Say Ball Point Pen ศิลปินผู้วาดผืนป่าด้วยหัวใจ

Say Ball Point Pen ศิลปินผู้วาดผืนป่าด้วยหัวใจ

ในงานจากป่า สู่เมือง บทเรียนงานอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลาน (รำลึก 26 ปี สืบ นาคะเสถียร) ที่ผ่านมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้จัดกิจกรรมประมูลภาพวาดสีน้ำมัน “นกเงือก 13 ชนิด” ขนาด 1.8X2 เมตร เพื่อหารายได้สมทบทุนการทำงานแก่มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก โดยมี บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ชนะการประมูลในมูลค่า 330,000 บาท และภาพวาดนี้จะถูกนำไปจัดแสดงที่หอภาคภูมิแผ่นดินไทย เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความสำคัญของนกเงือก และการทำงานศึกษาวิจัยเพื่อการรักษาความสมดุลของระบบนิเวศป่าและสัตว์ป่า

บางท่านอาจสงสัยว่าภาพนกเงือก 13 ชนิดนี้ มีที่มาอย่างไร ใครเป็นผู้วาด และวาดขึ้นมาด้วยแรงบันดาลใจใด มูลนิธิสืบนาคะเสถียรอยากชวนทำความรู้จักกับเจ้าของผลงาน – ศิลปินอิสระที่มีนามแฝงว่า Say Ball Point Pen

Say Ball Point Pen หรือ ตุ๊ก ชื่อเธออาจไม่เป็นที่คุ้นหูตามทำเนียบหอศิลป์ใด หากแต่เมื่อกิจกรรมสาธารณะกุศลแล้ว เรามักได้ยินชื่อเธอถูกกล่าวถึงเสมอ ในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังผลงานภาพวาด หรือชิ้นงานที่จัดแสดง สำหรับนำมาใช้ในกิจกรรมระดมทุนเพื่องานรักษาผืนป่าสัตว์ป่า และทรัพยากรทางธรรมชาติ เช่น งานรำลึก สืบ นาคะเสถียร ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หรืองาน จากป่า สู่เมือง ซึ่งโดยจัดมูลนิธิสืบนาคะเสถียร งานคัดค้านการสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราทางภาคใต้ ฯลฯ เธอมักเดินทางไปร่วมงานทำกิจกรรมผ่านงานศิลปะหารายได้มอบแก่หน่วยงาน หรือกลุ่มชุมชน ชมรมที่ต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ

สำหรับผลงานล่าสุดของเธอ ภาพวาดนกเงือก 13 ชนิด ที่เพิ่งถูกประมูลไปเมื่อต้นเดือนกันยายน ศิลปินสาวเจ้าของผลงาน เล่าถึงที่มาของภาพนกเงือกทั้ง 13 ชนิดนี้ว่า ตัวเองมีความชอบนกเงือกเป็นทุนเดิม เคยพบเห็นนกเงือกกับตาตัวเอง 2-3 ชนิด (นกแก๊ก นกกก หรือนกกาฮัง เธอเล่า) ทั้งยังเคยติดตามทีมวิจัยนกเงือก และดร.พิไล พูลสวัสดิ์ ไปกับรายการธรรมชาติมาหานคร (ตอน หัวใจนี้ แด่…นกเงือก)

ในคราวที่ได้ติดตาม ดร.พิไล และทีมศึกษาวิจัยนกเงือก เข้าไปดูการทำงาน ทำให้เธอได้ทราบว่ามูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือกกำลังมีปัญหาเรื่องงบประมาณสำหรับนำไปใช้จ่ายในกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์นกเงือก จากที่มาในครั้งนั้นจึงเกิดความคิดร่วมกับอาจารย์ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ควรทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยระดมทุนให่้มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก

ศิลปินสาวบอกว่า ตัวเองไม่ได้เป็นคนร่ำรวย แค่พอมีความสามารถในทางการวาดภาพ เลยคิดว่าจะวาดภาพนกเงือกเพื่อนำไปประมูลหารายได้สมทบทุนการทำงานให้มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก จนได้ไปปรึกษากับคุณนิวัติ กองเพียร ผู้จัดการมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คุณนิวัติจึงเสนอให้วาดนกเงือก 13 ชนิดอยู่ในเฟรมภาพเดียวกันเป็นภาพขนาดใหญ่เลย

เป็นเวลาเวลากว่า 2 เดือนที่เธอหมกตัวอยู่กับเฟรมภาพแคนวาสขนาดใหญ่ เพื่อวาดภาพนกเงือกในอิริยาบถต่างๆ ด้วยเทคนิคสีน้ำมัน อธิบายให้เห็นถึงชนิดพันธุ์นกเงือก 13 ชนิดที่พบในผืนป่าของประเทศไทย จนออกมาสำเร็จเป็นภาพดังที่เห็นในงาน

ภาพวาดนกเงือก 13 ชนิด ผลงาน Say Ball Point Pen ได้รับการประมูลเพื่อมอบรายได้แก่มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก เป็นมูลค่า 330,000 บาท โดย บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ชนะการประมูล

แต่หากนับจำนวนนกในภาพจะพบว่ามีทั้งหมด 14 ตัว ศิลปินสาวเฉลยว่า มีนกกกเพียงชนิดเดียวที่เป็นคู่ผัวตัวเมียกัน “วาดแถมให้เพราะชอบ”

นอกจากจะวาดภาพนกเงือกขนาดใหญ่แล้ว ศิลปินสาวยังใช้เวลาโค้งสุดท้ายก่อนถึงวันประมูล ลงมือเพ้นท์ภาพนกเงือกทั้ง 13 ชนิดลงบนเสื้อยืดไว้อีก 13 ตัว (ชนิดละตัว) เพื่อใช้สมทบทุนหารายได้เพิ่มเติมอีกช่องทาง

ผลงานต่างๆ ของ Say Ball Point Pen ที่มอบให้แก่องค์กรการกุศล ในทุกๆ งานเธอบอกว่า ไม่เคยหักค่าต้นทุนหรือเอาอะไรคืนจากองค์กรเลย ที่เข้ามาทำงานตรงนี้เพราะอยากมีส่วนในการช่วยเหลือกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ตามความสามารถที่ตัวเองมี

ก็คงไม่ใช่คำกล่าวที่เกินเลยหากจะกล่าวว่า Say Ball Point Pen เป็นศิลปินที่มีความรักต่อธรรมชาติจากภายใจหัวใจอย่างแท้จริง

 


บทความโดย พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร