สาระสำคัญในพ.ร.บ.ป่าชุมชน

สาระสำคัญในพ.ร.บ.ป่าชุมชน

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2561 และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการคลังไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

รายละเอียดสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ ประกอบไปด้วย

1. กำหนดวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งป่าชุมชน และพื้นที่ป่าที่มีการจัดตั้งเป็นป่าชุมชนแล้ว ให้คงอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ กฎกระทรวงว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่พระราชบัญญัตินี้จะได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

2. กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกรรมการ โดยมีอำนาจหน้าที่ในการเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายในการจัดตั้ง การจัดการป่าชุมชนและเครือข่ายป่าชุมชนหรือพิจารณาให้ความเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับป่าชุมชน เสนอแนะในการออกกฎหมาย กำหนดระเบียบ พิจารณาอุทธรณ์ และเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อการกำหนดงบประมาณ มาตรการ หรือกลไกทางการเงิน

3. กำหนดให้มีคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ โดยมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและประกาศคำขอ เพิ่ม ลด หรือเพิกถอนป่าชุมชน ตรวจสอบรายละเอียดที่ระบุในคำขอจัดตั้งเป็นป่าชุมชน ถอดถอนกรรมการจัดการป่าชุมชน แต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ป่าชุมชน และประเมินผลการจัดการป่าชุมชนในจังหวัดแล้วจัดทำรายงานเสนอคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชนอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

4. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการขอจัดตั้งป่าชุมชน โดยในพื้นที่ป่าชุมชนจะต้องกำหนดบริเวณเพื่อการอนุรักษ์ และบริเวณเพื่อการใช้ประโยชน์ หรือบริเวณเพื่อการอนุรักษ์เพียงอย่างเดียว ให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ สภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชน และวัตถุประสงค์ของป่าชุมชน และการจัดตั้งป่าชุมชนมีผลต่อเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

5. กำหนดให้คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนและสมาชิกป่าชุมชนมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการป่าชุมชน และกำหนดให้มีแผนจัดการป่าชุมชน รวมทั้งกำหนดให้มีหลักเขต ป้ายหรือเครื่องหมายอื่นแสดงแนวเขตป่าชุมชนบริเวณเพื่อการอนุรักษ์และบริเวณเพื่อการใช้ประโยชน์ตามสมควร เพื่อให้ประชาชนเห็นได้ว่าเป็นเขตป่าชุมชน

6. กำหนดให้มีการควบคุมดูแลป่าชุมชน กำหนดอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ป่าชุมชน และกำหนดการห้ามกระทำการภายในป่าชุมชน คือ ห้ามทำไม้ในบริเวณเพื่อการอนุรักษ์ ห้ามใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกิน ห้ามบุคคลใดก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ เก็บหาของป่า ขุดหาแร่ ล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือกระทำการด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าชุมชน เว้นแต่เป็นการกระทำตามที่พระราชบัญญัตินี้บัญญัติให้กระทำได้ ทั้งยังกำหนดเกี่ยวกับการอนุญาตให้บุคคลเข้าไปกระทำการใด ๆ เพื่อการศึกษา ค้นคว้า วิจัย หรือสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ

7. กำหนดให้อธิบดีมีอำนาจสั่งเพิกถอนป่าชุมชนทั้งแปลงหรือแต่บางส่วนได้โดยคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนขอให้เพิกถอนป่าชุมชน ทอดทิ้งไม่จัดการฟื้นฟูป่าชุมชนนั้น ต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลา 1 ปี โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ หรือระเบียบ หรือข้อบังคับที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ อันจะเป็นเหตุให้ป่าชุมชนได้รับความเสียหายหรือมีเหตุไม่ควรไว้วางใจให้จัดการป่าชุมชนต่อไป และเมื่อมีเหตุผลความจำเป็นทางด้านกิจการเพื่อความมั่นคงแห่งรัฐ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน ซึ่งการเพิกถอนป่าชุมชนให้มีผลเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ทั้งนี้ ทรัพย์สินส่วนกลางของป่าชุมชนที่ถูกเพิกถอนหากเป็นอสังหาริมทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ส่วนที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ให้กรมป่าไม้เก็บไว้เพื่อใช้ในกิจกรรมจัดการป่าชุมชน

8. กำหนดให้บุคคลชำระเงิน ค่าธรรมเนียม ค่าตอบแทน หรือค่าบริการ เนื่องในการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน โดยเงินที่เก็บได้ดังกล่าว เงินที่มีผู้บริจาค เงินสนับสนุนจากรัฐบาลและเงินรายได้อื่น ๆ ให้เก็บรักษาไว้ใช้จ่ายในกิจกรรมการจัดการป่าชุมชน โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

9. กำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนระเบียบของคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชนและข้อบังคับของคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนเกี่ยวกับการจัดการป่าชุมชน และผู้กระทำการฝ่าฝืนการทำไม้ในบริเวณเพื่อการอนุรักษ์ใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกิน หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าชุมชน นอกจากนี้ บรรดาไม้หรือของป่าที่ได้มา หรือมีไว้เป็นความผิด หรือทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ริบเสียทั้งสิ้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ก็ตาม

10. กำหนดให้มีการออกกฎกระทรวง และระเบียบเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ภายในระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคั