เรื่องหมีที่ไม่หมี! หมีหมากับหมีควายแตกต่างกันอย่างไร

เรื่องหมีที่ไม่หมี! หมีหมากับหมีควายแตกต่างกันอย่างไร

“หมีหมากับหมีควายแตกต่างกันอย่างไร” 

ปัจจุบันเราสามารถพบหมีในพื้นที่ป่าของไทยได้ 2 ชนิด คือ หมีหมา (Helarctos malayanus) และหมีควาย (Ursus thibetanus) ซึ่งอยู่ในวงศ์ Ursidae หมีสามารถกินอาหารได้หลากหลายประเภท อาทิเช่น ผลไม้สุก เมล็ดพืช รังผึ้ง แมลง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดเล็ก รวมถึงสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกด้วย แล้ว “หมีหมากับหมีควายแตกต่างกันอย่างไร” 

วันนี้แอดมินจะพามาทำความรู้จักกับหมีทั้ง 2 ชนิดนี้กัน!

หมีหมาหรือหมีคน

หมีหมา หรือ หมีคน (Malayan Sun Bear) ที่มาของชื่อมาจากเสียงร้องที่บางครั้งมีลักษณะคล้ายเสียงสุนัขเห่า จึงได้ชื่อว่า ‘หมีหมา’ และเมื่อยืนสองขา จะมีส่วนสูงใกล้เคียงกับคน จึงได้ชื่อเล่นอีกชื่อว่า ‘หมีคน’ หมีหมาแตกต่างจากหมีควายตรงที่มีขนาดเล็กกว่า ขนสั้น หูสั้น และมีขนสีขาวบริเวณหน้าอกเป็นรูปตัวยู (U) ทำให้บางครั้งยังถูกเรียกว่า “หมีคอยู” อีกด้วย ความยาวลำตัวและหัวเมื่อยืนสองขาอยู่ที่ 100-140 เซนติเมตร น้ำหนัก 27-65 กิโลกกรัม หมีหมามีถิ่นที่อยู่อาศัยตามถ้ำในป่าเบญพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา 

โดยปกติหมีหมาจะทำรังนอนบนต้นไม้ หมีหมาปีนต้นไม้เก่งมาก และสามารถกินอาหารได้ทั้งพืชและสัตว์ เช่น แมลง ผลไม้ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดเล็ก กิ้งก่า รังผึ้ง รวมถึงนก และมักหากินตอนกลางคืนเป็นส่วนใหญ่ ส่วนตอนกลางวันจะขึ้นไปพักผ่อนบนต้นไม้ 

หมีหมาเป็นหนึ่งในสัตว์เพียงไม่กี่ชนิดที่เสือโคร่งไม่อยากยุ่งด้วยถ้าไม่จำเป็น เพราะขนที่สั้น หนา และลื่นช่วยให้หมีหมาป้องกันตัวได้เป็นอย่างดี เมื่อถูกศัตรูกัด หมีหมาจะบิดให้ลื่นหลุดจากคมเขี้ยว และจะตะปบด้วยกรงเล็บอันแหลมคม

หมีควายหรือหมีดำ

หมีควายหรือหมีดำ (Asiatic Black Bear) หรือที่เรียกว่า “หมีคอวี” ซึ่งมาจากลักษณะทางกายภาพที่หมีควายมีขนสีขาวบริเวณหน้าอกเป็นรูปตัววี (V) นั่นเอง ความยาวลำตัวและหัวเมื่อยืนสองขาอยู่ที่ 120-150 เซนติเมตร และมีน้ำหนักถึง 100-160 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าตัวใหญ่กว่าหมีหมาเกือบเท่าตัว และหมีควายตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย หมีควายมีการกระจายในพื้นที่เดียวกันกับหมีหมา เพียงแต่กระจายจากทางเหนือลงมาถึงแค่ภาคใต้ตอนบน ส่วนภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดสุราษฏร์ธานีลงไปจะพบได้แค่หมีหมาเท่านั้น   

หมีควายออกหากินได้ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน แต่เวลากลางวันส่วนใหญ่มักใช้ไปกับการพักผ่อนตามโพรงต้นไม้ ในถ้ำ หรือในโพรงหิน หมีควายกินได้ทั้งพืชและสัตว์เป็นอาหาร โดยเฉพาะน้ำผึ้ง ถือเป็นเมนูโปรดของทั้งสองหมีเลยก็ว่าได้ หมีควายมักออกหากินตามลำพัง ยกเว้นช่วงฤดูผสมพันธุ์ จะออกหากินพร้อมกับตัวเมีย

หมีควายปีนต้นไม้ได้ แต่อาจจะไม่เก่งเท่าหมีหมา เนื่องจากลำตัวที่มีขนาดใหญ่กว่า รอยตีนของหมีควายและหมีหมามีลักษณะคล้ายกับมนุษย์ แต่มีขนาดสั้นกว่า ป้อมกว่า และมีรอยเล็บ และหมีควายจะมีขนาดรอยตีนที่ใหญ่กว่าหมีหมาอีกด้วย 

ทั้งหมีหมาและหมีควายเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างดุร้าย เมื่อตกใจหรือสงสัยจะมีพฤติกรรมยืนสองขา และเมื่อเจอศัตรูหรือผู้ล่า หมีทั้งสองชนิดจะต่อสู้โดยการตะปบด้วยกรงเล็บและกัดด้วยฟันที่แข็งแรง

ถึงแม้ว่าหมีหมาและหมีควายจะมีสายตาที่ไม่ค่อยดีนัก แต่หากเราเจอหมี สิ่งที่เราควรทำเป็นอันดับแรก คือ ตั้งสติและวิ่งหนีให้เร็วที่สุด! เพราะหากเราแกล้งตายตามคำบอกเล่าแล้ว เราอาจได้ตายจริงแน่นอน เพราะถึงหมีจะสายตาไม่ดี แต่มีระบบประสาทการรับกลิ่นที่ดีมาก!

และตอนนี้ทั้งหมีหมาและหมีควายอยู่ในสถานะมีแนวโน้มใกล้เสี่ยงสูญพันธุ์ (Vulnerable) โดย IUCN และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562

ในปัจจุบันพบว่าหมีทั้งสองชนิดนี้ถูกคุกคามจากมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยเนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ ภัยคุกคามเหล่านี้เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่งว่าหมีหมาและหมีควายในธรรมชาติอาจมีจำนวนลดลงไปมาก และในอนาคตหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ก็อาจจะส่งผลให้หมีหมาและหมีควายมีความเสี่ยงสูงที่จะสูญพันธุ์ไปจากป่าเมืองไทยในที่สุด


อ้างอิง

เรื่อง/ภาพ ภัสราภรณ์ ล้อประกานต์สิทธิ์