ในหนึ่งปีมีเพียงไม่กี่คืนที่พี่น้อยและลุงติ๋มพ่อของเขาหลับตานอนได้สนิท ไม่ต้องลุกตื่นขึ้นมากลางดึก คว้าไฟฉาย ลูกบอลไล่นก ออกไปผลักดันช้างให้กลับเข้าป่า ซึ่งมักเป็นคืนในฤดูไฟและหลังวันเก็บเกี่ยวพืชไร่หมดแล้ว
นอกเหนือจากเวลาที่ว่าทั้งคู่มักผล็อยหลับไปกับความเหนื่อยล้าบนห้างกลางไร่มันสําปะหลัง ไม่ก็บนเปลไนลอนเก่าๆ มีฟ้าเป็นมุ้ง มียุงเป็นเพื่อน
และมีเสียงช้างร้องเป็นดังนาฬิกาปลุกที่ไม่ได้ตั้งเวลาไว้ล่วงหน้า
“บางวันเมียผมแซวว่า ให้เก็บของไปอยู่นอกบ้านเลย ไม่ต้องกลับบ้านแล้ว เพราะช้างลงมาหมู่บ้านทุกคืน” พี่น้อยเล่าด้วยอารมณ์ขบขัน ไม่ได้นึกน้อยใจคำพูดนั้น ฝ่ายคู่ชีวิตที่นั่งอยู่ข้างๆ ส่งยิ้มอ่อนๆ กลับมาให้ เพราะต่างเข้าใจหน้าที่ตรงนี้เป็นอย่างดี
ที่บ้านห้วยร่วม ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี บ้านของพี่น้อยและลุงติ๋ม เป็นอีกชุมชนที่พบช้างป่าออกมาหากินนอกเขตอนุรักษ์แทบตลอดทั้งปี
บางวันโผล่มาตัวเดียว บางคราวมา 4 ตัวบ้าง 10 ตัวบ้าง และเคยนับได้สูงสุด 18 ตัว มีครบทั้งเพศผู้เมียและลูกตัวน้อย
จากความทรงจำของสองพ่อลูก พวกเขาเห็นช้างเดินออกจากตะเข็บป่าเข้ามาป้วนเปี้ยนในที่ดินทำกินชุมชนตั้งแต่ปี 2560 ทั้งมันสำปะหลัง สับปะรดถูกเด็ดจนไม่เหลือ มะม่วงกี่ต้นต่อกี่ต้นก็ไม่รอด เกิดเป็นความเดือดเนื้อร้อนใจเมื่อเงินทุกสตางค์ที่ลงทุนไปได้กลับมาเพียงความว่างเปล่า
ในวงประชุมอย่างไม่เป็นทางการ ทั้งชุมชนลงความเห็นว่า ‘เรา’ ต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง และต้องทำ ‘ด้วยตัวเอง’ เพราะเวลานั้นไม่มีใครในชุมชนรู้ว่าสิ่งที่พวกเขาประสบพบเจอควรหันหน้าไปพึ่งใคร ‘คณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้างป่า’ ยังไม่ได้ตั้ง เรื่องการกระจายอำนาจยังไม่ถูกพูดถึง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งยังไม่ได้รับงบประมาณจัดจ้าง ‘ชุดเคลื่อนที่เร็วเฝ้าระวังผลักดันช้างป่าและสัตว์ป่าที่ออกนอกพื้นที่อนุรักษ์’
ตนจึงเป็นที่พึ่งแห่งตน มีพี่น้อยและลุงติ๋มออกตัวอาสาเป็นคนทำงาน รวบรวมสมัครพรรคพวกอีก 4 รวมเป็น 6 ประจัญบาน วางเป้าหมายผลักดันช้างกลับเข้าป่า ลดความสูญเสียพืชผลทางการเกษตรของชุมชนให้ได้มากที่สุด


ทั้งคู่สารภาพว่าตอนนั้นไม่มีความรู้เรื่องการผลักดันสัตว์ป่าเลยแม้แต่น้อย ไม่รู้ว่าต้องไล่แบบไหน ใช้เครื่องมืออะไร ไม่รู้ว่าลักษณะอาการใดบ่งบอกว่าช้างอารมณ์ดีหรืออารมณ์บูด ไม่รู้กระทั่งวิธีดูหู ดูหาง ดูงวง หรือต้องเว้นระยะปลอดภัยระหว่างคนกับช้างห่างกันกี่เมตร อาศัยออกไปลองผิดลองถูกเอาดาบหน้า เป็นบทบาทที่รู้ว่าเสี่ยงแต่ก็เลี่ยงไม่ได้
“มีคนตาบอดไปข้างหนึ่งแล้ว” พี่น้อยเล่า คราวนี้น้ำเสียงเขาแฝงความเครียด ในความหลังที่ยังจำได้ดีพี่น้อยรำลึกว่าทีมงานคนหนึ่งทำลูกบอลตกแล้วเกิดเสียดาย จึงก้มลงเก็บ พลันลูกบอลระเบิดตูมพอดี เลยต้องเสียดวงตาไปข้างหนึ่งเพราะความประมาท
ลูกบอลไล่นก บ้างเรียกว่าพลุไล่นก พลุไข่ไล่นก ประทัดไล่นก เป็นสิ่งประดิษฐ์ของชาวบ้านในพื้นที่ปลูกข้าวหลายจังหวัดมีไว้ใช้สำหรับไล่นกที่มาจิกกินข้าวก่อนเก็บเกี่ยว เริ่มจากการนำประทัดที่ใช้ตามเทศกาลต่างๆ มาออกแบบใหม่ อัดดินปืนในลูกบอลเล็กๆ มีทั้งขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางหนึ่งนิ้วและนิ้วครึ่ง มีสายชนวนยื่นออกมาด้านนอกสำหรับจุดให้เกิดระเบิดเสียงดัง
อุปกรณ์ชิ้นนี้ถูกตั้งคำถามอยู่หลายครั้งว่าเป็นนวัตกรรมที่ควรนำมาใช้หรือไม่ เพราะนอกจากเป็นมีความเสี่ยงเป็นอันตรายกับผู้ใช้แล้ว หากเผลอปาไปโดนตัวช้างเข้าก็อาจทำให้สัตว์ป่าเกิดอาการไม่พอใจ โมโห หรือมีพฤติกรรมดุร้ายใส่ได้
แต่เพราะนาทีนั้นยังไม่มีนวัตกรรมใดในการช่วยแก้ปัญหาจัดการ (แม้แต่วันนี้ก็ตาม) สิ่งใดที่นำมาใช้ได้ก็ต้องใช้ไปก่อน
“ผมรู้ว่ามันอันตราย แต่มันจำเป็นจริงๆ เสียงดังๆ ช่วยไล่ช้างได้จริง” พี่น้อยอธิบาย ส่วนลุงติ๋มเสริมว่า เวลาปาลูกบอลจะปาไปกึ่งกลางระหว่างคนไล่กับช้าง ไม่ปาโดนตัวช้าง อาศัยแค่เสียงให้เขาตกใจและหันหลังกลับเข้าป่า
ลูกบอลไล่นกหนึ่งถุงมี 100 ลูก ราคา 200 บาท นับเป็นอุปกรณ์สิ้นเปลือง ใช้แล้วหมดไป ต้องซื้ออยู่เป็นประจำ ยิ่งเดือนไหนช้างลงมาเยอะยิ่งต้องใช้มาก และนั่นหมายถึงต้องควักเงินในกระเป๋าตัวเองมากขึ้นด้วย
เช่นเดียวกับเสบียงอาหาร ลุงติ๋มเล่าว่า อย่างต่ำที่สุดมีค่าใช้จ่ายวันละเกือบ 100 บาท เป็นค่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบ้าง กาแฟกระป๋องบ้าง
“เราต้องทำงานตลอดคืน บางทีก็หิว” แกเล่า
ค่าใช้จ่ายที่ลุงติ๋มบอกเป็นการประมาณคร่าวๆ คิดอย่างเร็วๆ หนึ่งคืนหนึ่งร้อยบาท ในหนึ่งเดือนหากมีช้างออกมาทุกวัน อย่างน้อยๆ มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 3,000 บาท ที่ยังไม่รวมค่าน้ำมันรถยนต์และมอเตอร์ไซค์สำหรับย้ายตัวเองไปจุดต่างๆ และใช้ไล่ด้วย ยังดีตอนนี้มีหน่วยงานรัฐเข้ามาสนับสนุนงบประมาณผ่านการจัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังช้างป่าและสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ แต่ก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้บางส่วนเท่านั้น เพราะงบประมาณที่ได้รับมาต้องหารแบ่งกันให้หลายกลุ่มบ้านหลายทีมทำงาน
สำหรับพื้นที่รอบๆ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งได้จัดตั้งเครือข่ายฯ ไว้ 5 กลุ่ม มีการเปิดกลุ่มไลน์เพื่อประสานงาน แจ้งเหตุ และแลกเปลี่ยนข้อมูล มีชุดเคลื่อนที่เร็วเฝ้าระวังผลักดันช้างป่าและสัตว์ป่าที่ออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเข้ามาช่วยผลักดันช้างป่าอีกแรง
แต่ความที่ช้างออกจากป่าเพิ่มขึ้นทุกวัน และกระจายตัวไปยังพื้นที่หลากหลายมากขึ้น ลำพังทีมของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ต้องวิ่งไปบ้านนั้นทีบ้านนี้ทีย่อมทำงานไม่ทัน ทีมของพี่น้อยและลุงติ๋มจึงยังต้องคอยไล่ช้างด้วยตัวเองไม่ต่างจากอดีต เสมอเหมือนเป็นงานพาร์ทไทม์อีกอย่าง (แต่ไม่ได้รับค่าแรง) นอกเหนือทำไร่มันสำปะหลังของตัวเอง ยิ่งวันไหนช้างเข้าหมู่บ้านจากหลายทาง วันนั้นยิ่งหัวหมุนหนักและเหนื่อยมากกว่าเดิมเป็นเท่าตัว ไม่นับว่าบางวันยังถูกขอยืมแรงจากหมู่บ้านข้างเคียงให้ไปช่วยเหลือ
การทำงานร่วมกับหมู่บ้านอื่นๆ พี่น้อยและลุงติ๋มเห็นตรงกันว่า แม้ทำให้เหนื่อยกว่าเดิม แต่ก็มีความสำคัญยิ่ง เป็นการเพิ่มความสามัคคีระหว่างชุมชน และมองว่าการติดต่อสื่อสารกันตลอดทั้งในหมู่บ้านและนอกหมู่บ้านถือเป็นความสำคัญไม่แพ้กัน โดยยกตัวอย่างประกอบว่า
“ถ้าไม่ทำงานกันแบบเครือข่ายติดต่อสื่อสารกันตลอด ผมว่าอนาคตไปกันไม่รอดแน่ๆ สมมติว่าวันนี้ช้างป่าลงมาที่หมู่บ้านผม แต่ไล่แล้วเขาไม่ยอมกลับเข้าไป แต่ดันวิ่งไปโผล่มาหมู่บ้านข้างๆ แทน เขาอาจคิดว่าเราไล่ช้างไปเข้าบ้านเขา ทำให้เกิดความเข้าใจผิดแทน จากปัญหาคนกับช้าง กลายเป็นปัญหาคนกับคนเพิ่มขึ้นมาอีก… ปวดหัวหนักเลย…” พี่น้อยว่า
“วันนี้มีเครื่องมือเท่านี้ มีงบประมาณแค่นี้ เรามีกันอยู่เท่านี้ ก็ต้องช่วยกัน” ลุงติ๋มเสริม


ตลอดปี พ.ศ. 2568 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ให้การสนับสนุนเสบียงและอุปกรณ์ผลักดันช้างป่า แก่ชุดเฝ้าระวังผลักดันช้างป่า ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเครือข่ายเฝ้าระวังที่จัดตั้งโดยชุมชนเป็นประจำทุกเดือน ในกิจกรรมลาดตระเวนร่วมดูแลป้องกันทรัพยากรในป่าชุมชนและสนับสนุนเสบียงสำหรับเครือข่ายผลักดันสัตว์ป่า โดยใช้งบประมาณจากโครงการธรรมชาติปลอดภัย
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม