โครงการสะพานบุญ เพื่อผู้พิทักษ์ป่า

โครงการสะพานบุญ เพื่อผู้พิทักษ์ป่า

หลักการและเหตุผล

ทางฝั่งตะวันตกของประเทศไทย มีผืนป่าอนุรักษ์เชื่อมต่อกกันเป็นขนาดใหญ่ ประมาณ 12 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่คุ้มครอง 17 แห่ง ใน 6 จังหวัด คือจังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ กำแพงเพชร และตาก มีกิจกรรมลาดตระเวนร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทั่วผืนป่าตะวันตก เพื่อปกป้องพื้นที่คุ้มครองทั้ง 17 แห่ง อันประกอบด้วย อุทบานแห่งชาติ 11 พื้นที่ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเอราวัณ อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ อุทยานแห่งชาติพุเตย อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อุทยานแห่งชาติคลองลาน อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า อุทยานแห่งชาติลำคลองงู อุทยานแห่งชาติเขาแหลม อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ อุทยานแห่งชาติไทรโยค เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 6 พื้นที่ ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก และด้านตะวันออก หรือที่เรียกกันในภาพรวมว่า ผืนป่าตะวันตก

ซึ่งผืนป่าแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีลักษณะป่าหลากหลายประเภท อาทิ ป่าดงดิบ ป่าผลัดใบ ป่าดิบเขา ป่าพรุน้ำจืด ทุ่งหญ้า เป็นผลมาจากสภาพอากาศ ปริมาณน้ำฝน ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล มีสภาพพื้นที่ที่เป็นยอดเขาสูง แม่น้ำ และถ้ำหินปูน ซึ่งเหมาะสมกับการเป็นถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่าหลากหลายชนิด ซึ่งมีลักษณะการดำรงชีวิต และถิ่นที่อยู่ที่แตกต่างกัน ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้ แม่น้ำ ดิน และสภาพอากาศ เป็นตัวกำหนดชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าที่พบในบริเวณนั้น จึงส่งผลให้ป่าตะวันตกมีความหลากหลายของพืชพันธุ์และสัตว์สูง โดยจากข้อมูลพบว่ามีพันธุ์พืชจำนวนมากกว่า 3,500 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มากกว่า 150 ชนิด นก มากกว่า 490 ชนิด ปลา มากกว่า 108 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน มากกว่า 90 ชนิด และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ มากกว่า 40 ชนิด

ทั้งนี้รอบผืนป่าตะวันตก มีชุมชนกว่า 400 ชุมชนตั้งอยู่ เป็นสาเหตุหนึ่งของภัยคุกคามต่างๆ ที่มีต่อผืนป่า เช่น การลักลอบล่าสัตว์ป่า และการลักลอบตัดไม้ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่นั้นล้วนมาจากคนทั้งภายในและภายนอกชุมชน

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ให้การสนับสนุนงานลาดตระเวนอย่างมีส่วนร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ากับชาวบ้านในชุมชนเพื่อดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติทั้งภายในพื้นที่ใช้ประโยชน์ชุมชนและบริเวณโดยรอบที่ตั้งชุมชน ขณะเดียวกันก็สนับสนุนงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) ซึ่งดำเนินกิจกรรมงานลาดตระเวนทั้ง 2 ประเภท เป็นงานที่เสี่ยงอันตรายมาก จากทั้งผู้ที่ลักลอบกระทำความผิดกฎหมายและจากสัตว์ป่า เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าแทบทุกคนไม่มีสวสัดิการใดๆ และยังขาดความพร้อมเรื่องเสบียงอาหาร ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จึงได้จัดทำโครงการสะพานบุญเพื่อผู้พิทักษ์ป่าขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเอกชน วัด และพื้นที่อนุรักษ์ โดยขอความอนุเคราะห์การสนับสนุนข่าวสาร อาหารแห้งจากวัดต่างๆ ที่ประชาชนได้มาทำบุญ เพราะแต่ละวัดจะมีสิ่งของที่เหลือใช้เป็นจำนวนมาก สามารถนำไปมอบให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าได้ใช้ในการเดินลาดตระเวนป้องกันรักษาป่าให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นขวัญกำลังใจต่อผู้ปฏิบัติงานต่อไป

วัตถุประสงค์

1. เพื่อขอสนับสนุนเสบียงอาหารจากวัด และนำไปใช้ในการเดินลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในพื้นที่อนุรักษ์ทั่วผืนป่าตะวันตก จำนวน 17 แห่ง

2. เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ อันจะส่งผลให้งานลาดตระเวนป้องกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติเกิดประสิทธิภาพ

3. เพื่อสนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติจากทุกภาคส่วน ทั้งจากวัด ภาครัฐ ภาคเอกชน และสาธารณชน

แนวทางการดำเนินงาน

1. ประสานสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของหน่วยงานอนุรักษ์ในพื้นที่ เพื่อหารือแนวทางดำเนินโครงการ
2. ประสานกับวัดและหน่วยงานเอกชน เพื่อขอรับการสนับสนุนในการดำเนินโครงการ
3. ประสานอาสาสมัครเพื่อคัดแยกสิ่งของ และนำส่งพื้นที่คุ้มครอง (ส่งมอบพื้นที่ 3 เดือน/ครั้ง)
4. มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ติดตมผลการดำเนินงานพร้อมจัดทำรายงานผลการดำเนินโครงการมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
5. พัฒนาระบบสวัสดิการในหน่วยงานอนุรักษ์ในพื้นที่ตามความพร้อม

ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ

ระยะเวลา 1 ปี (มกราคม 2563 – ธันวาคม 2563)

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1. เจ้าหน้าที่พื้นที่อนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตก มีเสบียงอาหารในการเดินลาดตระเวนป่าอย่างเพียงพอ
2. เจ้าหน้าที่เกิดกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ อันจะส่งผลให้งานลาดตระเวนป้องกันรักษษทรัพยากรธรรมชาติเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น
3. หน่วยงานต่างๆ ทั้งวัด ภาครัฐ ภาคเอกชน และสาธารณชนที่ร่วมกิจกรรมเกิดการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

พื้นที่อนุรักษ์ จำนวนเจ้าหน้าที่
ทั้งหมด
จำนวนเจ้าหน้าที่
ลาดตระเวน
ข้าวสาร
(กิโลกรัม)
อาหารแห้ง
(ชิ้น)
อุทยานแห่งชาติเอราวัณ 194 34 428.4 4,284
อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ 77 13 163.8 1,638
อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ 160 56 705.6 7,056
อุทยานแห่งชาติพุเตย 60 20 252 2,520
อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ 126 66 831.6 8,316
อุทยานแห่งชาติคลองลาน 117 38 478.8 4,788
อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า 119 89 1,121.4 11,214
อุทยานแห่งชาติลำคลองงู 72 30 378 3,780
อุทยานแห่งชาติเขาแหลม 141 45 576 5,670
อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ 118 54 680.4 6,804
อุทยานแห่งชาติไทรโยค 141 50 630 6,300
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ 183 75 1,350 9,450
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง 260 217 3,906 27,342
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียง 46 37 666 4,662
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง 162 119 2,142 14,994
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร
ด้านตะวันตก
215 120 2,160 15,120
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร
ด้านตะวันออก
126 118 2,124 14,868
รวมทั้งสิ้น  2,320 1,181 18,585 148,806 

 

หมายเหตุ

1. รายการสิ่งของที่ขอรับสนับสนุน คิดตามจำนวนจริงที่เจ้าหน้าที่ต้องใช้ในระยะเวลา 3 เดือน
2. รายการอาหารแห้ง ได้แก่ มาม่า ปลากระป๋อง ปลาแห้ง น้ำพริก ฯลฯ
3. รายการอื่นๆ ที่สามารถสนับสนุนได้เพิ่มเติม เช่น เครื่องปรุงรส น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก สบู่ แชมพู ยาสีฟัน ฯลฯ

หลักการคำนวณหาจำนวนข้าวสาร มาจาก จำนวนเจ้าหน้าที่ (ลาดตระเวน) x 0.3 (ค่าเฉลี่ยข่าวสาร/คน/วัน) x จำนวนวันที่ลาดตระเวน* x 3 เดือน

หลักการคำนวณหาจำนวนอาหารแห้ง มาจาก จำนวนเจ้าหน้าที่ (ลาดตระเวน) x 3 มื้อ/วัน x จำนวนวันที่ลาดตระเวน* x 3 เดือน

*จำนวนวันที่ลาดตระเวน อุทยานแห่งชาติ 14 วัน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 20 วัน

ผู้ประสานงาน

นางสาวเกศรินทร์ เจริญรักษ์ เจ้าหน้าที่กิจกรรมพิเศษ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
เลขที่ 140 ตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000
โทรศัพท์ 02-580-4381 โทรสาร 02-580-4382

ติดตามเรื่องราวของผู้พิทักษ์ป่าเพิ่มเติมได้ที่ www.seub.or.th/forestranger