ทุกครั้งที่ไซเรนเตือนภัยส่งเสียงกังวาน มันคือสัญญาณบอกลาการทำไร่ไถนาและภาระงานต่างๆ วินาทีนั้นคนในชุมชนไผ่งามรู้ดีว่าไม่ควรมีใครเตร็ดเตร่อยู่นอกรั้วบ้าน เว้นเพียงชุดผลักดันช้างของชุมชนและทีมจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งที่ผ่านการฝึกฝนและมีประสบการณ์ทำงานมาอย่างดีแล้ว
รอให้มืออาชีพทำงานสำเร็จเสียก่อน แล้วค่อยออกมาสานต่องานที่คั่งค้าง แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีใครอยากเสี่ยง ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ
“เมื่อก่อนเราได้ยินเสียงหวอเตือนตอนเย็นๆ หรือไม่ก็กลางดึก แต่เดี๋ยวนี้บ่ายๆ ก็ได้ยินแล้วครับ” พี่โต้ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านไผ่งาม หมู่ที่ 10 ตำบลระบำ อำเภอลานสัก เล่าถึงสถานการณ์ช้างป่าที่ชุมชนประสบพบยามปัจจุบัน
ว่าพลางก็ชี้นิ้วไปยังชายป่าแนวเขตห้วยขาแข้งที่อยู่ห่างไปไม่ไกลนัก แล้วบอกต่อว่า “เขามาจากทางช่องนั้นล่ะ” ก่อนวาดนิ้วเป็นแนวชี้ผ่านไปยังป่าชุมชนและพื้นที่ทำกินชุมชน เพื่ออธิบายทางเดินของช้างป่า
ยามบ่ายที่สายฝนพรำเบาบาง รอยทางที่ช้างเดินผ่านยังปรากฏให้เห็นกลางไร่มันสำปะหลัง ทั้งต้นอ่อนที่บี้แบนราบกับพื้น สลับร่องรอยการถอนทิ้ง
ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านไผ่งาม บอกว่า เป็นรอยใหม่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อคืนที่ผ่านมา
“เมื่อคืนมีช้างเข้ามาในที่ทำกินชุมชนทั้งหมด 3 ตัวครับ กลุ่มหนึ่งมากันสองตัว ส่วนอีกตัวเดินเดี่ยวๆ เข้าป่าชุมชนตัวเดียว”
“ผมกลับเข้าบ้านประมาณตีหนึ่งเห็นจะได้”
“อยู่เฝ้ากับเจ้าหน้าที่ห้วยขาแข้งครับ โชคดีว่าทางเจ้าหน้าที่เอาโดรนที่ตรวจจับความร้อนได้มาบินหาช้าง พอบินไปเจอว่าช้างอยู่ห่างชุมชนแล้วก็เบาใจหน่อย ถ้าไม่อย่างนั้นคงเฝ้าถึงเช้าแน่ๆ”
“เพราะตอนกลางคืนเราไม่รู้เลยว่าช้างอยู่ตรงไหน มันมองเห็นตัวยาก ถ้าช้างกลับเข้าป่าห้วยขาแข้งก็ไม่เป็นไร แต่เดี๋ยวนี้บางคืนก็ไม่ได้กลับเข้าป่า แต่ไปหลบหลับนอนอยู่ในป่าชุมชนหลังบ้านเรานี่เองครับ จะมีอยู่ตัวหนึ่งไม่ยอมไปไหนเลย ปักหลักอาศัยอยู่ตรงนี้ท่าเดียวเลย”
“โชคดีที่หมู่บ้านเรามีอุปกรณ์ส่งสัญญาณเตือนภัยคอยบอกเหตุอีกอย่าง เลยช่วยให้รู้ว่าช้างเข้ามาใกล้ชุมชนหรือยัง”
เครื่องส่งสัญญาณเตือนภัยที่พี่โต้งว่า เป็นอุปกรณ์ที่ทำขึ้นอย่างง่ายๆ มีชิ้นส่วนประกอบไม่กี่อย่าง มีลำโพงหวอ แบตเตอรี่ สวิทช์เปิดปิด และเชือกที่ขึงไว้ พอช้างผ่านมาโดนเชือกเสียงหวอก็จะดังเตือนแจ้งให้ทราบว่าตอนนี้มีช้างเข้ามาใกล้แล้ว
อาจมีบางคราวที่สะดุ้งเก้อบ้างในช่วงลมฝนแรงๆ กิ่งไม้หักร่วงมาโดนเชือกจนเสียงเตือนดังก้อง ทำคนผวาไปก่อนมีเหตุก็หลายครั้ง
ถึงจะรำคาญขัดใจในบางที แต่มันก็การันตีได้ว่าอุปกรณ์ที่มียังใช้งานได้ดี


“พอเสียงเตือนดัง ทีมผลักดันช้างป่าของชุมชนก็จะออกทำหน้าที่ทันที พร้อมๆ กับโทรแจ้งทีมของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเข้ามาช่วยไล่ด้วยอีกแรง”
“คนในหมู่บ้านก็จะรู้ว่ามีช้างมาแล้วนะ ถ้าเขาอยู่ในไร่ก็จะได้รีบกลับบ้าน” ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านอธิบายกฎระเบียบชุมชน อันเป็นที่ทราบถ้าเมื่อไหร่สัญญาณดังจะต้องปฏิบัติอย่างไร และย้ำด้วยว่า อุปกรณ์ช่วยเหลือชุมชนได้เยอะมากในเรื่องความปลอดภัย
แม้จะไม่ได้เป็นเครื่องมือที่ทันสมัย ไม่ได้เชื่อมต่อกับกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติและมีแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนเหมือนอย่างพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เพราะบริบทของพื้นที่มีข้อจำกัดแตกต่างกัน แต่สิ่งที่มีอยู่ก็เพียงพอสำหรับผ่านวันไปได้โดยไม่เกิดเหตุร้าย
พี่โต้ง ย้อนอดีตให้ฟังว่า เดิมไผ่งามใช้ลวดน็อค หรือลวดช็อตไฟฟ้าในการกันช้าง ชุมชนช่วยกันขึงกั้นขวางทางที่ช้างเคยผ่าน ตั้งใจใช้กระแสไฟทำให้ช้างตกใจและผละหันหน้าไปทางอื่น แต่ใช้ได้ไม่นานช้างก็เรียนรู้วิธีกำจัดสิ่งกีดขวางทางเดิน
“ใช้ได้ครั้งสองครั้ง พอครั้งที่สาม ช้างเอาต้นไม้มาพาดใส่ลวดแล้วก็ข้ามผ่านไปได้ง่ายๆ เลยหันมาพึ่งเรื่องสัญญาณเตือนภัยแทน”
ที่หมู่บ้านไผ่งามมีเครื่องส่งสัญญาณเตือนภัยติดไว้ทั้งหมด 5 จุด แต่ละจุดล้วนตั้งอยู่ในเส้นทางที่ช้างใช้สัญจรเป็นประจำ บางตัวได้รับการสนับสนุนจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง บางตัวได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
แต่กระนั้นในมุมของ ‘คนเฝ้าช้าง’ มองว่าที่มีอยู่ยังไม่พอสำหรับการเตือนให้ทราบ
“ผมคิดว่าถ้ามีอีกสัก 5 – 6 ตัว น่าจะพอ” พี่โต้งให้ความเห็น และอธิบายต่อว่า ช่วงปีนี้มีช้างมาทุกวัน บางวันมาหลายตัว แต่ละตัวต่างเดินไปคนละทางกัน และเริ่มเปิดเส้นทางเดินใหม่ๆ มากขึ้น หรือไม่บางครั้งผลักดันแล้ว ช้างยังวนเวียนอยู่ในพื้นที่ป่าชุมชน ไปโผล่ในจุดที่ไม่มีสัญญาณเตือนภัย ก็ไม่มีใครรู้ว่าช้างอยู่ไหน
ครั้นหวังพึ่งให้เจ้าหน้าที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งนำโดรนตรวจจับความร้อนมาช่วยบินหาก็ทำไม่ได้ทุกวัน เพราะเจ้าหน้าที่ต้องหมุนเวียนเครื่องมือนำไปใช้กับหมู่บ้านอื่นๆ อีกหลายสิบแห่งที่เผชิญปัญหาแบบเดียวกัน
และแม้ได้รับงบประมาณสนับสนุนในนามคนของเครือข่ายเฝ้าระวังช้างป่าและสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แต่รายจ่ายส่วนใหญ่หมดไปกับลูกบอลไล่นก ที่เป็นของจำพวกใช้แล้วหมดไป และมีความจำเป็นต้องซื้ออยู่ตลอด
นอกจากเรื่องที่มีไม่พอ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านไผ่งามยังสะท้อนการทำงานในช่วงที่ฝนพรำแบบนี้ว่า ต้องออกมาตรวจอุปกรณ์บ่อยๆ โดยเฉพาะตัวแบตเตอรี่ที่ถูกวางซ่อนไว้ใต้โคนไม้ มีถุงพลาสติกห่อไว้อย่างดี และมีกล่องพลาสติกวางกำบังไว้อีกชั้นกันไม่ให้เปียกน้ำ – นอกจากเรื่องนี้แล้วแกว่าอย่างอื่นก็ไม่มีอะไรน่าห่วง
เพราะข้อดีอย่างของเครื่องเตือนภัยคือ ไม่ค่อยถูกช้างทำลาย วิเคราะห์กันว่าอุปกรณ์มีขนาดเล็ก ช้างอาจหาไม่เจอ ของหมู่บ้านไผ่งามเท่าที่ใช้กันมาไม่เคยได้รับความเสียหายเพราะสัตว์ป่า หากมีเหตุที่ต้องเปลี่ยนเป็นเพราะรักษาไม่ดี เผลอปล่อยให้แบตเตอรี่เปียกน้ำ ไม่ก็เสื่อมสภาพไปตามอายุขัยสิ่งของ
สำหรับพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี ชุมชนที่มีแนวเขตติดกับป่าห้วยขาแข้ง ได้จัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังช้างป่าและสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ไว้ทั้งหมด 5 เครือข่าย มีสมาชิกเครือข่ายรวมเกือบ 30 หมู่บ้าน
แต่มีเพียงไม่กี่หมู่บ้านเท่านั้นที่มีอุปกรณ์ส่งเสียงเตือนภัยเป็นของตัวเอง หลักๆ เป็นชุมชนที่พบช้างป่าบ่อยครั้งจะมีกัน (แต่ก็ยังไม่ทั่วถึงทุกจุด) หลายๆ ชุมชนยังขาดอุปกรณ์ อาจเป็นเพราะบ้างเพิ่งเกิดปัญหา ช้างป่าเพิ่งกระจายตัวไปถึง บางครั้งบางเดือนจึงเห็นภาพการขอหยิบยืมเครื่องมือกันระหว่างหมู่บ้าน
เดือนนี้หมู่บ้านนี้ไม่เจอช้าง ขอย้ายของไปหมู่บ้านที่เจอก่อนได้ไหม
แบ่งกันเฝ้าระวัง ถ้อยทีถ้อยอาศัย ถูๆ ไถๆ กันไป จนกว่าจะมีอุปกรณ์ครบครันกว่านี้


ตลอดปี พ.ศ. 2568 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ให้การสนับสนุนเสบียงและอุปกรณ์ผลักดันช้างป่า แก่ชุดเฝ้าระวังผลักดันช้างป่า ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเครือข่ายเฝ้าระวังที่จัดตั้งโดยชุมชนเป็นประจำทุกเดือน ในกิจกรรมลาดตระเวนร่วมดูแลป้องกันทรัพยากรในป่าชุมชนและสนับสนุนเสบียงสำหรับเครือข่ายผลักดันสัตว์ป่า โดยใช้งบประมาณจากโครงการธรรมชาติปลอดภัย
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม