International Vulture Awareness Day ตระหนักรู้รักษ์แร้ง

International Vulture Awareness Day ตระหนักรู้รักษ์แร้ง

ทุกปีในวันเสาร์แรกของเดือนกันยายน เครือข่ายอนุรักษ์แร้งนานาชาติได้กำหนดให้เป็นวัน ‘International Vulture Awareness Day’ เป็นวันที่จะสร้างความตระหนักและสร้างการรับรู้เกี่ยวกับนกกลุ่มแร้ง ว่าเป็นนกที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศมากเพียงใด

ทั่วโลกมีแร้งด้วยกันทั้งหมด 23 ชนิด ในประเทศไทยสามารถพบแร้งได้ทั้งหมด 5 ชนิด เป็นแร้งประจำถิ่น 3 ชนิด ได้แก่ พญาแร้ง แร้งเทาหลังขาว แร้งสีน้ำตาล และแร้งอพยพ 2 ชนิด ได้แก่ แร้งดำหิมาลัย และแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย

แร้งเป็นผู้ที่ทำให้ระบบนิเวศในผืนป่าเกิดความสมดุล และคงความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากแร้งเป็นสัตว์กินซาก เปรียบเสมือนเทศบาลประจำผืนป่า ถ้าไม่มีแร้ง ซากเหล่านั้นก็จะถูกปล่อยไว้จนเน่า ซึ่งอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์โรคระบาด สามารถติดสู่คนได้

หากที่ไหนมีแร้งพื้นที่แห่งนั้นจะต้องมีซากสัตว์ และแสดงว่าต้องมีสัตว์ป่าผู้ล่าอาศัยอยู่ ทำให้เห็นว่านกเทศบาลเหล่านี้ คือสิ่งมีชีวิตอีกหนึ่งชนิดที่เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าใหญ่

International Vulture Awareness Day

สำหรับประเทศไทยถึงแม้ว่าแร้งทั้ง 3 ชนิดจะสูญพันธุ์ไปแล้วจากธรรมชาติ แต่ยังถือเป็นความโชคดีที่ยังมี ‘พญาแร้ง’ อยู่ในกรงเพาะเลี้ยงด้วยกัน 6 ตัว และกำลังมีโครงการการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย (พญาแร้งคืนถิ่น)โดยมีเป้าหมายสำคัญ เพื่อเพิ่มความหลากหลายในระบบนิเวศโดยเฉพาะชนิดพันธุ์ที่เป็นสัตว์กินซาก (Scavenger) โดยการเพิ่มประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัย บริเวณพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นบ้านเดิมของพญาแร้ง และสร้างเครือข่ายการอนุรักษ์ นกกลุ่มแร้งทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศและระดับระหว่างประเทศ

หลังจากเกิดโศกนาฏกรรมใจกลางผืนป่าห้วยขาแข้ง ในปี 2535 ที่ทำให้พญาแร้งล้มตายเกือบยกฝูงและเรียกได้ว่าสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติของผืนป่าเมืองไทย และทำให้ระบบนิเวศต้องขาดผู้เล่นที่สำคัญไปร่วม 30 ปี เมื่อมนุษย์กลุ่มหนึ่งทำให้พญาแร้งหายไปจากธรรมชาติ แต่ก็มีมนุษย์อีกกลุ่มหนึ่งที่จะพาพญาแร้งกลับบ้านเช่นเดียวกัน

ซึ่งเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ทีมงานโครงการพญาแร้งคืนถิ่น ได้ดำเนินการพาพญาแร้งพ่อแม่พันธุ์ ‘ป็อก’ และ ‘มิ่ง’ เข้าสู่กรงเลี้ยงขนาดใหญ่ในผืนป่าห้วยขาแข้ง เพื่อหวังว่าในไม่ช้าป็อกและมิ่งจะจับคู่ผสมพันธุ์และทำรังวางไข่ได้สำเร็จ

นอกจากนี้ยังดำเนินการศึกษาพฤติกรรม รวมถึงเก็บข้อมูลอื่นๆ ติดตาม วิเคราะห์ ประเมินผล ตามลำดับต่อไป

ทุกคนหวังว่าจะสามารถฟื้นฟูและเพิ่มประชากรของพญาแร้งในกรงเลี้ยงและบริเวณพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งโดยการใช้องค์ความรู้ในเรื่องการเพาะเลี้ยงการฟื้นฟูถิ่นอาศัยการสำรวจและวิจัยรวมถึงการสร้างความเข้าใจกับชุมชนในพื้นที่โดยการเรียนรู้จากทัศนคติของชุมชนและเป็นต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งในพื้นที่ธรรมชาติ

ทุกท่านสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทยเพื่อเป็นต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งในพื้นที่ธรรมชาติในการช่วยฟื้นฟูประชากรพญาแร้งให้กลับคืนมาผ่านการบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาวิจัยและการฟื้นฟูประชากรได้ที่ โครงการพญาแร้งคืนถิ่น ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส รัตนาธิเบศร์ บัญชีเลขที่ 679-6-72119-5

และสามารถติดตามข่าวสารการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งได้ที่ โครงการ “การฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย”