อนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ สืบ นาคะเสถียร

อนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ สืบ นาคะเสถียร

การจากไปของสืบ นาคะเสถียร ได้สร้างความสั่นสะเทือนต่อสังคมไทยอย่างไม่มีใครคาดคิดว่าข้าราชการคนหนึ่งจะตัดสินใจเรียกร้องให้สังคมหันมาสนใจปัญหาป่าไม้สัตว์ป่าด้วยการจบชีวิตตนเองลง

สืบ นาคะเสถียร จากไปในเช้ามืดของวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 ณ บ้านพักในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี และได้ทำการการเคลื่อนย้ายศพมาทำพิธีทางศาสนาที่วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร

แต่ละวันมีเพื่อนพ้องน้องพี่เดินทางมาเคารพศพเพื่อนผู้จากไปเป็นครั้งสุดท้าย ได้มีการพูดคุยถึงการตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียรขึ้นเพื่อสืบทอดเจตนานั้นให้ยังคงอยู่

ในวันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2533 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ไปในการสวดพระอภิธรรมศพ และในวันเสาร์ที่ 8 กันยายน ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรมราชานุเคราะห์ในการพระราชทานเพลิงศพ เป็นกรณีพิเศษ และทรงโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีเป็นผู้แทนพระองค์ไปในงานวันพระราชทานเพลิงศพ

ขณะเดียวกันก็ได้มีการจัดพิมพ์หนังสืออนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ สืบ นาคะเสถียรขึ้นเพื่อระลึกถึงข้าราชการคนดีผู้จากไป

สำหรับ หนังสืออนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ สืบ นาคะเสถียร เล่มนี้ แบ่งเรื่องราวออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ประวัติสืบนาคะเสถียร และคำไว้อาลัย จากครอบครัว และเพื่อนร่วมงาน

 

“ปัญหาย่อมมีทางออกของมันเสมอ แต่กับเขาแล้ว ปัญหาที่รุมเร้าเข้ามาดูจะไม่มีทางออก

รุ่งเช้าวันเสาร์ที่ 1 กันยายน 2533 แบบอย่างข้าราชการไทย ลูกที่ดีของ
แผ่นดินสยามก็จบชีวิตตัวเองด้วยวัยสี่สิบปีเศษที่ห้วยขาแข้ง

สัตว์ป่าเมืองไทยพากันสะอื้นไห้ราวกำพร้าพ่อที่เคยปกป้องชีวิตพวกเขา

หลับให้สนิทเถิดพี่สืบ พี่ยังอยู่ในใจพวกเราทุกคนตราบนิรันดร์

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นิตยสาร ‘สารคดี’

 

ส่วนที่สองเป็นผลงานของสืบ นาคะเสถียร ซึ่งได้รับคัดเลือกมาตีพิมพ์ไว้ 2 ชิ้น คือ บทความคัดย่อจากรายงานการนำเสนอองค์การสหประชาชาติเพื่อให้ป่า ‘เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง’ เป็น ‘มรดกทางธรรมชาติของโลก’ โดย สืบ นาคะเสถียร และเบลินดา สจ๊วต ค็อกซ์ และได้ยกเอารายงานการอพยพสัตว์ป่าตกค้างที่เขื่อนเชี่ยวหลาน (รัชชประภา) จังหวัดสุราษฏร์ธานี มาจัดพิมพ์ไว้แนบท้าย

รายงานเสนอให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง เป็นมรดกโลกนั้น ถือได้ว่าเป็นงานวิชาการชิ้นสุดท้ายของสืบ นาคะเสถียร ที่เกิดผลขึ้นมาในอีก 1 ปีให้หลังการเสียชีวิต คือ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2534 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั้งสองแห่งก็ได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย

งานอพยพสัตว์ป่าตกค้างที่เขื่อนเชี่ยวหลานนั้น ถือเป็นงานสำคัญงานหนึ่งในชีวิตของสืบ นาคะเสถียร ที่เขารับหน้าที่เป็นหัวหน้าดำเนินโครงการที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย

แต่กระนั้นบทเรียนของโครงการก็ได้ก่อให้เกิดคุณูปการด้านความรู้ที่สำคัญต่อการทำงานอนุรักษ์และผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในพื้นที่อนุรักษ์ว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศผืนป่าและสัตว์ป่ามหาศาลเพียงใด

นอกจากนี้ ยังถือเป็นครั้งแรกๆ ที่ได้ทำให้ใครต่อใครหลายคนได้รู้จักกับสืบ นาคะเสถียร ทั้งจากในรายงานสารคดีเรื่อง อพยพสัตว์ป่าไม่มีพรุ่งนี้สำหรับลมหายใจ ในนิตยสารสารคดี และจากรายการสารคดีส่องโลก ของคุณโจ๋ย บางจาก

 

สำหรับไฟล์หนังสือที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรนำมาให้อ่านกันด้านล่างนี้ ตัดมาเฉพาะส่วนคำอาลัยจากเพื่อนพ้องน้องพี่ถึงนักอนุรักษ์ที่จากไป