ร่วมหยุดยั้งการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย บนโลกออนไลน์และทุกรูปแบบ

ร่วมหยุดยั้งการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย บนโลกออนไลน์และทุกรูปแบบ

เนื่องในวันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก (World Wildlife Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 3 มีนาคมของทุกปี องค์กรไวล์ดเอด ได้เผยแพร่สื่อรณรงค์ทางโซเชียลมีเดียชุดใหม่ชวนทุกคนต่อต้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายบนโลกออนไลน์และทุกรูปแบบด้วยการไม่ซื้อไม่ใช้และแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเมื่อพบเห็นการค้าและการครอบครองสัตว์ป่าและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าผิดกฎหมายรวมถึงการปฏิเสธการบริโภคที่ไม่ยั่งยืนอย่างเมนูฉลาม

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายในหลายประเทศรวมถึงไทย ได้ย้ายแหล่งการซื้อขายมาอยู่บนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ ข้อมูลจากเครือข่ายเฝ้าระวังการค้าสัตว์ป่าและพืชป่า หรือ TRAFFIC พบว่า ในช่วงเวลาเพียง 5 วันของเดือนกรกฎาคมปี 2562 มีการโพสต์จำหน่ายผลิตภัณฑ์งาช้างจำนวน 2,489 ชิ้น ใน 545 โพสต์ ทางโซเชียล มีเดียในประเทศอินโดนิเซีย ไทย และเวียดนาม ส่วนการสำรวจเวบไซต์และช่องทางอีคอมเมิร์ซของจีนระหว่างปี 2555-2559 พบการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์งาช้างมากที่สุด (60%) รองลงมาเป็นผลิตภัณฑ์จากนอแรด (20%)

นอกจากนั้น การสำรวจเพื่อประเมินและประมาณขนาดการค้านกชนหิน รวมถึงชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ของนกเงือกชนิดพันธุ์อื่นๆ บนสื่อสังคมออนไลน์หรือเฟซบุ๊กในไทยขององค์กร TRAFFIC  พบการโพสต์ขายผลิตภัณฑ์จากนกชนหิน คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 83 เปอร์เซ็นต์ จากชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์นกเงือกทั้งหมดซึ่งถูกเสนอขายในช่วงเวลา 64 เดือน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 ถึง เมษายน 2562 

สหประชาชาติ  ประเมินว่าการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายทั่วโลก มีเม็ดเงินเกี่ยวข้องอยู่ระหว่าง 7,000 ล้านเหรียญ ถึง 23,000ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นอาชญากรรมอันดับ 4 ของโลกรองจากการค้าอาวุธยาเสพติดและการค้ามนุษย์เพียงเพราะความต้องการที่เพิ่มขึ้นในประเทศที่ผู้บริโภคเริ่มมีกำลังซื้อในทวีปเอเชียโดยการครอบครองและบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าสะท้อนถึงฐานะบารมีและความเชื่อผิดๆว่ามีประโยชน์ในการรักษาโรคแต่จริงๆแล้วนอกจากจะเสี่ยงสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพยังเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคจากสัตว์ป่าสู่คนจากการที่สัตว์หลายชนิดต้องอยู่รวมกันอย่างแออัดทั้งๆที่ไม่ควรอยู่ด้วยกันการขนส่งความเครียดและปัจจัยอื่นๆ อีกมาก

.

ร่วมหยุดยั้งการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย

 

ประชากรแรดทั่วโลกลดลงมากถึง 95% ในทวีปแอฟริกา และเอเชีย นอแรดประกอบไปด้วยเคราติน เหมือนเล็บและเส้นผมของมนุษย์ ไม่มีคุณสมบัติทางยา ผลสำรวจเมื่อปี 2559 โดยไวล์ดเอด องค์กร African Wildlife Foundation และ องค์กร CHANGE ประเทศเวียดนามพบ จำนวนผู้ตอบแบบสอบถามที่เชื่อว่า นอแรดสามารถรักษาโรคได้ ลดลง 67% ภายใน 2 ปี อยู่ที่ 23% จาก 69% เมื่อเทียบกับปี 2557 และผู้ที่เชื่อว่า นอแรดรักษาโรคมะเร็งได้ ลดลง 73% มาอยู่ที่ 9.4% จาก 34.5% เมื่อเทียบกับปี 2557

 

ทุกปี ฉลามมากถึง 73 ล้านตัวถูกฆ่าเพื่อมาทำเป็นซุปหูฉลาม เมื่อเร็วๆนี้ งานวิจัยล่าสุดเรื่อง “Half a century of global decline in oceanic sharks and rays” ที่เปิดเผยเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ตอกย้ำการลดลงของประชากรฉลาม โดยระบุว่า จำนวนฉลามและกระเบนในทะเลหลวงลดลงกว่า 70% ในช่วงเวลา 50 ปีที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุหลักจากการทำประมงเกินขนาด เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภค

ผลการสำรวจขององค์กรไวล์ดเอด ปี พ.ศ. 2560 พบว่าคนไทยในเขตเมืองมากกว่าครึ่งเคยบริโภคหรือยังคงบริโภคหูฉลามอยู่ ขณะที่ 60% ยังคงต้องการบริโภคหูฉลามในอนาคต โดยผู้บริโภคทานหูฉลามบ่อยครั้งที่สุดที่งานรื่นเริงต่างๆ เช่น งานแต่งงาน (72%) งานรวมญาติ (61%) และงานเลี้ยงธุรกิจ (47%)

 

ทุกปี ช้างแอฟริกามากถึง 17,000ตัว ถูกฆ่าเพื่อตอบสนองความต้องการผลิตภัณฑ์งาช้าง

 

เมื่อราว 1 ศตวรรษที่ผ่านมา มีเสือโคร่งที่อาศัยอยู่ในป่าธรรมชาติมากถึง 100,000 ตัวทั่วโลก ทุกวันนี้ ประเมินว่าเสือโคร่งที่เหลืออยู่ในป่าทั่วโลกมีจำนวนน้อยกว่า 4,000 ตัว และพวกมันยังคงตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกล่าเพื่อนำเขี้ยว หนังและกระดูกไปทำเป็นยา วัตถุมงคล หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตามความเชื่อที่ผิดๆ

ผลการวิจัยผู้บริโภคและใช้งาช้างและผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่งในประเทศไทย โดยโครงการ USAID Wildlife Asia ปี พ.ศ. 2561 พบว่า คนไทยในเขตเมือง ร้อยละ 2 หรือราว 500,000 คน มีหรือใช้ชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์จากงาช้าง และ ร้อยละ 1 หรือราว 250,000 คน มีหรือใช้ชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่ง นอกจากนี้ ร้อยละ 3 หรือราว 750,000 คน มีความตั้งใจที่จะซื้อผลิตภัณฑ์จากงาช้าง หรือผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่งในอนาคต  และร้อยละ 10 (ราว 2.5  ล้านคน) มองว่าการซื้อขายผลิตภัณฑ์งาช้าง ยังเป็นที่ยอมรับในสังคม ในขณะที่ร้อยละ 7 (ราว 1.8 ล้านคน) เห็นว่าการซื้อขายผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่งยังเป็นสิ่งที่ยอมรับได้   โดยเหตุผลหลักในการซื้อ เพราะเชื่อว่างาช้าง “นำความโชคดีมาให้” “ป้องกันอันตราย” หรือ “มีความศักดิ์สิทธิ์” ส่วนผู้ซื้อหรือใช้ผลิตภัณฑ์จากเสือมีแรงจูงใจหลักในการซื้อ เพราะเชื่อว่า “ป้องกันอันตราย/มีพลังปกป้องคุ้มครอง” หรือ “มีความศักดิ์สิทธิ์”

 

ผลสำรวจขององค์กร TRAFFIC   เพื่อประเมินและประมาณขนาดของการค้านกชนหิน รวมถึงชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ของนกเงือกชนิดพันธุ์อื่นๆ บนช่องทางสื่อสังคมออนไลน์หรือเฟซบุ๊กในไทย โดยข้อมูลที่พบจากการสำรวจติดตามเป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 – เมษายน 2562 พบการโพสต์เสนอขาย อย่างน้อย 236 โพสต์ ที่เสนอขายชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์จากนกเงือกมากกว่า 546 ชิ้น  พบการโพสต์ขายผลิตภัณฑ์จากนกชนหิน คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 83 เปอร์เซ็นต์ จากชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์นกเงือกทั้งหมดซึ่งถูกเสนอขายในช่วงเวลา 64 เดือน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 ถึง เมษายน 2562

สื่อรณรรงค์ชุดใหม่ทั้ง 5 ภาพ สร้างสรรค์โดย บริษัท BBDO Bangkok เอเจนซี่โฆษณาระดับแนวหน้าของไทยให้กับองค์กรไวลด์เอด

พบเห็นการล่า ค้า และครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครอง และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าผิดกฎหมาย โทรแจ้ง 1362  เฟซบุ้คเพจ สายด่วน 1362 เฟซบุ้คเพจ ชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวดง และเฟซบุ้คเพจ บก.ปทส.Greencop-Thailand