วิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ ปากแม่น้ำโขง ประเทศเวียดนาม

วิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ ปากแม่น้ำโขง ประเทศเวียดนาม

การกัดเซาะ ผืนดินที่ค่อยๆ จมลงท่ามกลางน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น คือส่วนหนึ่งของปัญหาที่ประชากรซึ่งอาศัยที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำต้องเผชิญในปัจจุบัน Tran Hong Ha รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งคำถามในที่ประชุมนครโฮจิมินห์ถึงการพัฒนาที่จะเป็นทางออกให้กับภูมิภาค

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปากแม่น้ำโขงกำลังทวีความรุนแรกขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ เราต้องประเมินสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งและตลิ่งเสียใหม่ เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมต่อไป” เขากล่าวและย้ำว่าเมื่อ 2 ปีก่อน Nguyen Xuan Phuc นายกรัฐมนตรีได้เน้นถึงความจำเป็นของภูมิภาคในการปรับตัวต่อความท้าทายที่ต้องเผชิญร่วมกัน เขาระบุว่าอู่ข้าวของเวียดนามรวมทั้งแหล่งส่งออกอาหารทะเลควรจะต้อง “ปรับตัวให้ได้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อเดินไปตามเส้นทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

พื้นที่ปากแม่น้ำขนาดราว 25 ล้านไร่ เป็นที่อยู่ของประชากรกว่า 17.5 ล้านคน หรือราว 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมดในเวียดนาม Hoang Van Bay อธิบดีกรมการจัดการทรัพยากรน้ำ (Department of Water Resources Management) ระบุว่าเมื่อปีที่ผ่านมา ชายฝั่งและตลิ่งในพื้นที่ดังกล่าวเผชิญกับการถูกกัดเซาะเป็นความยาวร่วม 790 กิโลเมตร

การกัดเซาะดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะหน้าฝนเท่านั้น แต่ยังเกิดแม้กระทั่งในฤดูร้อน โดยมักเกิดขึ้นในลำน้ำสาขาสายใหญ่และระบบคลองส่งน้ำ การกัดเซาะดังกล่าวเกิดขึ้นบ่อครั้งกว่าในอดีต โดยมี 5 พื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะอย่างรุนแรง

สภาที่ปรึกษาต่อคณะกรรมการแห่งชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระบุเมื่อ พ.ศ. 2559 ว่าหากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น 100 เซนติเมตร พื้นที่ราวร้อยละ 40 ของปากแม่น้ำโขงจะจมอยู่ใต้น้ำ

ผลกระทบจากเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า

อีกหนึ่งปัญหาที่ยืดเยื้อมายาวนานคือการรุกคืบของน้ำเค็ม ปัญหาดังกล่าวเป็นเพียงหนึ่งในปัญหานานัปการจากเขื่อนที่อยู่เหนือแม่น้ำโขง โดยเขื่อนดังกล่าวยังเป็นสาเหตุของภาวะขาดแคลนน้ำ ซึ่งส่งผลโดยตรง ต่อชีวิตประจำวันและการทำการเกษตรของชุมชนท้องถิ่น

การก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำจะกักเก็บสารอาหารอินทรีย์ร้อยละ 90 ซึ่งคอยเติมเต็มให้ปากแม่น้ำแม่โขงอุดมสมบูรณ์ทุกๆ ฤดูน้ำหลาก นอกจากนี้ เขื่อนดังกล่าวยังเก็บทรายและดินเลนไว้หลังเขื่อนอีกด้วย “ปากแม่น้ำแม่โขงอุดมสมบูรณ์ได้จากสารอินทรีย์ที่ไหลมาตามกระแสน้ำ แต่ปัจจุบัน ทรัพยากรดังกล่าวได้หายไปซึ่งส่งผลให้การพัฒนาภูมิภาคดังกล่าวประสบปัญหา” Tran Hong Ha กล่าวเสริม

ทางออกหนึ่งเพื่อบรรเทาวิกฤติการณ์ดังกล่าว นำเสนอโดยตัวแทนจากธนาคารโลก คือการลดพื้นที่การทำนาแบบใช้น้ำท่วมขัง และเปลี่ยนไปปลูกพืชที่สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดีกว่า

 

ถอดความและเรียบเรียงจาก Climate crisis stares Mekong Delta closer in the face โดย Manh Tung
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
ภาพเปิดเรื่อง : e.vnexpress.net