สืบ นาคะเสถียร กับการคัดค้านเขื่อนน้ำโจน – สัมปทานไม้ที่ห้วยขาแข้ง สู่การเป็นมรดกโลก

สืบ นาคะเสถียร กับการคัดค้านเขื่อนน้ำโจน – สัมปทานไม้ที่ห้วยขาแข้ง สู่การเป็นมรดกโลก

ก่อนที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวรจะได้รับการประกาศเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2534 ผืนป่าสมบูรณ์ทั้ง 2 แห่งเคยตกเป็นเป้าของโครงการพัฒนาและการเข้าใช้ประโยชน์ทรัพยากรในพื้นที่

หากแต่วันเวลาดังกล่าว กระแสสังคมมีความตื่นตัวและเห็นความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อม ขบวนนักอนุรักษ์อันประกอบด้วยภาคประชาชน นิสิตนักศึกษา ตลอดจนทั้งนักวิชาการต่างร่วมแรงร่วมใจจนสามารถยับยั้งโครงการที่กำลังจะสร้างอันตรายต่อผืนป่าไว้ได้สำเร็จ

แน่นอนว่าหนึ่งในฟันเฟืองที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา คือ ชายที่ชื่อ สืบ นาคะเสถียร

สืบ นาคะเสถียร ภาพถ่ายจากนิตยสาร Image

ย้อนกลับไปในช่วงคาบเกี่ยวระหว่าง พ.ศ. 2529 – 2530 เป็นช่วงเวลาที่ สืบ ได้รับบทเรียนจากการอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลาน และเป็นเวลาเดียวกับที่จังหวัดกาญจนบุรีมีโครงการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจนในพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และรัฐบาลในขณะนั้นก็มีแนวโน้มที่จะอนุมัติโครงการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าว ซึ่งหากมีการก่อสร้างจะส่งผลให้พื้นที่ราว 140,000 ไร่ของผืนป่าแห่งนี้ต้องจมอยู่ใต้น้ำ

วีรวัธน์ ธีรประสาธ์น หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรในเวลานั้น และเป็นเพื่อนสนิทของ สืบ ได้ชักชวนให้ สืบ ไปช่วยทำงานด้านข้อมูลในการเคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน

สืบ ได้เข้าไปทำข้อมูลในผืนป่าทุ่งใหญ่ฯ ครั้งหนึ่งในการสำรวจทางอากาศ สืบได้พบฝูงกระทิงอยู่รวมกันถึง 50 ตัว ถือได้ว่าเป็นกระทิงฝูงใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบเห็นในป่าประเทศไทย ซึ่งนี่หลักฐานสำคัญที่แสดงถึงความสมบูรณ์ของผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

สืบ ที่ก่อนหน้านั้นเป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) ประสบการณ์สำคัญในชีวิตครั้งนั้นทำให้สืบเข้าใจดีว่า หากมีการสร้างเขื่อนน้ำโจนขึ้น จะเกิดอะไรขึ้นกับผืนป่าแห่งนี้ และสัตว์ป่าจะตายจากการสร้างเขื่อนอย่างไร สืบ สามารถบรรยายเรื่องราวเหล่านั้นสู่สาธารณะชน ตลอดจนสื่อมวลชนได้อย่างเข้าใจในปัญหาอย่างตรงประเด็น และถูกต้อง

วีรวัธน์ ย้อนภาพเหตุการณ์การเล่าบทเรียนการอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลานของ สืบ ไว้ว่า “จำได้ว่าคนเมืองกาญจน์ประทับใจการพูดของสืบมาก และรู้สึกจะเป็นครั้งแรกที่สืบพูดว่า เขาพูดในนามของสัตว์ป่าที่กำลังจะตาย”

เวทีคัดค้านเขื่อนน้ำโจนที่ตัวเมืองจังหวัดกาญจนบุรี

การคัดค้านในครั้งนั้น คนกาญจนบุรีออกมาเคลื่อนไหวเป็นจำนวนมาก ที่ตัวเมืองในแต่ละวันมีการจัดนิทรรศการและการบรรยายเรื่องราวความสำคัญของผืนป่า และเหตุผลว่าทำไมจึงไม่ควรสร้างเขื่อนน้ำโจนในผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

ไม่เพียงแต่คนจังหวัดกาญจนบุรี การคัดค้านครั้งนั้นยังมีแนวร่วมจากคนในเมืองหลวงเข้าร่วมอีกเป็นจำนวนมาก

อาจารย์รตยา จันทรเทียร อดีตประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษามูลนิธิสืบนาคะเสถียร) หนึ่งในผู้ร่วมคัดค้านโครงการดังกล่าวในภาคของเมือง บอกเล่าเหตุการณ์ครั้งนั้นเอาไว้ว่า

“สมัยนั้นอาจารย์เป็นนายกสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อมก็เลยเข้าไปร่วมด้วย การคัดค้านเรียกได้ว่ารวมทุกสรรพวิชา ข้อมูลสัตว์ป่าและผืนป่าก็ได้จากคุณสืบ นาคะเสถียร คุณวีรวัฒน์ ธีรประสาธน์ อาจารย์นริศ ภูมิภาคพันธ์ คุณนพรัตน์ นาคสถิตย์ เรียกได้ว่าเป็นทีมนักวิชาการและข้าราชการป่าไม้ที่เข้มแข็งมาก ตอนนั้นใครเชี่ยวชาญด้านไหนก็ช่วยกันเสนอข้อมูล ทางเราก็ช่วยย่อยข้อมูล แปลงจากเนื้อหายากๆให้เข้าใจง่าย สรุปเป็นสองเอสี่ เผยแพร่สองทุกอาทิตย์”

อ.รตยา จันทรเทียร อดีตประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษามูลนิธิสืบนาคะเสถียร

สืบ ได้เขียนรายงานเรื่อง ความสำคัญของป่าทุ่งใหญ่นเรศวร กับการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจน เอาไว้ว่า “การก่อสร้างเขื่อนน้ำโจนจะทำให้เกิดผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อทรัพยากรที่มีเหลืออยู่เป็นแหล่งสุดท้ายของประเทศ ถึงแม้จะมีการแก้ไขผลกระทบที่ดีเพียงใดก็ตาม แต่พื้นที่ป่าที่ลุ่มต่ำไม่น้อยกว่า 140 ตารางกิโลเมตร ของลุ่มน้ำแควใหญ่ตอนบนจะต้องสูญหายไปอย่างแน่นอน แหล่งรวมทางพันธุกรรมของพืชและสัตว์ในบริเวณที่จะถูกน้ำท่วมจะต้องสูญสิ้นไป ในที่นี่ยังไม่รวมถึงผลกระทบในทางอ้อมที่จะเกิดจากการก่อสร้าง อาทิ การตัดถนนเข้าไปบริเวณหัวงาน การตัดเส้นทางชักลากไม้ออกจากบริเวณอ่างเก็บน้ำและการกระทำอย่างอื่นๆ ที่เป็นการละเมิดกฎหมายที่จะเกิดขึ้นติดตามมาเหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้น และกำลังเกิดอยู่ในพื้นที่ที่มีการเปิดประตูป่าเข้าไปเพื่อการพัฒนา จนทรัพยากรที่สำคัญของชาติโดยส่วนรวมที่ยังเหลืออยู่ต้องหมดสิ้นไป และไม่สามารถหาสิ่งอื่นมาทดแทนได้ มาตรการที่ดีสำหรับใช้ในการแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติให้หมดไปหากจะนำมาใช้ในการป้องกันส่วนที่เหลืออยู่ให้คงอยู่ และอำนวยประโยชน์อันยาวนานต่อไป สำหรับการพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้าน ย่อมจะเป็นวิถีทางที่ถูกต้องสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย เพราะประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลายในโลกต่างก็รู้ซึ้งถึงการทำลายทรัพยากรเพื่อการพัฒนาประเทศ จนต้องหันมาอนุรักษ์ทรัพยากรที่กำลังจะหมดไปในภูมิภาคส่วนอื่นของโลกแล้ว เหตุใดเราจะมาทำลายมรดกชิ้นสุดท้ายให้สูญสิ้นไป”

แม้งานคัดค้านจะมีแนวร่วมเป็นจำนวนมากแต่อุปสรรคที่ใหญ่ คือ งานชี้แจงให้ผู้มีส่วนในการตัดสินใจเปลี่ยนใจยุติโครงการ เวลานั้นอธิบดีกรมป่าไม้ ตำแหน่งที่ต้องดูและพื้นที่ป่าและผู้บังคับบัญชาของสืบกลับเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนให้มีการสร้างเขื่อน

ในวงประชุมครั้งหนึ่งอธิบดีคนดังกล่าวได้อธิบายว่า ปัญหาด้านสัตว์ป่าเป็นเรื่องไม่น่าห่วง สามารถแก้ไขได้ ตัวอย่างเช่นเรื่องนกยูงที่ต้องอาศัยหาดทรายดำรงชีพ ถึงน้ำจะท่วมหาดทรายแต่ก็สามารถสร้างทดแทนใหม่ได้

สืบ ผู้ยึดถือหลักความจริงอย่างเคร่งครัด และไม่ยอมบิดเบือนข้อเท็จจริงทางวิชาการได้กล่าวแย้งอย่างไม่เกรงใจในตำแหน่งว่า “ความคิดนี้เป็นความคิดของคนที่ไม่รู้เรื่องการจัดการด้านสัตว์ป่าเลย”

ในช่วงใกล้วันที่รัฐบาลตัดสินใจว่าจะสร้างเขื่อนหรือไม่ สืบ ทำงานอย่างหนักจนสามารถทำรายงานเรื่องการประเมินผลงานช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลานได้สำเร็จ และรายงานชิ้นดังกล่าวได้ส่งผลต่อการพิจารณาอย่างมากเพราะนี่คือรายงานชิ้นแรกที่มีการศึกษาผลกระทบของสัตว์ป่าจากการสร้างเขื่อน

ภาพหน้าปก รายงานการประเมินผล งานช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน (เขื่อนรัชชประภา) จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภาพถ่ายโดยสืบ นาคะเสถียร เขาเขียนถึงชะนีทั้งสองตัวว่า แม้จะช่วยชีวิตไว้ได้ แต่ด้วยความเครียดทำให้ชะนีทั้งสองตัวตายไปในที่สุด

จนในที่สุด วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2531 คณะรัฐมนตรี มีมติระงับการสร้างเขื่อนน้ำโจน

แม้รัฐบาลจะมีมติระงับโครงการไปแล้ว แต่ฟากฝั่งนักอนุรักษ์ยังไม่นิ่งนอนใจ จึงได้มองหามาตรการระยะยาวในการป้องกันไม่ให้มีการเสนอโครงการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจนเกิดขึ้นอีกในอนาคต จึงได้เกิดแนวคิดในการเสนอให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก โดยมีสืบ นาคะเสถียร และเบลินดา สจ๊วต ค็อกซ์ เป็นผู้รับหน้าที่เขียนรายงานนำเสนอดังกล่าว

นับแต่เหตุการณ์คัดค้านเขื่อนน้ำโจน สืบ ได้ขยับตัวเองจากการเป็นนักวิชาการมาทำงานเคลื่อนไหวในฐานะนักอนุรักษ์ สืบเดินทางไปพูดตามเวทีต่างๆ และหลายๆ คนที่เคยฟังสืบพูด จะจดจำได้ว่าการบรรยายของสืบนั้นเป็นการบรรยายที่ออกมาจากหัวใจ โดยเฉพาะคำพูดที่ว่า “ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่าทุกตัว”

15 เมษายน 2531 หนังสือพิมพ์มติชน ได้ลงพาดหัวข่าวว่า “กรมป่าไม้ทำแสบ อนุมัติให้บริษัทไม้อัดไทยเข้าทำไม้ 3 แสนไร่ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งซึ่งอุดมสมบูรณ์ที่สุดในเอเชีย หวั่นสัตว์ป่าหายากแตกหนีกระเจิง ร้องให้ยับยั้งด่วนก่อนพินาศ”

การให้สัมปทานไม้ในผืนป่าห้วยขาแข้งในเวลานั้นเกิดขึ้นจากที่กรมป่าไม้ไม่สามารถจัดหาป่าในพื้นที่อื่นทดแทนให้แก่บริษัทไม้อัดไทย บริษัทไม้อัดไทยจึงขอสิทธิ์กลับเข้าทำไม้ในพื้นที่ป่าลุ่มห้วยขาแข้ง คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 260,000 ไร่

สืบ ที่เริ่มทำงานเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมได้ชักชวนเพื่อนพ้องออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านอย่างเข้มแข็ง มีการจัดนิทรรศการและเวทีอภิปรายในตัวเมืองจังหวัดอุทัยธานี เพื่อให้ชาวเมืองเห็นคุณค่าของป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเวลานั้นเป็นบ้านสำคัญของควายป่า อีกหนึ่งสัตว์ป่าที่มีแนวโน้มสูญพันธ์ไปจากผืนป่าไทย

เวทีคัดค้านการทำสัมปทานไม้ที่ตัวเมืองจังหวัดอุทัยธานี

สืบ ได้ทำประชามติสร้างเสียงสนับสนุนให้การทำสัมปทานไม้ในป่าห้วยขาแข้งถูกยกเลิก มีผู้ลงชื่อสนับสนุนแนวคิดของ สืบ นับหมื่นรายชื่อ

ในเวทีอภิปราย สืบ บอกว่า “คนที่อยากอนุญาตให้ทำไม้ก็เป็นกรมป่าไม้ คนที่จะรักษาก็เป็นกรมป่าไม้เหมือนกัน ของนี้จะใส่ในมือซ้ายหรือมือขวาดี ถ้าใส่มือขวา มือซ้ายก็อด ถ้าเรามีพื้นที่ป่าที่ดีที่สุดคือห้วยขาแข้ง แล้วเรายังไม่รักษา แม้แต่กรมป่าไม้เองก็ยังไม่สนใจรักษา ก็อย่าหวังว่าจะรักษาที่อื่นให้รอดได้”

สืบ ได้เขียนรายงานเรื่อง สัมปทานป่าไม้ บทเรียนจากสายน้ำเลือด ความตอนสรุปไว้ว่า “ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐบาลจะหันมาทบทวนนโยบายการให้สัมปทานป่าไม้ของประเทศเสียใหม่ เพราะการให้สัมปทานเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้มีการทำลายป่าและยึดครองพื้นที่โดยอาศัยเงื่อนไขของกฎหมาย และความหละหลวมในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ หยุดเสียทีสำหรับการตักตวงผลประโยชน์จากป่าที่ยังเหลืออยู่และหันมาฟื้นฟูสภาพป่าที่กำลังป่วยไข้ให้กลับมีชีวิตสมบูรณ์เช่นเดิม ก่อนที่ป่าซึ่งเหลืออยู่เพียงน้อยนิดจะไม่สามารถควบคุมความสมดุลแห่งธรรมชาติได้ และถ้าถึงวันนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศก็ไม่อาจหลีกพ้นชะตากรรมจากภัยพิบัติที่เกิดจากการทำลายธรรมชาติ ดังเช่น ที่พี่น้องภาคใต้กำลังประสบอยู่ในเวลานี้”

เวลาเดียวกัน ได้เกิดเหตุการณ์ซุงนับพันท่อนถล่มอำเภอนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีผู้เสียชีวิตนับร้อยคน บ้านเรือนถูกทะเลโคลนถมทับ อันมีสาเหตุมาจากการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลประกาศยกเลิกสัมปทานทำไม้ทั่วประเทศรวมถึงสัมปทานไม้ในป่าห้วยขาแข้ง และในเวลาต่อมา สืบได้ตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

แม้ สืบ จะสามารถคัดค้านโครงการจากภายนอกได้ แต่เมื่อมารับหน้าที่เป็นหัวหน้าเอง กลับพบว่าปัญหาภายในพื้นที่นั้นมีความหนักหน่วงไม่ด้อยไปกว่าปัญหาที่มาจากภายนอก โดยเฉพาะเรื่องราวของการล่าสัตว์ป่าและลักลอบตัดไม้จากบริษัททำไม้รายใหญ่

บุหลัน รันตี นักเขียนเรื่องเกี่ยวกับป่า ได้เขียนบรรยายเรื่องราวของป่าห้วยขาแข้งในเวลานั้นจากสิ่งที่พบเห็นไว้ในหนังสือเที่ยวไปในป่าลึก ว่า “การเห็นซากกวางถูกชำแหละทิ้งไว้เช่นนี้มิได้เป็นของแปลกสำหรับเราอีกต่อไป เพราะมีให้เห็นตลอดเส้นทาง แต่ละซากมีสภาพคล้ายๆ กัน ถ้าซากไหนไม่มีหัวตัดทิ้งไว้ แสดงว่ากวางตัวนั้นเป็นตัวผู้ เขาสวยของมันสามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้เช่นกัน ตลอดการเดินทางเราพบวากกวางถูกฆ่าตายเกือบสามสิบซาก ผมได้ถ่ายเป็นภาพสไลด์เอาไว้ ถ่ายจนฟิล์มเกือบจะหมดจนเลิกถ่าย พิจารณาดูแล้วว่ามันจะต้องเป็นการล่าเพื่อการค้าอย่างแน่นอน”

สืบ พยายามนำปัญหาที่พบเจอไปอธิบายให้ผู้บังคับบัญชาฟัง แต่สิ่งที่ได้รับกลับมามีเพียงความเงียบงัน ราวกับว่าปัญหาที่ผืนป่าห้วยขาแข้งกำลังเผชิญนั้นไม่มีความสำคัญใดๆ ในการจำเป็นที่ต้องรักษา

สืบ ได้ตระหนักว่า หนทางที่จะรักษาป่าห้วยขาแข้งได้ คือข้อสรุปเดียวกับการยับยั้งไม่ให้มีการเสนอสร้างเขื่อนน้ำโจนขึ้นใหม่ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร นั่นคือ การเสนอให้ผืนป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก

สืบ นาคะเสถียร และเบลินดา สจ๊วต ค็อกซ์ ได้ร่วมกันเขียนรายงาน Nomination of The Thung Yai – Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuary to be a U.N.E.S.C.O. จนสำเร็จในที่สุด

หน้าปกรายงานที่สืบ นาคะเสถียรได้ทุ่มเทเขียนร่วมกับเบลินด้า สจ๊วต ค๊อก

ความตอนหนึ่งของบทคำย่อรายงานนำเสนอทุ่งใหญ่ห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลก สืบ อธิบายว่า

ป่าอนุรักษ์ผืนนี้ นับได้ว่าเป็นผืนป่าธรรมชาติที่มีคุณค่าและมีความสำคัญยิ่งต่อการอนุรักษ์ไว้ในรูปแบบของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เพื่อให้ยังคงสภาพของความเป็นธรรมชาติที่ประกอบไปด้วยความหลากหลายของสภาพป่า ชนิดพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ตลอดจนเป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่จะสามารถคุ้มครองความอยู่รอดของสัตว์ป่ามิให้สูญพันธุ์ไปจากการถูกทำลายโดยรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าเป็นการล่า การตัดไม้ทำลายสภาพป่า ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่เฉพาะของสัตว์ป่าแต่ละชนิด รวมกระทั่งถึงการพัฒนาที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการรักษาระบบนิเวศวิทยาของสิ่งที่มีชีวิต รัฐบาลได้เห็นความสำคัญของผืนป่าแห่งนี้โดยการเสนอชื่อไปยังองค์การสหประชาชาติ (UNESCO) เพื่อที่จะให้ป่าทุ่งใหญ่ – ห้วยขาแข้ง เป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก ในรูปแบบของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เพื่อคงไว้ซึ่งการดูแลรักษาพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์มิให้สูญพันธุ์ไปจากถิ่นกำเนิดดั้งเดิม  และการที่ป่าผืนนี้จะได้รับการพิจารณาโดยคณะกรรมการนานาชาติที่เป็นสมาชิก ให้เป็นมรดกทางธรรมชาติแห่งหนึ่งของโลกหรือไม่ ก็อยู่ที่พวกเราคนไทยทุกคนจะได้ช่วยกันสนับสนุนในการดูแลรักษา และใช้ประโยชน์อย่างถูกต้อง เพื่อคงไว้ซึ่งผลประโยชน์ในรูปแบบของความสมดุลทางระบบนิเวศวิทยาที่นับวันแต่จะถูกทำลายลง จนกระทั่งเกิดวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติที่ติดตามมาจากการทำลายธรรมชาติ และการใช้ประโยชน์ที่ไม่ถูกต้อง

สองสัปดาห์หลังวันที่ 1 กันยายน 2533 ไม่ไกลจากจุดที่เสียงปืนได้จบชีวิตข้าราชการนามว่า สืบ นาคะเสถียร ลง ข้าราชการระดับสูงจากกรมป่าไม้ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายทหารนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่บ้านเมืองนับร้อยคน ได้ร่วมกันมาประชุมปรึกษาหารือแนวทางการป้องกันการทำลายเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งอย่างแข็งขัน

และกลางเดือนธันวาคม พ.ศ. 2534 ที่ประชุมพิจารณาคัดเลือกแหล่งมรดกโลกขององค์การยูเนสโกได้ประกาศให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลกแห่งแรกของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ป้ายมรดกโลก ตั้งอยู่ ณ จุดชมวิว สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

…เรื่องราวเป็นไปตามความฝันของ สืบ นาคะเสถียร ในวันที่ไร้ร่างและวิญญาณของเขา…

มรดกสุดท้ายที่สืบได้ฝากไว้ก่อนจากนั้นมากด้วยคุณค่า ยังผลยาวนานไม่สูญหาย

ปัจจุบันผืนป่าทั้งสองแห่งได้กลายเป็นหัวใจและต้นแบบของการอนุรักษ์ผืนป่าในประเทศไทย

สืบ เคยบอกว่า “หากจะรักษาป่าทุ่งใหญ่และห้วยขาแข้งให้คงความอุดมสมบูรณ์อยู่ได้นั้น นอกจากการเสนอให้เป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนการดูแลรักษาพื้นที่จากนานาชาติและการดูแลพื้นที่อย่างจริงจังจากทุกภาคส่วนแล้ว ควรต้องรักษาผืนป่าที่อยู่โดยรอบพื้นที่ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งด้วยเช่นกัน”

ตัวชี้วัดสำคัญเห็นได้จากงานวิจัยจำนวนมาก เช่นในเรื่องที่บอกว่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งเป็นผืนป่าเพียงไม่กี่แห่งบนโลกนี้ที่ยังคงสามารถอนุรักษ์เผ่าพันธุ์ของสัตว์ป่าอย่างเสือโคร่งและนกเงือก ซึ่งถือ key stone species ของผืนป่าเอาไว้ได้

ทั้งหมดนี้เกิดจากการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในการสร้างระบบการจัดการดูแลพื้นที่มาตลอดระยะเวลา 25 ปี ของการประกาศเป็นพื้นที่มรดกทางธรรมชาติของโลกให้กับผืนป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง

มรดกของผู้ชายที่ชื่อว่า สืบ นาคะเสถียร

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม