เหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่

เหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่

ที่ทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมตัวคัดค้าน ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่อยู่ในขั้นของการพิจารณาจาก สนช. โดยเรียกร้องให้ยุติกระบวนการพิจารณาและถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกไป จนกว่าจะเกิดการมีส่วนร่วมที่แท้จริง

โดยทางเครือข่าย ได้แถลงการณ์ ระบุถึงเหตุผลที่ต้องรวมตัวคัดค้านเนื่องจาก ร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ขาดการมีส่วนร่วมอีกทั้งยังมีความพยายามลดขั้นตอนการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจนำไปสู่ความผิดพลาด และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม แต่กับเป็นการเอื้อประโยชน์ให้โครงการต่างๆ มากกว่า ซึ่งไม่ใช่ทิศทางของการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน

ขณะเดียวกัน เครือข่ายฯ ได้เสนอให้ตั้ง “คณะทำงานยกร่างกฎหมายพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม” เพื่อให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาใหม่อย่างเท่าเทียมและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน

 

ทำไมไม่เอากฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่

กฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับที่บังคับอยู่ในปัจจุบัน หรือพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 มีพัฒนาการในด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ดีขึ้นมาเป็นลำดับ แต่ร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ที่คณะรัฐมนตรีนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กลับมีทิศทางตรงกันข้าม โดยมุ่งแก้ไขเฉพาะในหมวดว่าด้วยการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอเป็นหลัก เพื่อต้องการทำให้ระยะเวลาในการจัดทำและพิจารณาผ่านความเห็นชอบอีไอเอมีขั้นตอนและกระบวนการที่ลัดสั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ เป็นเสมือนการช่องทางด่วน เพื่อมุ่งเอื้อประโยชน์ให้แก่การลงทุนมากเกินไป ละเลยคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยประเด็นสำคัญ ดังนี้

1. การนำคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2559 มายัดไส้ใส่ลงในมาตรา 50 วรรคสี่ ที่ละเว้นให้กิจการด้านคมนาคมขนส่งและการสร้างเขื่อนที่ตัดผ่านเข้าไปในผืนป่า และพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวทางระบบนิเวศ กิจการด้านความมั่นคงทางพลังงาน เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือสัมปทานขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งทะเลและบนบก เป็นต้น ไม่ต้องรอให้อีไอเอผ่านความเห็นชอบก่อน แต่สามารถหาผู้ประมูลโครงการไว้ก่อนได้นั้น เป็นการเอื้อประโยชน์หรือเปิดโอกาสให้แก่กิจการหรือโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เหล่านั้นสร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาวะอนามัยของประชาชนให้รุนแรงยิ่งขึ้นได้ โดยไร้การมีส่วนร่วม ควบคุม และตรวจสอบจากประชาชน

2. การขยายอำนาจและเปลี่ยนวิสัยทัศน์ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หรือ กกวล. คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ คชก. และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. เป็นองค์กรที่มุ่งเน้นเอื้อประโยชน์ให้แก่การลงทุนเป็นหลัก ไม่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs โดยละเลยภารกิจหลักที่เคยมุ่งเน้นการพัฒนาที่คำนึกถึงคุณภาพประชาชนเพื่อความสมดุลและยั่งยืน

 

ข้อเสนอต่อสาธารณะและรัฐบาล กรณี ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม คสช.

ภาคประชาชนมีข้อเสนอต่อพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ฉบับ คสช. จากการศึกษาของภาคประชาชนและภาควิชาการ พบว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่คณะรัฐมนตรีนำส่งสภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้น เป็นร่างกฎหมายที่ไม่ผ่านการจัดทำตามมาตรา 77 และไม่เป็นไปตามมาตรา 58 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560

ภาคประชาชนได้มีความพยายามยื่นข้อเสนอต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำร่างกฎหมาย คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด แต่ข้อเสนอของภาคประชาชนไม่ได้รับการบรรจุเป็นเนื้อหาในร่างกฎหมายแต่อย่างใด

เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน “ขอให้ยุติร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้” ไว้ก่อนและมีข้อเสนอดังนี้

1. ขอให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง เรียกว่า “คณะทำงานยกร่างกฎหมายพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม” เพื่อยกร่างฉบับนี้ขึ้นมาใหม่

2. ให้ “คณะทำงานยกร่างกฎหมายพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม” ประกอบด้วยภาคประชาชน และภาครัฐในสัดส่วนที่เท่ากัน

3. หลักการอื่นใดให้เป็นที่ตกลงกันทั้งสองฝ่าย จนเป็นที่ยอมรับระหว่างกัน

โดยเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเห็นด้วยกับการมีพระราชบัญญัติฉบับนี้ แต่ต้องเป็นพระราชบัญญัติที่มีเจตนารมณ์และกลไกที่นำไปสู่การรักษาสิ่งแวดล้อมโดยแท้จริงเท่านั้น

เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบด้วยตัวแทนกลุ่มไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กลุ่มคัดค้านโครงการท่าเทียบเรือถ่านหินบ้านคลองรั้ว กลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และกลุ่มคัดค้านเหมืองแร่ในหลายจังหวัด เช่น ชัยภูมิ เลย สกลนคร และเพชรบูรณ์ ฯลฯ


ที่มา เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน