โลกจะไม่ได้เห็นพวกเขาวิ่งไปมาอีกแล้ว เมื่อการสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่ ครั้งที่ 6 เกิดขึ้นแล้ว!

โลกจะไม่ได้เห็นพวกเขาวิ่งไปมาอีกแล้ว เมื่อการสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่ ครั้งที่ 6 เกิดขึ้นแล้ว!

เรากำลังเป็นประจักษ์พยานของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่สุดแบบที่ไม่เคยได้พบเห็นมาก่อน อย่างน้อย ๆ ก็ใน 65 ล้านปีที่ผ่านมา 

งานวิจัยชิ้นนี้ได้ถูกออกแบบมาให้ศึกษาว่าในช่วงเวลา 500 ปีที่ผ่านมานั้น การกระทำของมนุษย์มีผลอย่างไรต่ออัตราการสูญพันธุ์ของสัตว์มีกระดูกสันหลัง (สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ปลา นก สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก) งานวิจัยได้พบถึงอัตราเร่งที่ชัดเจนของการสูญเสียสายพันธุ์ต่าง ๆ ในช่วงเวลาไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา มากไปกว่านั้นรายงานยังได้บอกว่าโลกกำลังจะเจอกับเหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่ ครั้งที่ 6 และจะใหญ่ที่สุดในรอบ 3,500 ล้านปี

งานวิจัยชิ้นนี้ถูกวิจัยโดยทีมนำโดย Mr.Gerardo Ceballos เมื่อไม่นานมานี้ผู้วิจัยได้ตีพิมพ์รายงานเกี่ยวกับวิธีบางวิธีที่จะสามารถประมาณค่าของอัตราการสูญพันธุ์ได้ และผลลัพธ์จากรายงานเหล่านั้นก็ได้แสดงบางอย่างที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก อย่างไรก็ตามมันก็อาจจะมีความผิดพลาดในค่าที่ได้มา เพราะค่าที่ได้มานั้นมาจากข้อมูลซึ่งมีค่อนข้างน้อย แต่สิ่งสำคัญที่สุดของนักวิจัยตอนนี้คือการหาอัตราการสูญพันธุ์ที่ต่ำสุด (อัตราการสูญพันธุ์ในสภาพปกติที่ปราศจากกิจกรรมรบกวนจากมนุษย์) ให้ได้ เพื่อเป็นค่าที่ใช้อ้างอิงในการเปรียบเทียบอัตราในช่วงเวลาต่าง ๆ แต่กลายเป็นว่านั่นยิ่งทำอัตราในปัจจุบันที่วัดได้ยิ่งสูง เมื่อเทียบกับอัตราการสูญพันธุ์แบบปกติ ถึงแม้ว่าจะกำหนดให้ค่าอัตราการสูญพันธุ์แบบปกติสูงขึ้นประมาณ 2 เท่า แต่อย่างไรก็ตามอัตราการสูญพันธุ์ในช่วงหลัง ๆ มานี้ก็ยังทำคะแนนทิ้งห่างการสูญพันธุ์โดยกระบวนการธรรมชาติอยู่ดี

กราฟแสดงความถี่สะสมของการสูญพันธุ์ของสัตว์มีกระดูกสันหลัง จัดทำในปี 2012 โดย IUCN เส้นประแสดงอัตราการสูญพันธุ์แบบปกติ

นักวิจัยได้ใช้ข้อมูลชุดเดียวกับ IUCN ที่แสดงให้เห็นทั้งสายพันธุ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว และสายพันธุ์ที่คาดว่าน่าจะสูญพันธุ์ เพื่อเป็นข้อมูลหลักในการคำนวณหาอัตราการสูญพันธุ์ในปัจจุบัน ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลที่เปิดเผยอยู่ให้เข้าถึงได้ รวมไปถึงข้อมูลการสูญพันธุ์ของสัตว์มีกระดูกสันหลังตั้งแต่ปี ค.ศ.1500 ซึ่งในหลาย ๆ ชื่อคุณคงไม่เคยแม้แต่ได้ยิน เช่น  cuban coney, red-bellied gracile, broad-faced potoroo และ southern gastric brooding frog 

ลาก่อนเจ้า broad-faced potoroo โลกนี้ยังแทบไม่รู้จักเธอเลย

กิ่งก้านสาขาของต้นไม้แห่งชีวิตนั้นกำลังหยุดลง สิ่งที่หลงเหลือของสายพันธุ์เหล่านี้บางส่วนอาจจะถูกเก็บรักษาไว้เป็นซากดึกดำบรรพ์ในชั้นหิน หรือเป็นนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ แต่โลกจะไม่ได้เห็นพวกเขาวิ่งไปมา กระโดดโลดเต้น หรือส่งเสียงร้องอีกต่อไป

บางคนอาจจะสงสัยว่าแล้วทำไมล่ะ ถ้าการสูญพันธุ์จะไม่ได้ถูกควบคุมโดยธรรมชาติเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่จะมีมนุษย์เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

คำตอบของคำถามนี้ง่ายมาก คือมองย้อนกลับไปสิว่าธรรมชาตินี้สร้างอะไรให้กับเราบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการผสมเกสรพืชผลการเกษตรของเรา มีน้ำบริสุทธิ์ให้เราได้กินได้ใช้ หรือมีปลาต่าง ๆ นา ๆ ให้เรากิน ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศสามารถให้สิ่งต่าง ๆ กับเราได้ต่อไปหากระบบยังคงทำงานในลักษณะเดิมที่มันเคยเป็น คือการไม่ถูกมนุษย์แทรกแซง

ความสัมพันธ์ระหว่างความหลากหลายของสายพันธุ์กับระบบนิเวศนั้นซับซ้อนมาก และมนุษย์ก็ยังไม่สามารถเข้าใจมันได้อย่างดี ถ้าความหลากหลายทางชีวภาพลดลงนิดหน่อย อาจจะแทบไม่ส่งผลอะไรต่อระบบนิเวศเลย เพราะระบบนิเวศเองก็มีกลไกในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง จนกว่าจะถึงจุดที่เกินรับไหวธรรมชาติจึงจะแสดงสัญญาณออกมา ซึ่งในบางทีอาจจะแก้ไม่ทันการแล้วก็เป็นได้ เปรียบเทียบกับเครื่องบิน ถ้าเราถอดน๊อตออกจากปีกมันสัก 2-3 ตัว มันอาจจะบินต่อไปได้อย่างราบรื่น แต่ถ้าเราค่อยๆถอดต่อไป กว่าเราจะรู้ตัวเครื่องบินก็อาจจะร่วงลงพื้นไปเสียแล้ว

งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าหลายศตวรรษที่ผ่านมานั้น มนุษย์ได้ทำลายระบบนิเวศบนโลกใบนี้ไปแค่ไหน เราได้ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อแลกกับการผลิตสินค้า และบริการ ตอนนี้วิทยาศาสตร์ก็ได้ทำการวาดจุดจบของเรื่องให้เราเห็นแล้ว แต่มันก็อาจจะยังไม่พอที่จะหยุดพวกเราไว้ก่อนที่จะเดินไปถึงจุดจบนั้น

ถ้าเรามองโลกเป็นแค่แหล่งทรัพยากรกับถังขยะไว้ทิ้งของที่ใช้แล้ว ถ้าเรามองสายพันธุ์ร่วมโลกอื่น ๆ จากแค่ประโยชน์ที่เราได้รับจากมัน นั่นแปลว่าเราก็จะคอยทำลายต้นไม้แห่งชีวิตต่อไป การถอดน๊อตออกจากเครื่องบินที่มีชื่อว่าโลกลำนี้ ไม่ใช่แค่การเพิ่มความเสี่ยงต่อตัวเรา แต่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อคนรุ่นลูกหลานต่อไป และยังเป็นการลดความสวยงามของบ้านที่ทุก ๆ ชีวิตใช้อยู่อาศัยอีกด้วย

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Earth’s sixth mass extinction has begun, new study confirms
ถอดความและเรียบเรียงโดย วณัฐพงศ์ ศิริวิภานันท์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร