อ้อมกอดป่าบุญเรือง

อ้อมกอดป่าบุญเรือง

ยามเมื่อถูกต้นไม้โอบล้อมรอบกาย ทิวทัศน์ 360 องศามีแต่ความเขียวขจี เรารู้สึกได้ว่าตัวเองเป็นเพียงมนุษย์ตัวเล็กกระจ้อยร่อยที่ตกอยู่ภายใต้อ้อมกอดของผืนป่า ป่าบุญเรืองที่อุดมไปด้วยคุณูปการแก่สรรพชีวิตทั้งหลาย

ได้หลายก่อ

เสียงตะโกนของลุงสารถีถามลุงข้างทางแหวกแมกไม้และสายลมเย็นชื่น ลุงเงยหน้าขึ้นขานรับ แววตาแจ่มใส รอยยิ้มเปิดเผยความสุขที่ไม่อาจซุกซ่อนภายใต้หนวดเครายาวครึ้มได้หนั๊กขนาด

ลุงเขาเข้ามาเก็บหน่อในป่าบุญเรือง เตรียมรับลูกชายที่กลับมาเยี่ยมบ้าน เอามาทำกับข้าวกิน เหลือก็ถนอมอาหารเก็บไว้กินได้อีกนาน

ฉันมองกระสอบใบย่อมที่ถูกนำมารียูสบรรจุหน่อไม้ออกจากป่าบุญเรือง ป่าที่เป็นมากกว่าป่า แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ พื้นที่ชุ่มน้ำ ฟอกอากาศให้สะอาด และยังผูกผันกับวิถีชีวิต เชื่อมโยงรากเหง้าไว้ด้วยกัน ระหว่างพ่อกับลูก ระหว่างปู่กับหลาน จากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่ง เรียนรู้ที่จะใช้และรักษาให้ป่าคงคุณค่าจวบจนรุ่นหลังสืบต่อไป

 

คุณทรงพล จันทะเรือง ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าบุญเรือง

 

ป่าบุญเรือง ตั้งอยู่ ต.บุญเรือง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ตามการตรวจสอบพื้นที่จากภาพถ่ายดาวเทียม ปี 2558 พบว่ามีพื้นที่ราว 3,786 ไร่ และเป็นพื้นที่แห่งนี้เป็นป่าชุ่มน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในลุ่มน้ำอิง ซึ่งส่วนหนึ่งเกือบต้องตกเป็นเป้าหมายการทำนิคมอุตสาหกรรมจากเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งถูกชงพร้อมแนบข้อมูลให้รัฐบาลว่าพื้นที่มีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม

แต่สภาพป่าที่ฉันได้เห็นนั้นต่างจากป่าเสื่อมโทรมมากโข ลักษณะไม้ขนาดใหญ่เผยกิ่งก้านสาขาแผ่ร่มเงาปกคลุม ใต้ทิวไม้น้อยใหญ่ตัวแทนชาวบ้านตำบลบุญเรืองยืนรออยู่ตรงปากทางเข้าป่าบุญเรือง

แท้จริงแล้วเป็นป่าชุมชนซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่ชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์ไว้ควบคู่กับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกันมาอย่างยาวนานถึง 300 ปี ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลาน

เราไม่ได้คัดค้านการพัฒนา แต่เราคัดค้านการเข้ามาใช้พื้นที่ป่าของเราไปเป็นนิคมอุตสาหกรรมคุณทรงพล จันทะเรือง ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าบุญเรือง กล่าวอย่างหนักแน่น

ชาวบ้านมองว่าภาพรวมของชุมชนประกอบอาชีพเกษตรกรรมด้วยการทำไร่ทำนา และหากป่าบุญเรืองหายไปก็จะส่งผลถึงปัญหาการทำการเกษตรยุคสมัยก่อนเราใช้ควายเป็นแรงงานในการทำนา สมัยนั้นเขาเอาวัวเอาควายแม่ลูกอ่อนไปปล่อยป่า และเอาควายที่มีกำลังไปทำนา ชาวบ้านเขาพูดกันว่าอย่างไรป่าก็ยังเป็นคุณแก่บ้านเรา เราจึงช่วยกันดูแลรักษาเรื่อยมา ผู้เฒ่าผู้แก่เองก็รักษาไว้ตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่ของเขาเองเช่นกัน

 

 

พืชบางต้นเราอาจมองมันเป็นเพียงวัชพืช แต่ขณะเดียวกันชาวบ้านมองพืชต้นเดียวกันว่าเป็นอาหารหรือสมุนไพรรักษาโรคถ้าเป็นแผลในป่าแล้วไม่มียา เราสามารถนำใบสาบเสือมาขยี้แล้วทาแผลเพื่อห้ามเลือดกลิ่นฉุนอันเป็นเอกลักษณ์ของสาบเสือโชยผ่านกลุ่มคณะเดินทางที่ล้อมวงคุยกับชาวบ้านจำนวนหนึ่ง

ใช้ได้ผลจริงค่ะฉันสนับสนุนอีกเสียงหลังผ่านการนำร่างกายไปทดลองใช้ใบสาบเสือในการห้ามเลือด และอดไม่ได้ที่จะสัพหยอกพี่ๆ ร่วมคณะว่าถ้าเลือดออกตามไรฟันเราสามารถเคี้ยวและแปะระงับอาการเลือดออกตามไรฟันได้ด้วยทุกคนต่างพากันหัวล้อ

ป่าแห่งนี้ดูอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณธัญญาหาร มีต้นข่อยและชุมแสงเป็นพืชเด่น พบทั้งพืชอาหาร พืชสมุนไพร นานาชนิด ระหว่างเดินทางเข้าไปในป่าบุญเรืองพบต้นไม้หน่อไม้ต่างๆ มากมายนั่นเห็ดที่กินได้ชาวบ้านชี้นำก่อนเด็ดใส่ถุงกระสอบนั่นเห็ดกินไม่ได้ถูกชักชวนให้ถ่ายภาพเก็บไว้ก่อนพากันลัดเลาะเดินลึกเข้าไปในป่า

ทิวป่าเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามสภาพพื้นที่ พบทั้งต้นชุมแสง ผักกูด ต้นบุก ต้นงิ้ว และกลุ่มต้นไม้ใช้สอยที่ชาวบ้านเล่าว่านำไปสานเป็นเสื่อ จึงไม่น่าแปลกที่ป่าแห่งนี้จะเป็นแหล่งวัสถุดิบในการประกอบอาหารหรือสมุนไพร แม้แต่เศษไม้เล็กน้อยก็สามารถนำมาใช้เป็นฟืนในการหุงหาอาหารได้ ภายใต้กฎกติกาใช้ได้แต่ต้องรู้จักใช้โดยมีชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์จากผลผลิตเหล่านี้จากป่าบุญเรืองถึง 617 ครัวเรือน จึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 23,178.37 บาทต่อครัวเรือนต่อปี

 

ชาวบ้านท่ามกลางต้นบุกที่กำลังเติบโต

 

ขณะเดียวกันป่าบุญเรืองเป็นแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ ช่วงฤดูฝนเมื่อน้ำจากแม่น้ำอิงไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ริมน้ำและพื้นที่ต่ำกว่า โดยในป่ามีหนองน้ำที่เชื่อมถึงกัน ช่วงเวลาที่เกิดน้ำเอ่อล้นป่าแห่งนี้จึงทำหน้าที่เป็นแก้มลิงธรรมชาติ ช่วยรองรับน้ำ เก็บกักน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคและบริโภค ทำให้หนองน้ำในป่าบุญเรืองทั้ง 21 หนอง สามารถกักเก็บน้ำได้ทั้งหมด 2,193,826.00 ลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นมูลค่า 329,073.90 บาทต่อปี

อีกทั้งสัตว์น้ำรวมถึงพันธุ์ปลาหลากหลายชนิดจากแม่น้ำอิงจะแหวกว่ายเข้ามาวางไข่ในหน้าน้ำจึงกลายเป็นแหล่งอนุบาลและเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ซึ่งมีพันธุ์ปลาท้องถิ่นมากถึง 87 ชนิด ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 94 ของชนิดพันธุ์ปลาท้องถิ่นที่พบในแม่น้ำอิง และยังมีพันธุ์ปลาต่างถิ่นอีก 16 ชนิด และบางชนิดถือว่าเป็นพันธุ์ที่หายากอีกด้วย ชาวบ้านนั้นอาศัยหากินกันอย่างรู้คุณค่าต่างช่วยกันอนุรักษ์พันธุ์ปลา ไม่จับปลาในช่วงฤดูวางไข่ ทำให้หนองน้ำในป่าบุญเรืองอุดมสมบูรณ์ไปด้วยปลาหลากหลายชนิด จากการประเมินเป็นมูลค่าแล้วพบว่า ป่าบุญเรืองมีมูลค่าจากการทำหน้าที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้า เท่ากับ 21,170,758.98 บาทต่อปี

ทั้งนี้ทั้งนั้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังสร้างผลกระทบต่อกันเป็นห่วงโซ่ สร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบนิเวศ รวมถึงระดับน้ำโขงที่ไม่ได้ขึ้นลงตามฤดูกาลอีกต่อไป เขื่อนที่กำหนดปริมาณการปล่อยน้ำนั้นเข้ามาเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ระบบนิเวศไม่ปรกติ ทั้งระบบนิเวศของแม่น้ำ พันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์น้ำ นอกจากจะสร้างผลกระทบในด้านการใช้น้ำสำหรับอุปโภคและบริโภคทั้งฤดูแล้งและฤดูน้ำหลากของชาวบ้านแล้ว ยังสร้างผลกระทบต่อเนื่องไปจนถึงจำนวนชนิดพันธุ์ปลาที่อาศัยในแม่น้ำอีกด้วย

เดี๋ยวนี้ในฤดูน้ำหลากแม่น้ำโขงกลับแห้ง มันก็ส่งผลถึงจำนวนพันธุ์สัตว์น้ำ ทำให้พันธุ์สัตว์น้ำไม่มีความหลากหลายเหมือนแต่ก่อน คุณพิชเญศพงษ์  คุรุปรัชฌามรรค ชาวบ้านชุมชนตำบลบุญเรือง กล่าวตัดพ้อ

 

คุณพิชเญศพงษ์ คุรุปรัชฌามรรค ชาวบ้านชุมชนตำบลบุญเรือง

 

ระหว่างนั้นเอง เสียงแหวกวงระคนตื่นตกใจมาทางด้านหน้างูๆๆชาวบ้านชะงักบทสนทนาชั่วครู่ปล่อยเสียงหัวเราะอย่างไม่นำพา ก่อนแว่วเสียงคนเปร่ยเรื่อยเปื่อยว่างูเห่าละก๊าซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นงูลายสอบทสนทนาจึงถูกสานต่อระหว่างปลายเท้ามุ่งไปในป่าที่เริ่มลึกขึ้น

ไม่เพียงพันธุ์สัตว์น้ำเท่านั้นที่คอยพึ่งพิงป่าบุญเรือง แต่สัตว์น้อยใหญ่ ทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ปีก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้าสะเทินบก ก็ใช้ประโยชน์จากป่าแห่งนี้เช่นกัน

ด้วยสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศในอดีตนั้นเอื้อต่อการอยู่อาศัยของสัตว์ป่า ในขณะที่ป่ายังเชื่อมถึงกัน การขยายของเมืองและการพัฒนายังไม่เจริญเติบโตนัก ชาวบ้านเคยพบเสือโคร่งครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2512

เสืออยู่ในพื้นที่เชื่อมระหว่างดอยหลวงกับดอยยาวและมักเข้ามาในป่าบุญเรือง สมัยนั้นชาวบ้านเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ช่วงฤดูน้ำหลากก็จะปล่อยควายหากิน เสือก็จะเข้ามากินวัวควายอีกที เวลาเข้าท้องไร่นาชาวบ้านจึงพาสุนัขเป็นฝูงไปด้วย และเสือนี่เองก็จะคอยขย้ำสุนัขทีละตัว ทีละตัว

เสือ หมีควาย พวกตัวนิ่ม ตัวแลนทางเหนือ (ตะกวด) ที่เคยมีก็เริ่มหายไป เนื่องจากการพัฒนาของเมือง พื้นที่ป่ามันอยู่ตรงกลางแค่นิดเดียว และช่วงหลังมันมีนกในพื้นที่ชุ่มน้ำที่ส่วนมากในพื้นที่จะพบนกเป็ดแดง และนกอพยพตามฤดูกาลต่างๆ ที่ต้องให้นักดูนกอธิบายคุณพิชเญศพงษ์ตบท้ายประโยคด้วยเสียงหัวเราะ

ขณะเดียวกันปัจจุบันป่าบุญเรืองยังมีสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทยเราพบ 8 ชนิด กระต่ายป่า กระรอกท้องแดง นาก ชะมดแผงหางปล้อง แมวดาว และเสือปลาและเมื่อทำการประเมินมูลค่าของป่าบุญเรืองในฐานะเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าแล้ว พบว่า สามารถคิดเป็นมูลค่าได้เท่ากับ 19,213,180.17 บาทต่อปี

 

เสียงกระพือปีกของนกปากห่างหลายคู่ดังขึ้นขณะร่อนไปเกาะบนต้นไม้ที่ห่างไปจากเส้นทางเดินป่าไม่ไกลนัก ดวงตาบางคู่ของพวกมันจ้องมองมายังป่าบุญเรือง

 

นอกจากประโยชน์ของป่าบุญเรืองในด้านการเป็นแหล่งอาหารและวัตถุดิบ แหล่งกักเก็บน้ำ แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ และแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ที่ชาวบ้านได้ให้ความสำคัญมาข้างต้นแล้ว ป่าบุญเรืองยังมีหน้าที่ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน

แม้ว่าป่าบุญเรืองจะมีพื้นที่ไม่มากนัก แต่เชื่อว่าหากพื้นที่ป่าลดลงก็จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคุณพิชเญศพงษ์ กล่าวต่อไปถึงภาพรวมของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเมื่อเรามีป่า ต้นไม้ก็จะช่วยในการดูดซับคาร์บอนจากลมหายใจของคน หากป่าลดลง ทั่วโลกย่อมได้รับผลกระทบที่แตกต่างกันไป บ้างเกิดปฏิกิริยาก๊าซเรือนกระจก ฝนตกไม่ตามฤดูกาล ภาวะแล้งทิ้งช่วงระยะยาว ป่าต้นน้ำที่มีน้ำใต้ดินเริ่มลดลงและเหือดแห้ง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้น และแน่นอนว่าส่งผลกระทบถึงอารมณ์ของคน เพราะคนย่อมชอบอากาศที่เย็นมากกว่าอากาศร้อน

โดยป่าบุญเรืองถือเป็นป่าชุ่มน้ำที่มีความหนาแน่นของต้นไม้เป็นจำนวนมาก ซึ่งต้นไม้เหล่านี้คอยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มาสังเคราะห์แสงและผลิตเป็นอาหารให้กับตัวเอง

 

 

ต้นไม้ยิ่งมีขนาดใหญ่อายุยืนมากเท่าไหร่ ศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนเพื่อไปใช้ในการสังเคราะห์แสงก็มากขึ้นเท่านั้น ตลอดอายุขัยของไม้ยืนต้น 1 ต้น จะสามารถเก็บกักคาร์บอนได้เฉลี่ย 1-1.7 ตันคาร์บอน และยังสามารถดูดซับก๊าซอื่นๆ ที่เป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้อีก เช่น ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ได้อีกด้วย ซึ่งต้นไม้ 1 ต้น จะสามารถดักจับอนุภาคมลพิษบางชนิดได้ เช่น ฝุ่น ควัน ไอพิษต่างๆ ได้ถึง 1.4 กิโลกรัมต่อปี และต้นไม้หนึ่งต้นนี้เองจะปล่อยออกซิเจนได้ถึง 200,000-250,000 ลิตรต่อปี ซึ่งสามารถรองรับความต้องการออกซิเจนของมนุษย์ได้ถึง 2 คนต่อปี 

ซึ่งศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) ได้ศึกษาศักยภาพในการเก็บกักคาร์บอนของป่าบุญเรืองแล้วพบว่า ป่าบุญเรืองมีการเก็บกักคาร์บอนเหนือดินรวม 172,479 ตัน หรือเทียบเท่ากับการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์ขนาดเล็กได้สูงกว่า 500,000 คันต่อปี จึงกล่าวได้ว่านอกจากป่าจะช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกแล้วยังปลดปล่อยออกซิเจนให้มนุษย์และสัตว์ได้ใช้ดำรงชีวิตได้อีกด้วย

แม้เขตเศรษฐกิจพิเศษจะเคยมีแผนเข้ามาพัฒนาพื้นที่ป่าบุญเรืองบางส่วนไปเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม แต่ในข่าวร้ายยังมีสิ่งดีๆ ปรากฎ

เพราะยังไม่มีลายลักษณ์อักษรยืนยันชัดเจนว่ารัฐจะไม่ใช้ป่าบุญเรืองไปเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจ ชาวบ้านจึงยังไม่คลายความกังวลใจประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าบุญเรืองกล่าวด้วยวาจาหนักแน่นแต่กระนั้นในสถานการณ์เช่นนี้เองทำให้ชาวบ้านเป็นปึกแผ่นกันมากขึ้น ลูกหลานที่อยู่ต่างถิ่นแม้ไม่ได้เข้าร่วมก็ยังสื่อสารและติดตามสถานการณ์จากคนรุ่นพ่อรุ่นแม่อยู่เนืองๆ

มูลค่าต่างๆ ทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลดังที่กล่าวมาข้างต้นอาจเปรียบเทียบไม่ได้กับคุณค่าทางจิตใจของชาวบ้านที่มีต่อป่าบุณเรือง ทุกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะเปล่งประกายความสุขอย่างเอ่อล้นเมื่อได้ทำกิจกรรมในป่า ดวงตาของพวกเขาทอแสงมุ่งมั่นและเปี่ยมความหวังดีต่อผืนป่าอันเป็นที่รัก ชุมชนยินดีและพร้อมใจที่จะโอบกอดด้วยสองมือเพื่อปกป้องผืนป่า เช่นเดียวกันกับที่ป่าบุญเรืองรับพวกเขาไว้ในอ้อมกอด

 

แหล่งอ้างอิง
รายงานการสำรวจความหลากหลายของสัตว์ในกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ปีก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำ สะเทินบกและชนิดพันธุ์ปลาท้องถิ่นระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำสมุนไพรในพื้นป่าชุ่มน้ำบ้านบุญเรืองหมู่ 2 ตำบลบุญเรือง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย โดย โครงการเสริมสร้างเครือข่ายท้องถิ่นและหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อการจัดการลุ่มน้ำอิงอย่างยั่งยืน ปี 2558

 


เรื่อง/ภาพ พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร