จำนวน ‘เสือโคร่ง’ ในเนปาลเพิ่มเป็นสองเท่า แต่พวกเขาจะกินอะไร ?

จำนวน ‘เสือโคร่ง’ ในเนปาลเพิ่มเป็นสองเท่า แต่พวกเขาจะกินอะไร ?

ในการเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งจำเป็นต้องอาศัยเหยื่อ ขณะเดียวกันเหยื่อก็ต้องอาศัยหญ้า หญ้าก็ต้องการน้ำ เสือโคร่งอาจเป็นสัตว์ที่อยู่สูงสุดบนห่วงโซ่อาหาร แต่ชีวิตของพวกมันจำเป็นต้องเชื่อมโยงกับจำนวนประชาการของกวาง ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูณ์ของหญ้าอีกเช่นกัน

ในวันนี้ไม่มีที่ไหนในประเทศเนปาลที่สามารถเป็นแหล่งที่เชื่อมโยงความซับซ้อนของห่วงโซ่อาหารได้เช่นเดียวกับที่อุทยานแห่งชาติบาร์เดีย สถานที่ซึ่งสามารถเพิ่มประชากรเสือโคร่งจาก 18 ตัวในปี 2552 เป็น 87 ตัวในปัจจุบัน ถือเป็นประเทศแรกที่ทำสำเร็จในการเพิ่มประชากรเสือโคร่งได้เป็นสองเท่าภายในปี 2565

แต่เสือตัวผู้ที่โตเต็มวัยต่างต้องการพื้นที่กว้างไม่น้อยกว่า 100 ตารางกิโลเมตร เพื่อออกหากิน ขณะที่ตัวเมียต้องการพื้นที่ราว 20 ตารางกิโลเมตร และแต่ละตัวยังต้องการเหยื่อ ซึ่งก็คือกวางอย่างน้อยหนึ่งตัวต่อหนึ่งสัปดาห์

แต่ความหนาแน่นของเหยื่อในอุทยานแห่งชาติบาร์เดียลดลงอย่างรวดเร็วมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพราะการเพิ่มขึ้นของประชากรเสือ ปัญหาการบุกรุกทุ่งหญ้าในอดีต ความอุมดมสมบูรณ์ของหญ้าบางสายพันธ์ุ ขณะที่น้ำบาดาลเริ่มลดลงเนื่องจากภาวะโลกร้อน สิ่งเหล่านี้ทำให้ประชากรเหยื่อมีไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรของเสือ ส่งผลให้พวกมันออกไปล่าเหยื่อนอกพื้นที่อนุรักษ์ กินสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน กลายเป็นการสร้างความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า และสร้างปัญหาต่อแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์ต่อชุมชนข้างเคียง

วันนี้อุทยานแห่งชาติบาร์เดีย อยู่ในระดับแนวหน้าของการวิจัยเพื่อฟื้นฟูความสมดุลของนักล่า Shyam Thapa จาก Nepal Trust for Nature Conservation (NTNC) ผู้กำลังทำงานวิจัยเพื่อหาวิธีส่งเสริมการเจริญเติบโตของหญ้าอ่อนสีเขียวที่มีกวางถึงห้าสายพันธุ์ชอบกิน อธิบายว่า เพราะไม่มีช้างป่า ไม่มีกระทิง ควายป่า ละมั่งขนาดใหญ่ ที่เหยียบต้นหญ้าสูงเพื่อให้กวางกินได้ “กวางไม่ชอบหญ้าสูงหรือป่าทึบ เพราะพวกเขาต้องการทัศนวิสัยสำหรับมองสัตว์ผู้ล่า”

 

ภาพ : BIKRAM RAI

ภาพถ่ายดาวเทียมในอดีตและปัจจุบันของบาร์เดีย แสดงให้เห็นว่าทุ่งหญ้าถูกบุกรุกกระจายไปทั่วพื้นที่ป่า ภัยแล้งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงปริมาณน้ำในแม่น้ำการ์นาลีที่ลดลงการขุดอุโมงค์และโครงการผันน้ำ Bheri Babai ทำให้ระดับน้ำใต้ดินลดลง และยังลดปริมาณหญ้าที่ปกคลุมตามไปด้วย

“เราพยายามที่จะศึกษาว่าอะไรคือปัจจัยที่จะทำให้หญ้าชนิดที่กวางชอบกินกลับคืนมาได้ เพราะมันจะเพิ่มจำนวนกวาง ซึ่งจะช่วยให้อุทยานสามารถรองรับประชากรเสือที่เพิ่มมากขึ้นได้” นักพฤกษศาสตร์ Laxmi Raj Joshi จาก NTNC กล่าว

ในพื้นที่อนุรักษ์ได้ขุดบ่อน้ำและติดตั้งเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ เพื่อให้แน่ใจว่าบ่อน้ำนั้นจะไม่แห้ง นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะย้ายเอาควายป่า กระทิง และละมั่งจากพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ มาปล่อยในพื้นที่เพื่อเพิ่มจำนวนเหยื่อขนาดใหญ่ให้กับเสือโคร่ง

นักอนุรักษ์เชื่อว่าอุทยานแห่งชาติบาร์เดียและอุทยานแห่งชาติเบียนที่มีอาณาเขตเชื่อมต่อกันจะสามารถรองรับจำนวนประชากรเสือโคร่งได้ถึง 100 ตัว

ทว่าตอนนี้จำนวนเสือโคร่งที่เพิ่มขึ้นกลับสวนทางกับความหนาแน่นของเหยื่อที่น้อยลงทำให้พวกมันต้องออกไปหาเหยื่อนอกพื้นที่อนุรักษ์ เช่นเดียวกับช้างป่าที่ออกไปเหยียบย่ำทำลายพืชสวน สร้างความตรึงเครียดให้กับชุมชนโดยรอบ

เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติบาร์เดียกำลังทดลองใช้รั้วไฟฟ้าเพื่อหยุดช้างและเสือไม่ให้ออกไปข้างนอก

“สิ่งที่คิดคือต้องการลดความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่า” Cas de Stopelaar เจ้าหน้าที่มูลนิธิเสือหิมาลัยในเนเธอร์แลนด์ กล่าว มูลนิธิเสือหิมาลัยได้สนับสนุนงานวิจัยด้านรั้วและทุ่งหญ้า เขาอธิบายว่า “เสือเป็นสัตว์ที่อยู่จุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร ถ้าคุณสามารถปกป้องเสือได้ ก็เท่ากับว่าคุณได้ปกป้องทุกอย่าง”

“เมื่อเสือและช้างมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจนเต็มพื้นที่อนุรักษ์ พวกเขาก็จะต้องออกไปข้างนอกเพื่อหาอาหาร ซึ่งความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่าจะทำให้ความสนใจเรื่องการอนุรักษ์สัตว์ป่าของชุมชนลดลงไปด้วย ดังนั้น เราต้องทำให้พื้นที่มีอาหารเพียงพอสำหรับสัตว์ป่ารวมถึงมีรั้วที่แข็งแรงด้วย” Cas de Stopelaar กล่าว

 

เรียบเรียงจาก The number of tigers in Nepal will soon double, but what will they eat?                              ถอดความและเรียบเรียงโดย เอกวิทย์ เตระดิษฐ์  ภาพเปิดเรื่อง WWF