อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก่อนโลกมัวมน part 2

อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก่อนโลกมัวมน part 2

การที่เราจะสร้างเขื่อนไปก่อนแล้วค่อยตามมาแก้ไขผลกระทบทีหลัง
ผมคิดว่ามันไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ในทางปฏิบัติ
ถึงแม้จะเขียนโครงการไว้ดี แต่ก็ไม่สามารถทำได้

 


สารคดี : เมื่อพูดถึงการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เหตุการณ์ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนและอยู่ในความสนใจของทุกคนคือการสร้างเขื่อน ซึ่งในขณะนี้ก็มีการคัดค้านและถกเถียงกันอยู่ อยากให้ช่วยเล่าถึงผลกระทบจากการสร้างเขื่อน เพราะน่าจะเป็นกรณีตัวอย่างที่ดีให้ศึกษากันต่อไป

สืบ : ถ้าเผื่อเรามีทรัพยากรที่เป็นลุ่มน้ำอยู่มาก แล้วเราสามารถรักษาป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ได้บางส่วน ใช้ไปบางส่วน เหมือนสมัยที่เรามีป่ามาก เราอาจจะสร้างเขื่อนได้บางแห่ง แต่ในปัจจุบัน ลักษณะของพื้นที่ที่เป็นลุ่มน้ำที่เหมาะจะสร้างเขื่อนให้ได้ปริมาณน้ำมากๆ เอามาผลิตกระแสไฟฟ้ามันเหลือน้อย และการที่เราจะสร้างเขื่อนไปก่อนแล้วค่อยตามมาแก้ไขผลกระทบทีหลัง ผมคิดว่ามันไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ในทางปฏิบัติ ถึงแม้จะเขียนโครงการไว้ดี แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เช่น เรื่องการทำไม้บริเวณเขื่อน แทนที่จะหยุดในบริเวณที่จะเป็นอ่างเก็บน้ำ ก็มีการให้ทำต่อไปอีก หรือต้องมีการเผาป่าในบริเวณอ่างเก็บน้ำ แทนที่จะได้เจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ ก็เผาได้แค่สี่สิบเปอร์เซ็นต์น้ำก็เลยเน่า หรือชาวบ้านที่เข้าไปอาศัยอยู่ในบริเวณเขื่อน ก็ไม่สามารถควบคุมให้อยู่เป็นที่เป็นทางได้ ต้องไปอยู่กระจายกันรอบอ่าง การที่จะไปไล่จับบอกว่าคุณขึ้นบกไม่ได้นะ ขึ้นบกคุณต้องถูกจับเพราะเข้าไปในพื้นที่อนุรักษ์ ก็ทำไม่ได้ เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่เพียงพอ

เดี๋ยวนี้เขื่อนเริ่มจะเข้าไปในพื้นที่อนุรักษ์แล้ว เพราะว่าป่าข้างนอกหมดแล้ว อย่างที่เขาใหญ่ก็เริ่มจะพูดถึงการสร้างเขื่อนในพื้นที่อนุรักษ์ เห็นว่าการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้ายังทำได้อีกต่อไป ผมคิดว่าป่าอนุรักษ์ในอนาคตคงไม่มีความหมายอะไร เหลือแต่ชื่อเอาไว้ว่าเคยเป็นป่าอนุรักษ์มาก่อน เพราะพอมีการสร้างเขื่อน ประชาชนจะเข้าไป คือพวกที่ถูกอพยพออกมาตั้งถิ่นฐานใหม่ ชีวิตเขาเปลี่ยนไป ชาวบ้านพูดเลยว่าสมัยเขาอยู่ป่า เขาได้ตัดต้นไม้…ไม่มีใครว่าเพราะป่ามันเยอะ เขาได้ใช้ป่า ได้ล่าสัตว์ เขายังกินเก้ง กินกวางได้เลย พอหลังจากเขาต้องอพยพออกมาจากบริเวณที่สร้างเขื่อน เขาต้องซื้อหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นน้ำประปา ไฟฟ้า ข้าวสาร…ทำนาไม่ได้ก็ต้องซื้อหมด แล้วพวกนี้ทำยังไง ความที่ตัวเองเคยอยู่โดยที่ไม่ต้องใช้จ่ายเงินมากนักก็ไปทำลายป่ารอบๆ บริเวณที่ตั้งนั่นแหละ หรือว่าอยู่ในที่จัดสรรไม่ได้ ก็ไปยึดป่าสงวนแห่งอื่นบุกทำลายกันต่อไป เพราะการล่าสัตว์ การตัดไม้มันเป็นเหมือนธรรมชาติของมนุษย์…เลิกไม่ได้

ทีนี้ทำอย่างไรจึงจะสร้างความรับผิดชอบให้แก่ประชาชน ว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่อนุรักษ์นะ พื้นที่นี้เป็นป่าสงวนนะ คุณใช้ประโยชน์ได้แค่นี้ คุณเก็บเห็ดได้ เลี้ยงวัวเลี้ยงควายได้ แต่ในขณะเดียวกัน การที่เราควบคุมให้เขาทำตามกฎหมาย เราได้ทำตัวอย่างให้เขาเห็นหรือยัง ไม่ใช่เขาอยู่ตรงนี้ เขาเห็นป่าอยู่หน้าบ้าน เขาจะช่วยรักษาไว้ก็ย่อมได้ แต่วันดีคืนดีก็มีคนข้างนอกมาตัดต้นไม้หน้าบ้านเขาไป แล้วเขาเอาเองไม่ดีกว่าหรือ …ใช่ไหมครับ หรือเหมือนอย่างที่ผมได้ยินมา ทางเหนือมีปัญหาเรื่องพื้นที่ คือแทนที่เราจะเอาชาวเขาที่ชอบตัดไม้ออกเพื่อจะฟื้นฟูสภาพป่าบนเขาที่เป็นต้นน้ำลำธารให้ดีขึ้น กลับกลายเป็นว่า เอาชาวเขาออกเพื่อให้คนในเมืองมาซื้อที่ทำรีสอร์ต…ป่าก็ยังถูกทำลายอยู่วันยังค่ำ

สุรพล : เรื่องการแก้ผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ที่จริงแล้วเขาจะต้องมีการเตรียมแผน ต้องจ้างบริษัทต่างๆ เข้าไปสำรวจว่าทำอย่างไรจึงจะสร้างเขื่อนได้ แต่ก็ไม่มีบริษัทไหนที่จะบอกว่าตรงนี้สร้างไม่ได้ บริษัทที่สำรวจทางนิเวศวิทยาเขาก็ต้องบอกว่าทำอย่างไรถึงจะสร้างได้ ถ้าเกิดมีข้อบังคับว่าน้ำต้องไม่เน่านะ เขาก็ต้องบอกว่าน้ำนี่คงไม่เน่าเมื่อเอาป่าออกให้หมด แต่ในความเป็นจริงแล้วเขาทำไม่ได้ อย่างเรื่องการอพยพสัตว์ที่มันเกิดเรื่องขึ้นเพราะการไฟฟ้าฯ เขาตัดงบฯ มาส่วนหนึ่งบอกว่า เมื่ออพยพสัตว์แล้ว สัตว์จะปลอดภัย มันเป็นเรื่องจินตนาการ เป็นเรื่องเพ้อฝัน เป็นเรื่องที่เกิดจากคนที่คิดทำแผน เขาเพียงแต่มองว่ามันน่าจะมีอะไรบ้างที่ทำให้เห็นว่า เขาลดผลกระทบลงไปแล้วการสร้างเขื่อนทุกเขื่อนเขาบอกไว้หมดว่าถ้าลดผลกระทบ แล้วประชาชนก็ได้ย้ายไปอยู่ที่ที่มีน้ำ มีไฟใช้ แต่เราไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับคนเหล่านั้น เพราะว่าคนเหล่านั้นเขาไม่ได้อยู่ในที่นั้นจริงๆ แล้วอย่างเรื่องพันธุ์ปลาอะไรต่างๆ เขาบอกว่าเมื่อขังน้ำแล้วควรจะมีการปล่อยปลาเพื่อแก้ผลกระทบที่ว่าปลาจะสูญพันธุ์… สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ทางแก้ไข มันเหมือนกับว่า ทำอย่างไรเขาถึงจะบอกว่าเขาได้ทำงานของเขาครบไปแล้ว

