R.I.P. “หมีขอ” ที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค

R.I.P. “หมีขอ” ที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค

7 ตุลาคม 2561 เฟสบุ๊คทีมพญาเสือรายงานว่า มีการจับกุมคณะรถออฟโรด ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี

เนื้อหาเรื่องนี้ระบุว่า นายพนัชกร โพธิบัณฑิต หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรโยค และรักษาการหัวหน้าชุดเฉพาะกิจพญาเสือ ได้รับรายงานพบคณะออฟโรด มีพฤติกรรมล่าสัตว์ จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่นำกำลังจำนวน 17 นาย เข้าตรวจสอบ

ในป่าใหญ่ บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติไทรโยค ที่ ทย.6 (เขาพูล) เจ้าหน้าที่พบกลุ่มรถออฟโรดจำนวน 5 คัน จึงได้เข้าขอตรวจค้น

ข้อมูลเผยว่า คณะนี้ประกอบด้วย ชาย 10 คน หญิง 2 คน เด็ก 3 คน หนึ่งในนั้นอ้างตนเป็นปลัดอำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี

และพบสิ่งที่ไม่สมควรพบในการเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในพื้นที่อนุรักษ์

ประกอบด้วย อาวุธปืนยาว .22 CZ พร้อมเครื่องกระสุน จำนวน 30 นัด ปืนสั้นขนาด 9 มม. จำนวน 2 กระบอก พร้อมเครื่องกระสุน 40 นัด และเครื่องกระสุนขนาด 5.56 (เครื่องกระสุนใช้กับ เอ็ม 16 ในสงคราม) จำนวน 20 นัด

และซากอุ้งตีนหมีขอ 4 เท้า

 

PHOTO : ทีมพญาเสือ www.facebook.com/NDP2016/

 

คณะออฟโรดทั้งหมดให้การปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ค้นเจอ แต่เจ้าหน้าที่ได้ทำบันทึก และนำส่งของกลางที่ตรวจค้นได้ให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย

เพราะสิ่งที่พบนั้นมีความผิดทางกฎหมาย

หมีขอ Arctictis binturong เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำพวกชะมดและอีเห็น แต่ด้วยลักษณะทางกายภาพที่คล้ายหมี จึงทำให้ถูกเรียกว่าหมี บางชื่อเรียกว่าหมีกระรอก เพราะลักษณะขนหางเหมือนกระรอก

พวกมันมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศในฐานะเป็นผู้กระจายเมล็ดพืช และเป็นผู้ควบคุมประชากรสัตว์ป่าบางชนิด

ในทางกฎหมายหมีขอมีสถานะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535

เป็นสัตว์ป่าที่ห้ามล่า ห้ามค้า ห้ามนำเข้าหรือส่งออก และยังห้ามครอบครอง

และเป็นสัตว์ป่าที่อยู่ในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ อยู่ในชนิดพันธุ์ในบัญชีหมายเลข 3

และแน่นอนว่าพื้นที่อุทยานแห่งชาติ (ที่เกิดเหตุ) เป็นพื้นที่ที่ตั้งขึ้นเพื่อการสงวนรักษา มีข้อห้ามชัดเจนตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ในเรื่องที่ว่า ห้ามนำสัตว์ออกไป หรือทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ป่า

ห้ามนำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์หรือจับสัตว์ หรืออาวุธใดๆ เข้าไปเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และปฏิบัติตามเงื่อนไขซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้อนุญาตนั้นกำหนดไว้

และยังห้ามยิงปืน ทำให้เกิดระเบิดซึ่งวัตถุระเบิด หรือจุดดอกไม้เพลิง

สำหรับอุทยานแห่งชาติไทรโยค เป็นหนึ่งในอุทยานแห่งชาติที่อุดมด้วยความสมบูรณ์ เป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตก กลุ่มป่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลากหลายชนิดพันธุ์

ที่นี้เคยมีการพบค้างคาวชนิดใหม่ของโลก คือ ค้างคาวกิตติ (Hog-Nosed Bat) เป็นสัตว์เฉพาะถิ่น และมีความเปรอะบางอย่างมาก หากมนุษย์รบกวนที่อยู่อาศัยพวกมันก็จะอพยพย้ายถิ่นทันที

ถือเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่มีความสำคัญยิ่งแห่งหนึ่งของประเทศ

และเป็นหนึ่งในพื้นที่อนุรักษ์ที่กำลังพัฒนาระบบงานอนุรักษ์ผ่านกิจกรรมงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพที่มีมูลนิธิสืบนาคะเสถียรให้การสนับสนุนกิจกรรม

แต่ยังไม่วายพบผู้กระทำความผิดอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย

 

PHOTO : ทีมพญาเสือ www.facebook.com/NDP2016/

 

สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2561 ในเบื้องต้น เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาแล้ว 7 ข้อหา ประกอบด้วย

1. ฐานร่วมกันเก็บหานำออก ทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตรายหรือเสื่อมสภาพ ทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ

2. ฐานร่วมกันนำสัตว์ออกไป หรือทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตรายแก่สัตว์

3. ฐานร่วมกันนำยานพาหนะเข้าออก หรือขับ ขี่ยานพาหนะ ในทางที่มิได้จัดไว้ เพื่อการนั้นเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

4. ฐานร่วมกันนำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์ หรือจับสัตว์ หรืออาวุธใดๆ เข้าไป เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าพนีกงานเจ้าหน้าที่

5. ฐานร่วมกันล่าสัตว์ป่า หรือพยายามล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่เป็นการกระทำโดยทางราชการที่ได้รับยกเว้น ตามมาตรา 26

6. ฐานร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครอง โดยมิได้รับอนุญาต ฐานเข้าไปดำเนินการใดๆ เพื่อหาผลประโยชน์ โดยมิได้รับอนุญาต จากพนักงานเจ้าหน้าที่

7. ฐานครอบครองอาวุธปืน และเครื่องกระสุนที่ใช้ในราชการสงคราม และขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

และมีรายงานข่าวอ้างอิงเพิ่มเติมว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ เตรียมตั้งคณะกรรมการสอบการกระทำความผิดวินัยร้ายแรง หากมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง ถ้าพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำความผิดจริง จะต้องถูกไล่ออกจากราชการ

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ปรากฎข่าวใหญ่เรื่องการล่าเสือดำในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ที่หลายคนรับรู้กันดีว่าจำเลยของคดีนี้คือนายทุนร่ำรวยคนใหญ่โตของประเทศ

เหตุการณ์นั้นถูกบันทึกและตีแผ่ความจริง ตลอดจนข้อมูลให้ทราบว่าการล่าสัตว์ป่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และเป็นเรื่องที่สังคมไทยในปัจจุบันไม่ยอมรับพฤติกรรมแบบนี้อีกแล้ว

ก็ไม่รู้ทำไมในเวลาที่ไม่นานเกินความทรงจำจะหลงลืม ถึงได้มีคนที่ต้องใส่ใจจรรยา ยึดมั่น และยืนหยัดในความถูกต้อง กลับกลายเป็นผู้กระทำผิดเสียเอง

ซ้ำแล้วซ้ำเล่า อีกครั้ง และอีกครั้ง

?

 


บทความ เอกวิทย์ เตระดิษฐ์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ เฟสบุ๊ค ทีมพญาเสือ