โครงการอนุรักษ์และวิจัยประชากรเสือปลา ในพื้นที่ อช.เขาสามร้อยยอดและพื้นที่โดยรอบ

โครงการอนุรักษ์และวิจัยประชากรเสือปลา ในพื้นที่ อช.เขาสามร้อยยอดและพื้นที่โดยรอบ

ความเป็นมาโครงการอนุรักษ์และวิจัยประชากรเสือปลา

เสือปลา (Fishing cat) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Prionailurus viverrinus เป็น 1 ใน 9 สัตว์ตระกูลแมวป่าในประเทศไทย ได้แก่ เสือโคร่ง เสือดาว/เสือดำ  เสือปลา เสือกระต่าย เสือไฟ เสือลายเมฆ แมวดาว แมวป่าหัวแบน และ แมวลายหินอ่อน โดยเสือปลาเป็นแมวป่าขนาดเล็ก ลักษณะคล้ายกับแมวดาว ทำให้บ่อยครั้งมักเกิดความสับสนระหว่างสองชนิดนี้ ปัจจุบันเสือปลามีสถานภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Vulnerable) ตาม IUCN Red List ในขณะที่ประเทศไทยเสือปลาได้รับการปรับสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) แสดงให้เห็นว่า สถานภาพของประชากรเสือปลากำลังน่าเป็นห่วง

ปัจจุบันถิ่นอาศัยแหล่งสำคัญที่ใหญ่ที่สุดของเสือปลา คือ พื้นที่ชุ่มน้ำสามร้อยยอด ซึ่งตั้งอยู่ในและโดยรอบอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ด้วยความหลากหลายของระบบนิเวศมากถึง 10 ประเภท (สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม, 2542) จึงเป็นบ้านของชนิดพันธุ์หายากอีกหลายชนิด อย่างไรก็ตาม ปัจจัยคุกคามสำคัญต่อเสือปลา คือ การขยายตัวของชุมชน ซึ่งส่งผลต่อการดำรงชีวิตของเสือปลา รวมถึงการประกอบอาชีพที่มีการพัฒนามากยิ่งขึ้น ทำให้ในพื้นที่เริ่มมีการทำบ่อกุ้ง บ่อปลาแบบพัฒนามากขึ้นตามราคาตลาด จากการศึกษาโดย กิติพัทธิ์ (2562) ซึ่งทำการประเมินประชากรและความหนาแน่นของเสือปลาในอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด พบว่า

ประชากรเสือปลาส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์นอกพื้นที่อนุรักษ์ โดยมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 66 ตัวในพื้นที่ศึกษา 225 ตร.กม. อีกทั้งจากการสัมภาษณ์คนในพื้นที่ พบว่าเสือปลาก็มีการใช้ประโยชน์บริเวณบ่อปลาของชาวบ้านเช่นกัน นอกจากนี้ ด้วยพฤติกรรมของเสือปลาที่มีการบริโภคสัตว์ปีกเป็นอาหาร ในขณะเดียวกันพื้นที่ชุมชนที่ขยายตัวมากขึ้น ส่งผลให้ปศุสัตว์ หรือสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ ก็มีจำนวนมากขึ้นตาม จึงเกิดการใช้พื้นที่ซ้อนทับกับเสือปลา บ่อยครั้งเสือปลาจึงมักเข้ามาบริเวณชุมชนเพื่อล่าไก่และไก่ชนซึ่งมีมูลค่าสูงเป็นอาหาร อันนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างเสือปลากับชาวบ้านในพื้นที่ และมีบางกลุ่มที่ทำร้ายเสือปลาจากสาเหตุดังกล่าว กอปรกับความรู้ความเข้าใจในประโยชน์ของการอนุรักษ์เสือปลาของชุมชนยังมีแค่ในคนบางกลุ่มเท่านั้น

การสร้างความเข้าใจต่อการอนุรักษ์เสือปลาควบคู่กับงานวิจัยเพื่อพัฒนาการอนุรักษ์และการจัดการพื้นที่ตามหลักวิชาการจึงต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน และจำเป็นต้องรับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นชุมชนในพื้นที่ หน่วยงานภาครัฐ หรือองค์กรเอกชน เป็นต้น จึงเกิดแนวคิดในการอนุรักษ์ประชากรเสือปลาในพื้นที่ โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิสืบนาคะเสถียร แพนเทอรา (Panthera) ประเทศไทย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางขุนเทียน) และชุมชนในพื้นที่ 

โดยที่ผ่านมา มูลนิธิสืบฯ และหน่วยงานร่วม ได้นำเสนอข้อมูลและเป้าหมายการดำเนินโครงการต่อผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ และผู้อำนวยการส่วนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2563 จึงได้จัดการประชุมเพื่อพัฒนา “โครงการอนุรักษ์และวิจัยประชากรเสือปลาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดและพื้นที่โดยรอบ” เพื่อร่วมกันระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนการดำเนินงานที่เหมาะสมภายใต้โครงการดังกล่าว หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2564 ได้มีการนำเสนอโครงการฯ แก่ผู้อำนวยการส่วนส่วนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ สำนักอุทยานแห่งชาติ และหัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า กรมอุทยานฯ เพื่อหารือกรอบกิจกรรมและขอคำปรึกษาดำเนินการขออนุมัติโครงการแก่กรมอุทยานฯ ในการดำเนินโครงการในพื้นที่อนุรักษ์ต่อไป 

โครงการอนุรักษ์และวิจัยประชากรเสือปลาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดและพื้นที่โดยรอบ มีกรอบระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี (พ.ศ. 2564 – 2568) โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อการอนุรักษ์เสือปลาและถิ่นอาศัยของเสือปลาอย่างมีส่วนร่วมตามหลักวิชาการ ในขณะเดียวกันชุมชนเกิดความตระหนักและได้รับประโยชน์ต่อการมีอยู่ของเสือปลาในพื้นที่ อันเป็นการสร้างเครือข่ายการอนุรักษ์เสือปลาในพื้นที่ นำไปสู่การลดความขัดแย้งระหว่างคนกับเสือปลา และอยู่ร่วมกันได้โดยชุมชนมีทางเลือก

ภาพจากกล้องดักถ่ายภาพ (Camera tap)

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อป้องกันและชะลอการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ถิ่นที่อยู่อาศัย และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชากร เสือปลาในพื้นที่
  2. เพื่อเกิดกลุ่มอนุรักษ์เสือปลา ผ่านการสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์เสือปลา และเครือข่ายนอกพื้นที่อื่น ๆ
  3. เพื่อติดตามสถานภาพ และเกิดข้อมูลเสือปลาเป็นข้อมูลวิชาการ เสนอต่อระดับนโยบายนำไปสู่การผลักดันให้ออกเป็นนโยบาย

เป้าหมาย

เกิดการอนุรักษ์เสือปลาและถิ่นอาศัยของเสือปลาอย่างมีส่วนร่วมตามหลักวิชาการ ในขณะเดียวกันชุมชนเกิดความตระหนักและได้รับประโยชน์ต่อการมีอยู่ของเสือปลาในพื้นที่ อันเป็นการสร้างเครือข่ายการอนุรักษ์เสือปลาในพื้นที่ นำไปสู่การลดความขัดแย้งระหว่างคนกับเสือปลา และอยู่ร่วมกันได้โดยชุมชนมีทางเลือก

พื้นที่ดำเนินงาน

1.  พื้นที่เป้าหมายงานอนุรักษ์และการศึกษาทางสังคม ประกอบด้วย 7 หมู่บ้านบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จ. ประจวบคีรีขันธ์ ได้แก่

  1. หมู่บ้านดอนยายหนู ตำบลดอนยายหนู อำเภอกุยบุรี 
  2. หมู่บ้านดอนมะขาม ตำบลดอนยายหนู อำเภอกุยบุรี 
  3. หมู่บ้านหนองจอก ตำบลดอนยายหนู อำเภอกุยบุรี 
  4. หมู่บ้านดอนบ่อกุ่ม ตำบลดอนยายหนู อำเภอกุยบุรี 
  5. หมู่บ้านเขาแดง ตำบลเขาแดง อำเภอกุยบุรี 
  6. หมู่บ้านเกาะไผ่ – เกาะมอญ ตำบลไร่เก่า อำเภอสามร้อยยอด 

2.  พื้นที่ศึกษาวิจัยประชากรเสือปลา นิเวศวิทยา และพื้นที่เหมาะสมการใช้ประโยชน์ของเสือปลาในพื้นที่ ได้แก่

  1. พื้นที่ชุ่มน้ำทั้งภายในและรอบนอกอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด (ครอบคลุมพื้นที่ 225 ตร.กม.)
  2. เส้นทาง/แนวลำคลองบริเวณรั้วแนวรถไฟ

หน่วยงานที่รับผิดชอบ

  1. มูลนิธิสืบนาคะเสถียร 
  2. แพนเทอรา (Panthera) ประเทศไทย
  3. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช/อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด 
  4. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางขุนเทียน)  
  5. สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ระยะเวลาดำเนินการ

โครงการอนุรักษ์และวิจัยประชากรเสือปลาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดและพื้นที่โดยรอบ มีกรอบระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี (พ.ศ. 2564 – 2568) ตั้งแต่ วันที่ 31 มกราคม 2564 – 1 กุมภาพันธ์ 2568 

แผนงานและวิธีการดำเนินการ

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางขุนเทียน) มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และแพนเทอรา (Panthera) ประเทศไทย ได้จัดการประชุมพัฒนาแผนโครงการอนุรักษ์และวิจัยเสือปลาในอุทยานฯ เขาสามร้อยยอดและพื้นที่โดยรอบ ณ ที่ทำการอุทยานฯ เขาสามร้อยยอด ร่วมกับชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์เสือปลาอย่างมีส่วนร่วมในพื้นที่ ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ 1  ป้องกันและชะลอการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ถิ่นอาศัยของเสือปลา
ยุทธศาสตร์ที่ 2  การป้องกันและลดผลกระทบที่เกิดจากเสือปลา
ยุทธศาสตร์ที่ 3  การสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์เสือปลาในพื้นที่
ยุทธศาสตร์ที่ 4  การสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อให้เกิดความตระหนักในการอนุรักษ์ประชากรเสือ ปลาและถิ่นอาศัย
ยุทธศาสตร์ที่ 5 การติดตามสถานภาพของเสือปลาในพื้นที่ศึกษา
ยุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหารจัดการ

งบประมาณดำเนินการ 

งบประมาณดำเนินการ 5 ปี รวมทั้งสิ้น  10,435,500 บาท (สิบล้านสี่แสนสามหมื่นห้าพันห้าร้อยบาทถ้วน) โดยขอสนับสนุนแหล่งทุนจากภายนอก

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

ลดความขัดแย้งระหว่างคนกับเสือปลาในพื้นที่ ผ่านกระบวนการอนุรักษ์อย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดการทรัพยากร และการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อลดผลกระทบต่อประชากรเสือปลา รวมถึงชุมชนในพื้นที่มีทางเลือกในการปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับเสือปลาอย่างยั่งยืน และเห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์เสือปลา โดยผ่านกระบวนการส่งเสริมการมีส่วนร่วม การสื่อสาร การส่งเสริมอาชีพ บนพื้นฐานของงานการศึกษาวิจัย  และเกิดฐานข้อมูลเสือปลาเพื่อนำไปสู่การจัดการสัตว์ป่าและบรรเทาความขัดแย้งระหว่างคนกับเสือปลา

ผู้ประสานงานโครงการ

นางสาวกมลเนตร จันทร์แก้ว เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
140 ถ.ติวานนท์ ต.บางกระสอ อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี 11000 โทรศัพท์ 02-580-4381

 

ร่วมสนับสนุนการทำงานรักษาป่าผืนใหญ่กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร