เมื่อนกเงือกถูกล่าเพียงหนึ่งตัว อาจทำให้ครอบครัวต้องตายยกรัง

เมื่อนกเงือกถูกล่าเพียงหนึ่งตัว อาจทำให้ครอบครัวต้องตายยกรัง

กล่าวกันว่า ‘วันรักนกเงือก’ ซึ่งตรงกับวันที่ 13  กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันที่ถูกกำหนดมา เพื่อสร้างความตระหนักให้สาธารชน เห็นถึงความสำคัญของนกเงือก ที่มีส่วนช่วยให้ผืนป่ายังคงความอุดมสมบูรณ์

ด้วยความที่นกเงือกมีปากที่กว้าง จึงสามารถกินผลไม้ได้หลากหลายขนาด และโดยพฤติกรรมที่มักเลือกเก็บกินเฉพาะผลไม้สุก เก็บตุนไว้คราวละมาก ๆ และมักจะขย้อนเมล็ดทิ้งโดยไม่ทำให้เมล็ดเสียหาย ซึ่งเมล็ดที่นกเงือกขย้อนทิ้ง จะสามารถงอกขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่ออยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม นกเงือกจึงได้ชื่อว่าเป็นนักปลูกป่าที่มีประสิทธิภาพยอดเยี่ยม

และการเป็นตัวแทนแห่งความรักของนกงือก ดังนั้นนกเงือกจึงเป็นสัตว์ที่รู้จักกันในวงกว้าง และมีกระแสการอนุรักษ์จากผู้คนอย่างล้นหลาม

กระนั้น นกเงือกยังเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมากในตลาดค้าสัตว์ป่า ซึ่งข่าวการล่านกเงือกยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งช่วงใกล้วันรักนกเงือก สร้างความคับแค้น และเจ็บปวดใจให้กับผู้คนเป็นอย่างยิ่ง

ในวันที่ 22 มกราคม 2564 มีรายงานการจับกุมพรานมือดีล่านกกก ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี และในอีก 8 วันต่อมา ก็มีข่าวการล่านกเงือกชนิดเดียวกันที่ อุทยานแห่งชาติเขาแหลมจังหวัดกาญจนบุรี  และล่าสุดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 มีข่าวที่ถูกพูดถึงกันอย่างครึกโครม เมื่อทหารยศพันจ่าเอกคนหนึ่ง  ได้เข้าไปล่าสัตว์ในอุทยานแห่งชาติไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี โดยเจ้าหน้าที่พบซากนกแก๊ก 7 ซากเป็นของกลางมัดตัว

นี่เป็นเพียงสถานการณ์การล่าสัตว์ที่เกิดขึ้นใช่ช่วงต้นปีเท่านั้น ยังไม่รวมกับเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมา และจะมีสักกี่คนทราบว่า การล่าของมนุษย์นั้นส่งผลกระทบกับครอบครัวของนกเงือกอย่างไร

มีข้อมูลว่า นกเงือกส่วนใหญ่เริ่มจับคู่ในช่วงปลายปี ผสมพันธุ์ และตัวเมียจะขังตัวเองอยู่ในโพรงไม้ เพื่อวางไข่และเลี้ยงลูกในช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน ภายหลังจากตัวเมียขังตัวเองอยู่ในโพรงแล้ว นกเงือกตัวผู้จะกลับมาป้อนอาหารวันละ 1-3 ครั้ง

ซึ่งเมื่อย่างเข้าสัปดาห์ที่ 2-5 ตัวผู้จะทำหน้าที่ป้อนอาหารให้ตัวเมียมากขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงที่ตัวเมียผลัดขนและกำลังสร้างขนใหม่ นกเงือกตัวเมียจะผลัดขนปีกและขนหางทิ้งทั้งหมดในคราวเดียว หากนกเงือกตัวผู้ถูกล่าในระหว่างการหาอาหารเพื่อมาป้อนแม่นกที่โพรงรัง นั่นหมายความว่าอาจไม่ใช่เพียงแค่หนึ่งชีวิตของนักปลูกป่าในธรรมชาติต้องหายไปจากระบบนิเวศเท่านั้น แต่อาจจะหมายถึงสามชีวิต ที่ต้องหายไป

จากข้อมูลข้างต้นคงเป็นการตอกย้ำถึงสิ่งที่ครอบครัวนกเงือกต้องสูญเสีย เพียงเพราะการกระทำที่ไม่ได้คำนึงถึงสิ่งมีชีวิต ดังนั้นผู้เขียนขอเป็นตัวแทนในการเรียกร้องสิทธิการมีชีวิตอย่างอิสระของนกเงือกและสัตว์ป่าทุกชนิด พร้อมเชิญชวนผู้อ่านทุกท่านช่วยกันเป็นหูเป็นตา และรักษาเผ่าพันธุ์นกเงือก ให้เขาได้ทำหน้าที่ของเขาในป่าใหญ่อย่างสง่างามต่อไป และตลอดไป

ทุกท่านสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์และปกป้องนกเงือกได้ที่ เลขบัญชี 026-2-75910-2 ชื่อบัญชีมูลนิธินกเงือกธนาคารไทยพาณิชย์ สาขารามาธิบดี


ข้อมูล อรยุพา สังขะมาน หัวหน้าฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร 

ผู้เขียน

+ posts

นักสื่อสารมวลชน ชอบวิพากษ์สังคมผ่านงานเขียน ยึดปากกาและวิชาชีพเป็นสรณะ