นิเวศน่ารู้ – เรื่องราก

นิเวศน่ารู้ – เรื่องราก

รากเป็นส่วนประกอบหนึ่งของพืชมีหน้าที่สำคัญ คือ ดูด (Absorption) น้ำและแร่ธาตุที่จากดินเข้าไปในลำต้น ลำเลียง (Conduction) น้ำและแร่ธาตุรวมทั้งอาหารซึ่งพืชสะสมไว้ในรากขึ้นสู่ส่วนต่างๆ ของลำต้น ยึด (Anchorage) ลำต้นให้ติดกับพื้นดิน แหล่งสร้างฮอร์โมน (Producing hormones) รากเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตฮอร์โมนพืชหลายชนิด เช่น ไซโทไคนิน จิบเบอเรลลิน ซึ่งจะนำไปใช้ในการเจริญส่วนลำต้นและยอด

รากแบ่งออกเป็น 3 ชนิดตามจุดกำเนิด
• รากแก้ว (Tap root)
• รากแขนง (Lateral root)
• รากที่เปลี่ยนแปลงตัวเองไปทำหน้าที่พิเศษ (Adventitious root)

1. รากแก้ว (Tap root) มีลักษณะโตตรงโคน แล้วค่อยเรียวเล็กลงไปจนถึงปลาย จะยาวและใหญ่กว่ารากอื่นๆ ทำหน้าที่เป็นเสาหลักรับส่วนอื่นๆ ของพืชให้ทรงตัวอยู่ได้

รากชนิดนี้พบในพืชใบเลี้ยงคู่ ที่งอกออกจากเมล็ดโดยตรง ส่วนพืชใบเลี้ยงเดี่ยวเมื่องอกออกจากเมล็ดใหม่ๆ ก็มีระบบรากแก้วเหมือนกัน แต่มีอายุได้ไม่นานก็เน่าเปื่อยไปแล้วเกิดรากชนิดใหม่ขึ้นมาแทน คือ รากฝอย (Fibrous root)

2. รากแขนง (Lateral root) เป็นรากที่เจริญเติบโตออกมาจาก รากแก้ว มักงอกเอียงลงไปในดินและเจริญเติบโตไปตามแนวขนานกับพื้นดิน

รากแขนง

รากชนิดนี้อาจแตกแขนงออกเป็นทอดๆ ได้อีกเรื่อยๆ ทั้งรากแขนงและแขนงต่างๆที่ยื่นออกไปเป็นทอดๆต่างกำเนิดมาจากเนื้อเยื่อเพริไซเคิลในรากเดิมทั้งสิ้น

3. รากที่เปลี่ยนแปลงตัวเองไปทำหน้าที่พิเศษ (Adventitious root) เป็นรากที่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะไปทำหน้าที่พิเศษประกอบไปด้วย

3.1 รากฝอย (fibrous root) เป็นรากที่มีลักษณะเป็นเส้นเล็กๆมากมาย ไม่มีรากใดเป็นรากหลักขนาดโตสม่ำเสมอกัน ไม่เรียวเล็กลงที่ปลายเช่นอย่างรากแก้ว เจริญเติบโตและงอกแผ่กระจายออกไปโดยรอบโคนต้นในพืชบางชนิด โดยเฉพาะพืชใบเลี้ยงเดี่ยว เช่น รากข้าวโพด รากหญ้า รากมะพร้าว รากฝอยจะเจริญเติบโตแทนที่รากแก้วที่ฝ่อเสียไปหรือที่หยุดเติบโต

รากฝอย / PHOTO talkinghydroponics.com

3.2 พูพอนหรือรากค้ำยัน (Buttress root) มีลักษณะเป็นแผงขยายออกจากส่วนโคนของลำต้น โดยเป็นการปรับตัวของต้นไม้บางชนิดที่เกิดอยู่บริเวณริมน้ำ อยู่พื้นที่ที่มีดินตื้น หรือข้างล่างเป็นหิน เพราะดินลักษณะดังกล่าวจะต้นไม้โค่นล้มง่ายเมื่อเจอกับพายุ ต้นไม้จึงปรับตัวโดยการสร้างรากพูพอนเพื่อช่วยค้ำยันต้นไม้ ลดแรงสั่นสะเทือน และอีกประโยชน์หนึ่งของพูพอนก็คือช่วยกักและดูดซับธาตุอาหารเนื่องเวลาฝนตกน้ำจะชะแร่ธาตุซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณผิวดินออกไป การที่มีพูพอนจะทำให้สามารถกักแร่ธาตุสารอาหารไม่ให้ไหลไปกับน้ำ

3.3 รากยึดเกาะ (Climbing root) มีการปรับเปลี่ยนตัวเองให้แตกออกจากข้อของลำต้นเพื่อใช้ในการยึดเกาะตามพื้นผิวด้านนอก เพื่อชูลำต้นให้ไต่ขึ้นที่สูงโดยการที่ต้นไม้มีการปรับเปลี่ยนลักษณะของตัวเองให้รากงอกตามลำต้น เป็นเพราะพืชจำพวกไม้เลื้อย จำเป็นต้องเจริญเติบโตให้รับแสงแดด เพื่อใช้ในการสังเคราะห์แสง จึงต้องพัฒนาตัวเองให้มีกลไกรากพยุงต้นให้เลื้อยขึ้นที่สูงๆรากชนิดนี้จะเติบโตโดยที่ไม่แย้งอาหารของต้นไม้ที่มันใช้เกาะ ซึ่งสามารถพบได้ในพืชจำพวก กล้วยไม้ และพริกไทย เป็นต้น

รากยึดเกาะ / PHOTO backyardnature.net

3.4 รากหายใจ (Pneumatophore) เป็นรากที่แทงปลายรากขึ้นมาเหนือพื้นดิน เพื่อช่วยในการหายใจเอาออกซิเจนจากอากาศให้ได้มากขึ้นเพราะในดินเลนมีออกซิเจนต่ำ รากประเภทนี้มีเซลล์พาเรงไคมา (parenchyma) เรียงตัวกันอย่างหลวมๆ ในเนื้อเยื่อ ทำให้มีช่องว่างระหว่างเซลล์มากขึ้น ออกซิเจนจึงสามารถผ่านเข้าสู่เซลล์ชั้นในของรากได้ง่ายขึ้น พบในพืชจำพวกต้นแสมและลำพูที่ขึ้นอยู่ได้ในบริเวณป่าชายเลน

รากหายใจ / PHOTO openstandards.org

3.5 รากสะสมอาหาร (storage root) เป็นรากที่ทำหน้าที่ในการสะสมอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล และ โปรตีนเอาไว้ที่บริเวณรากของมัน ทำให้มีลักษณะอวบอ้วน

3.6 รากกาฝากหรือรากปรสิต (Parasitic root) เป็นรากที่แทงเข้าไปในกิ่งของพืชชนิดอื่นเพื่อพักอาศัยและเป็นแหล่งอาหารเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต ซึ่งบางครั้งจะเจริญเติบโตและแย้งอาหารจนทำให้พืชที่ถูกเกาะนั้นตายรากกาฝากจะกระจายพันธุ์ด้วยนกในกลุ่มกาฝาก โดยนกในกลุ่มกาฝากนั้นจะกินผลของต้นกาฝากจากต้นหนึ่ง และบินไปถ่ายมูลไว้ที่ต้นอื่นๆ เมื่อสภาพอากาศเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตก็จะทำการงอกรากลงบนพืชที่นกได้มาถ่ายมูลไว้และเจริญเติบโตต่อไป เราจะพบรากกาฝากได้ในต้น กาฝาก ต้นฝอยทอง และต้นไทรบางชนิด

รากกาฝาก / PHOTO tamagozzilla.blogspot.com

 


เรียบเรียง วรางคณา จันดา เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร