ถอดรหัสเสือดำในป่าไทย โดย โดม ประทุมทอง

ถอดรหัสเสือดำในป่าไทย โดย โดม ประทุมทอง

ผมเคยเขียนบทความหนึ่งเอาไว้ว่า “นกเงือกตายหนึ่งตัว ไทร7ต้นเศร้า ชะนีตายหนึ่งตัว ป่า 7 ผืนเศร้า แต่เสือดำตัวนี้ที่ตาย คนไทยหลายล้านคนเศร้า” คุณโดม ประทุมทอง นักวิชาการด้านสัตว์ป่าได้กล่าวประโยคนี้ไว้บนเวทีตลาดนัดฅนรักษ์ป่าเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา

การตายของเสือดำสร้างความสะเทือนใจให้แก่ผู้ทราบข่าวเป็นอย่างมาก ก่อให้เกิดกระแสต่างๆ ตามมามากมาย โดยเฉพาะการเรียกร้องให้มีการนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษอย่างถูกต้องยุติธรรม ซึ่งในปัจจุบันเรื่องราวตรงนี้กำลังอยู่ในกระบวนการทางชั้นศาล ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารได้บนหน้าเว็บไซต์มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

สำหรับในส่วนนี้ เราขอนำผู้อ่านย้อนมาเรียนรู้เรื่องราวของเสือดำกันเสียหน่อย เพื่อทำความเข้าใจของสิ่งมีชีวิตร่วมโลกที่เพิ่งจากเราไป ว่าเขาเป็นใครและมีความสำคัญอย่างไรในระบบนิเวศ

โดม ประทุมทอง

 

เสือดำหรือเสือดาว

หลายคนในประเทศไทยรู้จักทั้งเสือดำและเสือดาวจากการเห็นสีและลวดลาย แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าจริงๆแล้วเสือดำและเสือดาวคือเสือชนิดเดียวกัน

เสือพันธุ์นี้จะมีความพิเศษอย่างหนึ่งในเรื่องของเม็ดสี ซึ่งอัตราการเกิดของลูกเสือที่เกิดจากแม่เสือดำ จะมีโอกาส 1 ใน 3 ที่ 1 ตัวจะเป็นเสือดำ ซึ่งมันจะเป็นลักษณะของสีขนที่เข้มเห็นเป็นสีดำ เพียงแต่ว่าหากเราสังเกตดีๆ เสือดำที่เราเห็น เวลาตัวมันโดนแสงแดดหรือมีอายุมากขึ้น ลายตามตัวที่ซ่อนอยู่ก็จะปรากฏให้เห็น

ลายที่ปรากฏบนตัวของเสือดำ เสือดาวนั้นมีชื่อเฉพาะที่เรียกกันว่า ‘ขยุ้มตีนหมา’ จะเป็นลักษณะของจุดหลายจุดที่รวมกันเป็นวงกลม แต่ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์แรกๆ ของการตายของเสือดำนั้น ได้มีคนนำรูปของเสือมาใช้ผิด จากที่จะเป็นรูปของเสือดำ เสือดาว ก็กลายเป็นเสือจากัวร์แทน เพราะลวดลายบนตัวมีความคล้ายกันแต่ก็มีจุดที่แตกต่างเช่นกัน

 

เหมือนแต่ต่าง ระหว่างเสือ(ดำ)ดาวและเสือจากัวร์

ลายจุดบนตัวของเสือจากัวร์จะเหมือนของเสือดำ เสือดาวมาก แต่ของเสือจากัวร์นั้นจะมีจุดสีดำอยู่ตรงกลางของวงกลมที่อยู่บริเวณรอบๆ แต่ของเสือดำ เสือดาวจะไม่มีจุด

และนอกจากลายที่ต่างกันแล้ว ก็ยังมีเรื่องของรูปร่างที่ต่างกันอีก เนื่องจากเสือจากัวร์จะมีรูปร่างที่บึกบึน แต่เสือดำ เสือดาวจะมีรูปร่างที่ปราดเปรียวกว่า

 

จำนวนและการขยายขอบเขต

ขอบเขตการกระจายพันธุ์ของเสือดาวทั่วโลกนั้นกว้างขวางมาก มีตั้งแต่ทวีปแอฟริกาไล่มาถึงรัสเซีย ชวา จีนและทางตะวันออกจนถึงตะวันตก เนื่องจากว่ามันมีการกระจายพันธุ์ของเสือดาวที่กว้างมาก จึงทำให้ในปัจจุบันนี้มีการแบ่งเสือดาวออกเป็น 9 ชนิดพันธุ์ย่อย (subspecies) ชนิดที่เจอในประเทศไทย เรียกว่าชนิดย่อยอินโดจีน จะเป็นเสือดาวในคาบสมุทรอินโดจีน จากข้อมูลของรายงานทางวิชาการบอกว่า บริเวณป่าใดที่ใกล้เส้นศูนย์สูตรจะมีโอกาสพบเสือดำนั้นสูงมาก

แต่เสือดำที่พบมากที่สุดจะอยู่แถวแถบชวา ซึ่งเป็นเสือดาวชนิดย่อยชวาและส่วนใหญ่จะเป็นเสือดำแทบทั้งหมด เนื่องจากป่าในแถบนี้ใกล้เส้นศูนย์สูตรมาก ป่าจะยิ่งมีความทึบและเสือก็จะมีความเป็นเสือดำมากกว่า ซึ่งสีดำที่ว่านั้นเกิดจากความผิดปกติของเม็ดสีแบบเมลานิซึม

 

สถานการณ์ปัจจุบันของเสือ(ดำ)ดาวในป่าไทย

ปริมาณของเสือที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบันมีน้อยมาก ซึ่งในประเทศไทยเองเหลือเสืออยู่เพียงไม่ถึงหนึ่งพันตัวในป่า ป่าในประเทศไทยเราแบ่งออกเป็นกลุ่มป่า 18 กลุ่มป่า

ใน 18  กลุ่มป่านี้ มีรายงานว่าพบเสือดาว เสือดำเพียง 7 กลุ่มป่าเท่านั้น และมีเพียงกลุ่มป่าตะวันตก ทุ่งใหญ่นเรศวร ห้วยขาแข้ง ที่มีประชากรเสือดาวและเสือดำเยอะที่สุดในประเทศไทย หรืออาจจะพูดได้ว่า เยอะที่สุดในภูมิภาคของชนิดพันธุ์ย่อยภูมิภาคอินโดจีนและยังถือว่าเป็นอนาคตสูงสุดของการอนุรักษ์สายพันธุ์เสือดาว เสือดำ ชนิดย่อยอินโดจีนนี้ด้วย

 

บทบาทความสำคัญของเสือ(ดำ)ดาวต่อระบบนิเวศ

“ป่าที่ไม่มีสัตว์ ก็เหมือนบ้านที่ไม่มีคนอยู่ เขาเรียกว่าป่าที่ว่างเปล่า ศัพท์เฉพาะเขาเรียกว่า Empty Forest”

เราทำการศึกษาเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและก็พวกเสือ โดยการใช้ camera trap เข้าไปแอบดูชีวิตพวกมัน วงจรชีวิตหรือว่าชีวิตของเสือดำ เสือดาวในป่ามีบทบาทหน้าที่สำคัญต่อระบบนิเวศมาก แต่ในแง่ของวิชาการ เราเรียกว่าระบบห่วงโซ่อาหาร เสือดำ เสือดาวจะทำหน้าที่ในการควบคุมประชากรของสัตว์ชนิดต่างๆ ในป่าไม่ให้มีมากเกินไป สัตว์กินพืชถ้ามีเยอะเกินก็สามารถส่งผลเสียให้กับป่าได้เช่นกัน เสือดำ เสือดาวจึงต้องทำหน้าที่ควบคุมซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ

ข้อมูลเมื่อหลายปีที่แล้วยืนยันว่าในประเทศไทย เสือดำ เสือดาวที่ห้วยขาแข้ง กินลิงเยอะที่สุด แต่ว่าจริงๆ แล้วอาหารของเสือดำ เสือดาวนั้นมีเยอะมาก เช่น นก นกยูง ไก่ งู สัตว์เลื้อยคลานต่างๆ สัตว์ขนาดเล็ก สัตว์เท้ากีบจนถึงสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่ หรือแม้กระทั่งสัตว์กินพืชอย่างลูกกระทิงพวกมันก็ล่า แต่ปริมาณสัตว์ที่ถูกล่ามากที่สุดจะเป็นลิงและหมูป่า

 

ผู้ล่า

การพบรอยเท้าในป่าส่วนใหญ่ คนมักเข้าใจผิดว่าเป็นเสือ ซึ่งต้องสังเกตให้ดีเพราะว่ารอยเท้าเสือจะเป็นรอยที่ไม่มีเล็บ แต่รอยเท้าส่วนใหญ่ที่พบในป่าไทยจะมีติ่งเห็นเป็นเล็บ รอยพวกนั้นส่วนใหญ่จะเป็นรอยเท้าของพวกหมาในหรือหมาจิ้งจอก รอยเท้าของเสือดำ เสือดาวนั้นจะมีขนาดกว้างประมาณ 8 ซม. แต่ถ้ารอยเท้าที่ใหญ่กว่า 8 ซม. ขึ้นไปจะเป็นรอยเท้าของเสือโคร่ง

 


บทความ ปทิตตา สรสิทธิ์ นักศึกษาฝึกงาน
ภาพประกอบ ณัฐสุมญชุ์ โภชะ นักศึกษาฝึกงาน