เมื่อหนึ่งปีที่แล้ว ชายคนหนึ่งที่เดินเท้าจากป่าแม่วงก์เป็นที่สนใจจากสังคม ผ่านสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์ก ย่างก้าวจากป่าเพื่อประกาศให้คนไทยตระหนักรู้ว่าการสร้างเขื่อนในป่าแม่วงก์เป็นทางเลือกที่ไม่คุ้ม และทำลายความหลากหลายทางชีวภาพของผืนแผ่นดินของคนไทยทุกคน การเดินเพื่อรักษาป่า เกิดขึ้นเพื่อให้คนไทยได้ตอบรับความคิดและเดินตามทั้งนัยความหมายจริงและแฝง การเดินเท้าโดยมีโซเชียลเน็ตเวิร์กอยู่ในมือ สร้างกระแสได้ประสบผลสำเร็จ ปลุกกระแสอนุรักษ์ให้ฟื้นตื่นอีกครั้ง

วันนั้น ศศิน เฉลิมลาภ เดินเท้าเข้าสู่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตามด้วยขบวนเดินยาวเหยียด มีผู้ร่วมความคิด และสื่อมวลชนรอรับอยู่อย่างคับคั่ง หนึ่งปีผ่านไป เบื้องลึกเบื้องหลังของการเดินเท้าอันเต็มไปด้วยรายละเอียด ในวันนี้ ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยังยืนยันอุดมคติมั่งคงเช่นเดิม

ถามย้อนกลับไปถึงเมื่อครั้งเดินเท้าหนึ่งปีผ่านไปแล้ว ศศินบอกว่าเดินจบแล้ว แต่ก็ยังคงเหนื่อยอยู่ สิ่งที่ได้เพิ่มขึ้นมาคือเพื่อนฝูง การตัดสินใจเดินในวันนั้นเป็น ‘แรงสุดท้าย’ ของการพยายามยับยั้ง EHIA โครงการเขื่อนแม่วงก์ ต้นคิดมาจากการเห็นข่าวการประท้วงในต่างประเทศ ที่ผู้ประท้วงว่ายน้ำข้ามช่องแคบ

เห็นข่าวต่างประเทศทางโทรทัศน์เป็นคนว่ายน้ำข้ามช่องแคบประท้วงอะไรสักอย่าง มันดึงความสนใจจากสาธารณชนและสื่อมวลชนมาได้ ดูจากทีวีเห็นคนเขาสนใจกันเพียบเลย เราก็คิดว่า เออ ถ้าเราเดินจากแม่วงก์ หรือเดินจากกรุงเทพฯ ไปแม่วงก์ อาจจะสร้างความสนใจให้กับสาธารณชนได้ ก็เลยเลือกวิธีเดิน

ความคิดแรกเลยคือจะเดินไปประท้วงการผ่านรายงานของคณะกรรมการผู้ชำนาญการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ตรงพระรามหก) คิดว่าอาจจะไปวางหรีดเป็นสัญลักษณ์ แล้วเดินไปแม่วงก์ คราวนี้มีอดีตกรรมการมูลนิธิสืบฯ ซึ่งเขาเป็นนักยุทธศาสตร์ เขาฝากมาว่ายิ่งเดินมันยิ่งหมดแรง ยิ่งเดินไปยิ่งลดทอนกำลัง สู้เดินจากป่าเข้ามาเพิ่มกำลังที่กรุงเทพฯ ไม่ได้ ทุกคนก็เห็นด้วยกับเรื่องนี้

ผ่านการคิดมาหลายรอบแล้วว่าจะเป็นการรณรงค์ที่จะทำให้สังคมหันมาสนใจโครงการเขื่อนแม่วงก์อีกครั้ง

คิดไว้ คิดสิ ต้องคิด ถ้าไม่คิดเราไม่ดินหรอก เพราะว่าเราเห็นเขาว่ายน้ำข้ามช่องแคบ ถ้าเราประท้วงแบบฝรั่ง มีสัญลักษณ์ก็น่าจะมีคนสนใจบ้าง โดยเฉพาะสื่อที่หวังไว้เยอะ ที่คิดไว้คือหนังสือพิมพ์ยังไงก็ทำข่าวอยู่แล้ว แต่ที่เราหวังคือสื่อโทรทัศน์ ทำข่าวคนบ้าเดินเนี่ยยังไงมันก็ต้องเป็นข่าว

จังหวะทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญ ?

ช่วงนั้นมันเป็นช่วงที่เหมาะสม คือในเป็นช่วงที่พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมกำลังเป็นที่สนใจ และเป็นช่วงพักพระราชบัญญัตินิรโทษฯ คือกำลังเข้ากรรมาธิการ ช่วงนั้นก็กำลังไม่มีข่าวอะไรน่าสนใจกว่านี้ เป็นช่วงที่การทำแคมเปญ เป็นช่วงที่ทำได้

ผมคิดว่า (การเมือง) ก็คงมีส่วนนะ เพราะตอนนั้นกระแสคนที่ไม่ชอบรัฐบาลก็มีอยู่เยอะ เราคัดค้านโครงการก่อสร้างของรัฐก็มีกระแสการเมืองช่วย แต่จริงๆ ก็ค้านตั้งหลายรัฐบาลแล้วล่ะ ไม่ใช่เฉพารัฐบาลนี้ สำหรับเราแล้วถ้าค้านช่วงนี้ผู้คนที่กำลังมองเห็นข้อผิดพลาดบกพร่องของรัฐ ส่วนหนึ่งก็อาจจะมามองข้อมูลตัวนี้เพิ่มขึ้น และรวมถึงว่าโครงการเขื่อนนี้ถูกควบรวมไปกับโครงการจัดการน้ำ ซึ่งเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลในขณะนั้น ดังนั้น คนที่ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการจัดการน้ำของรัฐก็จะมาสนใจโครงการย่อย ในโมดูล A1 ก็คือเขื่อนแม่วงก์นี้ด้วย

เฟซบุ๊กคือสื่อการรณงค์เดินเท้า นับเป็นมิติใหม่ของการรณรงค์ของวงการอนุรักษ์ที่นำเอาโซเชียลมีเดียมาใช้อย่างเต็มที่ และประสบผลเกินคาด ศศินบอกว่า การใช้โซเชียลมีเดียเป็นยุทธศาสตร์ของมูลนิธิสืบฯ

กระแสของโซเชียลมีเดีย เริ่มมาตั้งแต่ช่วงปี 51-52 ซึ่งทีมประชาสัมพันธ์ของมูลนิธิสืบฯ เสนอว่าผู้บริหารต้องทำให้เป็น ต้องทวิตเตอร์เหมือนอดีตนายกทักษิณทวิตกลับมาเมืองไทย สมัยนั้นคุณสุทธิชัย หยุ่นเป็นคนนำ แต่ปรากฏว่าพอใช้ทวิตเตอร์แล้วเราพบข้อจำกัด คือ หนึ่ง มันต้องมีคนติดตาม มีคนรู้จักเราอยู่แล้ว ปรากฏว่าเราไม่ดังจริง ตอนแรกเราพบว่าเราอยากจะทวิตงานของมูลนิธิ แต่ปรากฏว่าไม่มีคนติดตาม แล้วเราก็มีปัญหาเรื่องการสื่อสารสั้นๆ รวมถึงข้อจำกัดในพื้นที่ทำงานของเรา เมื่อก่อนไม่มีสมาร์ทโฟน ต้องเล่นหน้าคอมพิวเตอร์อย่างเดียวในบริเวณที่มี wifi วิถีชีวิตเราไม่สามารถที่จะมาทวิตเรื่องสั้นๆ ได้ในพื้นที่ทำงาน ก็ลองทวิตอยู่ประมาณสองสามเดือน ก็ได้ประโยชน์กับการรู้ข้อมูลของคนอื่น แต่ข้อมูลของเราไปไม่ถึงไหน ก็เลยลองเปลี่ยนมาใช้เฟซบุ๊ก ปรากฏว่ามันง่ายกว่าเพราะมันใส่รูปกับข้อความได้ยาวกว่า และมีเวลาที่กลับมาใคร่ครวญ ค่อยๆ รวบรวมความคิดได้เยอะกว่า มีรายละเอียดได้มากกว่า

ศศินใช้ยุทธศาสตร์หลักนี้ในการ ‘สื่อสาร’ เพื่อสร้างแนวร่วมในการคัดค้าน EHIA โครงการเขื่อนแม่วงก์

ค่อยๆ เห็นเพิ่มมากขึ้นทุกๆ วัน เริ่มมาในวันที่สอง พอเราเริ่มสื่อสารออกไปจากวันแรก วันที่สองเริ่มมีคนมาให้กำลังใจ เริ่มมีคนแต่งกลอน คนที่มีฐานมวลชนคือคุณวสันต์ สิทธิเขตต์ เรารู้สึกว่ากำลังใจมาแล้ว เราเห็นผู้คนอื่นแต่งให้ตั้งแต่วันแรกๆ เราเริ่มรู้สึกว่าเข้าสู่โหมดของการต่อสู้ที่มีคนเห็นและช่วยกระจายออกไป รู้สึกเลยว่า ไอ้การเดินครั้งนี้มันไปได้นะ เพราะในเฟซบุ๊กมีผลตอบรับ

ดูเหมือนไม่กล่าวถึงสื่อหลักเท่าไหร่นัก ?

สื่อหลักอยู่ในแผน ว่าเราอยากจะเดินผ่านพื้นที่ความขัดแย้งสูงๆ ที่มีกลุ่มสนับสนุนเขื่อนไปเสียก่อนแล้วจึงเชิญมา แต่ตั้งแต่วันแรกเราก็มีสื่อหลักมานะ แต่เป็นสื่อหนังสือพิมพ์ ซึ่งเรารู้ว่าสื่อมาทำข่าววันนี้แต่จะลงอีกวันต่อไป ซึ่งเราจะเดินผ่านจุดนี้ไปแล้วด้วยซ้ำ จริงๆ เราก็วางแผนเรื่องสื่อไว้มากพอสมควร

– เจ้าหน้าผู้หญิงจากอบต. ที่เป็นฝ่ายเอาเขื่อนแม่วงก์ขับรถตามมาถ่ายรูปเราเพื่อเอาไปรายงานให้เจ้านายฟัง ปรากฏว่าเขามาขอถ่ายรูปกับเรา แล้วยังบอกว่าให้กำลังใจนะพี่ ขอให้สำเร็จนะ

ผลที่ได้รับ เกิดจากการเรียนรู้และจับจุดกลุ่มเป้าหมายไปตลอดการเดินเท้า

ในส่วนของเฟซบุ๊ก ไม่คิดว่าพลังมันจะได้มากขนาดนี้ แต่เราก็ไม่ได้เตรียมตัวนะ ทุกอย่างทำไปโดยสัญชาตญาณ ตอนแรกเราคิดไว้ว่าการเล่นเฟซบุ๊กเนี่ย เราจะไปเล่นตามร้านกาแฟจุดพักอะไรแบบนั้น วางแผนไว้ว่ามีน้องทีมมูลนิธิเล่นเฟซบุ๊กเป็นหลักให้เรา แล้วเราก็แชร์ออกไป แล้วเวลาที่เราเดินคงจะเหนื่อยมาก คงได้พักปั้มน้ำมัน นั่งชิลๆ แล้วทบทวนเฟซบุ๊กในกลุ่มของพวกเรา เราก็กะจะโพสต์เรื่องทางวิชาการ เช่นน้ำท่วมปี 54 เกิดขึ้นอย่างไร มีความสัมพันธ์อย่างไรกับเขื่อนแม่วงก์ มาจนถึงเรื่องการจัดการน้ำในที่ราบภาคกลางมาจนถึงกรุงเทพฯ โดยการทบทวนสถานการณ์น้ำในปี 54 เตรียมอุปกรณ์ไปครบครัน ปรากฏว่ามันผิดแผนทั้งหมด ในช่วงเช้าที่เราเริ่มเดิน ปรากฏว่าโพสต์เรื่องวิชาการ สายน้ำนี้อย่างนี้ พื้นที่แม่วงก์ เขาชนกัน มันแป้ก แต่โพสต์ว่าพระอาทิตย์ขึ้นสวย จะกินกาแฟ หรือเริ่มเจ็บ สถานการณ์ของผู้คน อันนั้นจะได้รับการตอบรับเยอะ เราก็เริ่มปรับเนื้อหาในการโพสตืไปตลอด

แล้วพอเราเดินจริง ปรากฏว่าความเหนื่อยกับจุดพักไม่สัมพันธ์กัน เนื้อหาก็พัฒนาไปจากการที่มีคนเข้ามาสมทบกลุ่มแรก คือ โละ จากมศว. เขาเป็นกลุ่มแรกที่โบกรถมาสนับสนุนกับกลุ่มเรา ก็เลยถ่ายรูปเขาลงไป เป็นจุดที่เราเรียนรู้ว่ามีคนสนใจ อีกจุดคือ เจ้าหน้าผู้หญิงจากอบต. ที่เป็นฝ่ายเอาเขื่อนแม่วงก์ขับรถตามมาถ่ายรูปเราเพื่อเอาไปรายงานให้เจ้านายฟัง ปรากฏว่าเขามาขอถ่ายรูปกับเรา แล้วยังบอกว่าให้กำลังใจนะพี่ ขอให้สำเร็จนะ เราก็รู้สึก เอ๊ะ ถ้าเขาขอถ่ายรูปเราเราก็ขอถ่ายรูปเขาบ้างสิ คือตอนแรกไม่ได้คิดจะถ่ายรูปผู้คนที่มาเยี่ยมเลย แต่พอถ่ายออกไป คนที่เห็นก็กดไลค์กันมากมายกว่าเรื่องน้ำท่วม เราเลยจับทางได้ว่าจริงๆ ถ้าเราต้องการสื่อสารเรื่องนี้ไปหาผู้คน เราต้องมองว่าเขาสนใจเรื่องอะไรในช่วงแบบนี้ ก้โชคดีที่ไม่ผิด ก็ยิงรัวเรื่องแบบนี้ไปเยอะมาก

จุด ‘ที่สุด’ เรื่องการเดินของศศิน อยู่ตรงไหน ?

ถ้านับความรู้สึกพีค คือหมายถึงวันที่เราเหนื่อยเต็มที่แล้วเราผ่านมันมาได้ ซึ่งก็คือการเดินสามวันสุดท้าย ซึ่งเป็นวันที่เราเจ็บขาจริงๆ เป็นวันที่เริ่มจิตใจเหนื่อยแล้วล่ะ เริ่มมีหงุดหงิดกับลูกทีมบ้างแล้ว คือมันมีการประสานงานที่ซับซ้อนขึ้น คนเยอะขึ้น เริ่มมีความผิดพลาดมากขึ้น เริ่มมีเรื่องที่วิตกกังวล โดยเฉพาะเรื่องการประสานงานภายในทีมตัวเองว่า กลัวจะเกิดเหตุไม่คาดหมายขึ้น สมาธิเราก็เลยไม่อยู่ที่การโพสต์เฟซบุ๊กกับเรื่องของการเดินเท่าไหร่แล้ว ที่วำคัญช่วงสามวันหลังสื่อส่วนใหญ่ คือ วิทยุกับทีวีดาวเทียมตามเยอะมาก ตั้งแต่เช้าจรดเย็นไม่ได้หยุดพูดเลย ทั้งคนที่มาสัมภาษณ์ ทั้งทางโทรศัพท์ ซึ่งมันวุ่นวายมากเพราะเป็นงานที่แบ่งให้คนอื่นไม่ได้ ช่วงเช้ามีคนมานัดสัมภาษณ์ และมารอช่วงพักกลางวัน ในช่วงพักกลางวันเราแทบไม่ได้กินข้าวเลย ไม่ได้นอนพักเลย ขณะที่คนอื่นพักกันเราก็จะพูดอยู่ตลอดเวลา แล้วเดิน แล้วโทรศัพท์ตลอดเวลา ถ้าถามว่าการเดินมาถึงนั้นมีความรู้สึกเศร้า ซึ้งอะไรไหม มันแทบไม่มี มันเป็นความรู้สึกที่ให้ข่าวกับเดินให้ถึง แล้วก็โทรศัพท์ให้ครบทุกสาย ควบคุมอารมณ์ ทำหน้าที่กับการให้ข่าว ไม่ให้หลุด แค่นั้นก็ลืมเรื่องเจ็บขาไปหมดแล้ว

ความประทับใจอันที่จริงเราตื่นเต้นตั้งแต่ที่ฟิวเจอร์ปาร์คก็ไม่ต่างจากภาพที่หอศิลป์ ภาพที่ประทับใจคือตรงดอนเมือง สนามบินดอนเมืองที่รั้วที่ยาวมาก ปรากฏว่าขบวนของเราเดินจากรั้วด้านนึงไปสุดอีกฟากรั้วนึง ตอนถึงทางโค้งหันไปดูเห็นคนเดินยาวสุดลูกหูลูกตามาตั้งแต่ดอนเมือง เป็นจุดที่เราประทับใจมาก เพราะคนที่มาเดินวันนั้นมันเป็นวันที่เดินไกล และได้บรรยากาศมาก และเราพีคมากตอนเห็นคนที่มารอเราที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แสงไฟมันส่องมองคน คนที่มารอเราเยอะมากเลย วันนั้นเป็นวันที่หนักที่สุด เดินไกลที่สุดเป็นวันที่ผู้คนมาร่วมได้เยอะที่สุด

เหนื่อยไหม ? วันสุดท้ายกว่าจะถึงหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

วันสุดท้ายจริงๆ กลับไม่เหนื่อย เพราะเดินสั้น และคืนนั้นนอนสบาย คือ มีอาจารย์ที่ ม.เกษตรฯ พาไปนอนที่ห้องพักอาจารย์ ก็นอนเต็มอิ่ม เป็นคืนแรกที่ไม่ได้นอนเต้นท์ เอาถุงนอนปูนอนในห้องแอร์ หลับสนิท แล้วก็ตื่นสายนิดหนึ่ง ร่างกายมันก็ฟื้น ไม่เหนื่อยเท่าไหร่

มีเสียงวิจารณ์หลังจากนั้น เช่น การกล่าวหาว่าเป็นเรื่องของชนชั้นกลาง ตอนนั้นกระแสหนักพอสมควร วันนี้ศศินมีอะไรจะตอบโต้มั้ย ?

ไม่มีอะไรจะตอบโต้ เพราะทั้งหมดมันเป็นเรื่องของการทำงาน เรากำลังทำงานให้มูลนิธิสืบฯ ทำงานให้พี่สืบ เราไม่ได้เดินเอาดังให้ตัวเอง มันรู้อยู่แล้วในแง่ของการทำงานสื่อ ถ้าคุณจะทำงานอนุรักษ์ ในแง่ของความเป็นสมบัติสาธารณะอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ หรือป่าตะวันตกมันเป็นสมบัติสาธารณะ ซึ่งคนที่จะ ‘รู้สึกรู้สม’ กับคำว่าอุทยานแห่งชาติ ทาเก็ตกรุ๊ปหรือกลุ่มเป้าหมายของการรณรงค์ก็คือชนชั้นกลางอยู่แล้ว อย่างชาวบ้านปากมูล บ่อนอก บ้านกรูด ท่อก๊าซจะนะ ที่เป็นเครือข่ายที่เรารู้จัก เขาก็เป็นระดับท้องถิ่นที่ต้องปกป้องทรัพยากรของบ้านเขาอยู่แล้ว แต่การปกป้องป่า ที่ไม่มีคน ไม่มีชุมชนแบบนี้ กลุ่มเป้าหมายก็คือกลุ่มชนชั้นกลาง กลุ่มคนที่จะมาอนุรักษ์ก็คือกลุ่มที่เขาพ้นจากภาวะของการหาอยู่หากินหาเช้ากินค่ำอยู่แล้ว เขาถึงมามองงานสาธารณะ อย่าลืมว่าการเดิน คือการทำงานแคมเปญ คืองานรณรงค์ครั้งใหญ่ อย่างแรกคือเราต้องหาเป้าหมายให้เจอ ดังนั้นคนที่กระแนะกระแหน ถ้าไม่เข้าใจเรื่องแบบนี้ก็เรื่องของเขานะ (หัวเราะ) เราทำงานอยู่น่ะ ทั้งหมดคือการทำงาน ทำงานก็ต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน

– ตอนคุณอภิสิทธิ์เราก็ค้าน รัฐบาลรสช. เราก็ค้าน เขื่อนแม่วงก์ถูกปลุกผีขึ้นมาโดยรสช. มาถึงสมัยสมัคร สมชาย เราก็ค้าน แต่วิธีการค้านมันก็ขึ้นกับบริบทของมัน –

การต่อต้านโครงการการจัดการน้ำและคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ ตอนนี้ขั้วอำนาจเปลี่ยน ศศิน ยังยืนยันเรื่องการคัดค้านเขื่อนใช่ไหม ?

การคัดค้านเขื่อนมันก็มีอยู่แล้ว อย่าลืมเราทำงานมาก่อนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตอนคุณอภิสิทธิ์เราก็ค้าน รัฐฐาลรสช. เราก็ค้าน เขื่อนแม่วงก์ถูกปลุกผีขึ้นมาโดย รสช. มาถึงสมัยสมัคร สมชาย เราก็ค้าน แต่วิธีการค้านมันก็ขึ้นอยู่กับบริบทของมัน โดยวิธีการหลักคือ ให้ข้อมูล ยื่นหนังสือ ให้ข้อมูลสาธารณะ สื่อมวลชน แล้วยื่นหนังสือข้อมูล ไม่ใช่ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์คุณเดินประท้วงแล้วด่าออกสื่อ รัฐบาลยิ่งลักษณ์เราก็เริ่มด้วยยื่นหนังสือประท้วง พอถึง คสช. ก็เหมือนกัน วันนี้เราก็ส่งหนังสือเข้าไปล้ว เรื่องของ 3.5 แสนล้าน เรื่องแม่วงก์เดี๋ยวก็คงต้องส่งไป ต้องไม่ลืมว่าแม่วงก์ก็อยู่ใน 3.5 แสนล้านเหมือนกัน ซึ่งตอนนี้ถูกระงับ ปัจจุบันสิ่งที่เราทำมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว ก็คือคุยกับคนในอำนาจรัฐบาล คือคุยดีๆ กับรัฐมนตรีกระทรวงทรัพย์ฯ ที่ดูแลป่าอยู่ เราก็เดินเข้าไปคุยดีๆ ก็คุยดีๆ มาตลอด แมแต่เดินก็เดินดีๆ ให้ข้อมูล ขอร้องกันดีๆ มาตลอด

วันนี้สิ่งที่ได้มาคือ คณะทำงานของอำนาจรัฐ คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มาพิจารณา EHIA มาพิจารณาประกอบ เราก็ทำอยู่บนหลักการเหตุผลการบริหารงานของรัฐมาโดยตลอด ไม่ได้ปฏิเสธอำนาจรัฐเลย คือเข้าไปใช้อำนาจรัฐในการทำงานมาโดยตลอด

10 ปี เดินเท้าคัดค้าน EHIA โครงการเขื่อนแม่วงก์

ร่วมรักษาป่าใหญ่และสิ่งแวดล้อมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

สแกนผ่านระบบ Mobile Banking