ไทยประกาศลดก๊าซเรือนกระจก 20-25% ใน COP21

ไทยประกาศลดก๊าซเรือนกระจก 20-25% ใน COP21

เมื่อ พ.ศ. 2558 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงในฐานะตัวแทนของรัฐบาลไทยต่อที่ประชุม รัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (COP-21) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ว่า ไทยประกาศลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20-25 นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ พร้อมลดใช้พลังงานจากฟอสซิล และใช้พลังงานทดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ในการประชุมครั้งนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัวแทนของรัฐบาลไทย ได้กล่าวถ้อยแถลงจุดยืนของประเทศไทยในการลดโลกร้อน โดยนายกรัฐมนตรีของไทยได้เรียกร้องให้ทุกๆ ประเทศให้ความสำคัญถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นกรณีพิเศษ โดยให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน ทั้งในเรื่องของเงินทุน งานวิจัยและองค์ความรู้เพื่อการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับแผนของประเทศไทยนั้น นายกรัฐมนตรีของไทย ได้ตั้งเป้าไว้ว่าไทยจะลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20 ถึงร้อยละ 25 ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยมุ่งลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล หันมาใช้พลังงานทอดแทนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมผลักดันเรื่องการลดการขนส่งทางถนนเปลี่ยนเป็นการขนส่งทางราง ผลักดันใช้พลังงานทดแทนในแผนพลงงานพีดีพีของไทยให้มากขึ้น ขจัดการบุกรุกป่า และทำแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ซึ่งจะยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางการดำเนินงาน

“ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงพระราชทานมากว่า 50 ปีแล้วในรูปแบบประชารัฐ ด้วยความร่วมมือของประชารัฐ เอกชน ประชาสังคม เอ็นจีโอ และประชาชนอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของไทยที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการดำเนินการให้บรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2030 ของสหประชาชาติ”

 

วันนี้ผมมาเพื่อแสดงเจตนารมย์อันแน่วแน่ของประเทศไทย ในการร่วมผลักดันให้การเจรจาการตกลงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ฉบับใหม่ให้บรรลุผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก่อให้เกิดภัยพิบัติ ภาวะโลกร้อน น้ำทะเลสูงขึ้น กระทบต่อประเทศหมู่เกาะ และประเทศที่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่มากนัก อีกทั้งยังทำให้เกิดภัยแล้ง ขาดน้ำในการทำเกษตร และการอุปโภคและบริโภคอีกด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงทางด้านอาหารและรายได้ของเกษตรกร กระทบต่อแหล่งผลิตอาหารของโลก ตลอดจนทำให้เกิดการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ เกิดความยากจน ความขัดแย้ง จนอาจทำให้เกิดสงครามแย่งชิงน้ำในโอกาสต่อไป ซึ่งจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับประเทศที่กำลังพัฒนาที่รายได้ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับผลิตผลทางการเกษตรที่ราคาตกต่ำอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน

ดังนั้นจึงต้องพัฒนาให้เกิดอุตสาหกรรมสีเขียวในประเทศที่กำลังพัฒนาเพื่อส่งเสริมรายได้ และลดผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปพร้อมๆ กันด้วย

ผมอยากให้ทุกๆ ประเทศคำนึงถึงเรื่องนี้เป็นกรณีพิเศษเพื่อให้มีการลดก๊าซเรือนกระจกและให้มีการพัฒนาประเทศอย่างสมดุล

ทรัพยากรธรรมชาติเป็นสมบัติของโลกและมวลมนุษยชาติ ไม่ใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น ประชาคมโลกมีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกัน ดูแลรักษาไม่ให้หมดสิ้นไป โดยเฉพาะในการจำกัดการเพิ่มอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 หรือ 2 องศา โดยยึดหลักของความเป็นธรรมและความรับผิดชอบร่วมกันในระดับการพัฒนาที่แตกต่าง โดยจะต้องคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละประเทศด้วย

ผมขอเรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมมือกันในกรอบเหนือใต้และใต้ๆ ทั้งด้านเงินทุน งานวิจัย การถ่ายทอดพัฒนาเทคโนโลยี การสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชน ในการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ไทยได้จัดทำ action plan ที่จะลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20 ถึงร้อยละ 25 ภายในปี ค.ศ. 2030 มุ่งลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล ใช้พลังงานทอดแทนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิเช่น การใช้รถยนต์เครื่องยนต์ไฮบริด เครื่องยนต์ไฟฟ้าให้มากยิ่งขึ้น การลดการขนส่งทางถนนเป็นการเพิ่มการขนส่งทางราง การเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในแผนพลงงานพีดีพีของไทยให้มากขึ้น ขจัดการบุกรุกป่า ปลูกป่าอาเซียน ทำแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการโดยจัดทำโร้ดแมพการลดหมอกควันเหลือร้อยละ 0 และที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงพระราชทานมากว่า 50 ปีแล้วในรูปแบบประชารัฐ ด้วยความร่วมมือของประชารัฐ เอกชน ประชาสังคม เอ็นจีโอ และประชาชนอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของไทยที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการดำเนินการให้บรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2030 ของสหประชาชาติอีกด้วย

ในฐานะประธานกลุ่มจี 77 ในปีหน้า ประเทศไทยจะมุ่งมั่นอย่างเต็มความสามารถ ในการเป็นสะพานเชื่อมความแตกต่าง ทั้งภายในและภายนอก กลุ่มจี 77 โดยให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนร่วมกันของโลกใบนี้

 


เรียบเรียง ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร