อวนยักษ์ทับปะการัง ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพเกาะโลซิน จ.ปัตตานี

อวนยักษ์ทับปะการัง ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพเกาะโลซิน จ.ปัตตานี

14 มิถุนายน 2021 แฟนเพจ IMAN Camera ได้โพสต์ภาพและคลิปวีดีโอ อวนขนาดใหญ่ถูกทิ้งและทับอยู่บนแนวปะการัง บริเวณเกาะโลซิน จ.ปัตตานี

ภาพและคลิปที่ปรากฎ ถือเป็นหายนะร้ายแรงของท้องทะเล โดยเฉพาะกับแนวปะการังที่เสี่ยงต่อความเสียหายอย่างยิ่ง

ไม่มีข้อมูลปรากฎว่า อวนขนาดใหญ่นี้ถูกทิ้งให้ทับบนแนวปะการังนานเท่าไหร่

ข้อมูลจากผู้โพสต์ ระบุว่าพบเมื่อวันที่ 11-13 มิถุนายน 2021 

ในความเห็นของ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการทางทะเล คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ จากลักษณะสีปะการังที่เพิ่งเริ่มซีดจาง

หลังเรื่องนี้กลายเป็นที่สนใจ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้แจ้งแผนการดำเนินการแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าวออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยจะทำงานร่วมกับนักดำน้ำอาสาสมัครจำนวน 30 คน  และยังขอการสนับสนุนเรือเครนจากกองทัพเรือภาคที่ 2 จ.สงขลา (เรือ ต.911) และนักดำน้ำกองทัพเรือระดับมาสเตอร์อีก 11 นาย เพื่อร่วมภารกิจในระหว่างวันที่ 18 – 21 มิถุนายนนี้

เกาะโลซิน เป็นเกาะหินปูนขนาดเล็กกลางทะเลอ่าวไทย ถือเป็นแหล่งดำน้ำที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศ 

สภาพน้ำทะเลรอบๆ เกาะมีความใส สามารถมองเห็นได้ลึกหลายสิบเมตร 

ความที่เป็นเกาะกลางทะเล มีระยะห่างจากชายฝั่ง จ.ปัตตานี ประมาณ 72 กิโลเมตร ทั้งยังคาบเกี่ยวกับเขตภูมิศาสตร์ของประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ใต้น้ำบริเวณนี้มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และมีทรัพยากรสัตว์น้ำแตกต่างกับทะเลฝั่งอ่าวไทย

รอบเกาะโลซินมากด้วย แนวปะการังสมบูรณ์โอบล้อมโดยรอบ 

ประกอบไปด้วยปะการังแข็งกลุ่มเล็กๆ ส่วนใหญ่เป็นดงปะการังเขากวาง สลับกับปะการังช่องเล็กและปะการังรูปทรงแบบก้อนชนิดต่างๆ 

ในส่วนแนวปะการังน้ำลึก มีพวกปะการังอ่อนและกัลปังหาที่เต็มไปด้วยสีสันอันงดงาม

พร้อมกันนี้ ยังเป็นศูนย์รวมของสรรพชีวิตใต้ท้องทะเล มีสัตว์ทะเลหายากหลายชนิด เช่น ปลานกแก้วหัวโหนก ปลาหูช้าง แมนต้า โรนัน กระเบนนก

เมื่อเดือนมกราคม 2021 ครม.ได้พิจารณาเห็นชอบในหลักการ ให้เกาะโลซิน ต.น้ำบ่อ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนเสนอของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา ก่อนเสนอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้ง 

สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดร.ธรณ์ แสดงความเห็นถึงภาพที่ปรากฎไว้ด้วยกัน 3 ประเด็น

เรื่องแรก ให้รีบเอาอวนออกให้เร็วที่สุด เพื่อที่ปะการังจะไม่ตาย ปลาจะไม่ติดมากไปกว่านี้ 

เรื่องที่สอง ตามหาผู้กระทำผิด ดูว่าใครเป็นคนทำ ต้นเหตุมาจากไหน เพื่ออุดรูรั่วให้ตรงจุด

และเรื่องสุดท้าย นักวิชาการแนะว่า ต้องยกระดับการดูแลทะเลให้มากขึ้น เช่น การประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครอง

“เราจำเป็นต้องดูแลทะเลให้มากกว่านี้ ท่ามกลางการจับจ้องของชาวโลก G7 เพิ่งประกาศว่า 30% ของมหาสมุทรต้องได้รับการดูแลภายใน 2030 ยังจัดตั้งกองทุน Blue Planet เพื่อสนับสนุนโดยเฉพาะ ความสูญเสียด้านระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพเป็นหนึ่งในสองประเด็นหลักที่ G7 พูดถึง อเมริกามี MMPA กำลังจะลุยผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำส่งออก ภาพอวนถล่มโลซิน คงไม่ส่งผลดีกับจุดยืนของประเทศไทยอย่างแน่นอน”

อนึ่ง ระบบฐานข้อมูลกลางและมาตรฐานข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า “อวน” เป็นปัญหาใหญ่ต่อแนวปะการัง

ซึ่งสามารถพบอวนขนาดต่างๆ ปกคลุมอยู่บนปะการังได้เกือบทุกท้องที่

อวนที่ปกคลุมปะการังจะทำให้ปะการังตาย เพราะปะการังไม่สามารถรับแสงแดดได้ และสาหร่ายที่มีลักษณะเหมือนตะไคร่น้ำขึ้นปกคลุมอวนอีกทีหนึ่ง 

แหล่งที่มาของเศษอวนเกิดขึ้นได้หลายทาง เช่น อาจเกิดจากชาวประมงซ่อมอวนและตัดเศษอวนที่ไม่ใช้ทิ้งลงทะเล 

ชาวประมงวางอวนถ่วงตามแนวปะการัง เมื่ออวนขาด และพันกับปะการัง แล้วไม่ได้เก็บขึ้นมา

อวนจากเรืออวนล้อมหรือเรืออวนลากขาด ถูกพัดพาไปตามกระแสน้ำ และตกค้างบนแนวปะการัง 

หรืออาจเกิดจากการลากอวนใกล้ชายฝั่งตามเกาะต่างๆ อาจทำให้อวนติดพันตามกองหิน ทำให้อวนขาด และตกค้างอยู่ในแนวปะการัง 

 


อ้างอิง

ผู้เขียน

Website | + posts

โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน