ความร้อนในมหาสมุทร ทุบสถิติสูงสุด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง

ความร้อนในมหาสมุทร ทุบสถิติสูงสุด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง

ความร้อนในมหาสมุทรโลกได้ทุบสถิติใหม่ใน พ.ศ. 2562 เป็นการแสดงถึงสภาวะโลกที่ร้อนขึ้น “ในอัตราเร่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้”

สถานการณ์ของมหาสมุทรคือตัวชี้วัดที่ชัดเจนที่สุดถึงสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากมหาสมุทรคือพื้นที่ดูดซับความร้อนกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ซึ่งถูกกักไว้โดยแก๊สเรือนกระจกจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล  การทำลายป่า และกิจกรรมอื่นๆ ของมนุษย์

งานวิเคราะห์ชิ้นใหม่แสดงให้เห็นว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมาคือปีที่อุณหภูมิมหาสมุทรสูงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้ ส่วน 10 ปีที่ผ่านมา ก็คือปีที่มหาสมุทรร้อนที่สุดสิบอันดับแรก ปริมาณความร้อนที่ถูกเติมลงมหาสมุทรเทียบเท่ากับการที่ทุกคนบนโลกใช้เครื่องไมโครเวฟ 100 เครื่องทั้งวันทั้งคืน

มหาสมุทรที่ร้อนขึ้นจะทำให้เกิดพายุที่รุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อวัฏจักรน้ำ นั่นหมายถึงอุทกภัย ภัยแล้ง และไฟป่าที่บ่อยครั้งขึ้น เช่นเดียวกับการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล อุณหภูมิที่สูงขึ้นยังส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล จากปริมาณการเกิดคลื่นความร้อนในมหาสมุทรที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก

 

 

การวัดสภาวะโลกร้อนที่แพร่หลายที่สุดคืออุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศเหนือพื้นผิวโลกซึ่งเป็นพื้นที่ที่มนุษย์อยู่อาศัย แต่เนื่องจากปรากฎการณ์ด้านภูมิอากาศอย่างเอลนีโญ จะทำให้ตัวชี้วัดดังกล่าวผันแปรไปทุกปี

“มหาสมุทรคือสิ่งที่บอกจริงๆ ว่าโลกของเราร้อนขึ้นรวดเร็วแค่ไหน” อาจารย์จอห์น อับราฮัม (John Abraham) จากมหาวิทยาลัยเซนต์ธอมัส สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมนักวิจัยกล่าว “หากมองสถิติของมหาสมุทรจะพบว่าโลกกำลังร้อนขึ้นในอัตราเร่งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าเป็นข่าวที่เลวร้ายมาก”

“เราพบว่าปี พ.ศ. 2562 ไม่ใช่เพียงปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ มันยังเป็นปีที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นมากที่สุดในชั่วระยะเวลาหนึ่งปีตลอดทศวรรษที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าสภาวะโลกร้อนจากกิจกรรมของมนุษย์ยังไม่มีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด” อาจารย์ไมเคิล แมนน์ (Michael Mann) จากมหาวิทยาลัยเพนน์สเตต สหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์

 

การเปลี่ยนแปลงมวลความร้อนโดยเปรียบเทียบระหว่าง ค.ศ. 1981 – 2010 หน่วย เซตตะจูลส์

 

การศึกษาซึ่งเผยแพร่ในวารสาร Advances In Atmospheric Sciences ใช้ข้อมูลเกี่ยวกับมหาสมุทรจากทุกแหล่งที่มีอยู่ ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากทุ่นอาร์โกกว่า 3,800 ทุ่นทั่วมหาสมุทร รวมถึงเครื่องวัดอุณหภูมิในมหาสมุทรอีกด้วย ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าความร้อนเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งจากการสะสมแก๊สเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ โดยอัตราการเพิ่มขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2530 – 2562 จะสูงราว 4.5 เท่าหากเทียบกับอัตราการเพิ่มขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2498 – 2529 พื้นที่ในมหาสมุทรส่วนใหญ่ยังตรวจพบพลังงานความร้อนที่เพิ่มมากขึ้น

อาจารย์จอห์นระบุว่าพลังงานดังกล่าวจะนำไปสู่พายุที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และภูมิอากาศสุดขั้ว “เมื่อมหาสมุทรทั่วโลกร้อนขึ้น มันจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบของฝนและการระเหยของน้ำ เป็นกฎทั่วไปที่ว่าพื้นที่แห้งแล้งจะแล้งมากยิ่งขึ้น ส่วนพื้นที่ซึ่งมีน้ำฝนมากก็จะมากยิ่งขึ้น”

มหาสมุทรที่ร้อนขึ้นยังทำให้น้ำแข็งละลายและเพิ่มระดับน้ำทะเล ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่มีการบันทึกระดับน้ำทะเลซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่ พ.ศ. 2443 นักวิทยาศาสตร์คาดว่าน้ำทะเลจะเพิ่มระดับขึ้นราวหนึ่งเมตรภายในคริสตศตวรรษนี้ซึ่งจะทำให้ประชากรราว 150 ล้านคนทั่วโลกต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน

แดน สเมล (Dan Smale) จากสมาคมชีววิทยาทางทะเล (Marine Biological Association) ในสหราชอาณาจักร กล่าวว่างานวิจัยชิ้นดังกล่าวนับว่าเป็นการใช้วิธีวิจัยที่นำสมัยและใช้ข้อมูลจากแหล่งที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่ “สำหรับผม ข้อสรุปที่ผมได้จากงานวิจัยชิ้นนี้คือมวลความร้อนของมหาสมุทรส่วนบนทั่วโลกโดยเฉพาะระดับความลึก 300 เมตร มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะมหาสมุทรดูดซับความร้อนจากชั้นบรรยากาศ” เขากล่าว

“มหาสมุทรส่วนบนเป็นพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความลหากหลายทางชีวภาพทางทะเล เนื่องจากเป็นระบบนิเวศที่มีผลิตผลสูงและอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อุณหภูมิที่อุ่นขึ้นจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล” แดนกล่าวสรุป

การวิเคราะห์ชิ้นใหม่นี้รวบรวมระดับความร้อน ณ ระดับความลึก 2,000 เมตรซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนใหญ่ นอกจากนี้ พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ที่สะสมความร้อนและยังเป็นพื้นที่ซึ่งสิ่งมีชีวิตในทะเลเกือบทั้งหมดอยู่อาศัย 

วิธีการวิเคราะห์นี้พัฒนาโดบนักวิจัย ณ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีนในกรุงปักกิ่ง โดยใช้วิธีทางสถิติในการเทียบบัญญัติไตรยางค์สำหรับประมาณระดับอุณหภูมิในบางพื้นที่ซึ่งไม่มีข้อมูล เช่น ทะเลใต้ผืนน้ำแข็งอาร์กติก การวิเคราะห์อิสระโดยองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA) แสดงให้เห็นแนวโน้มของความร้อนที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

ข้อมูลอุณหภูมิของมหาสมุทรซึ่งเชื่อถือได้เริ่มเก็บนับตั้งแต่ราวต้นคริสตศตวรรษที่ 20 แต่อาจารย์จอห์น อับราฮัมกล่าวว่า “แม้แต่ก่อนช่วงเวลาดังกล่าว เราก็ทราบดีว่ามหาสมุทรไม่ได้ร้อนขนาดนี้”

“ข้อมูลที่เรามีเป็นสิ่งที่ยากจะปฏิเสธ แต่เราก็ยังหวังว่ามนุษยชาติจะสามารถทำอะไรบางอย่างเพื่อแก้ปัญหา” เขากล่าว “เพียงแต่เรายังไม่ได้ทำอะไรที่จะสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้จริง”

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Ocean temperatures hit record high as rate of heating accelerates
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์