ถ้าเราไปดูเขื่อนที่มีอยู่ในต่างประเทศ เขื่อนไม่ใหญ่เท่าเราหรอก แต่เวลาเขาสร้างเขาจะขุดรากถอนโคนต้นไม้ออกหมดเลย ให้เหลือแต่ดินกับหิน เวลากักเก็บน้ำ น้ำจึงไม่เน่าสามสี่ปีอย่างบ้านเรา อย่างผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเขาแหลม ทุกวันนี้น้ำในแม่น้ำแควก็ยังไม่ปกติ ซึ่งมันเป็นเวลาเกือบเจ็ดปีแล้ว แรกๆ ปลาตายทั้งแม่น้ำเลย ตอนนั้นผมไปสำรวจค้างคาวกิตติ เห็นแล้วตกใจมาก

สืบ : ผมอยากให้เห็นชัดๆ ว่า ในการจะทำข้อมูลเพื่อให้โครงการผ่าน เราได้ทำอย่างละเอียดถี่ถ้วนหรือเปล่า ยกตัวอย่างที่เขื่อนเชี่ยวหลาน จากการสำรวจเพื่อประเมินผลกระทบทางด้านป่าไม้กับสัตว์ป่า การเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ว่าผลกระทบมันแค่ไหน ควรจะแก้ไขยังไง ผมคิดว่ามันยังไม่ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ตัวอย่างที่เห็นก็คือจำนวนชนิดของสัตว์ที่สำรวจ ในรายงานระบุว่าสัตว์ร้อยยี่สิบกว่าชนิด แต่หลังจากที่เราเข้าไปอพยพสัตว์ป่า ปรากฏว่าที่เขื่อนเชี่ยวหลานมีสัตว์ป่าถึงสามร้อยชนิด

สารคดี : การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คงจะไม่บรรลุผลได้โดยง่าย ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกๆ ฝ่าย คุณคิดว่าประชาชนทั่วไปจะมีส่วนในเรื่องนี้ได้อย่างไร

สืบ : ตอนนี้ถ้ามองในแง่ของการอยู่ในภาวะที่ทรัพยากรเริ่มน้อยไป ก็มีประชาชนบางกลุ่มเริ่มออกมาพูดมาขอร้อง มาร้องเรียนขอไอ้โน่นไอ้นี่จากรัฐ เมื่อก่อนนี้เรามีทรัพยากรมากเราก็ไม่ได้พูดกัน เพราะคิดว่ามันคงไม่ได้เสียหายอะไร

สำหรับประชาชนทั่วไป มันอยู่ที่ว่าเราจะทำอย่างไรให้ประชาชนรู้จักรับผิดชอบ ซึ่งเรื่องนี้เราจะบังคับให้เขาทำไม่ได้ และเราจะไปบอกให้ประชาชนรักป่า รักต้นไม้ ในขณะที่รัฐเองไม่ได้ทำตัวอย่างให้เขาเห็นมันก็ไม่ได้


ผมคิดว่าการสร้างความรับผิดชอบในเรื่องสิ่งแวดล้อม
มันจะต้องสร้างไปพร้อมๆ กันทุกฝ่าย ไม่ใช่เฉพาะประชาชนเท่านั้น
องค์กรต่างๆ ของรัฐน่าจะเป็นแบบแผนในการที่จะให้ประชาชน
เข้ามามีส่วนในการรับผิดชอบสภาพแวดล้อม

 

แต่ในขณะเดียวกันหน่วยงานที่เป็นคนคอยควบคุมอะไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย ระเบียบ มาตรการอะไรต่างๆ ในการทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้นจะต้องสร้างจิตสำนึกในตัวเองก่อน แล้วทำให้ได้ เมื่อประชาชนมองเห็นตัวอย่าง การร่วมมือก็เกิดขึ้นไม่ยาก

สารคดี : หมายความว่ารัฐจะเป็นตัวชี้ขาดในเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ?

สืบ : ผมไม่ได้มองว่ารัฐจะเป็นตัวชี้ขาด แต่รัฐมีโอกาสมากกว่า เหมือนกับรัฐมีดาบอาญาสิทธิ์ แต่ประชาชนไม่มี ประชาชนมีแต่มือ เวลาเกิดความเสียหายเราอาจจะไปโทษว่าประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ แต่ในขณะเดียวกัน คนที่ใช้อำนาจนี้ได้ทำตัวอย่างให้เห็นแล้วหรือยัง ผมคิดว่ามันประกอบกันนะครับ เราคงไปบังคับให้คนทำตามกฎหมายไม่ได้ ในเมื่อการบังคับใช้ไม่ได้ตั้งอยู่บนความยุติธรรม

สุรพล : ถ้าเรามองสถานการณ์ปัจจุบันของการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประชาชนมีความพร้อมอยู่แล้วที่จะเข้าแก้ไข แต่สิ่งที่ยังขาดแคลนคือกระบวนการที่จะทำให้การแก้ไขดำเนินไปสู่จุดที่เป็นปัญหา เพื่อแก้ปัญหาจุดนั้นให้ได้ นั่นก็คือมันขาดระบบ ระบบนั้นมันคืออะไร เมื่อประชาชนมีความพร้อม แล้วตัวจักรอย่างรัฐบาลล่ะให้การสนับสนุนหรือไม่ ยกตัวอย่างง่ายๆ เรื่องการสร้างเขื่อน รัฐบาลหรือการไฟฟ้าฯ เคยมีการประเมินผลอย่างถูกต้องหรือเปล่าว่าผลได้ผลเสียมันคุ้มกันหรือไม่ เอาละ สร้างเขื่อนแล้วจะได้น้ำ ได้ไฟฟ้าใช้ แต่มีการประเมินหรือไม่ว่า การสร้างเขื่อนทำให้สภาพความเป็นอยู่ของประชาชนบางกลุ่มเดือดร้อน รัฐต้องใช้งบประมาณในเรื่องที่ตอนต้นอาจยังมองไม่เห็น เช่น กระทรวงสาธารณสุขต้องเพิ่มงาน เพิ่มงบประมาณในการรักษาโรคพยาธิใบไม้ในตับ ไข้มาลาเรีย โรคเท้าช้าง กระทรวงมหาดไทยต้องใช้งบประมาณเพิ่มมากขึ้นในการพัฒนาเส้นทางต่างๆ กระทรวงเกษตรต้องเพิ่มงบประมาณในการช่วยเหลือเกษตรกร เงินเหล่านี้รวมอยู่ในค่าใช้จ่ายด้วยหรือเปล่า มันไม่ได้มีการพูดถึง สิ่งเหล่านี้ละที่เกิดจากการทำงานไม่เป็นระบบ แล้วเมื่อประชาชนเดือดร้อน องค์กรของรัฐเป็นที่พึ่งได้ไหม

สารคดี : สมมุติว่ารัฐเห็นปัญหาและพร้อมจะให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา บทบาทของรัฐควรออกมาในรูปใด

สุรพล : ถ้าประชาชนพร้อมแล้ว รัฐบาลน่าจะเป็นแกนกลางคอยถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้นมาสู่ระบบของรัฐ อย่างน้อยที่สุดก็เป็นตัวรับ อีกจุดคือองค์กรเอกชนที่เข้าไปมีส่วนร่วมกลับถูกมองว่า เป็นองค์กรที่ทำงานขัดกับนโยบายของรัฐบาล…สิ่งเหล่านี้มันเป็นปัญหาที่ซับซ้อนเกินกว่าที่จะพูดในที่นี้ได้

ผมคิดว่าปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาของเรื่องความเป็นสุภาพบุรุษของนักการเมือง ความเป็นนักกีฬาของนักการเมือง ของบุคคลที่เป็นข้าราชการประจำทั้งหลายว่าตัวเองมีความเป็นนักกีฬาโดยสมบูรณ์แค่ไหน ในแง่ที่ว่า สิ่งใดที่ตัวเองควรจะรับผิดชอบ สิ่งใดที่ตัวเองควรจะต้องยอมรับและแก้ไข

…ประชาชน ประสบความเดือดร้อนเขารู้ ความแห้งแล้งที่เกิดขึ้น ผลผลิตเสียหายเขารู้ก่อนรัฐบาลอีก เขารู้อยู่เต็มอกว่าปีที่แล้วน้ำท่วมชุมพร ก่อนหน้านั้นท่วมนครศรีธรรมราช แต่ว่าสิ่งที่เขารู้กับสิ่งที่เขาพยายามจะแสดงออกคือการรวมตัวกันก็ถูกหาว่าเป็นม็อบ รัฐบาลก็ต้องหาทางว่าจะทำยังไงให้เข้าใจได้ว่า สิ่งเหล่านี้คือความจริงที่เกิดขึ้น แล้วก็รับเอาเรื่องนี้ไปผ่านกระบวนการของรัฐ ที่จะให้การช่วยเหลือจัดสรรความรับผิดชอบให้ถูกต้องตามระบบงานของรัฐบาล ว่าอันไหนเป็นเรื่องของกระทรวงไหน ส่วนองค์กรเอกชนที่เข้ามาก็ควรจะประสานกับรัฐมากขึ้น เพราะปัญหาใหญ่ที่องค์กรเอกชนพบก็คือ รัฐมักจะมองว่าองค์กรเอกชนเข้าไปวุ่นวาย เข้าไปทำหน้าที่ของรัฐ ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่จุดนั้น จุดสำคัญอยู่ที่ว่า เราจะร่วมมือกันยังไงมากกว่า ถ้ามองว่าเป็นองค์กรที่เข้าไปขัดขวาง หรือว่าทำให้เกิดม็อบ ก็ยิ่งทำให้ทุกอย่างมีปัญหา ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

สารคดี : เป็นไปได้ไหมว่า ทางออกของประชาชนและองค์กรต่างๆ ที่ออกมาในรูปของการชุมนุมประท้วง อาจนำไปสู่เหตุการณ์ร้ายแรง

สุรพล : การก่อตัวชุมนุมกันประท้วง…นี่คือขั้นสุดท้ายแล้ว ต่อไปก็จลาจล แต่การจลาจลจะเกิดขึ้นเมื่อเหตุการณ์นั้นเป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนทั้งประเทศรู้สึกร่วมด้วย ตอนนี้ถ้าพูดถึงกรณีแม่น้ำเสีย กรณีเขื่อนปากมูล มันก็เป็นเฉพาะจุดของมัน คนทางเชียงใหม่ ทางใต้ ทางภาคกลางก็ไม่ค่อยรู้สึกเท่าไหร่ แต่คนท้องที่เขารู้สึกมาก ก็เหมือนที่คนเมืองกาญจน์วิตกว่าจังหวัดของตนมีเขื่อนมาก ถ้าเกิดแผ่นดินไหวเขื่อนพังแล้วใครจะรับผิดชอบ …ถ้าปัญหาเรื่องการทำลายทรัพยากรธรรมชาติมันเชื่อมโยงถึงทุกคนเมื่อไหร่ วันนั้นก็คงต้องเกิดเหตุการณ์ที่เราไม่อาจคาดคิดได้

สืบ : ผมคิดว่าเรื่องนี้มันน่าจะมีทางออก จะเป็นไปได้ไหมที่รัฐจะเปิดใจกว้าง โดยการให้ทุกฝ่าย ทั้งประชาชน ผู้นำในท้องถิ่น ผู้แทนราษฎร นักวิชาการที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยร่วมกัน คือบางคนอาจจะต้องยอมรับสถานภาพของบางกลุ่ม ข้าราชการอาจจะต้องยอมรับสถานภาพของประชาชน คือ ลดตัวลง ในขณะเดียวกันก็เท่ากับเพิ่มฐานะของเขาให้ขึ้นมามีส่วนในการแก้ปัญหาร่วมกัน แทนที่จะพูดกันคนละที

ในปัจจุบันเราอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถที่จะคุยกันได้ หรือคุยกันคนละทาง รัฐอาจพัฒนาประเทศตามแนวทางที่รัฐคิด ในขณะเดียวกันประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่เดือดร้อนก็จัดการชุมนุม หรือว่ามีการสัมมนา อภิปรายอะไรต่างๆ ผมจึงคิดว่าเรื่องนี้มีทางออก คือ รัฐบาลเปิดใจกว้าง แล้วให้ทุกฝ่ายเสนอข้อขัดข้อง ระบบเก่าๆ ที่ว่าข้าราชการเป็นนายของชาวบ้าน หรือว่าใช้อำนาจหน้าที่ในการปกครอง ผมคิดว่ามันหมดยุคไปแล้ว


มันควรจะมาถึงยุคที่ทุกคนมีความเสมอภาค
ในการแสดงความคิดเห็น ช่วยกันแก้ปัญหา
เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมมันไม่ได้เกิดกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

 

สุรพล : อีกส่วนที่ผมคิดว่าประชาชนน่าจะแก้ไขได้เองก็คือ มันเป็นเรื่องของการเมืองต่อไปในภายภาคหน้าก็คงต้องทำใจไว้ว่ารัฐบาลชุดไหนเข้ามาแล้วเป็นอย่างนี้ แล้วต่อไปเรื่องการเอาเงินไปฟาดหัวคะแนนเพื่อจะเลี้ยงเหล้าตามบ้านนอกก็ควร จะเลิกไป สื่อมวลชนอาจจะต้องช่วยกระจายข่าวพวกนี้ เช่น เรื่องการสร้างเขื่อน หรือเรื่องการบุกรุกป่า ให้รู้ว่าใครเป็นตัวเกี่ยวข้อง ถ้าเป็นนักการเมือง ระบุชื่อลงไปเลย ไม่ต้องพูดให้อ้อมค้อม ให้ประชาชนเห็นว่า นี่ล่ะคือผลงานของนักการเมืองพวกไหน กลุ่มไหน เลือกตั้งคราวหน้าเขาจะได้ไม่เลือก หรือถ้านักการเมืองแน่จริงก็สร้างอนุสาวรีย์ให้ตัวเองสิ ลงชื่อไว้เลยว่าตัวเองทำสิ่งเหล่านี้ขึ้น ผมคิดว่าในจุดเหล่านี้อาจจะดีขึ้น ในอนาคตข้างหน้าเราอาจจะรู้จักมากขึ้น ว่าควรจะเลือกใครเข้ามา เลือกใครแล้วมีผลร้าย เลือกใครแล้วมีผลดี หรือว่าอย่างน้อยที่สุดหลีกเลี่ยงไอ้พวกตัวร้ายๆ ถึงจะไม่ได้คนดีมาก แต่ว่าไม่ร้ายมากก็ดีแล้ว

สารคดี : ถ้าเมืองไทยมีแต่นักการเมืองที่ขาดความรับผิดชอบ มุ่งแต่จะหาผลประโยชน์ใส่ตน โดยเฉพาะผลประโยชน์นั้นได้มาจากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ อย่างนี้แล้วการรณรงค์เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมิหมดหนทางหรือไร้ ทางออกหรอกหรือ

สุรพล : ถ้าปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติหรือวิถีทางของมัน ผมว่าปัญหานี้มันกำลังแก้กันเอง ทุกวันนี้อะไรทั้งหลายที่มันกำลังเน่า มันก็เน่ามากขึ้น มันเหมือนแผลที่กำลังเป็นหนอง พอหนองออกแล้วมันคงจะหาย พอมันเละแล้วก็คงจะดีขึ้น ผมว่าตอนนี้กำลังเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่ผู้ใหญ่กำลังปรับตัว เมื่อก่อนประชาชนไม่มีโอกาสลุกขึ้นมาเรียกร้องอะไรได้มากขนาดนี้ แล้วเมื่อก่อนสื่อมวลชนไม่อาจเปิดเผยความชั่วร้ายของผู้คนที่ทำให้เกิดปัญหาได้ ผมว่ามันกำลังเปลี่ยนไป มันคงจะต้องรอจังหวะ

สารคดี : ในฐานะที่คุณทั้งสองเป็นนักวิชาการที่ศึกษาและทำงานในเรื่องการอนุรักษ์โดยตรง ไม่ทราบว่ามีความคิดเห็นอย่างไรต่อคำพูดที่ว่า นักวิชาการดีแต่พูดแต่ไม่สามารถลงไปแก้ไขปัญหาจริงๆ ได้

สืบ : นักวิชาการก็ช่วยได้เฉพาะในส่วนที่รู้เห็นเท่านั้น มันช่วยไม่ได้ทั้งหมดหรอก

สุรพล : มันคนละหน้าที่กัน เราเป็นนักวิชาการ มีหน้าที่ให้ข้อมูล เราต้องกระตือรือร้นในการให้ข้อมูลกับคนทั่วไปผ่านสื่อมวลชน สื่อมวลชนก็ต้องมีหน้าที่รับข่าวสารเพื่อไปกระจายให้คนเข้าใจ มันก็ต้องทำงานร่วมกัน จะให้นักวิชาการไปทำหน้าที่สื่อมวลชนเลยมันก็ได้เหมือนกัน แต่ว่าคงจะยาก ถ้าทำอย่างนั้นได้เหมือน ดร.สมเกียรติ ก็ไม่ต้องทำงานวิชาการ …ผมว่าอันนี้ต้องแยกแยะให้ออกว่าหน้าที่ใคร

หลายคนมองว่านักวิชาการไม่ได้ทำอะไรนอกจากศึกษา เขียนผลการศึกษาออกมาแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ อันนี้มันก็มีอยู่ส่วนหนึ่ง แต่ในหลายๆ ส่วนก็มีนักวิชาการที่กระตือรือร้นที่อยากจะให้ความรู้ ให้ข้อมูล เพียงแต่ว่าให้ข้อมูลไม่ดึงดูดให้คนสนใจเท่าไหร่ บางเรื่องนักวิชาการมีข้อมูลมาก บางคนเขาอาจจะถือว่าไม่ใช่เรื่องของเขา อันนี้ผมถือว่ามันเป็นความรับผิดชอบของแต่ละบุคคล

สืบ : ผมคิดว่าแต่ละคนถ้าทำหน้าที่ของตัวเอง แล้วเคารพในกฎระเบียบ มันถึงจะไปด้วยกันได้ มันเหมือนกับที่ผมเคยยกตัวอย่างว่า


นาฬิกาหนึ่งเรือนมันมีเฟืองไม่รู้กี่ตัว
บางทีตัวเล็กๆ ขาดไป
นาฬิกาทั้งเรือนนั้นมันก็เดินไม่ได้

 


นิตยสารสารคดี ฉบับ 65 กรกฎาคม 2533