จำนวนแมลงที่ลดลงอาจส่งผลให้ระบบนิเวศล่มสลาย

จำนวนแมลงที่ลดลงอาจส่งผลให้ระบบนิเวศล่มสลาย

ประชากรแมลงบนโลกกำลังอยู่บนเส้นทางของการสูญพันธุ์ ซึ่งอาจนำไปสู่ “การล่มสลายและหายนะของระบบนิเวศโลก” อ้างอิงจากการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ในระดับโลก

ปัจจุบัน ชนิดพันธุ์แมลงร้อยละ 40 มีจำนวนประชากรลดลงอย่างต่อเนื่อง และราว 1 ใน 3 อยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยอัตราการสูญพันธุ์ของแมลงนั้นสูงกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก และสัตว์เลื้อยคลานถึง 8 เท่า โดยปริมาณมวลประชากรแมลงลดลงราวร้อยละ 2.5 ต่อปี รวบรวมจากข้อมูลที่ดีที่สุดในปัจจุบัน นั่นหมายความว่าแมลงอาจสูญหายไปจากโลกในเวลาอีกไม่ถึงศตวรรษ

การล่มสลายของประชากรแมลงได้รับการรายงานในประเทศเยอรมันและเปอร์โตริโก แต่การวิเคราะห์ระบุว่าวิกฤตการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นทั่วโลก คณะวิจัยสรุปในผลการวิจัยซึ่งใช้คำที่ค่อนข้างรุนแรงหากเปรียบเทียบกับมาตรฐานงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ดังนี้ “แนวโน้มประชากรแมลงเป็นการยืนยันอย่างชัดเจนว่าการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 ได้สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก”

 

Photograph: Marlene Finlayson/Alamy Stock Photo/Alamy

 

“หากเรายังไม่เปลี่ยนวิธีการผลิตอาหาร แมลงทั้งหมดก็จะกลายเป็นอดีตภายในเวลาไม่กี่ทศวรรษ แรงกระเทือนจากเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นเลวร้ายถึงขนาดที่อาจทำให้ระบบนิเวศของโลกล่มสลาย” รายงานดังกล่าวระบุ

“หากเราไม่สามารถหยุดยั้งการสูญเสียประชากรแมลงได้ นั่นหมายถึงผลลัพธ์อันเลวร้ายต่อโลกรวมถึงความอยู่รอดของมนุษย์” Francisco Sanchez Bayo จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ให้สัมภาษณ์ “อัตราการลดลงร้อยละ 2.5 ต่อปีนับว่าเป็นตัวเลขที่น่าตื่นตะลึง นั่นหมายความว่าใน 10 ปี จำนวนประชากรแมลงจะลดลงเหลือ 1 ใน 4 อีก 50 ปี ประชากรแมลงจะลดเหลือครึ่งหนึ่ง และอีก 100 ปี เราก็อาจจะไม่เหลืออะไรเลย

ผลกระทบที่รุนแรงของจำนวนประชากรแมลงที่ลดลงจะเกิดกับนก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และปลาที่กินแมลง “หากแหล่งอาหารหายไป สัตว์เหล่านี้ก็ต้องอดตาย” เขาระบุ ผลกระทบดังกล่าวเริ่มเห็นได้บ้างในเปอร์โตริโก ที่งานวิจัยชิ้นล่าสุดพบว่าปริมาณแมลงบนผิวดินลดลงถึงร้อยละ 98 ในระหว่าง 35 ปีที่ผ่านมา

 

Photograph: Shawn Patrick Ouellette/Getty Images

 

งานวิเคราะห์ชิ้นล่าสุดรวบรวมข้อมูลจากการศึกษา 73 ชิ้นที่วิจัยเรื่องการลดลงของประชากรแมลง ผีเสื้อและผีเสื้อกลางคืนคือชนิดพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ผีเสื้อชนิดพันธุ์ที่พบเห็นได้ง่ายลดลงถึงร้อยละ 58 ในพื้นที่การเกษตรบนเกาะอังกฤษระหว่าง พ.ศ. 2543 ถึง 2552 สหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่เผชิญกับภาวะประชากรแมลงลดรุนแรงที่สุด แต่ส่วนหนึ่งอาจมีสาเหตุจากการเป็นพื้นที่ที่มีการศึกษาอย่างเข้มข้นที่สุดด้วยเช่นกัน

เราคาดว่าประชากรด้วงมีกว่า 350,000 ชนิดพันธุ์ และทุกชนิดพันธุ์น่าจะอยู่ในสภาวะจำนวนประชากรลดลง โดยเฉพาะด้วงมูลสัตว์ (Dung Beetle) แต่ต้องยอมรับว่าเรายังมีช่องว่างเกี่ยวกับความรู้ที่เรามีค่อนข้างมาก โดยเฉพาะชนิดพันธุ์ที่ไม่ค่อยได้รับการศึกษา เช่น แมลงวัน มด มวน และจิ้งหรีด ประชากรบางกลุ่มที่มีความสามารถในการปรับตัวได้เร็ว ก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนขึ้น แต่จำนวนที่เพิ่มขึ้นนั้นก็เปรียบเทียบไม่ได้กับภาพใหญ่ที่ประชากรลดลง “เป็นเรื่องปกติที่บางชนิดพันธุ์อาจใช้ข้อได้เปรียบของตัวเองในการขยายพันธุ์เมื่อมีทรัพยากรหลงเหลือ” Francisco กล่าว โดยยกตัวอย่างผึ้งธรรมดาตะวันออก (Common Eastern Bumblebee) ในสหรัฐอเมริกาที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีภูมิคุ้มกันยาฆ่าแมลง

การศึกษาเกี่ยวกับแมลงส่วนใหญ่จัดทำขึ้นในสหภาพยุโรปและสหรัฐเมริกา มีน้อยชิ้นที่ศึกษาในออสเตรเลีย จีน บราซิล และแอฟริกาใต้ ส่วนประเทศอื่นๆ นั้นแทบไม่มีเลย

“สาเหตุหลักของประชากรแมลงที่ลดลงคือการเกษตรที่เข้มข้น กล่าวคือการทำลายต้นไม้และพุ่มไม้ตามขอบแปลงเกษตร จนทำให้เหลือเป็นพื้นที่กว้างโล่ง การเกษตรทุกขั้นตอนบำรุงด้วยปุ๋ยเคมีสังเคราะห์และควบคุมด้วยยาฆ่าแมลง” Francisco กล่าวเสริมว่าการตายของแมลงมีจุดเริ่มต้นในศตวรรษที่ 20 ก่อนจะก้าวกระโดดในอัตราเร่งเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เนื่องจากยาฆ่าแมลงตัวใหม่ เช่นนีโอนิโคตินอยด์ (Neonicotinoids) และฟิโพรนิล (Fipronil) ซึ่งสร้างผลกระทบรุนแรงและตกค้างในสิ่งแวดล้อม แต่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย “ยาพวกนี้ทำให้พื้นดินเป็นหมัน โดยฆ่าตัวอ่อนแมลงแทบทั้งหมดที่อยู่ในนั้น” ผลกระทบดังกล่าวลุกลามไปจนถึงพื้นที่คุ้มครองข้างเคียง เช่นที่พบในงานวิจัยของประเทศเยอรมันที่แมลงในพื้นที่คุ้มครองลดลงถึงร้อยละ 75

 

Photograph: Sean Gallup/Getty Images

 

ทางออกคือโลกต้องเปลี่ยนวิธีการผลิตอาหาร โดย Francisco กล่าวว่าฟาร์มเกษตรอินทรีย์จะมีปริมาณแมลงเยอะกว่า และยาฆ่าแมลงที่เคยใช้ในอดีตนั้นยังไม่สร้างผลกระทบที่รุนแรงเท่าสารเคมีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน “เกษตรกรรมแบบอุตสาหกรรมเข้มข้นคือตัวการที่กำลังฆ่าระบบนิเวศอยู่ในปัจจุบัน” เขากล่าวสรุป

ในเขตร้อนชื้นซึ่งหลายพื้นที่ยังไม่มีการทำเกษตรอุตสาหกรรมเข้มข้น อุณหภูมิที่สูงขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปริมาณประชากรแมลงลดลง โดยเฉพาะชนิดพันธุ์ที่วิวัฒนาการมาจนถึงระดับที่ค่อนข้างคงตัว และแทบไม่มีความสามารถในการปรับตัว เช่นที่พบในเปอร์โตริโก

นักวิทยาศาสตร์คนอื่นก็มองว่าการลดลงของแมลงเป็นเรื่องระดับโลกที่น่ากังวล “หลักฐานทุกชิ้นต่างชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่านี่คือสัญญาณที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง” ศาสตราจารย์ Dave Goulson จากมหาวิทยาลัยซัสเซกซ์ สหราชอาณาจักรให้สัมภาษณ์ “แมลงคือหัวใจของห่วงโซ่อาหาร พวกมันช่วยผสมเกสรให้กับพืชแทบทุกชนิดพันธุ์ ทำให้ผืนดินอุดมสมบูรณ์ รีไซเคิลสารอาหาร จำกัดศัตรูพืช และอีกมากมาย ไม่ว่าเราจะรักหรือขยะแขยงแมลงเหล่านี้ แต่มนุษย์ก็ไม่สามารถอยู่ได้หากไม่มีพวกมัน”

Matt Shardlow หนึ่งในนักอนุรักษ์จากองค์กรไม่แสวงหากำไร Buglife ให้สัมภาษณ์ว่า “เป็นเรื่องน่าเศร้าที่เราได้อ่านถึงการรวบรวมข้อมูลชิ้นสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงสถานะปัจจุบันของประชากรแมลงโลก เป็นเรื่องที่ชัดเจนว่าระบบนิเวศของโลกกำลังแตกสลาย และเราต้องร่วมมือกันทำทุกวิถีทางเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว” ในความคิดของเขา งานวิจัยชิ้นดังกล่าวอาจเน้นถึงผลกระทบจากยาฆ่าแมลงเยอะเกินไป และกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศน้อยเกินไป รวมถึงผลกระทบที่ยังไม่ได้รับการศึกษาอย่างเป็นระบบเช่นมลภาวะแสงก็อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ

ศาสตราจารย์ Paul Ehrlich จากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ก็พบกับการลดลงของประชากรแมลงกับตัวเอง จากผลงานวิจัยของเขาเรื่องผีเสื้อลายจุด (Checkerspot Butterflies) ในพื้นที่อนุรักษ์ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัย เขาตีพิมพ์ผลงานวิจัยครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2503 แต่ปัจจุบันผีเสื้อดังกล่าวไม่หลงเหลือในพื้นที่อีกแล้วเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “งานวิจัยชิ้นนี้น่าสนใจมาก โดยเฉพาะสถิติการลดลงของแมลงในน้ำ แต่น่าเสียดายที่คณะวิจัยไม่ได้พูดถึงการที่ประชากรมนุษย์เพิ่มขึ้น หรือการบริโภคที่ล้นเกินซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชากรแมลงลดลง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย” เขากล่าว

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Plummeting insect numbers ‘threaten collapse of nature’
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์