โครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย ต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งในพื้นที่ธรรมชาติ

โครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย ต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งในพื้นที่ธรรมชาติ

หลังจากเกิดโศกนาฏกรรมใจกลางผืนป่าห้วยขาแข้ง ในปี 2535 ที่ทำให้พญาแร้งล้มตายเกือบยกฝูงและเรียกได้ว่าสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติของผืนป่าเมืองไทย ทำให้ระบบนิเวศต้องขาดผู้เล่นที่สำคัญไป

สัตว์ตระกูลแร้งเปรียบเสมือน ‘เทศบาลประจำป่า’ ผู้มีหน้าที่ทำความสะอาด โดยการกินซากสัตว์ที่ตายแล้ว การมีอยู่ของพญาแร้งจึงเป็นการตัดวงจรการขยายพันธุ์ของโรคระบาดที่เกิดขึ้นและอาศัยอยู่ในตัวสัตว์ป่า ซึ่งหากมองในมุมด้านสุขอนามัย พญาแร้งจึงถือว่ามีความสำคัญอย่างมากในฐานะผู้ดูแลสุขภาพของผืนป่าให้ปลอดภัยปราศจากโรคร้าย  และถือได้ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตอีกหนึ่งชนิดที่เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าใหญ่ 

ปัจจุบันประเทศไทยมีพญาแร้งในกรงเลี้ยงที่ได้มาจากการพลัดหลงจากการอพยพผ่านประเทศไทยและนำมาดูแลเพื่อฟื้นฟูสภาพที่สวนสัตว์นครราชสีมาและสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้งจำนวน 5 ตัว ถือเป็นโอกาสดีในการที่จะฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในธรรมชาติถิ่นอาศัยเดิมในผืนป่ามรดกโลกทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง จึงมีความพยายามจากหลายภาคส่วนในการช่วยกันฟื้นฟูประชากรพญาแร้งและเพาะขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มความหลากหลายของชนิดพันธุ์สัตว์กินซาก (Scavenger)

ทำให้เกิดการหมุนเวียนของห่วงโซ่อาหารที่สำคัญในระบบนิเวศซึ่งเป็นการเสริมสร้างความสมดุลของระบบนิเวศผืนป่ามรดกโลก โดยบูรณาการองค์ความรู้ในเรื่องการเพาะเลี้ยง การฟื้นฟูถิ่นอาศัย การสำรวจและวิจัย รวมถึงการสร้างความเข้าใจกับชุมชนในพื้นที่เพื่อเป็นต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในพื้นที่ธรรมชาติ 

ภาพ: ไชยยันต์ เกษรดอกบัว

วัตถุประสงค์ 

1. เพื่อฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย บริเวณพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง
2. เพื่อศึกษาข้อมูลทางด้านชีววิทยาและนิเวศวิทยาของแร้งในพื้นที่ถิ่นอาศัยในธรรมชาติ
3. เพื่อสำรวจประชากรนกกลุ่มแร้งในพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสมเพื่อเป็นแหล่งพันธุกรรม
4. เพื่อใช้เป็นโครงการต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งประจำถิ่นอีก 2 ชนิด ของประเทศไทย ได้แก่ แร้งเทาหลังขาวและแร้งสีน้ำตาล
5. สร้างเครือข่ายการอนุรักษ์นกกลุ่มแร้งทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระหว่างประเทศ

เป้าหมาย

เพิ่มความหลากหลายในระบบนิเวศโดยเฉพาะชนิดพันธุ์ที่เป็นสัตว์กินซาก(Scavenger) โดยการเพิ่มประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัย บริเวณพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ซึ่งจะเป็นโครงการต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งในพื้นที่ธรรมชาติ และสร้างเครือข่ายการอนุรักษ์ นกกลุ่มแร้งทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศและระดับระหว่างประเทศ

พื้นที่ดำเนินงาน

1. พื้นที่มรดกโลกธรรมชาติทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง
2. พื้นที่อนุรักษ์ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือทางตอนใต้ ที่มีศักยภาพเป็นถิ่นอาศัยของนกกลุ่มแร้งโดยเน้นชนิดเป้าหมาย 2 ชนิด คือพญาแร้งและแร้งเทาหลังขาว
3. สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
4. สวนสัตว์นครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา

หน่วยงานที่รับผิดชอบ

1. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
2. องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์
3. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
4. มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ภาพ: ไชยยันต์ เกษรดอกบัว

ระยะเวลาดำเนินการ 

ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 – 30 กันยายน 2568 โดยแบ่งช่วงการดำเนินการเป็น 3 ระยะดังนี้ 

ระยะที่ 1 ระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563) ดำเนินการประชุมวางแผนจัดทำโครงการ

ระยะที่ 2 ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี 9 เดือน (วันที่ 1 มกราคม 2564 – 30 กันยายน 2566) ดำเนินการศึกษาพฤติกรรมและเก็บข้อมูลอื่นๆ ของพญาแร้งในกรงเลี้ยง จับคู่ผสมพันธุ์ ติดตาม วิเคราะห์ ประเมินผล และประชาสัมพันธ์เผยแพร่ รวมถึงการสำรวจประชากรนกกลุ่มแร้ง โดยเน้นชนิดเป้าหมาย 2 ชนิด คือพญาแร้ง และแร้งเทาหลังขาว บริเวณพื้นที่ป่าอนุรักษ์กลุ่มป่าพนมดงรัก – ผาแต้ม ประกอบด้วยพื้นที่อนุรักษ์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาพระวิหาร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าบุญฑริก-ยอดมน อุทยานแห่งชาติภูจอง-นายอย 

ระยะที่ 3 ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี (วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 30 กันยายน 2568) เป็นการดำเนินการฝึกเตรียมปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ พร้อมทั้งติดตามประเมินผลหลังการปล่อย

ภาพ: อนุภาพ แย้มดี

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

สามารถฟื้นฟูและเพิ่มประชากรของพญาแร้งในกรงเลี้ยงและบริเวณพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งโดยการใช้องค์ความรู้ในเรื่องการเพาะเลี้ยงการฟื้นฟูถิ่นอาศัยการสำรวจและวิจัยรวมถึงการสร้างความเข้าใจกับชุมชนในพื้นที่โดยการเรียนรู้จากทัศนคติของชุมชนและเป็นต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในพื้นที่ธรรมชาติ

ทุกท่านสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทยเพื่อเป็นต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งในพื้นที่ธรรมชาติในการช่วยฟื้นฟูประชากรพญาแร้งให้กลับคืนมาผ่านการบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาวิจัยและการฟื้นฟูประชากรได้ที่ โครงการพญาแร้งคืนถิ่น ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส รัตนาธิเบศร์ บัญชีเลขที่ 679-6-72119-5

 


ภาพเปิดเรื่อง ปิยะพงษ์ ชิณเดช