31.46% หรือ 101,785,271.58 ไร่ คือสถานภาพพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทย ณ ปัจจุบัน ลดลงจาก ปี 2566 เท่ากับ -32,884.18 ไร่ แม้ตัวเลข ณ ปัจจุบันจะไม่แตกต่างจาก ปี 2566 มากนัก
แต่การลดลงของพื้นที่ป่าไม้ในทุกๆ ปี ยังคงสะท้อนถึงการถูกคุกคามทั้งจากมนุษย์และภัยธรรมชาติอยู่เสมอ รวมทั้งระบบการจัดการ ควบคุม และดูแลทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เช่น ขาดการประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องแก่ภาคประชาชน การขาดแคลนบุคลากรที่จำเป็นหรือบุคลากรที่มีอยู่ขาดการพัฒนาองค์ความรู้ การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เข้มงวด เป็นต้น
แม้ปัจจุบันนโยบายป่าไม้แห่งชาติยังคงกำหนดเป้าหมายการมีพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศไทย แต่ภาพรวมสถานภาพพื้นที่ป่าไม้ยังคงสวนทางกับเป้าหมายของนโยบายป่าไม้แห่งชาติอยู่ และยังคงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งยังไม่นับรวมถึงผลกระทบที่นำไปสู่การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่า (Human-Wildlife Conflict)

สถานภาพพื้นที่ป่าไม้รายภูมิภาค
- ภาคกลาง 21.57% ของพื้นที่ภูมิภาค หรือ 12,274,498.17 ไร่ เพิ่มขึ้น +11,032.01 ไร่
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 14.89% ของพื้นที่ภูมิภาค หรือ 15,607,397.46 ไร่ ลดลง -732.61 ไร่
- ภาคตะวันออก 21.84% ของพื้นที่ภูมิภาค หรือ 4,707,727.11 ไร่ เพิ่มขึ้น +4,373.59 ไร่
- ภาคตะวันตก 58.82% ของพื้นที่ภูมิภาค หรือ 20,021,357.66 ไร่ ลดลง -12,448.71 ไร่
- ภาคใต้ 24.33% ของพื้นที่ภูมิภาค หรือ 11,227,655.72 ไร่ ลดลง -5,224.55 ไร่
- ภาคเหนือ 63.19% ของพื้นที่ภูมิภาค หรือ 37,946,635.46 ไร่ ลดลง -29,883.91 ไร่
- จังหวัดที่ไม่พบพื้นที่ป่าไม้ ได้แก่ นนทบุรี และปทุมธานี






การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ระหว่างปี 2566 และ 2567
- พื้นที่ป่าไม้ไม่เปลี่ยนแปลง 101,657,709.89 ไร่
- พื้นที่ป่าไม้เปลี่ยนแปลงเป็นพื้นที่ที่ไม่ใช่ป่าไม้ 160,445.88 ไร่
- พื้นที่ที่ไม่ใช่ป่าไม้เปลี่ยนแปลงเป็นพื้นที่ป่าไม้ 127,561.71 ไร่
สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้
สาเหตุของพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น
- การขยายตัวของพื้นที่ป่าไม้ตามธรรมชาติ
- การปลูกป่าเพื่อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ
- การปลูกป่าเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายของต้นไม้และสิ่งมีชีวิต
สาเหตุของพื้นที่ป่าไม้ลดลง
- การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินจากพื้นที่ป่าไม้ไปเป็นพื้นที่อื่นๆ เช่น พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง เป็นต้น
- เกิดจากปัญหาไฟป่า

นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าภาพรวมของสถานภาพพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทย ปี 2567 จะลดลง แต่กลับพบว่า ภาพรวมในระดับจังหวัดหลายๆจังหวัดมีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมและยินดี แต่ยังไม่สามารถไว้วางใจได้เนื่องจากยังคงมีภัยคุกคามในรูปแบบต่างๆ ที่ส่งผลกระทบทำให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญได้ทุกเวลา ดังนั้น การมีส่วนร่วมในการดูแล ปกป้องผืนป่า และสัตว์ป่า ของทุกภาคส่วนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
จังหวัดที่มีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น ได้แก่ พะเยา น่าน แพร่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง นครปฐม ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ชลบุรี ระยอง ชุมพร สตูล หนองคาย บึงกาฬ ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์

อ่านและดาวน์โหลดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ รายงานโครงการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ ปี พ.ศ. 2567