10 ปี สมุนไพรอินทรีย์ในป่าตะวันตก โครงการที่พิสูจน์ให้เห็นว่าคนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้

10 ปี สมุนไพรอินทรีย์ในป่าตะวันตก โครงการที่พิสูจน์ให้เห็นว่าคนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้

โครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตกเป็นโครงการที่จัดขึ้นเพื่อหนุนเสริมให้คนในชุมชนสามารถดำรงวิถีชีวิตอยู่ร่วมกับผืนป่าได้ ด้วยการพัฒนากลุ่มอาชีพให้เกิดความเข้มแข็งควบคู่ไปกับการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ

ในปีนี้ครบรอบ 10 ปี โครงการสมุนไพรอินทรีย์ฯ ที่ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้รับการสนับสนุนในการดำเนินโครงการจากธนาคารไทยพาณิชน์ ได้มีการจัดแสดงนิทรรศการและนำเสนอสินค้าจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในป่าตะวันตก ประกอบด้วย กลุ่มวิสาหกิจผ้าทอจอมป่า กลุ่มวิสาหกิจกาแฟรักษาป่าทีลอซู อ.อุ้มผาง จ.ตาก กลุ่มวิสาหกิจกาแฟออแกนิกไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี และนวดแผนไทย จากกลุ่มวิสาหกิจเกษตรอินทรีย์ลุ่มสุ่ม อ.ไทรโยค จ.อุทัยธานี

 

นายยุทธนา เพชรนิล ผู้จัดการโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก

10 ปี โครงการสมุนไพรอินทรีย์ อะไรที่บอกว่าคนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้

นายยุทธนา เพชรนิล ผู้จัดการโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก ได้พูดถึงโครงการในครั้งนี้ว่า ทางเลือกหนึ่งที่จะตอบโจทย์เรื่องของคนอยู่กับป่าได้ คือการสร้างงานในด้านที่ชุมชนมีความถนัดอยู่แล้วนั่นก็คือการทำเกษตร โจทย์คือจะทำอย่างไรให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นโดยที่ไม่ไปบุกรุก ถางป่าเพิ่ม งานที่ทำไม่ได้มุ่งเป้าไปที่เรื่องปากท้องอย่างเดียว แต่ยังมองในเรื่องการอนุรักษ์ด้วย ดังนั้นกฎกติกาของคนที่จะเข้าร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจก็ต้องมองเรื่องการอนุรักษ์ ตัวอย่างเรื่องการใช้พื้นที่ พื้นที่ที่ใช้ในการทำการเกษตรต้องเป็นพื้นที่ที่ถูกกฎหมาย และทางกลุ่มก็ไม่อนุญาตให้ใช้สารเคมีทุกชนิดในการเพาะปลูก คนที่ยอมรับได้ก็จะเข้าร่วมกลุ่ม

สมาชิกจะถูกพัฒนาในเรื่องของสิ่งแวดล้อม สุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม มันจะเดินไปพร้อม ๆ กัน ตัวที่จะพิสูจน์ว่ามันอยู่ได้นั่นก็คือตลอดระยะเวลา 10 ปี สมาชิกยังคงทำงานร่วมกันกับมูลนิธิสืบฯ ยังยึดเป็นอาชีพและเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ที่มูลนิธิสืบฯ ทำงานด้วยในวันนี้ที่เห็นชัดเจนมากที่สุดคือไม่มีการถางป่าเพิ่มเนื่องจากเขามีรายได้ที่เพียงพอแล้ว เขาไม่จำเป็นที่จะต้องไปทำในเรื่องที่ผิดกฎหมาย

การเติบโตของกลุ่มในอนาคตคือการสร้างความยั่งยืน และยังสามารถสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่

นายยุทธนา เล่าถึงการทำงานในปี 2556 ซึ่งในปีนั้นมีการประชุมใหญ่ร่วมกันระหว่างกลุ่มและมูลนิธิสืบฯ มีการวิเคราะห์วิสัยทัศน์ร่วมกันว่าแต่ละฝ่ายต้องการอะไรและช่วยกันวางยุทธศาสตร์ในอีก 5 ข้างหน้า ทุกคนมีความเห็นร่วมกันคือการที่กลุ่มเป็นที่หนึ่งในการผลิตสมุนไพรอินทรีย์ดีที่สุดในประเทศไทย ในขณะที่วันนี้รายได้เข้ากลุ่มทั้งหมดในป่าตะวันตกเกือบ ๆ 10 ล้านบาท เป็นเม็ดเงินที่หมุนเวียนในระบบและชุมชน

หัวใจสำคัญของการดำเนินโครงการตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา คือการสร้างความมั่นใจให้แก่คนในพื้นที่ว่าผลสุดท้ายแล้วเขาจะได้อะไร ถ้าเขาลงทุนปลูกสมุนไพรก็ต้องมีแผนอีกว่าจะทำอย่างไรให้ลูกค้าซื้อสินค้าเราในทุก ๆ ปี

วันนี้เรามีสมาชิกแทบจะครบทุกพื้นที่ในป่าตะวันตกแล้ว เรามองถึงความมั่นคง และความยั่งยืนของกลุ่มจากรุ่นสู่รุ่น ในอนาคตอาจจะมีคนรุ่นใหม่ที่เขาเข้ามา ถ้างานนี้ยังคงอยู่ก็หมายความว่ายังมีคนที่อยากทำในสิ่งนี้อยู่ ส่วนทิศทางมันจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับเหตุผลในอนาคต แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หลักการในการทำงานของกลุ่มยังไม่เคยเปลี่ยน

 

สิ่งที่อยากบอกในงานนิทรรศการแสดงผลงาน 10 ปี โครงการสมุนไพรอินทรีย์

เจตนาในการจัดงานคือเราอยากให้คนภายนอกรับรู้ว่าชุมชนที่อยู่ในป่าเขามีความอ่อนไหวจากโลกภายนอก ผู้คนพร้อมจะเอาเปรียบเขาอยู่ตลอดเวลา การสร้างความพร้อมในเรื่องของเงินทอง การเตรียมตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเหมือนเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เขา มูลนิธิสืบฯ ไม่ได้หวังให้เขามาปกป้องป่าแต่โครงการนี้หวังเพียงแค่ว่าจะทำอย่างไรให้วิถีชีวิตที่เป็นปกติของเขาไม่รบกวนป่าเพิ่ม ถ้ามันจะมีผลเรื่องการปกป้องป่าอย่างไรนั้นก็ถือเป็นกำไรมหาศาลที่เกิดขึ้น และในหลาย ๆ พื้นที่ที่มูลนิธิสืบฯ ทำงานก็เกิดกำไรแบบนี้ นายยุทธนา กล่าวทิ้งท้าย

นิทรรศการ 10 ปี โครงการสมุนไพรอินทรีย์ในป่าตะวันตกจะจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 26 เมษายน 2562 ณ. หอประชุมมหิศร SCB Park นอกจากการจัดแสดงนิทรรศการแล้วยังมีการออกร้านจัดจำหน่ายสินค้าอื่น ๆ จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เช่น ผ้าทอจอมป่า กาแฟรักษาป่าทีลอซู กาแฟออแกนิกไล่โว่ บริการนวดแผนไทย สินค้าและของที่ระลึกอื่น ๆ อีกมากมาย

 


บทความ นูรซาลบียะห์ เซ็ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร