ทำไมเราต้องอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์

ทำไมเราต้องอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์

ปีพ.ศ. 2524 จำนวนประชากรกอริลลาภูเขาหลงเหลือเพียงแค่หยิบมือ ถูกกักอยู่ในเทือกเขาเล็กๆ ในทวีปแอฟริกากลาง เนื่องจากมนุษย์ได้รุกล้ำที่อยู่อาศัยของมันอย่างต่อเนื่องโดยการล่าและการทำสงคราม ขณะนั้น มีการประมาณการจำนวนประชากรกอริลลาภูเขาว่าเหลือเพียง 254 ตัว น้อยจนสามารถเข้าไปอยู่ในเครื่องบิน Boeing 747 เพียงลำเดียว

 

ปัจจุบันตัวเลขเริ่มเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น จากการสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2555 พบว่าประชากรกอริลลาภูเขาเพิ่มขึ้นเป็น 880 ตัว นับว่าเป็นการพัฒนาที่ก้าวกระโดด อย่างไรก็ดี กอริลลาภูเขาก็ยังนับว่าเป็นชนิดพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered)

เราได้ยินโศกนาฏกรรมเช่นนี้จากทั่วโลกอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเสือ หมีแพนด้า แร้งแคลิฟอร์เนีย หรือแนวปะการัง แต่ยังมีสัตว์ป่าอีกหลายชนิดที่กำลังถูกคุกคาม ในตอนแรกเรื่องราวเหล่านั้นอาจทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจ แต่ไม่นานเราก็จะเริ่มชินชา

การถูกคุกคามของสัตว์ป่าควรค่าที่เราจะกังวลหรือไม่? แน่นอนว่ามันคงเป็นเรื่องน่าเศร้าที่จะไม่มีสัตว์น่ารักอย่างหมีแพนด้าอยู่บนโลก แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องพึ่งพิงมันในการดำรงชีวิต นอกจากนี้ สิ่งที่จำเป็นกว่าคือการดูแลมนุษยชาติ ซึ่งก็มีปัญหามากมายที่เราต้องกังวลเกินว่าจะตัดสินใจจ่ายเงินหลายล้านดอลล่าร์เพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่า ว่าแต่อะไรที่ทำให้การอนุรักษ์มีความสำคัญ?

โดยผิวเผินแล้ว เรามีเหตุผลร้อยแปดสนับสนุนว่าทำไมเราจึงไม่ควรอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ สาเหตุหลักที่ชัดเจนที่สุดของเราคือต้นทุนที่ต้องถูกนำไปใช้เพื่อการอนุรักษ์นั้นๆ

การศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2555 ได้ประมาณว่าเราต้องใช้ต้นทุนราว 76,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อปีเพื่ออนุรักษ์สัตว์บกที่ใกล้สูญพันธุ์ และหากรวมการอนุรักษ์สัตว์น้ำก็จะยิ่งทำให้ต้นทุนสูงขึ้นมาก ทำไมเราต้องใช้จ่ายเงินเพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่าเหล่านั้น ในเมื่อเราสามารถจ่ายเงินก้อนเดียวกันเพื่อลดการตายของเพื่อนมนุษย์จากความอดอยากหรือโรคระบาดได้?

นักล่าที่อยู่ด้านบนของห่วงโซ่อาหารอย่างหมาป่า ช่วยทำให้ระบบนิเวศมีความหลากหลายมากขึ้น / PHOTO Eric Baccega / NPL

มันคงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากหากใครสักคนหนึ่งต้องการอนุรักษ์สัตว์อย่างหมาป่าซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อทั้งมนุษย์ และสัตว์เลี้ยง บางคนอาจคิดว่ามนุษย์คงมีชีวิตที่ดีขึ้นหากสัตว์บางชนิดสูญพันธุ์ไป

อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องธรรมดาที่สัตว์หรือพืชจะสูญพันธุ์ไปจากโลก นอกจากการสูญพันธุ์ของชนิดพันธุ์หนึ่งๆ แล้ว ในอดีตที่ผ่านมามีการสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่เกิดขึ้นบนโลกมาแล้ว 5 ครั้ง ซึ่งครั้งล่าสุดคือ 65 ล้านปีที่ผ่านมาซึ่งทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไป

หากการสูญพันธุ์เป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่จะยังคงเดินหน้าต่อไปแม้ว่าจะไม่มีมนุษย์ แล้วทำไมเราต้องพยายามที่จะหยุดมัน?

คำตอบหนึ่งก็คือ ปัจจุบัน การสูญพันธุ์ของสัตว์และพืชเกิดขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าในอดีตอย่างมาก มีงานศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ระบุว่าอัตราการสูญพันธุ์เพิ่มขึ้นราว 100 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับศตวรรษที่ผ่านมา และมนุษย์ก็เป็นสาเหตุของการเพิ่มขึ้นดังกล่าว

ยิ่งไปกว่านั้น มีเหตุผลง่ายๆ ที่เราควรจะอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ต่างๆ บนโลก คือเราอยากที่จะอนุรักษ์มัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เราหลายคนหลงรักโลกของธรรมชาติ เราคิดว่าสัตว์ป่านั้นน่ารัก ยิ่งใหญ่ หรือบางคนอาจมองว่าน่าหลงใหล เราชอบที่จะเดินในเปลวแดดที่ส่องรอดลงมาจากผืนป่าโบราณ หรือการได้ดำผิวน้ำเหนือแนวปะการัง ใครบ้างที่ไม่คิดว่ากอริลลาภูเขาเป็นสัตว์ที่น่าสนใจ?

ธรรมชาตินั้นสวยงาม และคุณค่าทางสุนทรียะนั้นก็เป็นหนึ่งเหตุผลที่เราควรรักษามันไว้ เช่นเดียวกับที่เรารักษาผลงานศิลปะชิ้นเอกเช่นภาพวาด Mona Lisa หรือนครวัด

แต่ปัญหาเกี่ยวกับข้อเสนอแรกนี้คือ แล้วพวกสัตว์และพืชที่ผู้คนไม่ค่อยชื่นชอบล่ะ สิ่งมีชีวิตที่น่าเกลียด มีกลิ่นเหม็น หรือหน้าตาธรรมดาๆ หากเราไม่คิดว่ามันน่ารัก ก็เป็นอันว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นไม่ควรค่าแก่การอนุรักษ์หรืออย่างไร

แนวความคิดนี้มีพื้นฐานมาจากความหรูหราและค่านิยมราคาแพง มันสามารถตอบสนองเศรษฐีจากประเทศตะวันตกที่ต้องการอนุรักษ์เสือโคร่งเพราะว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่สง่างาม โดยไม่ได้ใส่ใจว่าชาวบ้านในเขตชนบทของอินเดียอาจได้รับอันตรายจากเสือโคร่ง

ดังนั้นข้อเท็จจริงที่ว่ามนุษย์บางคนมองเห็นความงามของธรรมชาติอาจยังไม่หนักแน่นพอ เราจำเป็นต้องมีเหตุผลในทางปฏิบัติที่เราควรรักษาชนิดพันธุ์ไว้บนโลก

คุณอาจเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่าเราควรรักษาระบบนิเวศอย่างป่าดิบชื้นไว้เพราะมันอาจเป็นแหล่งกักเก็บสิ่งที่อาจมีประโยชน์ในอนาคต เช่น ตัวยาบางชนิด ดังประโยคที่หลายคนอาจคุ้นหูอย่าง“หากพืชที่เป็นตัวยาสำหรับรักษาโรคมะเร็งสูญพันธุ์ไป เราจะทำอย่างไร ?”

ต้น Neem เป็นพืชที่ผลิตสารเคมีสำคัญที่ช่วยต่อต้านเชื้อรา / PHOTO : Dinodia Photos/Alamy

การสำรวจธรรมชาติเพื่อค้นหาผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ถูกเรียกว่า ‘การคาดหวังทางชีวภาพ’ หรือ Bioprospecting ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เราค้นพบการใช้ประโยชน์จากสิ่งใหม่ๆ แต่มันก็มาพร้อมกับปัญหาหลายอย่าง

อย่างแรกคือ เรามีวิธีค้นหาตัวยาชนิดใหม่มากมายหลายรูปแบบ ซึ่งอาจไม่ต้องเดินทางผ่านป่าลึกหลายพันกิโลเมตรด้วยความหวังริบหรี่ว่าจะเจอพืชปาฏิหาริย์

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่ว่าใครเป็นเจ้าของความรู้ดังกล่าว ชาวบ้านส่วนใหญ่ทราบถึงการใช้พืชบางชนิดเพื่อเป็นตัวยาในการรักษาโรค และมักต่อต้านคนภายนอกที่พยายามเข้ามาเพื่อเสาะหาความรู้ดังกล่าว ซึ่งหลายครั้งอาจนำไปสู่การต่อสู้ทางกฎหมาย

และเช่นเดียวกับข้อเสนอแรก จะเกิดอะไรขึ้นต่อชนิดพันธุ์ที่ไม่ได้มีประโยชน์สำหรับใช้ในการผลิตยา? เลือดของกอริลลาภูเขาคงไม่ได้มีส่วนประกอบสำหรับรักษาโรคมะเร็ง ดังนั้นข้อเสนอนี้แม้ว่าจะเป็นแรงผลักดันบางอย่างต่อการอนุรักษ์ แต่ก็ไม่ได้ไปไกลมากเท่าไรนัก

การก้าวกระโดดครั้งสำคัญเกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 1990 เมื่อนักชีววิทยาเริ่มเสนอทฤษฎีที่ว่าสัตว์และพืชมีประโยชน์ต่อมนุษย์โดยการดำรงอยู่ โดยมีชื่อเรียกผลประโยชน์นั้นว่า “นิเวศบริการ” หรือ Ecosystem Services

บางตัวอย่างของนิเวศบริการนั้นชัดเจนเช่นเรากินพืชและสัตว์บางชนิด แพลงก์ตอนในทะเลและพืชสีเขียวช่วยผลิตออกซิเจนที่เราใช้หายใจ นี่คือประโยชน์ทางตรง แต่บางครั้งบริการที่เราได้รับอาจไม่ได้ชัดเจนนัก แมลงผสมเกสร เช่น ผึ้ง ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างดังกล่าว

พืชผักหลายชนิดจำเป็นต้องพึ่งพาแมลงเหล่านี้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์และไม่มีทางอยู่รอดได้หากแมลงผสมเกสรสูญพันธุ์ นี่คือเหตุผลที่การลดปริมาณลงของแมลงผสมเกสรทำให้หลายคนเริ่มกังวล

เพื่อทำความเข้าใจว่าเราพึ่งพานิเวศบริการมากแค่ไหน ลองจินตนาการถึงโลกที่มีแต่มนุษย์เพียงชนิดพันธุ์เดียว หรือบางที อาจจะจินตนาการถึงยานอวกาศที่อยู่ห่างไกลจากโลก

ที่นั่นไม่มีพืชที่ผลิตออกซิเจน ทำให้เราต้องคิดค้นวิธีสร้างออกซิเจนจากสิ่งประดิษฐ์อะไรสักอย่าง อาจจะเป็นโรงงานที่สามารถทำปฏิกิริยาเคมีอยู่บนยานอวกาศ โรงงานเดียวกันนี้จะต้องผลิตน้ำได้ด้วย

ที่นั่นไม่มีอาหารสำหรับประทังชีวิต ทำให้เราต้องสร้างอาหารเทียมขึ้นมา โดยการสังเคราะห์จากสารเคมีเช่นน้ำตาลหรือไขมัน แต่การทำให้อาหารสังเคราะห์น่ารับประทานคงเป็นเรื่องที่ยากเย็นอย่างยิ่ง เพราะจนกระทั่งปี พ.ศ.2558 เรายังไม่สามารถประดิษฐ์เบอร์เกอร์สังเคราะห์ที่ทุกคนยอมรับว่าอร่อย

นี่ยังไม่พูดถึงสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่อาศัยอยู่ในร่างกายของเราซึ่งบางตัวก็มีประโยชน์ แม้ในทางทฤษฎีเราอาจจะประดิษฐ์บางสิ่งขึ้นมาทดแทนสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ได้ แต่ในความเป็นจริงนั้นยากมาก เป็นเรื่องที่ง่ายกว่าหากจะปล่อยให้สัตว์และพืชที่มีอยู่ในปัจจุบันทำหน้าที่นี้แทนเรา

ธรรมชาติผลิตนิเวศบริการที่สำคัญให้กับเรา / PHOTO : AGENCY/Alamy

ห้าปีหลังจากนั้น กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ได้เดินหน้าโดยการตั้งคำถามว่าเราจะได้ผลประโยชน์เท่าไรจากการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ พวกเขาสรุปว่าผลประโยชน์ที่ได้จะมากกว่าต้นทุนนับ 100 เท่า กล่าวคือ การอนุรักษ์ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและน่าสนใจ

ในทางตรงข้าม การปล่อยให้ชนิดพันธุ์ลดจำนวนลงและสูญพันธุ์ไปดูเป็นทางเลือกที่ไม่ดีนัก การศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2554 สรุปว่าการปล่อยให้เกิดการสูญพันธุ์โดยไม่กำกับดูแลจะทำให้ผลผลิตทางเศรษฐกิจของโลกลดลงราวร้อยละ 18 ภายในปี พ.ศ.2593

คุณอาจกำลังคิดว่าการนำธรรมชาติเข้ามาเกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์หรือการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่แปลกประหลาด การเชื่อมโยงดังกล่าวดูจะเย็นชาและไร้หัวใจโดยไม่คำนึงถึงความรักใดๆ ต่อธรรมชาติที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ และดูเหมือนว่านักธรรมชาติวิทยาเองก็รู้สึกเช่นนี้เหมือนกัน

George Monbiot สื่อมวลชน และนักธรรมชาติวิทยา ถือเป็นหนึ่งเสียงวิพากษ์ที่สำคัญต่อแนวคิดดังกล่าว โดยมองว่าการประเมินมูลค่านั้นขาดความเชื่อถือ และยังเปิดทางให้ผู้มีอำนาจมาปรับแต่งตัวเลขไปตามที่ตนต้องการ เช่นหากใครสักคนต้องการสร้างถนนตัดผ่านพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า สิ่งที่พวกเขาทำก็เพียงประมาณตัวเลขผลประโยชน์ของถนนแบบสูงเกินจริง ในขณะที่ประเมินมูลค่าของสัตว์ป่าแบบต่ำเกินจริง

“ป่าไม้ สัตว์น้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฏจักรน้ำ จะกลายเป็นสิ่งที่สามารถครอบครองได้โดยบริษัท เจ้าของที่ดิน ธนาคาร หรือผู้มีอำนาจล้นฟ้าที่ส่วนใหญ่มักจะเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งเหล่านั้น” George Monbiot เขียนไว้เมื่อปี พ.ศ. 2556

เขาอาจกล่าวถูกต้องที่ระบบดังกล่าวจะเปิดช่องว่างให้ธรรมชาติถูกคุกคาม แต่ก็มีหลายคนตอบโต้ว่าต่อให้ไม่มีระบบการประเมินมูลค่า ระบบนิเวศก็ยังถูกคุกคามอยู่ดี นี่คือเหตุผลที่ทำไมนักอนุรักษ์หลายกลุ่มเริ่มสนับสนุนให้มีการประเมินมูลค่าระบบนิเวศมากขึ้น

ในความเป็นจริงแล้ว การประเมินมูลค่านิเวศบริการทำให้ข้อเสนอแรกๆ ที่ค่อนข้างอ่อนเริ่มดูสมเหตุสมผลมากขึ้น

ลองนึกถึงแนวคิดที่ว่าธรรมชาตินั้นสวยงามและเราควรจะรักษามันไว้เป็นคุณค่าเชิงสุนทรียะ หากปรับใช้แนวคิดการประเมินมูลค่า ความงามของธรรมชาติก็จะถูกคำนวณเป็นหนึ่งในนิเวศบริการ

คุณอาจกำลังตั้งคำถามว่า เราจะประเมินราคาของความงามได้อย่างไร ?

แน่นอนว่าคุณไม่สามารถทำได้ แต่นั่นไม่ได้หยุดไม่ให้เราประเมินค่าของมันเพราะในชีวิตประจำวัน เราต่างประเมินค่าความงามอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด เพลง หรืองานศิลปะรูปแบบต่างๆ หากเราให้คุณค่าอะไรบางอย่างและพร้อมที่จะจ่ายเพื่อซื้อมัน สิ่งของชิ้นนั้นย่อมมีมูลค่า

หากจะใช้รูปแบบเดียวกันนี้กับธรรมชาติ อาจต้องมีระบบอะไรบางอย่างที่ทำให้เราต้องจ่ายเงินเพื่อให้เราสามารถเข้าไปชมความงามของธรรมชาติได้ ตัวอย่างหนึ่งเช่นการท่องเที่ยวซาฟารีในวันหยุดที่จะพานักท่องเที่ยวไปดูกอริลลาภูเขา ซึ่งเราเรียกมันว่าการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

คนที่จัดการการท่องเที่ยวจะมีแรงจูงใจที่จะปกป้องสัตว์ป่าให้ปลอดภัยเพราะกอริลลาจะกลายเป็นแหล่งรายได้ของเขา ซึ่งรายได้จากการท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะมากกว่าอาชีพอื่นๆ เช่นการเกษตร

แน่นอนว่าแนวคิดนี้ก็มีความยุ่งยาก เพราะบางครั้งนักท่องเที่ยวอาจเป็นพาหะของโรคที่สัตว์ป่าอาจไม่คุ้นเคยซึ่งอาจเป็นภัยคุกคามต่อกอริลลา แม้ว่าผ้าปิดปากจะพอช่วยได้ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวที่มากเกินไปก็รบกวนสังคมกอริลลาเช่นกัน

ในทางทฤษฎี การท่องเที่ยวเชิงนิเวศเป็นหนทางหนึ่งในการที่มนุษย์จะจ่ายเงินเพื่อเข้าไปชมความงดงาม ความคิดนี้อาจทำให้มุมมองการอนุรักษ์ของเราเปลี่ยนแปลงไป ย้อนกลับไปราวคริสต์ศตวรรษที่ 1960 เราถูกบอกว่าให้อนุรักษ์สัตว์ป่าและธรรมชาติตามแนวคิดที่ว่า “ธรรมชาติเพื่อธรรมชาติ” แต่มาในคริสต์ศตวรรษที่ 2000 เราเปลี่ยนผ่านแนวคิดมาสู่ “ธรรมชาติเพื่อมนุษย์” เนื่องจากแนวคิดนิเวศบริการ

แม้ว่าคุณอาจจะไม่เชื่อในเหตุผลทางศีลธรรมที่ว่า “สัตว์ป่าและธรรมชาติมีคุณค่าเกินกว่าที่จะวัดเป็นมูลค่าได้” เราก็มีเหตุผลบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและเป็นไปได้ในทางปฏิบัติที่จะทำให้คุณต้องการอนุรักษ์กอริลลาโดยไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ในเบื้องต้น แนวคิดนิเวศบริการอาจดูเหมือนว่าจะนำไปสู่การ ‘เลือกอนุรักษ์’ตัวอย่างเช่น “เราจะอนุรักษ์เฉพาะสิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องการจะเห็น หรือสิ่งมีชีวิตที่ทำหน้าที่ผสมเกสร หรืออะไรก็ตามที่ดูจะใช้ประโยชน์ได้ ส่วนสิ่งมีชีวิตที่เหลือก็ไม่ต้องสนใจ” แต่เรายังสามารถมองแนวคิดนี้อีกแง่มุมหนึ่งได้

ลองคิดถึงกอริลลาภูเขา พวกมันอาศัยอยู่ในเทือกเขาที่มีต้นไม้ปกคลุมอยู่อย่างหนาแน่น หากเราต้องการอนุรักษ์กอริลลา เราก็จำเป็นจะต้องอนุรักษ์ระบบนิเวศซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยเอาไว้ด้วย และเราก็ต้องรักษาพืชเอาไว้เพราะกอริลลาต้องการพืชเพื่อเป็นอาหาร

หากเราต้องการอนุรักษ์กอริลลา เราก็จำเป็นต้องอนุรักษ์ที่อยู่อาศัยของมันด้วย / PHOTO : Ingo Arndt/NPL

แต่เราไม่สามารถปล่อยให้พื้นที่อยู่อาศัยของมันเต็มไปด้วยวัชพืชที่ไม่สามารถกินได้ นั่นหมายความว่าเราก็จำเป็นต้องอนุรักษ์สัตว์ชนิดอื่นๆ เพื่อรักษาสมดุลในสังคมพืช กอริลลาภูเขาเป็นเพียงชิ้นส่วนเล็กๆ ในเครือข่ายขนาดใหญ่ของชนิดพันธุ์ และเป็นเรื่องยากที่จะแยกมันออกมาจากส่วนอื่น การที่ชนิดพันธุ์หนึ่งสูญพันธุ์ไปอาจไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่มันจะทำให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ที่จะทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง คงเป็นการยากที่จะทราบถึงผลกระทบของการหายไปของชนิดพันธุ์หนึ่งๆ ในระบบนิเวศ จนกว่าจะถึงวันที่มันสูญพันธุ์ แต่เมื่อถึงวันนั้นก็คงไม่มีทางจะฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับมาเป็นเช่นเดิม

หากเราตัดสินใจที่จะอนุรักษ์กอริลลาภูเขา เราก็จำเป็นต้องอนุรักษ์ที่อยู่อาศัยของมัน รวมถึงชนิดพันธุ์ส่วนใหญ่ที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้น

อ่านถึงตรงนี้ หลายคนอาจเริ่มไม่แน่ใจว่า การอนุรักษ์กอริลลาภูเขาที่จำเป็นต้องจ่ายเงินเพื่ออนุรักษ์ต้นไม้ พุ่มไม้ หรือแมลงตัวเล็กๆ ด้วยจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าหรือไม่?

อย่างไรก็ดี นอกจากการเป็นที่อยู่อาศัยของกอริลลา การอนุรักษ์ป่าไม้ยังมีประโยชน์อีกมากมาย

พื้นที่ป่าบนเนินเขา ผลิตนิเวศบริการมากมายที่เราอาจไม่รับรู้ เช่น การสร้างสมดุลให้กับวัฏจักรของน้ำ ช่วยให้เรามีน้ำใช้อย่างสม่ำเสมอ

เราทุกคนทราบดีว่าสภาพภูมิอากาศนั้นมีความไม่แน่นอน บางครั้งอาจมีฝนตกมากเกินไปจนกลายเป็นอุทกภัย หรืออาจมีฝนตกน้อยเกินไปจนเกิดภัยแล้ง

พื้นที่ป่าบนเนินเขาจะช่วยลดความเสี่ยงเหล่านี้และช่วยกำกับการไหลของน้ำ ให้ชุมชนที่อยู่ต่ำกว่ามีน้ำจืดใช้อย่างสม่ำเสมอ หากจะทำให้กลไกทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ป่าไม้จะต้องมีระบบนิเวศที่สมดุล และมีความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง

นักนิเวศวิทยามีหลักฐานสนับสนุนจำนวนมากยืนยันว่าระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงจะมีความสมดุลและยืดหยุ่นมากกว่า ข้อเท็จจริงนี้ทำให้เราสามารถตีความได้อย่างน่าสนใจ ลองนึกถึงหนอนตัวเล็กๆ ที่อาจไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรโดยตรงให้กับมนุษย์ แต่เป็นหนึ่งในกลไกที่ช่วยให้ระบบนิเวศที่ความสมดุล และระบบนิเวศก็จะผลิตนิเวศบริการให้กับมนุษย์

เพื่อประโยชน์ของเรา ทั้งในแง่อาหารและน้ำ รวมถึงประโยชน์ที่จับต้องไม่ได้อย่างความงาม เราควรจะปกป้องรักษาธรรมชาติ

นี่คือแนวคิดใหม่ของการอนุรักษ์ ไม่ใช่อนุรักษ์ ‘ธรรมชาติเพื่อธรรมชาติ’ เพราะธรรมชาติมีคุณประโยชน์ที่ชัดแจ้งต่อมนุษย์ แต่หากจะกล่าวว่า “ธรรมชาติเพื่อมนุษย์” เองก็อาจพูดได้ไม่เต็มปาก เพราะสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้เรานั้นไม่ได้เป็นสินค้าทางตรง แต่เป็นบริการจากระบบนิเวศ ดังนั้นเราจะมองโลกมนุษย์และโลกธรรมชาติแบบแยกขาดกันไม่ได้ ซึ่งเป็นแนวคิดที่อาจเรียกว่า “ธรรมชาติและมนุษย์”

แต่นี่ไม่ใช่ว่าเราต้องอนุรักษ์ทุกชนิดพันธุ์ไว้ เพราะต่อให้เราพยายามก็คงจะทำไม่ได้ รวมทั้งไม่ใช่การรักษาทุกอย่างไว้ให้คงเดิมโดยไม่เปลี่ยนแปลง เพราะนั่นเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้

นี่คือความพยายามที่จะรักษาระบบนิเวศให้อุดมสมบูรณ์ที่สุด มีความหลากหลายที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์นอกจากจะมีประโยชน์ต่อธรรมชาติ แล้วยังมีประโยชน์ต่อพวกเรา

 


ถอดความจาก ‘What is the point of saving endangered species?’ โดย Michael Marshall
ถอดความโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์