รู้รักษ์ป่า ชวนเรียนรู้ 7 ฐานงานป้องกันและรักษาป่าห้วยขาแข้ง ในงานรำลึก 29 ปี สืบ นาคะเสถียร

รู้รักษ์ป่า ชวนเรียนรู้ 7 ฐานงานป้องกันและรักษาป่าห้วยขาแข้ง ในงานรำลึก 29 ปี สืบ นาคะเสถียร

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 นครสวรรค์ ขอเชิญชวนทุกท่านเข้าร่วมงาน “จากป่าสู่เมือง 30 ปี ตำนานหัวหน้าเขตฯ ห้วยขาแข้ง รำลึก 29 ปี สืบ นาคะเสถียร”

โดยในปีนี้พิเศษกว่าทุกปี เนื่องจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งจะเปิดให้ทุกท่านได้สัมผัสธรรมชาติ และเข้าถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ ผ่านกิจกรรมทั้ง 7 ฐาน ดังนี้

ฐานที่ 1 สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง : ทำความรู้จักสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดย หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้งและทีมงาน
ฐานที่ 2 นกเงือก : สัมผัส 6 นกเงือกที่พบได้ในห้วยขาแข้ง และกิจกรรมปีนต้นไม้ ซ่อมโพรงรังนกเงือก โดย มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก
ฐานที่ 3 เสือ : สำรวจเส้นทางเสือ “เส้นทางศึกษาธรรมชาติบ้านของเสือ” โดย สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ
ฐานที่ 4 วนเกษตร : นักสำรวจขอบป่า เรียนรู้ปัญหาความขัดแย้งคนกับสัตว์ป่าในพื้นที่จริง และทำความรู้จักกับเกษตรกรรอบผืนป่าห้วยขาแข้ง โดย บุญเลิศ เทียนช้าง และชุมชน
ฐานที่ 5 SMART PATROL : ลาดตระเวนเชิงคุณภาพเสมือนจริง โดย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
ฐานที่ 6 บันทึกธรรมชาติด้วยสีไม้ : รูปแบบการสื่อความหมายเพื่อเป็นคู่มือศึกษาทางธรรมชาติ  โดย ครูกุ้งและครูปรีชา
ฐานที่ 7 workshop ถ่ายภาพสัตว์ป่า : เข้าใจสัตว์ป่าผ่านการถ่ายภาพ ด้วย  workshop ถ่ายภาพสัตว์ป่า โดย สมิทธิ์ สุติบุตร์ และบารมี เติมบุญเกียรติ ช่างภาพสัตว์ป่าแนวหน้าของเมืองไทย

รายละเอียดกิจกรรมฐานเรียนรู้งานป้องกันและรักษาป่าห้วยขาแข้ง

ฐานที่ 1 สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดย หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้งและทีมงาน
ผู้เข้าร่วม : 30 คน
ระยะเวลา : 4-5 ชั่วโมง

รูปแบบกิจกรรม เยี่ยมและทำความรู้จักสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ภารกิจหลักและภารกิจรอง ทำความรู้จักสัตว์แต่ละชนิดที่อยู่ในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้งผ่านการบรรยายโดยการเดินชมรอบสถานีเพาะเลี้ยงฯ กิจกรรมถอนวัชพืชในแปลงอาหารสัตว์ และกิจกรรมล้างกรงสัตว์

สัตว์แต่ละตัวที่เข้ามาอยู่ในสถานีเพาะเลี้ยงฯ แห่งนี้ มีที่มาที่ไปแตกต่างกัน ท่านที่เข้าร่วมจะได้ฟังเรื่องราวของสัตว์แต่ละตัวที่มาอยู่ที่นี่ มีทั้งหมีควาย เสือโคร่ง เสือดาว นกเงือก แร้ง และสัตว์อื่น ๆ ที่เป็นสัตว์สงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง

ฐานที่ 2 นกเงือก สัมผัส 6 นกเงือก ที่พบได้ในห้วยขาแข้ง และกิจกรรมปีนต้นไม้ ซ่อมโพรงรังนกเงือก โดย มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก
ผู้เข้าร่วม : 30 คน
ระยะเวลา : 3-5 ชั่วโมง

รูปแบบกิจกรรม เข้าใจและรู้จักนิเวศวิทยาคุณค่าและความสำคัญของนกเงือก ผ่านการบรรยาย รวมถึงเรียนรู้การซ่อมโพรงรังโดยวิทยากรชำนาญการ และทำไมต้องมีโพรงรังเทียม ผ่านกิจกรรมทดลองปีนต้นไม้เพื่อซ่อมโพรงรังนกเงือกและกิจกรรม hornbill broad game

มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือกมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพในการศึกษาวิจัยนกเงือกให้กว้างขวางและต่อเนื่องมากขึ้นและเผยแพร่ความรู้ทางด้านนิเวศวิทยาของป่าและสัตว์ป่าแก่สาธารณชน

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สามารถพบนกเงือกได้ถึง 6 ชนิด จากทั้งหมด 13 ชนิด ได้แก่ นกกก นกแก๊ก นกเงือกสีน้ำตาล นกเงือกกรามช้าง นกเงือกคอแดง และนกเงือกกรามช้างปากเรียบ บทบาทเด่นของนกเงือกในระบบนิเวศป่าคือ ช่วยกระจายพันธุ์ไม้กว่า 200 ชนิดที่มีประสิทธิภาพมาก

ฐานที่ 3 เสือ สำรวจเส้นทางเสือ “เส้นทางศึกษาธรรมชาติบ้านของเสือ” โดย สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ
ผู้เข้าร่วม : 20 คน
ระยะเวลา : 3-4 ชั่วโมง

รูปแบบกิจกรรม พาเดินในเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติบ้านของเสือ ตลอดเส้นทางการเดิน 800 เมตร  รู้จักเสือและบ้านของเสือ เข้าใจถึงคุณค่าและความสำคัญของเสือ แกะรอยเสือบนเส้นทางจากรอยตีนเสือโคร่ง เสือดาว การทำเครื่องหมายบอกอาณาเขต รวมถึงทำความรู้จักรอยตีนสัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่ง

ในเส้นทางนี้ท่านจะได้เรียนรู้กับ 6 สถานีด้วยกัน

  1. สถานีรอยตีนสัตว์ป่า : เรียนรู้รูปแบบและลักษณะของรอยตีนสัตว์ป่าหลายชนิดที่อาจพบเห็นได้ในเส้นทางศึกษาธรรมชาติเส้นนี้ เช่น เสือโคร่ง เสือดาว หมาจิ้งจอก หมาใน และสัตว์กินพืช เช่น เก้ง กวาง ละมั่ง เนื้อทราย หมูป่า และวัวแดง ซึ่งเป็นเหยื่อของเสือโคร่งและสัตว์ผู้ล่าชนิดอื่น ๆ
  2. สถานีร่องรอยของเสือโคร่ง : เรียนรู้การทำร่องรอย ที่เป็นเครื่องหมายในการสื่อสารของเสือโคร่ง ในลักษณะต่าง ๆ เช่น การตะกุยดิน การตะกุยตามต้นไม้ และการพ่นฉี่หรือการสเปรย์ของเสือโคร่ง
  3. สถานีกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า : เรียนรู้การตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติเพื่อประเมินประชากรและความหนาแน่นของเสือโคร่ง รวมถึงสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ
  4. สถานีกรงดักจับเสือ : เรียนรู้การดักจับเสือเพื่อศึกษาวิจัยนิเวศวิทยาของเสือ ในยุคแรก ๆ งานวิจัย นักวิจัยใช้กรงดักจับเสือโดยใช้เหยื่อล่อใส่ไว้ในกรงเมื่อเสือกินเหยื่อ
  5. สถานีการจัดการพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่า : พื้นที่บริเวณหอดูสัตว์โป่งซับยาง
  6. สถานีแหล่งต้นน้ำ : สายน้ำแห่งชีวิต คือคำตอบของการอนุรักษ์ป่าและสัตว์ป่า ลำห้วยที่ไหลผ่านเส้นทางศึกษาธรรมชาติบ้านของเสือ คือลำห้วยทับเสลาที่มีพื้นที่ต้นน้ำอยู่ตอนบนของผืนป่าห้วยขาแข้ง เป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงสรรพชีวิตในผืนป่า

ฐานที่ 4 วนเกษตร นักสำรวจขอบป่า เรียนรู้ปัญหาความขัดแย้งคนกับสัตว์ป่าในพื้นที่จริง และทำความรู้จักกับเกษตรกรรอบผืนป่าห้วยขาแข้ง โดย บุญเลิศ เทียนช้าง และชุมชน
ผู้เข้าร่วม : 30 คน
ระยะเวลา : 4-5 ชั่วโมง

รูปแบบกิจกรรม : รู้จักเกษตรกรรอบผืนป่าห้วยขาแข้ง  เข้าใจวิถีและที่มาของการปรับเปลี่ยนชนิดพืช สถานการณ์สัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ ร่วมกิจกรรมเตรียมกล้า-ลงกล้าในแปลงเกษตรกร

จากการเก็บข้อมูลของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พบว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาปรากฏว่ามีสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่หลายจุดและสร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกร แม้ทางเขตฯ จะมีชุดผลักดันช้าง แต่ในบางครั้งช้างหรือสัตว์ป่าชนิดอื่นไม่ได้ออกแค่เพียงจุดเดียวใน 1 คืน ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอในการช่วยกันผลักดันสัตว์ป่าเข้าพื้นที่ ดังนั้นการปรับเปลี่ยนพืชจึงเป็นทางเลือกที่น่าทดลองและนำเสนอให้แก่ประชาชนในพื้นที่เพื่อร่วมทดลองและเรียนรู้ไปด้วยกัน โดยโครงการปรับเปลี่ยนชนิดพืชเพื่อลดผลกระทบสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่นี้อยู่ในช่วงของการทดลอง

ฐานที่ 5  SMART PATROL ลาดตระเวนเชิงคุณภาพ โดย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
ผู้เข้าร่วม : 30 คน
ระยะเวลา : 3-4 ชั่วโมง

รูปแบบกิจกรรม ผู้เข้าร่วมได้ทดลองเดินลาดตระเวนเชิงคุณภาพเสมือนจริง ในระยะทาง 2 กิโลเมตร โดยเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจะเล่าถึงความเป็นมาและความสำคัญของระบบงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ทดลองใช้ชีวิตแบบผู้พิทักษ์ป่าในยามที่ต้องออกลาดตระเวน การแบกสัมภาระและอุปกรณ์ที่จำเป็นต่าง ๆ ในการดำรงชีพและทำงานในป่า รวมถึงการจดบันทึกและการกรอกข้อมูลที่สำคัญต่าง ๆ ฯลฯ

การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ หรือ Smart Patrol เป็นระบบที่นำเอาวิทยาการสมัยใหม่เข้ามาประกอบกับการลาดตระเวนแบบเก่าที่ถือเพียงปืนเดินดุ่มเข้าป่า

ฐานที่ 6 บันทึกธรรมชาติด้วยสีไม้ รูปแบบการสื่อความหมายเพื่อเป็นคู่มือศึกษาทางธรรมชาติ  โดย ครูกุ้งและครูปรีชา
ผู้เข้าร่วม : 30 คน
ระยะเวลา : 3-4 ชั่วโมง
ข้อจำกัดเฉพาะฐาน : อุปกรณ์บางส่วนมีเตรียมไว้ให้แต่อาจไม่เพียงพอ ผู้เข้าร่วมโปรดเตรียมสีไม้และสมุดบันทึกมาด้วย

รูปแบบกิจกรรม เทคนิคการบันทึกธรรมชาติผ่านการวาดภาพและระบายสีไม้

การบันทึกธรรมชาติโดยการวาดภาพ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสื่อความหมายในห้องเรียนธรรมชาติที่ไม่มีสิ้นสุด สีไม้พกพาง่ายและไม่ต้องรอแห้ง เพื่อเป็นคู่มือศึกษาธรรมชาติได้ในอนาคต การวาดทำให้เรามองอย่างละเอียดและจดจำได้แม่นกว่าถ่ายภาพ การวาดภาพทำให้จำสังเกตรายละเอียดได้มากกว่าการถ่ายภาพ การถ่ายภาพอาจจะเก็บองค์ประกอบไม่ได้ในทางวิทยาศาสตร์ เช่น บางทีอยากเก็บรายละเอียดเฉพาะจุด นอกจากนี้เป็นการฝึกการเคารพธรรมชาติและรู้จักการรอคอย เป็นความงดงามในแง่ของศิลปะและการนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านวิทยาศาสตร์ที่แสดงให้เห็นภายในของวัตถุซึ่งเป็นข้อจำกัดที่ภาพถ่ายจากกล้องถ่ายรูปไม่สามารถทำได้

ฐานที่ 7 workshop ถ่ายภาพสัตว์ป่า เข้าใจสัตว์ป่าผ่านการถ่ายภาพ ด้วย  workshop ถ่ายภาพสัตว์ป่า โดย สมิทธิ์ สุติบุตร์ และบารมี เติมบุญเกียรติ ช่างภาพสัตว์ป่าแนวหน้าของเมืองไทย
ผู้เข้าร่วม : 20 คน
ระยะเวลา : 3-4 ชั่วโมง
ข้อจำกัดเฉพาะฐาน : ผู้เข้าร่วมต้องมีกล้องของตัวเอง

รูปแบบกิจกรรม แบ่งเป็น 2 ทีม ทีมละ 10 คน ถ่ายภาพสัตว์ป่าพร้อมเรียนรู้เทคนิคการถ่ายภาพจากวิทยากร

ก่อนที่คุณจะเข้าใจอุปกรณ์ในการบันทึกภาพสัตว์ป่าว่ามันทำงานอย่างไร คุณต้องเข้าใจพฤติกรรมของสัตว์ป่าก่อน เพื่อให้คุณเข้าใจว่าคุณต้องถ่ายภาพมันอย่างไร เป็นการตามถ่ายสัตว์ป่าที่เข้าใจแก่นแท้ของสัตว์  เข้าถึงเมื่อได้รับอนุญาตให้เข้าถึง เมื่อคุณได้ภาพสัตว์ป่าแล้ว สิ่งที่คุณจะได้มันไม่ใช่แค่ภาพไปอวดคนอื่นแต่คุณจะเข้าใจมัน ทำให้เรารู้ว่าเรากับสัตว์ป่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร (ส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ มล.ปริญญากร วรวรรณ รายการ พื้นที่ชีวิต : ชีวิตที่ห้วยขาแข้ง (4 ต.ค. 61) ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส)

บุคคลทั่วไปสามารถเข้าร่วมได้ แต่จำกัดสิทธิ์เพียงท่านละ 1 ฐานกิจกรรมเท่านั้น เนื่องจากทุกฐานจะเริ่มในเวลาเดียวกัน

กิจกรรมฐานเรียนรู้จะจัดขึ้นในวันที่ 31 สิงหาคม 62 ตั้งแต่เวลา 09.00-14.00 น.
ท่านที่สนใจเข้าร่วมสามารถลงทะเบียนหน้างานได้ ตั้งแต่เวลา 08.00-09.00 น. สถานที่ บริเวณทางเข้าอนุสรณ์สถาน สืบ นาคะเสถียร (ไม่มีการลงทะเบียนล่วงหน้า) 

ส่วนใครที่ลงทะเบียนไม่ทัน ก็ต้องรอลุ้นกันต่อในปีหน้า เพราะไม่รู้ว่ากิจกรรมดี ๆ แบบนี้ จะมีอีกหรือเปล่า

งานนี้ ฟรี !! ตลอดงาน แต่เตรียมเสบียงระหว่างเข้าร่วมฐานกิจกรรมด้วยนะคะ

แล้วพบกันที่ห้วยขาแข้งค่ะ

กำหนดการและสิ่งที่ผู้เข้าร่วมควรรู้ในการร่วมกิจกรรมรำลึก 29 ปี สืบ นาคะเสถียร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี (คลิก)