ปลากระดูกอ่อน ของไทยและน่านน้ำใกล้เคียง

ปลากระดูกอ่อน ของไทยและน่านน้ำใกล้เคียง

ชวนอ่าน หนังสือ ปลากระดูกอ่อน ของไทยและน่านน้ำใกล้เคียง The Catilaginous fishes of Thailand and Adjacent Waters

‘ปลากระดูกอ่อน’ คือ กลุ่มปลาฉลาม ปลากระเบน และปลาหนู หรือ Chimaera ซึ่งในนานน้ำไทยและน่านน้ำใกล้เคียง พบ 188 ชนิด แยกเป็นปลาฉลาม 87 ชนิด ปลากระเบน 96 ชนิด และปลาหนู 5 ชนิด ส่วนใหญ่พบแพร่กระจายในเขตชายฝั่งทะเลไทย และตามแนวหินแนวปะการัง ในช่วง 21 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2544 – 2564) พบว่าจำนวนชนิดที่มีรายงานการพบใหม่ หรือพบครั้งแรกในประเทศไทย มีมากถึง 77 ชนิด โดยมี 5 ชนิดที่รอการพิสูจน์ว่าอาจจะเป็นชนิดใหม่ในอนาคต

ในปัจจุบันพบว่าประชากร ‘ปลากระดูกอ่อน’ มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และหลายชนิดมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์มากขึ้น อันเนื่องมาจากการกระทำของมนุษย์ และสภาพแวดล้อมของแหล่งอาศัยที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นการร่วมมือกันของทุกฝ่ายที่จะอนุรักษ์ปลากลุ่มนี้ให้คงอยู่ในธรรมชาติ นอกจากจะช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ได้จากการท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางทะเลอย่างถูกวิธีและธุรกิจอย่างต่อเนื่อง มากกว่าการบริโภคปลากลุ่มนี้

เพื่อเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘ปลากระดูกอ่อน’ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มปลาฉลามและปลากระเบน โดยคณะผู้เขียนมุ่งหวังว่าจะลดความเข้าใจผิดจากข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้องและขาดการตรวจสอบยืนยัน เพื่อให้ปลาเหล่านี้คงอยู่ในทะเลไทยให้คนไทยรุ่นหลังได้เห็นและรู้จักกันต่อไป

ปลากระดูกอ่อน
หน้าปกหนังสือปลากระดูกอ่อนของไทยและน่านน้ำใกล้เคียง

คำนำ

การปรับปรุงข้อมูลวิชาการให้เป็นปัจจุบันเป็นสิ่งสำคัญต่องานด้านอนุกรมวิธาน ซึ่งนำไปสู่การจำแนกชนิดสิ่งมีชีวิตให้มีความถูกต้อง อันเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการศึกษาวิจัยทางด้านชีววิทยาและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะกลุ่มปลากระดูกอ่อนของประเทศไทยในช่วง 21 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2544-2564) พบว่าจำนวนชนิดที่มีรายงานการพบใหม่ หรือพบครั้งแรก (newly or first recorded species) ในประเทศไทย มีมากถึง 77 ชนิด ซึ่งมาจากข้อมูลวิชาการที่มีมากขึ้นจากการสำรวจ รวมไปถึงการพัฒนางานวิจัยด้านอนุกรมวิธานทั่วโลกที่มีการใช้ข้อมูลในระดับโมเลกุล (DNA) มาประกอบในการจำแนกชนิด จึงทำให้มีการค้นพบชนิดใหม่ (new species) เพิ่มมากขึ้น โดยในจำนวนชนิดที่มีรายงานการพบใหม่ทั้งหมดนี้ ได้มีการตั้งชื่อเป็นชนิดใหม่ในช่วงเวลาดังกล่าวมากถึง 21 ชนิด ซึ่งมี 4-5 ชนิด ที่นักวิทยาศาสตร์ไทยมีส่วนร่วมในการค้นพบนี้ด้วย นอกจากนี้ยังมีอีก 5 ชนิด ที่รอการพิสูจน์ว่าอาจเป็นชนิดใหม่ในอนาคต ในขณะที่กระแสอนุรักษ์ปลาฉลามและปลากระเบนทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น อันมีสาเหตุมาจากการลดลงของประชากรปลากลุ่มนี้โดยการประมงและสภาพแวดล้อมของแหล่งอาศัยที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ปลาหลายชนิดอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ หรือบางชนิดที่เป็นไปได้ว่าสูญพันธุ์ไปแล้วจากน่านน้ำไทย ดังเช่น ปลาฉนาก 3 ชนิด และปลาฉลามหัวค้อนยาว ดังนั้น การใช้ข้อมูลวิชาการมาช่วยสนับสนุนแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์และการบริหารจัดการฉลาม (National Plan of Action for the Conservation and Management of Sharks: NPOA-Sharks) ของประเทศไทยนั้น มีความจำเป็นต้องทราบถึงความหลากหลายของชนิดปลาในกลุ่มนี้ และการจำแนกชนิดอย่างถูกต้อง เพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงฐานข้อมูลปลากระดูกอ่อนของประเทศไทยให้มีความถูกต้องในศูนย์กลางข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย (Thailand Biodiverity Information Facility: TH-BIF) ต่อไป ซึ่งจะเชื่อมโยงไปสู่การบริหารจัดการและการอนุรักษ์ปลากลุ่มนี้ได้ตามเป้าหมายของ NPOA-Sharks ของประเทศไทย

หนังสือเล่มนี้ เป็นความร่วมมือทางวิชาการระหว่างนักวิชาการหลายหน่วยงาน ได้แก่ กรมประมงของประเทศไทยและมาเลเซีย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยปรับปรุงข้อมูลจากหนังสือทั้ง 2 เล่ม ที่จัดพิมพ์ไปในปี พ.ศ. 2560 และ 2562 พบว่ามีปลากระดูกอ่อนในน่านน้ำไทยและน่านน้ำใกล้เคียงทั้งหมด เพิ่มขึ้นเป็น 188 ชนิด ประกอบด้วย ปลาฉลาม 87 ชนิด ปลากระเบน 96 ชนิด และปลาหนู 5 ชนิด ซึ่งจัดทำข้อมูลสรุปเป็นรายชนิดที่ประกอบด้วย ชื่อวิทยาศาสตร์, ชื่อวงศ์, ชื่ออังกฤษ, ชื่อไทย, ข้อมูลทางชีววิทยา, การแพร่กระจาย และสภานภาพปัจจุบันของปลาแต่ละชนิด รวมทั้งเพิ่มคู่มือการจำแนกชนิด เพื่อให้สามารถใช้เป็นฐานข้อมูลที่สมบูรณ์เกี่ยวกับความหลากหลายชนิดปลากระดูกอ่อนของประเทศไทย และหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ทางวิชาการต่อผู้ที่สนใจทุกท่าน อันจะนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดทางวิชาการเพื่อช่วยในการอนุรักษ์ปลาฉลากและปลากระเบนของประเทศไทยต่อไปในอนาคต

ข้าพเจ้าขอกราบขอบพระคุณ ดร.ประจิตร วงศ์รัตน์ สำหรับคำแนะนำและกำลังใจ รวมทั้งข้อคิดดีๆ ในการดำเนินชีวิต ในช่วงเวลาที่มีอุปสรรคระหว่างการเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ รวมทั้งทุกท่าน และหน่วยงานต่างๆ ที่สนับสนุนข้อมูลและงบประมาณในการจัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการนี้

นายทัศพล กระจ่างดารา
เมษายน 2565