Climate strike Thailand เดินขบวนเรียกร้องและเสนอให้รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ

Climate strike Thailand เดินขบวนเรียกร้องและเสนอให้รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ

เช้าวันนี้ 20 ก.ย. 62 กลุ่ม Climate strike Thailand ได้เดินขบวนเรียกร้องแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยมีการรวมตัวกันที่โรงแรมเสนาเพลส กรุงเทพ เพื่อไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยื่นจดหมายผนึกเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศวาระฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ หยุดใช้พลังงานฟอสซิล พลังงานถ่านหินให้หมดภายในปี 2025 และหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างน้อย 50% ภายในปี 2025 และใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี 2040  

นันทิชา โอเจริญ ผู้ประสานงาน Climate strike Thailand ได้ยื่นจดหมายผนึกต่อผู้แทนรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนระบุว่าจดหมายฉบับนี้ถึงมือรัฐมนตรีอย่างแน่นอน และย้ำว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น

นันทิชา โอเจริญ ผู้จัด Climate strike Thailand อ่านจดหมายผนึกต่อผู้แทนรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและผู้ร่วมเดินขบวน

นันทิชาเผยว่า ทุกคนควรได้รับโอกาสที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป กลุมที่มาเรียกร้องในวันนี้ไม่ได้ต้องการตึกที่ใหญ่ขึ้น หรือเงินที่มากขึ้น เพียงแค่ต้องการเมืองสีเขียวที่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ 

“อย่าปล่อยให้คนที่มีอำนาจทำลายบ้านเมืองและอนาคตของเราอีกต่อไป ถ้าคุณไม่เริ่มลงมือตั้งแต่ตอนนี้ คุณกำลังขโมยอนาคตของพวกเรา ทำให้เด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ตายลงอย่างช้า ๆ” 

 

วิจารณ์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ด้านวิจารณ์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระบุว่า เรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องในระดับโลก ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเทศเดียว รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับปัญหาที่เกิดขึ้น และประกาศเจตนารมณ์ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20-25% ภายในปี 2030 และแบนขยะพลาสติก 3 ประเภท ได้แก่ ไมโครบีท ถุงพลาสติก และแคปซีล ให้หมดภายในปีนี้ตามโรดแมปการจัดการขยะพลาสติกที่รัฐบาลได้วางแผนไว้ 

นอกจากกลุ่ม Climate strike Thailand แล้ว ยังมีกลุ่มเยาวชน Global Climate Strike ใน 130 ประเทศทั่วโลก เดินขบวนประท้วงระหว่างวันที่ 20-27 ก.ย. 62  รวมทั้งการเดินขบวนที่ จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 27 ก.ย. 62 เพื่อกดดันภาคเอกชนและรัฐบาลให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทันทีตามข้อตกลงปารีส เพื่อหยุดการเพิ่มอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไว้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

 

 

 

 


บทความ/ภาพ นูรซาลบียะห์ เซ็ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร