ไม่เห็นด้วยกับการปรับปรุงเส้นทางขึ้น “เขาพะเนินทุ่ง”​ ให้เป็นทางคอนกรีตตลอดทั้งสาย โดย นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์

ไม่เห็นด้วยกับการปรับปรุงเส้นทางขึ้น “เขาพะเนินทุ่ง”​ ให้เป็นทางคอนกรีตตลอดทั้งสาย โดย นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์

ผมได้ยินข่าวการอนุมัติสร้างถนนคอนกรีตกว้าง 4 เมตรขึ้น “เขาพะเนินทุ่ง” ใน “อุทยานชาติแก่งกระจาน” มาสักพักด้วยความกังวลใจ

แต่ก็รอฟังข้อมูลให้ชัดเจน รวมถึงฟังเหตุผล ความจำเป็นจากการตอบสัมภาษณ์ของหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และผลของการประชุมปรึกษาหารือเบื้องต้น

ตอนนี้ผมคิดว่าเข้าใจสถานการณ์ดีพอสมควรจึงใคร่ขอออกความเห็นดังต่อไปนี้ครับ

1. ผมไม่เห็นด้วยกับการปรับปรุงเส้นทางขึ้นเขาพะเนินทุ่งให้เป็นทางคอนกรีตตลอดทั้งสาย เนื่องจากว่าเส้นทางนี้เป็นเส้นทางตัดผ่าน พื้นที่ใจกลางอุทยาน อันเปรียบเสมือนหัวใจของป่าแก่งกระจาน ซึ่งเป็นบ้าน ถิ่นอาศัยของสัตว์ป่ามากมายหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ป่าหายาก อย่าง เสือหรือสัตว์ป่าสงวน อย่างเก้งหมัอ เลียงผา

เส้นทางนี้สร้างครั้งแรกในปี 2528 ผมได้มีโอกาสไปในช่วงที่กำลังก่อสร้างเส้นทาง ต่อมาได้มีการลาดยางตลอดเส้นทางบนภูเขา แต่สมัยนั้นการจราจรเบาบางมาก

ในปี 2534 ผมขึ้นไปอยู่บนเขาหลายวันไม่พบนักท่องเที่ยวแม้แต่คนเดียวแต่พบสัตว์ป่าชุกชุมมากพบ เสือดำและเสือดาวมาหากินเดินอยู่บนถนนถึงสามครั้ง นกเงือก (นกกก) มานอนรวมฝูงริมถนน

ในช่วงเวลาต่อมาเมื่อการท่องเที่ยวป่าเป็นที่นิยมมากขึ้น เส้นทางนี้ก็มีนักท่องเที่ยวขับรถขึ้นมาเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ บ้างมาเพื่อศึกษาธรรมชาติ บ้างมาเพื่อชมวิวทะเลหมอกอันสวยงามบนเขาพะเนินทุ่ง

งานวิจัยพบว่าหลังจากที่มีจราจรหนาแน่นขึ้น พื้นที่หากินของสัตว์ป่าหลบหนีออกจากจากแนวถนนมากขึ้น

แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากสภาพผิวถนนที่ชำรุดตามกาลเวลา บางจุดโดนทางน้ำกัดเซาะกัดเซาะพังทลาย รถที่จะเข้าได้จึงมีแต่เพียงรถกระบะหรือรถพื้นสูงเท่านั้น ไหล่ทางชำรุด ทางแคบรถไม่สามารถสวนกันได้จึงต้องมีการจัดการให้มีการขึ้นลงเขาเป็นเวลาเพื่อหลีกเลี่ยงรถสวนกัน ลักษณะทางกายภาพของถนนที่ไม่เอื้ออำนวยนี้ในทางหนึ่งก็ช่วยคัดกรองนักท่องเที่ยวไม่ให้ขับรถเร็วเกินไปหรือมีจำนวนมากจนเกินไปนัก

จะว่ากันไปแล้วพื้นที่แก่งกระจาน บริเวณพะเนินทุ่งนี้เหมาะจะเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามากกว่าเป็นอุทยานแห่งชาติ เพราะมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างชุกชุม ควรจัดการให้มีการรบกวนจากมนุษย์น้อยที่สุด นอกจากนี้ก็ไม่ได้มีแหล่งท่องเที่ยวนันทนาการ เช่น น้ำตกขนาดใหญ่ที่เข้าถึงได้ง่าย

การขยายถนนปรับปรุงผิวถนนให้เป็นคอนกรีตตลอดสายนั้น ทำให้การจราจรสะดวก การขับรถสามารถใช้ความเร็วสูงขึ้น และปริมาณรถที่วิ่งจะมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การสูญเสียสัตว์ป่าจากการถูกรถทับ รถชน (roadkills) นั้นเป็นสาเหตุการตายของสัตว์ป่าที่สำคัญมากไม่น้อยกว่าการล่าสัตว์ป่าเลยทีเดียว ดังที่เราเห็นตัวอย่างซากสัตว์ป่าที่ถูกรถชนอยู่เนืองๆ บนถนนที่ตัดผ่านอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หรือปางสีดา สถิติจากเฉพาะถนนที่ตัดผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน พบมีสัตว์ป่าถูกรถชนตายตายถึงปีละประมาณ 3000 ตัว

จริงอยู่ว่า ทางอุทยานย่อมต้องมีมาตราการออกมาเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว เช่น การจำกัดความเร็วของการขับขี่ หรือควบคุมปริมาณยานพาหนะที่สัญจร อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้ยังเป็นเรื่องน่าสงสัยว่าเราจะบังคับใช้ได้เข้มงวดเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรการจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยวซึ่งดูจะล้มเหลวในทางปฏิบัติมาตลอดแทบทุกอุทยานฯ อีกทั้งนโยบาย กฏระเบียบนั้นก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดขึ้นกับผู้รับผิดชอบ ดังนั้น ลักษณะทางกายภาพถนนจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งในการลดผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์

ผมเข้าใจดีว่า ย่อมมีความต้องการจากหลายฝ่าย ทั้งทางจังหวัดหรือการท่องเที่ยวที่อยากอำนวยความสะดวกให้การเดินทางของนักท่องเที่ยวสะดวกปลอดภัย ซึ่งนำสู่การเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวด้วย

อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นจะต้องนึกถึงวัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้งเขตป่าอนุรักษ์ฯ ไม่ว่าจะเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรืออุทยานแห่งชาติ

ในกรณีของอุทยานแห่งชาติแม้เราจะอนุโลมให้มีการแบ่งโซนให้มีใช้ประโยชน์ทางนันทนาการการท่องเที่ยวได้ แต่เป้าหมายหลักที่สำคัญที่สุด ก็ยังเป็นการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และความสมดุลของระบบนิเวศ

2. อนึ่ง ผมเห็นด้วยกับการซ่อมแซมเส้นทางนี้ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน เพื่อการเดินทางที่ปลอดภัยของทั้งนักท่องเที่ยว และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ซึ่งใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ของการลาดตระเวน

แต่แทนที่เราจะไปปรับปรุงสภาพถนนเป็นคอนกรีตทั้งเส้นทาง เราน่าจะหันมาแก้ไขปรับปรุงเฉพาะจุด ที่มีความเสี่ยง ชำรุดซ้ำซาก เช่น ช่วงที่มี ความลาดชันสูงหรือ จุดที่มีน้ำกัดเซาะ มีดินถล่มซ้ำซาก ด้วยวิธีนี้ น่าจะเป็นหนทางลดผลกระทบต่อสัตว์ป่าลงไปได้มาก อีกทั้งยังประหยัดงบประมาณได้ไม่น้อย

3. บ่อยครั้งที่ประชาชนมักทราบข่าวโครงการต่างๆ ของรัฐต่อเมื่อ ขั้นตอนได้ถูกดำเนินมาไกลแล้ว จนหลายคนบ่นว่าทำไมจึงเพิ่งออกมาคัดค้าน

ในความเป็นจริงก็คือประชาชนทั่วไปไม่เคยทราบข้อมูลแต่ต้น และไม่มีโอกาสมีส่วนร่วมในการตัดสินใจใดๆ

เรื่องสำคัญ ที่เกี่ยวกับความอยู่รอดของทรัพยากรอันมีค่าของประเทศเช่นนี้ ผมไม่อยากให้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนเพียงไม่กี่คน อยากให้มีขบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนให้วงกว้างเพราะนี่คือมรดกธรรมชาติอันหวงแหน ของพวกเราทุกคน

จึงใคร่ขอวิงวอนทางกรมอุทยานฯ พิจารณาหาทางออกที่เหมาะสม และเป็นผลดีในระยะยาว ด้วยความห่วงใยยิ่งครับ

 


เรื่อง นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ รองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
เขียนและเผยแพร่ครั้งแรก เมื่อ 19 ตุลาคม 2561 www.facebook.com/rungsrit.kanjanavanit
ภาพเปิดเรื่อง facebook มานะ เพิ่มพูล