชื่อกลุ่มป่าสงวน 15 กลุ่มป่า รอบผืนป่าตะวันตก ประกอบด้วย 1) กลุ่มป่าพบพระ 2) กลุ่มป่าอุ้มผาง 3) กลุ่มป่าวังเจ้า 4) กลุ่มป่าคลองสวนหมาก 5) กลุ่มป่าคลองขลุง 6) กลุ่มป่าแม่วงก์-แม่เปิน 7) กลุ่มป่าลานสัก-ห้วยคต 8) กลุ่มป่าบ้านไร่-หนองฉาง 9) กลุ่มป่าบ้านไร่ 10) กลุ่มป่าด่านช้าง 11) กลุ่มป่าหนองปรือ-บ่อพลอย 12) กลุ่มป่าศรีสวัสดิ์ 13) กลุ่มป่าทองผาภูมิ-ไทรโยค 14) กลุ่มป่าสังขละบุรี 15) กลุ่มป่าท่าละเมาะ

 


บทความโดย เอกวิทย์ เตระดิษฐ์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร