ประเภทของนกอพยพที่พบในประเทศไทย

ประเภทของนกอพยพที่พบในประเทศไทย

เมื่อเร็วๆ นี้ เราเพิ่งได้เห็นการเดินทางของ ‘แร้งสีน้ำตาลหิมาลัย’ หลังได้รับอิสรภาพ ถูกปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เป็นการเดินทางครั้งใหม่หลังผ่านวันได้อพยพหนีหนาวลงมาตามเส้นทางที่ต้องบินผ่านประเทศไทย และหมดแรงร่วงหล่นลง

ซึ่งเป็นโชคดีที่หน่วยงานอนุรักษ์ของไทยสามารถเข้าช่วยเหลือได้ทันท่วงที ฟูมฟัก ดูแลจนพวกเขาสามารถกลับมาโผบินได้อีกครั้ง

สำหรับประเทศไทย แร้งสีน้ำตาลหิมาลัย หาใช่นกชนิดเดียวที่บินอพยพผ่านมาและพบเจอ เมื่อถึงช่วงฤดูหนาวของซีกโลกเหนือ ยังมีวิหคอีกหลายชนิดที่อพยพผ่าน พากันบินลงใต้เพื่อหาถิ่นที่อบอุ่นและอาหารอันอุดมสมบูรณ์ ซึ่งรวมถึงระบบนิเวศที่มีหลากหลายทางชีวภาพ เช่น พื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าชายเลน ทุ่งนา และชายฝั่งทะเล 

โดยนัยหนึ่งก็คงกล่าวได้ว่า นกจึงเปรียบเสมือนดัชนีบ่งชี้คุณภาพความสมบูรณ์ของทรัพยากรชีวภาพ 

บริเวณใดที่มีนกอพยพอาศัยหากินอยู่เป็นจำนวนมาก ย่อมหมายถึงพื้นที่นั้นมีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งยังประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นด้วย

ตามคำนิยามของ BirdLife International ‘นกอพยพ’ คือ นกที่มีรูปแบบการเคลื่อนย้ายตามฤดูกาลหรือประจำปีที่ชัดเจน ซึ่งครอบคลุมระยะทางต่างๆ จากไม่กี่กิโลเมตรจนถึงหลายพันกิโลเมตร 

โดยข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยพบนกไม่น้อยกว่า 996 ชนิด จัดเป็นนกอพยพจำนวน 326 ชนิด และนกประจำถิ่นที่มีประชากรอีกกลุ่มหนึ่งอพยพเข้ามาในฤดูหนาว จำนวน 89 ชนิด โดยแบ่งกลุ่มของนกอพยพเป็นกลุ่มต่างๆ ได้แก่ กลุ่มนกบก (Terrestrial Bird) กลุ่มนกทะเล (Sea Bird) กลุ่มนกชายเลน (Shore Bird) กลุ่มนกน้ำ  (Waterbird) กลุ่มห่านป่าและนกเป็ดน้ำ (Waterfowl) และกลุ่มนกล่าเหยื่อและอีแร้ง (Raptor)

แต่ละกลุ่มแต่ละชนิดยังสามารถแบ่งออกเป็นรูปแบบลักษรณะประเภทการอพยพที่แตกต่างกัน ซึ่งการปรากฏหรือการอาศัยอยู่ของนกในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 5 ประเภทใหญ่ๆ ประกอบด้วย 

1. นกประจำถิ่น (resident) คือ นกที่สร้างรัง วางไข่ และอาศัยอยู่ในประเทศไทยตลอดทั้งปี 

2. นกอพยพมาช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ (winter visitor หรือ non-breeding visitor) นกเหล่านี้จะผสมพันธุ์ สร้างรัง วางไข่ ในประเทศที่มีอากาศหนาวเย็นทางตอนเหนือ เช่น ตอนเหนือของประเทศจีน ไซบีเรีย เกาหลี ญี่ปุ่น บริเวณเทือกเขาหิมาลัย และที่ราบสูงทิเบต เป็นต้น แล้วจะมายังประเทศไทยในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน (บางชนิดอาจจะมาเร็วหรือช้ากว่านี้ ประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม) และอาศัยอยู่ในประเทศไทยตลอดช่วงฤดูหนาว จากนั้นจึงบินกลับถิ่นเดิมในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม ตัวอย่างเช่น พวกนกพงหญ้า นกกระจิ๊ด นกจับแมลง และนกจาบปีกอ่อน เป็นต้น บางครั้งก็เรียกนกพวกนี้ว่า นกอพยพมาในช่วงฤดูหนาว

3. นกอพยพผ่าน (passage migrant) จัดเป็นนกอพยพพวกหนึ่ง มีจุดหมายปลายทางที่ภาคใต้ของประเทศไทย มาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย นกเหล่านี้จะปรากฏในประเทศไทย (ยกเว้นภาคใต้) เป็นเวลาสั้นๆ ประมาณเดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤศจิกายน หลังจากนั้นก็จะเดินทางต่อไปยังจุดหมายดังกล่าว นกอพยพผ่านจะไม่สร้างรังวางไข่ในประเทศไทยแต่อย่างใด และอาจปรากฏอีกครั้งหนึ่งในช่วงอพยพกลับ ประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม หรืออาจไม่พบอีกเลยจนกว่าจะถึงฤดูอพยพปีต่อไป ตัวอย่างนกเหล่านี้ เช่น นกชายเลยส่วนใหญ่ นกกระจิ๊ดหัวมงกุฎ นกจับแมลงตะโพกเหลือง นกซ่อมทะเลอกแดง และนกอีเสือลายเสือ เป็นต้น

4. นกอพยพสร้างรัง (breeding visitor หรือ migrant breeder) นกเหล่านี้จะอพยพเข้ามายังประเทศไทยเพื่อผสมพันธุ์วางไข่โดยเฉพาะ เมื่อเลี้ยงดูลูกอ่อนจนกระทั่งแข็งแรงและบินได้แล้ว ก็จะอพยพกลับถิ่นเดิม นกเหล่านี้มักจะเป็นนกที่อาศัยอยู่ในเขตร้อนเช่นเดียวกับนกประจำถิ่น การอพยพส่วนใหญ่จึงเป็นการอพยพภายในเขตร้อนด้วยกัน และฤดูกาลอพยพก็ไม่จำเป็นต้องเป็นฤดูหนาวอย่างนกอพยพมาช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์หรือนกอพยพผ่าน ตัวอย่างเช่น นกยางดำ นกอีลุ้ม นกแต้วแล้ว (แต้วแร้ว) ธรรมดา และนกแอ่นทุ่งใหญ่ ซึ่งจะพบในเดือนเมษายน หรือพฤษภาคม สร้างรังวางไข่ในช่วงฤดูฝน และอาศัยอยู่จนกระทั่งเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ในภาคใต้อาจพบตลอดทั้งปี แต่ส่วนใหญ่จะย้ายถิ่นไปยังมาเลเซียและอินโดนีเซีย

5. นกหลงเข้ามา (vagrant) เป็นนกที่พบครั้งเดียวหรือน้อยครั้งมาก หรือเมื่อพิจารณาจากถิ่นกำเนินดแล้ว ไม่น่าพบในประเทศไทย หรือเป็นนกที่พบผิดสถานที่ เช่น นกจมูกหลอดลาย ซึ่งเป็นนกทะเล แต่กลับไปพบที่จังหวัดมหาสารคามภายหลังการเกิดภายุใต้ฝุ่น เป็นต้น

การทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘นกอพยพ’ และการจำแนกประเภท ถือเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญทั้งในเชิงอนุรักษ์และการศึกษาทางนิเวศวิทยา 

เพราะการเดินทางของนกแต่ละชนิด ต่างมีเหตุและผล รายละเอียดการจำแนกประเภทนกอพยพที่พบในประเทศไทย สามารถช่วยให้เราเข้าใจพฤติกรรมและวงจรชีวิตของนกแต่ละกลุ่มอย่างเป็นระบบ ข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวางแผนอนุรักษ์ถิ่นที่อยู่อาศัย การจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าชายเลน และแหล่งอาหารที่จำเป็นต่อนกอพยพ ทั้งยังเป็นตัวชี้วัดสุขภาพของระบบนิเวศที่มนุษย์เองก็พึ่งพาเช่นกัน

ปัจจุบัน มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ดำเนินโครงการจัดการระบบนิเวศในพื้นที่ป่าสงวนเพื่อแนวเชื่อมต่อป่าตะวันตกสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือโครงการเชื่อมป่าฯ โดยหนึ่งในกิจกรรมย่อยของโครงการ มีเรื่องการศึกษาความหลากหลายของชนิดนกอพยพที่พบในโครงการ กำหนดแผนงานตั้งแต่ตุลาคม 2567 – กันยายน 2568 เป็นระยะเวลา 1 ปี ได้รับการสนับสนุนงบประมาณทำกิจกรรมจากกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร ข้าว ขนส่ง และบริการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ภายใต้แผนงานระยะยาว มานับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ

อ้างอิง

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม