บรรยากาศงานชุมนุม “ผู้พิทักษ์ป่า” ใน World Ranger Congress ครั้งที่ 9

บรรยากาศงานชุมนุม “ผู้พิทักษ์ป่า” ใน World Ranger Congress ครั้งที่ 9

งานชุมนุมของผู้พิทักษ์ป่าจากทั่วโลก World Ranger Congress ครั้งที่ 9 มีขึ้นเมื่อระหว่างวันที่ 12-16 พฤศจิกายน พ.. 2562 ที่ผ่านมา ที่เมืองจิตวัน ประเทศเนปาล

งานนี้มีผู้พิทักษ์ป่ากว่า 550 คน จาก 70 ประเทศทั่วโลก มารวมตัวกัน โดยหลักๆ เป็นการมาพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์การทำงานพิทักษ์ป่าในแต่ละพื้นที่ มีองค์กร International Ranger Federation หรือเรียกย่อๆ ว่า IRF (มีรัฐบาลออสเตรเลียให้การสนับสนุน) เป็นเจ้าภาพหลัก ซึ่งจะจัดขึ้นทุกๆ 3 ปี เวียนๆ สลับหมุนเวียนประเทศจัด ส่วนครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่จัดงานในทวีปเอเชีย

วัตถุประสงค์หลักของการประชุม มีเพื่อสนับสนุนให้กำลังใจ การสร้างขีดความสามารถในการจัดการทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ การป้องกันภัยคุกคาม และให้ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนแบ่งปันองค์ความรู้ ทักษะใหม่ๆ แก่กัน สร้างพันธมิตรร่วมในการทำงาน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ทรัพยากร

นอกจากนี้ในเวที World Ranger Congress ยังถือเป็นการประชุมพิทักษ์ป่าที่มีผู้แทนประเทศ หรือผู้แทนภูมิภาคที่เป็นสมาชิกเข้าร่วมประชุมอย่างเป็นทางการ ในประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อผู้พิทักษ์ป่าทั่วโลก เพื่อนำผลที่ได้จากการประชุมไปร่วมประกาศปฏิญญาผู้พิทักษ์ป่าโลกครั้งที่ 9

ในแต่ละวันจะมีเวทีพูดคุยในประเด็นที่น่าสนใจต่างๆ กันไป เช่น คุยกันเรื่องการมีส่วนร่วมและบทบาทผู้หญิงในงานพิทักษ์ป่า, แนวทางการสนับสนุนการทำงานของผู้พิทักษ์ป่าจากภูมิภาคต่างๆ, ผู้พิทักษ์ป่าพื้นเมือง, ผู้พิทักษ์ป่ากับชุมชน ฯลฯ

ส่วนช่วงบ่ายของเเต่ละวันก็จะมีเวทีย่อยๆ แบ่งเป็น 2 ห้องแล้วแต่ผู้เข้าร่วมสนใจฟังประเด็นไหนก็สามารถเลือกเข้าฟังได้ซึ่งหลักๆ เป็นการแชร์ประสบการณ์การทำงานของแต่ละพื้นที่เทคโนโลยีที่ใช้ปัญหาและอุปสรรคที่เจอ

ในที่นี้ขอนำเรื่องราวที่น่าสนใจบางส่วนมาสรุปไว้ โดยเวทีแรกเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและบทบาทผู้หญิงในงานพิทักษ์ป่า

ข้อมูลของ WDPA 2019 บอกว่ามีผู้พิทักษ์ป่าทั่วโลกประมาณ 1-1.5 ล้านคน ดูแลพื้นที่อนุรักษ์ 238,432 แห่ง พื้นที่รวมๆ ประมาณ 20-30% ของโลก

ผู้พิทักษ์ป่าจึงถือเป็นกลไกสำคัญในการดูแลธรรมชาติให้กับเราทุกคน สิ่งสำคัญที่จะทำให้คนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรประกอบด้วย

(1) การพัฒนาความรู้ (2) การพัฒนาตนเองให้มีมาตรฐาน (3) ฝึกอบรมสม่ำเสมอ (4) ได้รับค่าตอบแทนอย่างเหมาะสม มีความมั่นคง (5) ประสิทธิภาพและมาตราฐานในงาน (6) การสื่อสารที่เป็นมาตรฐาน (7) ความมุ่งมั่น (8) อยู่องค์กรต้นสังกัดที่เป็นมืออาชีพเช่นกัน (9) มีมาตรฐานที่ชี้วัดความสำเร็จได้ และ (10) เป็นตัวแทนองค์กรได้อย่างมืออาชีพ

ช่วงต่อมาเป็นการนำเสนอถึงแนวทางพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจะคุยกันถึงหลักสูตรการฝึกอบรมแต่เสียงสะท้อนกลับมาว่าส่วนใหญ่ประสบปัญหาอบรมแล้วไม่ได้ถูกนำไปใช้งานขาดการติดตามผลและเนื้อหาที่อบรมไม่ตรงกับความต้องการจริงกลายเป็นการลงทุนที่สูญเปล่าไม่เห็นรูปธรรม

ประเด็นนี้ส่วนตัวมองว่ามันมีองค์ประกอบที่ต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กัน เช่น ตัวเจ้าหน้าที่เอง เครื่องมือที่เติมให้ องค์กร และระบบหรือนโยบายให้ความสำคัญหรือสนับสนุน

ช่วงท้าย เป็นการให้เวลากับการนำเสนองานรูปธรรมในพื้นที่ มีตัวแทนผู้พิทักษ์ป่าของรัฐ อาสาสมัครพิทักษ์ป่าจากชุมชนมาเล่าการทำงานให้ฟัง มีหัวข้อที่น่าสนใจเช่น หัวข้อ การทำงานวิจัยร่วมกับชุมชน และการฝึกอบรมแกนนำชุมชน เยาวชน, การลาดตระเวนของอาสาสมัครในพื้นที่, การจัดการพื้นที่คุ้มครองร่วม, การจัดการพื้นที่คุ้มครอง และตัวอย่างเครือข่ายอนุรักษ์

และเนื่องจากประเทศออสเตรเลียมีกลุ่มชนพื้นเมืองอย่างชาวอะบอริจินที่อยู่มาดั้งเดิม รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการให้เกียรติทุกๆ คนอย่างเท่าเทียมกัน การทำงานจึงเน้นการจัดการร่วมโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ประเพณี ฯลฯ ด้วย ในส่วนนี้คล้ายงานจอมป่า (Joint Management of Propected Area) ในประเทศไทย

ช่วงสุดท้าย ได้เชิญผู้หญิงที่ทำงานพิทักษ์ป่า มาเล่าประสบการณ์การทำงานให้ฟัง หลายๆ คนทำให้เราทึ่งในความรักความทุ่มเทต่องาน เนื่องจากประเทศอย่างอินเดีย หรือประเทศแถบแอฟริกา มีข้อจำกัดทั้งประเพณี ครอบครัว ไปจนถึงความเสี่ยงอันตรายในการปฏิบัติงาน และการยอมรับจากเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างาน จึงเป็นบทพิสูจน์ความรักในอาชีพที่กว่าจะมาถึงวันนี้กันได้เป็นอย่างดี

และในวันต่อมา ของการเข้าร่วมประชุม World Ranger Congress ครั้งที่ 9 ขอสรุปเป็นข้อมูลไว้ตรงนี้

เวทีช่วงเช้า ยังคงนำเสนอประเด็นผู้หญิงกับงานผู้พิทักษ์ป่า ต่อเนื่องจากวันที่ 3 และเพิ่มเติมเรื่องใหม่คือ เทคโนโลยีที่ใช้ในงานของผู้พิทักษ์ป่า ที่ได้ฟังการนำเสนอมี 3 เรื่อง คือ ระบบการเชื่อมโยงสัญญาณในพื้นที่คุ้มครอง การติดปลอกคอสัตว์ป่าเพื่องานวิจัยและการติดตาม และการใช้ระบบดาวเทียมที่เหมาะสมกับการทำงาน

อีกทีมหนึ่งเข้าฟังประเด็นเฉพาะในห้องย่อย เช่น เรื่องการก่อตั้งโรงเรียนผู้พิทักษ์ป่า โครงการแลกเปลี่ยนการทำงานระหว่างประเทศ เช่น เคนย่ากับมองโกเลีย โปรตุเกสไปทำงานที่บราซิล พิทักษ์ป่าของเนปาลไปฝึกอบรมกับกองทหารของอังกฤษ

ช่วงกลางวัน คณะเจ้าหน้าที่จากประเทศไทย มาหารือกันเพื่อสรุปการเข้าร่วมงาน World Ranger Congress ครั้งที่ 9 ซึ่งเห็นร่วมกันที่จะจัดตั้งสมาคมผู้พิทักษ์ป่าไทย ในการขับเคลื่อนและยกระดับการทำงานของผู้พิทักษ์ป่าในประเทศไทย และเชื่อมโยงกับ World Ranger (ส่วนนี้เชิญชวนติดตามรายละเอียดได้ในครั้งต่อไป)

วันที่ 5 ช่วงเช้า เป็นการเปิดเวทีให้ประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก IRF ใหม่ๆ (..2017-2019) อย่างประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ จอร์เจีย สาธารณะรัฐเช็ก ฯลฯ มาเล่าถึงการทำงาน โดยส่วนใหญ่พบว่างานของผู้พิทักษ์ป่าในแถบยุโรป จะเป็นงานสนับสนุนการท่องเที่ยว ศึกษาธรรมชาติและโบราณสถานในพื้นที่ (ซึ่งแต่ละแห่งสวยงามมากจริงๆ)

ช่วงบ่าย เข้าสู่พิธีปิดการจัดงาน ในที่ประชุมได้คัดเลือกประธาน IRF คนใหม่ ได้แก่คุณ Chris Galliers จาก Africa Representative พร้อมตั้งคณะทำงานชุดใหม่ไปพร้อมกัน (ภูมิภาคเอเชียเรามีคุณ Rohit Singh เจ้าหน้าที่ของ WWF ทำงานอยู่ประเทศกัมพูชา ทำหน้าที่ประสานงาน)

ส่วนงานครั้งต่อไปในอีกสามปีข้างหน้า จะมีการจัดประชุม World Ranger Congress ครั้งที่ 10 หารือกันว่าจะมีขึ้นที่ประเทศเปรู

ขอขอบคุณ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ส่งบุคลากรผู้พิทักษ์ป่าเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ขอบคุณทุกๆองค์กรอนุรักษ์ ที่มีส่วนร่วมกันสนับสนุนการทำงานของผู้พิทักษ์ป่าไทยให้มีสวัสดิการ สวัสดิภาพ และพัฒนามาตรฐานการทำงานของผู้พิทักษ์ป่า สู่ความเป็นมืออาชีพมากขึ้น

ถึงตรงนี้….ขอยืนยันว่าผู้พิทักษ์ป่าของประเทศไทยมีศักยภาพและการทำงานได้ไม่น้อยไปกว่าประเทศอื่นๆ หากเวทีครั้งต่อไป ได้เห็นผู้พิทักษ์ป่าไทยได้ขึ้นเวทีและนำเสนอการทำงานของเรา คงจะดีไม่น้อย

สุดท้ายขอบคุณ IRF และคณะจัดงานจากองค์กรภาคีทุกๆท่านที่ทำให้เราได้รับโอกาสมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานร่วมกับเพื่อนๆเครือข่ายผู้พิทักษ์ป่าจากทั่วโลกรวมถึงขอบคุณประเทศเนปาลที่ดูแลสนับสนุนการจัดงานครั้งนี้เป็นอย่างดีประสบการณ์ในครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนงานผู้พิทักษ์ป่าตามแผนงานยุทธศาสตร์ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรต่อไป

ติดตามเรื่องราวของผู้พิทักษ์ป่าเพิ่มเติมได้ที่ www.seub.or.th/forestranger

 


เรื่อง/ภาพ นางสาวเกศรินทร์ เจริญรักษ์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร