ความทรมานของลูกนกอัลบาทรอส จากขยะพลาสติก

ความทรมานของลูกนกอัลบาทรอส จากขยะพลาสติก

ร่องรอยตีนของนกอัลบาทรอสละเลียดริมหาดทรายคงถูกคลื่นสีทองเหลืองอร่ามกลืนมลายหายไป ผิดกับชิ้นส่วนพลาสติกต่างๆ ที่บางชิ้นมนุษย์อาจใช้ประโยชน์เพียงเสี้ยวนาทีแต่การดำรงอยู่ของมันกลับยาวนานดั่งห้วงเวลาชั่วกัปชั่วกัลป์

ไกลตัวเรา แต่ใกล้ตัวนัก

นั่นคือสิ่งที่รู้สึกยามฉันนั่งดูภาพเจ้านกที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ของโลก เพราะมองเป็นเรื่องไกลตัวเลยไม่มีข้อมูลเจ้านกชนิดนี้บรรจุอยู่ในความทรงจำแม้แต่น้อย แต่อย่างที่กล่าวไปนั่นแหละ พลาสติกกลับเป็นตัวเชื่อมโลกของเรากับเจ้านกชนิดนี้ และอาจเชื่อมโยงตัวเรากับบางสิ่งบางอย่างอย่างที่เราไม่ยังไม่รู้ตัวอีกก็ได้

นกตัวน้อยขนสีน้ำตาลฟูฟ่องตามกระแสลมทะเลโยกกายเคลื่อนเข้าหาพ่อ อ้าปากรับอาหารจากจงอยผู้ให้อาหาร ขยับเร็วรี่คล้ายหิวโหย เขมิบอาหารพร้อมๆ กับชิ้นส่วนพลาสติกเข้าไป

และปลายทางคือความทรมานของลูกนกผู้ไม่มีโอกาสโผบิน ร่างของมันขยับอย่างไร้เรี่ยวแรง แดดิ้นพยายามต่อสู้หวังมีชีวิตรอด ถีบตีนไปมาพยายามทรงตัวลุกขึ้นยืน ก่อนกระพริบตาเล็กน้อย ดวงตาวาวคล้ายเอ่อไปด้วยน้ำตา หายใจอย่างเหน็ดเหนื่อย พะงาบๆ ก่อนสิ้นลมหายใจ

ท้องโป่งพองดูอุ้ยอายเต็มไปด้วยขยะพลาสติกที่กระเพาะมันไม่สามารถย่อยสลายได้ ตัดมาที่ภาพชายหนุ่มใช้กรรไกรผ่าซากศพและคีบชิ้นส่วนในร่าง เป็นพลาสติกหลายชนิดวางระเกะระกะบนฝ่ามือ เขาก้มใบหน้าซบบนซากของมัน สะอึกสะอื้นจนตัวโยน สะทกสะท้อนหัวใจ

สำหรับฉันนั่นคือฉากเรียกน้ำตา และยังมีภาพการตายของตัวอื่นๆ ที่ทุรนทุรายไม่ใคร่ต่างกันเท่าใดนัก บ้างลอยตายในท้องทะเล เดาว่าน่าจะหมดแรงบินเลยลอยคอบนทะเล เพราะกินพลาสติกเข้าไปเต็มท้องแล้วย่อยไม่ได้ จะกินอะไรเพิ่มก็คงไม่ได้ ภาพที่สื่อสารนั้นสวยงามแต่ก็รันทดเกินห้ามใจ

พวกมันไม่ได้ตายด้วยภัยธรรมชาติ แต่ตายด้วยภัยจากพลาสติก และต้นตอของพลาสติกเหล่านี้ล้วนมาจากมนุษย์

 

เพชร มโนปวิตร นักสิ่งแวดล้อมและผู้ร่วมก่อตั้ง ReReef

 

และเพียงแค่การกำเนิดของพลาสติกมาราว 40 ปี กลับสร้างปัญหาเป็นวงกว้างอย่างไม่เลือกว่านั่นคือสิ่งมีชีวิตใด คุณเพชร มโนปวิตร นักสิ่งแวดล้อมและผู้ร่วมก่อตั้ง ReReef กล่าวว่า ชีววิทยามันวิวัฒนาการมาเป็นล้านๆ ปี นกก็เชื่อตามสัญชาตญาณว่าอะไรที่ทะเลมอบให้มันเป็นอาหารที่ปลอดภัย

มันเป็นความตายที่ไม่คู่ควรใช่ไม่มีใครคู่ควรหรอก

เหมือนถูกล่อลวงด้วยภาพความสวยงามของวิถีชีวิตของเจ้านกชนิดนี้ ได้เห็นพฤติกรรม การเกี้ยวพาราสี ช่วยกันแต่งขน กกไข่ ฝักเป็นตัว ก่อนจะตัดภาพไปที่ปัญหาที่พวกมันต้องเผชิญ

 

สุภัชญา เตชะชูเชิด ผู้ก่อตั้งร้าน Refill Station

 

แต่นี่ไม่ใช่สิ่งเดียวที่อัลบาทรอสต้องเผชิญ คุณแอน สุภัชญา เตชะชูเชิด ผู้ก่อตั้งร้าน Refill Station เล่าความรันทดของพวกมันว่า นอกจากพลาสติกแล้ว การจับปลาเกินขนาดของเหล่ามนุษย์ยังซ้ำเติมให้อาหารของพวกมันลดปริมาณลง

อีกทั้งไม่ใช่ความผิดของพวกมันที่เลือกกินอาหารผิดประเภท กระบวนการบางอย่างในธรรมชาติที่มีงานวิจัยรองรับแล้วว่ากลิ่นของพลาสติกช่างยั่วยวนใจนกอัลบาทรอสเหลือเกิน

คุณแอนเล่าถึงงานวิจัยว่า ถ้าสังเกตนกอัลบาทรอสมันจะมีจมูกที่ชัดเจน มันอยู่ในกลุ่มนกจมูกหลอด (Procellariiformes) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสงสัยว่ามันหาอาหารอย่างไร จึงทำงานวิจัยด้วยการติดวิทยุติดตามเพื่อดูการบินของมัน หากมันมองเห็นอาหารมันก็จะบินตรงไปที่อาหารและกลับขึ้นมา แต่ถ้ามันถ้ามันหาอาหารด้วยการใช้กลิ่นมันก็จะบินวนอิสระตามกระแสคลื่นลม พบว่านกกลุ่มนี้หากินด้วยการใช้สายตาประมาณ 40% ใช้การดมกลิ่น 40% และใช้เซนส์อื่นประมาณ 20% ซึ่งตัวพลาสติกนี้เองมันคอยดูดซับกลิ่นที่นกชอบไว้ ทำให้พลาสติกเสมือนสิ่งลวงด้วยกลิ่นทำให้นกกลุ่มนี้กินพลาสติกมากกว่านกชนิดอื่น จึงเป็นอีกส่วนสำคัญของปัญหา เพราะแน่นอนว่าพลาสติกไม่ไปอยู่ในทะเลก็คงไม่เกิดปัญหา แต่ด้วยเซนส์ในการรับกลิ่นของนกกลุ่มนี้ทำให้มันอันตรายและมีความเสี่ยงมากกว่านกชนิดอื่นๆ

 

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ บรรณาธิการนิตยสารสารคดี

 

จากลูกนกอัลบาทรอสผู้ไม่มีโอกาสได้โผบินถึงสัตว์หลายชนิดของประเทศไทย โดยเฉพาะสัตว์ทะเล

มิใช่สิ่งมีชีวิตเดียวที่ตกเป็นเหยื่อแห่งความตายจากเพชรฆาต (พลาสติก) ภาพคุ้นตาการตายของเต่าทะเล วาฬ และโลมามากมาย หลอดอาหารหรือกระเพาะที่อุดตันเต็มไปด้วยพลาสติกจำนวนมากยังคงปรากฏให้เห็นอยู่เนืองๆ จนสร้างกระแสสังคมได้พักใหญ่

นกอัลบาทรอสในสารคดีนั้นมีช่างภาพถ่ายเรื่องราวของพวกมันตั้งแต่การกินพลาสติกเข้าไปกระทั่งฉากสิ้นใจตายด้วยความทุกข์ทรมาน เป็นจรรยาบรรณของวงการเฉกเช่นนี้ เขาไม่ได้ทำอะไรผิดที่ไม่ช่วยเหลือ เขาสะเทือนใจไม่ต่างกัน หรืออาจจะมากกว่าเสียด้วยซ้ำ

แต่บ้านเราหากสัตว์ทะเลยังโชคดีก็เจอหมอทัน ได้ถูกช่วยดึงหลอดออกจากจมูกบ้างเป็นครั้งคราว ถ้าเป็นในการ์ตูนฉันคงนึงฉากต่อไปหลังมันรอดชีวิตและกลับไปพบปะเพื่อนในท้องทะเล มันคงบอกต่อๆ กันประมาณว่าถ้าเอ็งเจ็บป่วยให้ไปเกยตื้นหาหมอซะ อาจมีโอกาสรอด

แต่สัตว์เหล่านี้ก็ไม่ได้โชคดีทุกตัว และการขึ้นมาเกยตื้นรับการรักษาก็ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนเช่นกัน มันคือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ที่เรามักภาวนาให้ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ฉันไม่คิดว่าบุคคลากรด้านนั้นจะเยอะจนสามารถสร้างปาฏิหาริย์ทุกเมื่อเชื่อวัน

และการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือต้องไม่มีพลาสติกไปถึงพวกมันต่างหาก และนั่นก็ย้อนกลับมาที่มือของมนุษย์ทุกคน ไม่ใช่แค่ผู้ผลิต รัฐบาล แต่รวมไปถึงผู้บริโภคที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและความเคยชิน จากสิบเป็นร้อยมือ จากร้อยเป็นล้านมือ เชื่อว่าอย่างไรจำนวนพลาสติกก็ต้องลดลง

แต่อย่างไรตาม ส่วนตัวแล้วแค่จิตสำนึกมันไม่มีวันได้ผล มันอาจสร้างแรงกระเพื่อมได้ระลอกสองระลอก แต่มันไม่ทรงพลังเท่าอำนาจเงินหรอก การแก้ไขปัญหาพลาสติกอย่างรวดเร็วน่าจะเป็นการเก็บเงินค่าถุงพลาสติก

 

วงพูดคุยที่จะชวนคุณมาถกประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม หลังชมภาพยนตร์สารคดี ALBATROSS

 

สารคดี ALBATROSS โดย Chris Jordan (www.albatrossthefilm.com) เป็นงานศิลปะที่สร้างความสั่นสะเทือนได้มากกว่าสารใดๆ ที่เคยรับมา อย่างน้อยๆ การลำเลียงลำดับภาพ ความอ้อยอิ่งของจังหวะการเคลื่อนไหว Sound ประกอบก็พยายามชักจูงอารมณ์ แต่เวลาอาจนานไปสำหรับใครหลายคนจึงชวนเคลิ้มและไม่เหมาะกับกลุ่มคนที่ชอบดูหนังแมสๆ เท่าไรนัก แต่ในทางกลับกันฉันที่ชื่นชอบหนังสายทางเลือกจึงชื่นชอบเป็นอย่างยิ่ง โดยส่วนตัวแล้วติดขัดใจบ้างแค่ Sound ช่วงหลังๆ ละนะ

หากความร่วมมือแผ่วงกว้างมาถึง สักวันปัญหาพลาสติกคงจางหาย เฉกเช่นเดียวกับเกลียวคลื่นสีทองที่กลืนกินรอยตีนอัลบาทรอส สักวัน กระมัง

 


เรื่อง/ภาพ พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร