กอดแม่วงก์ : 388 กิโลเมตร จากผืนป่าสู่มหานคร

กอดแม่วงก์ : 388 กิโลเมตร จากผืนป่าสู่มหานคร

ก้าวที่ 0 วันที่ 9 กันยายน 2556 เป็นวันแรกที่ทางมูลนิธิสืบฯและเครือข่ายเริ่มเคลื่อนไหวแสดงความไม่เห็นด้วยต่อ EHIA โครงการเขื่อนแม่วงก์ โดยได้นัดรวมพลลงชื่อและยื่นหนังสือต่อเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก่อนประกาศเดินเท้าเพื่อคัดค้านความไม่เป็นธรรม

 

ขอพรก่อนออกเดิน เช้าตรู่วันที่ 10 กันยายน 2556 อ.ศศินและทีมงานได้เดินทางเข้าไปไหว้ศาลเจ้าแม่แม่เรวาเพื่อขอให้การเดินเท้าครั้งนี้สำเร็จ โดยอ.ศศินได้กล่าวว่า “ขอให้ดวงวิญญาณพี่สืบ พ่อปู่ฤาษีทุ่งใหญ่ และเจ้าแม่แม่เรวา ช่วยดลใจให้ผู้ที่ต้องการเขื่อน เปลี่ยนใจ”

 

แบกประจาน รายงาน EHIA โครงการเขื่อนแม่วงก์คือสิ่งที่คณะคัดค้านแบกประจานตลอดการเดินเท้า เพราะรายงานวิชาการดังกล่าวขาดข้อมูลทางระบบนิเวศสัตว์ป่า และไม่คุ้มค่าด้านเศรษฐศาสตร์

 

กำลังใจแรก หลังจากเราเดินพ้นจากเขาชนกัน สิ่งที่รอรับคือรอยยิ้มและพวงมาลัยดอกดาวเรืองของประชาชนในพื้นที่ที่ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ รอยยิ้มที่เปรียบดั่งกำลังใจที่ทำให้เราไม่หวั่นเกรงที่จะเดินผ่านอำเภอลาดยาว พื้นที่ที่มีผู้ต้องการเขื่อนแม่วงก์

 

แนวร่วม การคัดค้านในครั้งนี้คงยากที่จะสำเร็จหากขาดแนวร่วมที่ถ่ายภาพและถ่ายทอดเรื่องราวการเดินทางผ่านสื่อออนไลน์ส่วนตัวจนเกิดเป็นคลื่นแห่งการอนุรักษ์ครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การต่อต้านเขื่อนน้ำโจน

 

ป้ายต้อนรับ หลังจากเดินทางเข้าเขตอ.ลาดยาว ภาพแรกที่พบคือป้ายไวนิลระบุข้อความว่า ‘คนกำแพงเพชร-นครสวรรค์-อุทัยธานี ต้องการ “เขื่อนแม่วงก์” ’ ซึ่งคณะก็พอจะทราบล่วงหน้าว่าการเดินทางผ่านตัวอำเภอที่คนส่วนใหญ่ต้องการเขื่อนนั้นไม่ปลอดภัยและไม่เป็นที่ต้อนรับ ถึงขนาดที่นายอำเภอลาดยาวปฏิเสธให้คณะเดินทางเข้าพื้นที่เพื่อป้องกันการเกิดเหตุวุ่นวาย

 

รอยยิ้มที่ลาดยาว นอกจากป้ายต้องการเขื่อนแม่วงก์แล้ว เราได้รับกำลังใจมากมายจากคนลาดยาวอย่างคาดไม่ถึง หลายบ้านเปิดประตูต้อนรับและมอบน้ำดื่มให้กับคณะ โดยแทบไม่มีเสียงคัดค้านจากประชาชนในบริเวณนั้น ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าแปลกใจเพราะเราทราบข่าวว่าตอนบ่ายของวัน ได้มีรถตระเวนประกาศให้ผู้สนับสนุนการสร้างเขื่อนมาชุมนุมที่เทศบาลลาดยาว

 

เส้นทาง 8 จังหวัด การเดินทางจากแม่วงก์-กรุงเทพฯ ระยะทาง 388 กิโลเมตรป่านทั้งสิ้น 7 จังหวัดคือ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี และกรุงเทพฯ

 

เดินเท้า เช้า-เย็น หลังจากวันแรกที่เราผิดพลาดเพราะเดินกลางแดดจัด เราก็ได้รับคำแนะนำจากนักวิ่งมาราธอนถึงระยะเวลาที่ควรเดิน จึงได้มีการปรับแผนเป็นเดินตั้งแต่เช้าตรู่ นอนพักเอาแรงถึงประมาณบ่าย 3 โมงจึงออกเดินต่ออีกครั้งจนได้ระยะทาง บางวันอาจเสร็จสิ้นราว 5 โมงเย็น แต่บางวันอาจต้องเดินจนถึง 2 ทุ่ม

 

ดนตรียามค่ำคืน หลังจากสิ้นสุดการเดินทางในแต่ละวัน นอกจากกิจกรรมนั่งคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวระหว่างทาง อีกกิจกรรมหนึ่งที่ทั้งคณะมักไม่ยอมพลาดคือการได้ล้อมวงฟังดนตรีที่มีเหล่านักอนุรักษ์ผ่านเสียงเพลงมาพูดคุยและบรรเลงเพลงให้ฟังอย่างเป็นกันเอง

 

บทสนทนารายทาง แม้ว่าจะตั้งใจไว้ว่าการเดินเท้าครั้งนี้จะไม่มีการให้ข้อมูลแก่ประชาชนในพื้นที่ แต่เมื่อมีผู้สนใจอย่างผู้อำนวยการโรงเรียนทัพทันอนุสรณ์และเหล่าตำรวจสภ.ทัพทันมาพูดคุย อ.ศศินก็กางแผนที่อธิบายเรื่องราวของเขื่อนแม่วงก์ แม้จะรู้ดีว่าการเดินเท้าในวันนั้นจะล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้

 

เสบียง สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในการเดินเท้าครั้งนี้คือรถเสบียงที่มีทั้งขนม น้ำดื่ม และผลไม้จากผู้สนับสนุนการเดินเท้าที่แวะมาฝากตามรายทาง ผู้เข้าร่วมการเดินเท้าจะหยุดพักทุกๆ 3 กิโลเมตรเพื่อเติมแรง โดยมีทีมงานที่คอยดูแลเรื่องเวลาและระยะทางในแต่ละวัน

 

เดินหน้า กลางสายฝน อากาศในแต่ละวันเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก โดยเฉพาะในช่วงของการเดินเท้าที่หลายวันมักมีแดดจัดในตอนเช้า ก่อนจะมีฝนตกอย่างหนักในตอนเย็น สิ่งที่เราต้องทำคือก้าวเดินต่อไปเพื่อให้ถึงจุดมุ่งหมายตามที่วาดหวัง เพราะสิ่งที่รออยู่ที่กรุงเทพฯ คือมวลชนที่มาร่วมแสดงพลัง ซึ่งกำหนดการในครั้งนี้เป็นสิ่งที่เลื่อนออกไปไม่ได้

 

ส่งสาส์น ไม่ว่าในเวลาว่างหรือระหว่างเดิน ภาพที่มักเห็นกันคุ้นตาคืออ.ศศินก้มหน้าก้มตาเล่นโทรศัพท์เพื่อส่งสาส์นสู่โลกออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นคนมาให้กำลังใจ ผู้ให้บริจาค หรือถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ผ่านมุมมองของนักอนุรักษ์

 

ทีม อาจารย์ศศินย้ำเสมอว่า คงจะไม่มีทางเดินถึงกรุงเทพฯ หากไม่มีทีมงานเจ้าหน้าที่ที่คอยดูแลทั้งที่พัก อาหาร น้ำดื่ม ดูรูปขบวน รักษาความปลอดภัย สื่อออนไลน์ และประสานงาน ซึ่งเป็นทีมเจ้าหน้าที่มูลนิธิที่เดินทางร่วมกันราว 20 ชีวิต

 

ยืดเหยียด น้องป้อง บัณฑิตคณะพลศึกษา จากกลุ่มอนุรักษ์มหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ ที่อยู่กับเราตั้งแต่วันแรกและสัญญาว่าจะอยู่จนถึงวันสุดท้าย เปรียบดั่งกุญแจสำคัญที่นำการวอร์มอัพทุกครั้งก่อนออกเดิน เพื่อลดโอกาสที่จะได้รับบาดเจ็บ

 

ศรัทธากลางแสงแดด วันที่ 7 ของการเดินเท้า เป็นวันแรกที่อาจารย์รตยา จันทรเทียร หญิงแกร่งวัย 82 ปี ประธานมูลนิธิสืบฯ มาร่วมขบวนสร้างขวัญกำลังใจให้กับคณะ และร่วมเดินเท้าแม้ในขณะที่แดดจัด เปรียบดั่งแรงศรัทธาแห่งการอนุรักษ์ที่ส่งมอบจากรุ่นสู่รุ่น เป็นแรงผลักดันให้เราเดินต่อไปจนถึงจุดหมาย

 

เดินด้วยหัวใจ พี่แบงค์ แม้จะมีร่างกายไม่สมบูรณ์พร้อมเฉกเช่นคนอื่น แต่ก็มาร่วมเดินเท้ากับเราในวันที่ 8 ท่ามกลางแสงแดดเริงแรงยามเที่ยงวัน เขาก็ยังคงก้าวต่ออย่างมุ่งมั่น แม้ว่าสุดท้ายจะล้มลงกลางทาง แต่นี่ก็เป็นสิ่งที่พิสูจน์ถึงความแข็งแกร่งของจิตใจนักอนุรักษ์ ที่ไม่ยอมอยู่เฉยหากรู้ว่าผืนป่าถูกทำลาย

 

แนวร่วม การเดินเท้าครั้งนี้คงไม่อาจประสบความสำเร็จหากขาดกลุ่มแนวร่วมนักอนุรักษ์ ทั้งเครือข่ายค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น เครือข่ายชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนแม่แจ่ม กลุ่มเด็กวัดป่า และอีกหลายๆ เครือข่ายที่ได้สร้างเป็นพลังมวลชนบริสุทธิ์ ลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรของชาติ

 

อาการบาดเจ็บ การเดินเท้าต่อเนื่องร่วม 13 วันย่อมยากที่จะหลีกเลี่ยงอาการบาดเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดข้อเท้า ฝ่าเท้า หรือหัวเข่า แต่ที่ทรมานที่สุดคือแผลพุพองที่ฝ่าเท้าซึ่งจะทำให้เจ็บปวดทุกก้าวที่ย่ำเดิน โชคดีที่คณะเดินทางได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเป็นจำนวนมาก ทั้งยังมีแพทย์ที่เดินทางมาตรวจอาการบาดเจ็บให้

 

เขียนฝัน น้องปาล์ม วัย 8 ขวบ ผู้ร่วมเดินเท้ากับเราตั้งแต่วันที่ 7 กำลังเขียนภาพผืนป่าในจินตนาการลงบนผืนผ้าดิบสีขาวที่เราตั้งใจจะนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์ในการคัดค้านเขื่อนแม่วงก์

 

ส่งสาส์น การเดินเท้าครั้งนี้จะผ่านเขตชุมชนสองบริเวณคือ ส่วนที่มีการสนับสนุนให้ก่อสร้างเขื่อนบริเวณจ.นครสวรรค์ ซึ่งเราตั้งใจว่าจะไม่มีการแจกเอกสาร แต่เมื่อย่างเท้าเข้าสู่ชุมชนนวนคร กระบวนการเผยแพร่ข้อมูลจึงเริ่มต้นอย่างจริงจัง โดยมีอาสาสมัครผู้ร่วมขบวนเดินกระจายแจกแถลงการณ์และเอกสารเหตุผลในการคัดค้านเขื่อนแม่วงก์แก่ประชาชนทั่วไป

 

พักกาย หากใครได้ไปร่วมขบวนเดินคงจะทราบดีถึงความเหน็ดเหนื่อยจากระยะทางอันยาวไกล แสงแดดและสายฝนที่ลดทอนกำลังใจ แต่คงไม่มีใครที่เหนื่อยเท่า อ.ศศิน เพราะนอกจากจะต้องเดินตลอดเส้นทาง ยังต้องให้สัมภาษณ์ทั้งทางโทรศัพท์ ระหว่างเดิน และในขณะพัก ต้องส่งสาส์นผ่านออนไลน์ และพูดคุยทักทายกับผู้ที่มาเยี่ยมเยือนด้วยรอยยิ้ม

 

เดินเท้าคืนสุดท้าย วันที่ 12 เป็นวันที่เดินเท้าค่อนข้างไกล อุปสรรคทั้งในเรื่องการจราจรและรูปขบวนที่ยาวจนยากจำควบคุมทำให้ขบวนเดินเท้าไม่ได้ตามกำหนดเวลา แต่เนื่องจากที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีการจัดเวที ‘เกษตรฯตะโกน’ เพื่อรอรับคณะเดินเท้า แม้ร่างกายจะเหนื่อยล้ามาตลอดวัน ทั้งทีมก็ยังคงก้าวเดินไปด้วยกันจนกระทั่งถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตอนเกือบ 20 นาฬิกา

 

จุดหมาย อ.ศศิน เลขาธิการมูลนิธิสืบฯเดินเคียงคู่กับ อ.รตยา ประธานมูลนิธิสืบฯ ก้าวเข้าสู่จุดหมายปลายทางของการเดินเท้า 388 กิโลเมตร จากผืนป่าแม่วงก์ สู่ใจกลางมหานครหน้าหอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ โดยมีประชาชนในชุดขาวคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ต้อนรับอย่างเนืองแน่น (ภาพ: กานตชาติ เรืองรัตนอัมพร)

 

สายธารแห่งการอนุรักษ์ จากคนไม่กี่คนในวันแรก หลอมรวมเป็นกระแสอนุรักษ์ผืนป่าแม่วงก์ สะสมเหมือนหยดน้ำก่อรวมเป็นพลังหวังสร้างแรงสะท้าน ให้สังคมหันกลับมามองว่าธรรมชาติถูกทำร้ายจนเกินพอแล้ว ส่งสาส์นสู่ผู้บริหารประเทศให้หยุดคิดเพื่อฟังมุมมองอีกด้านหนึ่งและหาทางออกร่วมกัน

 


 

เรื่อง รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
ภาพ รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ / กลุ่มสายลม / กานตชาติ เรืองรัตนอัมพร